parallax background
 

ภาษาต้นไม้

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

เมื่อเราแหงนหน้าดูท้องฟ้า ทำไมเรามองหา...เมฆ...
เมื่อเรากวาดตาแลตามกระแสน้ำ ทำไมเรามองหา...ปลา…
เมื่อเราทอดสายตายาวไกลไปบนท้องทุ่ง ทำไมเรามองหา...ดอกไม้

บทเรียนแห่งชีวิตของเรามักได้รับการกลั่นกรองมาจาก ‘ธรรมชาติ’ ทั้งสิ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกชีวิตจะสามารถเรียนรู้และเห็นธรรมชาติได้อย่างถ่องแท้เสมอไป หากมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามนุษย์ทุกคนเชื่อมโยงกันอยู่คือ ‘ความรักธรรมชาติ’ เพราะทั้งเราและธรรมชาติล้วนเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้เลย อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างต่อเนื่องระหว่างกันและกันอีกด้วย

“เดินป่าสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง” เป็นใบสั่งยาของแพทย์ญี่ปุ่นที่จ่ายให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ศาสตร์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า Shirinyuku ถูกใช้ในการรักษาที่ญี่ปุ่นมากกว่าหลายร้อยปี คนไทยรู้จักกันในนาม ‘อาบป่า’

เมื่อเราเดินเข้าไปในป่า เราจะได้สัมผัสถึงจุลินทรีย์หลากหลายชนิด ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายเรา เมื่อเราหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ในป่าเข้าไป จุลินทรีย์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็เข้าสู่ร่างกายเราด้วย บางตัวช่วยปรับระบบการย่อยอาหารให้ดีขึ้น ในขณะที่บางตัวส่งผลกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเราแข็งแรง

‘ฉันกับต้นไม้…มีลมหายใจเดียวกัน’

ขณะที่เราหายใจเข้า ดูดซับก๊าซออกซิเจน และเราหายใจออก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ต้นไม้หายใจเข้าและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเราเข้าไป ก่อนจะหายใจออกเป็นก๊าซออกซิเจน คืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เรา…ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงคาดการณ์ว่าในอนาคตสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่การได้ออกไปเดินเล่นตามสวนหย่อมหรือสวนสาธารณะจะได้รับทั้งอากาศบริสุทธิ์ สัมผัสธรรมชาติ การได้รับแสงแดดยามเช้าจะช่วยสร้างวิตามินดีซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกายและยังช่วยลดภาวะซึมเศร้า แต่สำหรับผู้ป่วยแล้ว การเดินทางเพื่อไปผ่อนคลายตามสวนสาธารณะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทางเลือกอันดับแรกๆ ที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้คือ สวนหย่อมภายในโรงพยาบาลที่ตนรับบริการ

ในขณะที่สถานที่หลายแห่งพยายามให้สวนหย่อมมีความหอมด้วย ‘ดอกไม้’ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นต้นไม้มีพิษ จึงไม่เหมาะนำมาปลูกในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คน รวมทั้งเด็กเล็กๆ เดินเล่นกับผู้ปกครอง หากแต่มีสวนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลับใช้ความหอมจาก ‘ใบเตย’ ซึ่งนอกจากจะดูแลง่าย ปลอดภัย และประหยัดงบประมาณแล้ว ยังเป็นกลิ่นที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยได้อย่างลงตัว ไม่นับรวมกับรูปทรงต้นลั่นทมทุกต้นที่ดูอ่อนช้อยจนเกือบจะเป็น ‘ช่างฟ้อน’ อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบสวนแนวตั้งตามระเบียงทางเดิน และทางลาดชันสำหรับผู้ป่วยที่ต้องนั่งรถเข็น ทำให้รู้สึกว่ายังมีโรงพยาบาลแห่งนี้ที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ โดยพยายามให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่ง และสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างดีที่สุด

ทำไมการเข้าถึงธรรมชาติจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วย?

เมื่อสติรำลึก สภาพธรรมะกำลังปรากฏ

เมื่อครั้งที่มีโอกาสนั่งเล่นในสวนหย่อมโรงพยาบาลแห่งนี้ ได้ฟังการสนทนาระหว่าง ‘คนไข้’ กับ ‘คนดูแลสวน’ ชวนให้ค่อยๆ คิดตาม

“ต้นไม้รอบตัวเรา ห่างแค่เมตรเดียวก็ดูได้เป็นชั่วโมงแล้วครับ” คนดูแลสวนกล่าวกับคนไข้เมื่ออีกฝ่ายเริ่มซักถามชื่อต้นไม้แต่ละต้น ในขณะที่ฝ่ายดูแลสวนตอบข้อซักถามด้วยรอยยิ้มที่เป็นกันเอง

“เวลาเจอต้นไม้ ผมจะสังเกตรูปร่างลักษณะ ดูว่าลักษณะใบแบบนี้ต้นแบบนี้น่าจะอยู่อย่างไร เขาชอบสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือถ้าย้ายไปปลูกที่อื่นเขาจะปรับตัวอย่างไร ผมจะคิดเรื่องนี้ก่อน พอเข้าใจแล้วค่อยรู้ชื่อก็ได้ หากไม่รู้ชื่อ ก็มาช่วยกันตั้งชื่อให้ทีหลัง”

‘ชื่อ’...ทำให้เกิดความหมาย…หาใช่…ความจริง

คนไข้นั่งพิจารณาต้นไม้แต่ละต้นด้วยความเพลิดเพลิน ประหนึ่งว่ากำลังพูดคุยกันอย่างถูกอกถูกใจ ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ส่งเสียงใดๆ ออกมา แต่ก็สื่อสารกันได้

เมื่อได้เวลา ญาติเดินมาเข็นรถกลับเข้าไปภายในอาคารโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่มีสายระโยงระยางห้อยตามตัวคนไข้ แต่สีหน้าแววตาของคนไข้กลับไม่มีความทุกข์เลย ออกจะสนุกเสียด้วยซ้ำที่ได้ออกมาข้างนอกบ้าง

“ขอบคุณนะคะ วันนี้คุณพ่อไม่หงุดหงิดเหมือนทุกวันเลย ตอนแรกเกรงว่าให้มาอยู่แดดร้อนๆ จะไม่ไหว โชคดีที่นี่มีร่มไม้เยอะดี อากาศก็ปลอดโปร่งค่ะ”

ลูกสาวคนไข้กล่าวขอบคุณคนดูแลสวน พร้อมยื่นสิ่งหนึ่งให้

“คุณพ่อฝากคืนค่ะ”

สิ่งที่อยู่ในมือคนดูแลสวนขณะนี้ คือดอกไม้สีขาวแกมเหลือง อ่อนช้อย ออกดอกตลอดปี ส่งกลิ่นหอมตลอดวัน บางคนก็เรียก ‘ลั่นทม’ แต่บางคนเรียก ‘ลีลาวดี’ ระหว่างที่ ‘สนทนา’ กับต้นไม้ แอบเห็นว่ามีดอกไม้ร่วงหล่นลงมาวางบนตักของผู้ป่วยรายนี้อย่างนุ่มนวล

ขึ้นชื่อว่า ‘คนดูแล’ สวน จึงทำหน้าที่ของผู้ดูแล มิใช่ครอบครอง…ดอกไม้นั้นจึงถูกนำกลับไปวางที่โคนต้นไม้ต้นเดิม… ‘สูงสุด’...สู่... ‘สามัญ’ เป็นดั่งนี้

ในนิทานเล่าว่า…มีลิงสามตัว..
ตัวแรก…เอามือปิดตา มันจะไม่ดูความชั่ว
ตัวที่สอง…เอามือปิดหู มันจะไม่ฟังความชั่ว
ตัวที่สาม…เอามือปิดปาก มันจะไม่พูดความชั่ว
แล้ว ‘ต้นไม้’ ล่ะ เขาบอกอะไร
เปิดตา… ดูทั้งดีทั้งชั่ว
เปิดหู… ฟังทั้งดีทั้งชั่ว

เปิดปาก… ปลอบประโลมเราผ่านเสียงใบไม้และเสียงนกที่อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้

สุดท้าย เปิดใจ… ให้ความร่มเย็นแก่ทุกคนที่นั่งอยู่ใต้ร่มเงา…แม้ผู้นั้นกำลังจะพรากดอกไม้ไปจากต้นก็ตาม

ช่วงเย็น เห็นคนไข้รายเดิมมานั่งเล่นในสวน โดยมีญาติผู้ป่วยห้อมล้อม มีคนหนึ่งนำเสนออาหารเสริมบำรุงสุขภาพ พร้อมกับบรรยายสรรพคุณชวนน่าลอง หากผู้ป่วยยังคงมองที่ต้นไม้ต้นเดิม สักพักจึงหันมามองหน้าช้าๆ แล้วถามกลับว่า

“มีอะไรกินแล้วไม่ตายบ้าง?”

ต้นไม้ให้บทเรียนกับเรามากมาย แม้ว่าจะ ‘พูดไม่ได้’ แต่ ‘สอน’ เราได้ด้วยการทำให้เราดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอนเรื่องการเคารพกฎธรรมชาติ รวมถึงเรื่องการเสียสละ การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความร่มเย็นภายใต้เงาไม้เท่าเทียมกัน…ไม่ว่าดีหรือชั่ว

เพราะ ‘ไม่มอง’ จึง ‘ไม่เห็น’ หรือเพราะ ‘ไม่เห็น’ จึง ‘ไม่มอง’

บางที การที่เราสามารถดำเนินชีวิตแบบคนปกติทั่วไป อาจทำให้เราไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อมอง และเห็นรหัสบางอย่างที่ล้อมรอบตัวเรา ทำให้เราละเลยจนมองข้ามข้อความสำคัญที่ธรรมชาติสื่อสารกับเรามาเป็นเวลาเนิ่นนาน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ร่างกายขยับเขยื้อนไปไหนเองไม่ค่อยสะดวก จึงสามารถให้เวลาตัวเองพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว จนเห็นว่า ‘ธรรมชาติ’ ล้วนมีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

เปลี่ยนช้า…เปลี่ยนเร็ว…ไม่สำคัญ แต่ว่าทุกอย่าง… ‘เปลี่ยน’

เมื่อกลับมานั่งอ่านนิทานในสวนหย่อมสักพัก ค่อยแหงนมองดูต้นไม้แต่ละส่วน ทั้งกิ่ง ก้าน ใบ ดอก จึงเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น ‘ลิง’ หรือ ‘ต้นไม้’ ต่างก็สอนให้เรา ‘เห็น’ ความสำคัญในการฝึกการปล่อยวางอารมณ์ ทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นทั้งสิ้น โดยการไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ดำรงอยู่รอบตัวเราอย่างไร้คุณค่า

ต่างกันตรงที่ ‘ต้นไม้’ ไม่ใช่เรื่องเล่าในนิทาน หากเป็นเรื่องจริง และยืนหยัดบอกเราด้วยต้นไม้เพียง…ต้นเดียว

ข้อมูลอ้างอิง:

  • นิทรรศการ ‘มาหาสมบัติ’ โดยมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-31 สิงหาคม 2560 ณ ห้างสรรพสินค้า Emquartier ชั้น 5 Helix Garden
  • สวนหย่อมโรงพยาบาลราชวิถี
[seed_social]
22 กันยายน, 2560

ใครอ่านข้อความนี้ต้องตาย

คุณอ่านไปแล้ว อย่าทำเป็นไม่เห็น เพราะถ้าคุณอ่านมาถึงประโยคนี้ มันก็สายเกินไปแล้ว จากนี้ไปเตรียมตัวได้เลย “คุณ ต้อง ตาย” เพราะนี่คือข้อความต้องคำสาป
25 เมษายน, 2561

โรคพุ่มพวง กับชีวิตที่ไม่ห่วงอะไรอีกแล้วของคุณต้อย ณัทยา

ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าตรงนี้ เมื่อหลายเดือนก่อน จะป่วยหนักจนแพทย์แผนปัจจุบันถึงกับเอ่ยปากว่า ธาตุไฟของเธอแตก ระบบอวัยวะภายในไปหมดแล้ว
13 เมษายน, 2561

ส่งบุญ ด้วยใจเมตตา

หลังกลับจากไปสอนผู้สูงอายุที่เทศบาลไทรโยง บ่ายแก่ๆ ฉันนั่งทำชาร์ตผู้ป่วยจำหน่าย ได้ยินเสียงเทปบทสวดมนต์ที่คุ้นเคย ทำให้นึกถึงคุณยายผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ในใจคิดว่าเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ