parallax background
 

เ-ว-ล-า

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

คุณว่า..เราบันทึกเวลาได้ไหม?
ไม่ได้หมายความว่า ‘หยุด’ หากหมายถึง ‘เก็บ’ เวลาไว้ในธนาคาร
หากสมมุติวันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตคืออะไร
…และรู้ดีว่าต้องให้เวลากับสิ่งนั้นมากที่สุด
ปัญหาคือ ‘เหลือเวลาอีกนานเท่าไหร่ที่จะให้กับสิ่งที่สำคัญมากที่สุด…ในชีวิตคุณ’
หากการเก็บ ทำให้เกิดการสะสมจนสามารถยืดเวลา
…เหมือนการสะสมทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยที่มาในรูปของ ‘เวลา’ คุณจะทำไหม?

“คนอย่างเราผู้เชื่อในฟิสิกส์รู้ว่า การแบ่งแยกระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นเพียงมายาดื้อรั้นเรื้อรังเท่านั้น” เป็นคำกล่าวของอัลเบิรต์ ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ผู้ค้นพบทฤษฎีไฟโตอิเล็กตริกและทฤษฎีสัมพัทธภาพ ผู้หักล้างความเชื่อเดิมว่า ‘สสารย่อมไม่สูญหายไปจากโลก’ ด้วยคำอธิบายว่า ‘สสารย่อมมีการสูญสลาย นอกจากพลังงานเท่านั้นที่จะไม่สูญหาย เพราะพลังงานเกิดขึ้นจากสสารที่หายไป’ ด้วยข้อพิสูจน์ทางสูตรคณิตศาสตร์ E=mc2

เวลาคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากความเสื่อมทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด แก่ เจ็บ แม้กระทั่ง ‘ตาย’ ดังนั้นเราสามารถกล่าวได้ว่า ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ทำให้ ‘มี’ เวลา

เพราะเวลาไม่มีอยู่จริง สามารถยืดหดได้ตามแรงโน้มถ่วงและความเร็ว นี่คือคำตอบทางภาษาฟิสิกส์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงคำตอบเดียว อันที่จริงโลกที่เราอาศัยอยู่นั้น ทั้งซับซ้อนและมีการอธิบายเรื่องเดียวกันในหลายภาษา หลายวิธี แต่ละระดับภาษาเหมาะสำหรับใช้อธิบายแต่ละวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมทั้งกระบวนการต่างๆ ที่ถูกค้นพบตามแต่ละยุคสมัย หากสิ่งหนึ่งยังคงยืนหยัด แม้กาลเวลาจะดำเนินมาเนิ่นนานเพียงไร ความเป็นจริงข้อนี้ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย

‘ชีวิต’ มีค่าสำหรับเราเพราะ...ไม่ยืนยง…เป็นภาษาสากลอันทรงคุณค่าเนื่องจาก…มันเป็นความจริง

ท่านติช นัท ฮันท์ สอนว่า “ทุกๆ ขณะ คือของขวัญแห่งชีวิต” - Every moment is a gift of life.

ชีวิตวัดกันได้ด้วยความคิดและการกระทำ มิได้วัดกันด้วยเวลา คนจำนวนไม่น้อยเห็นคุณค่าชีวิตเมื่อเข้าใกล้ความตาย และรู้สึกตัวว่าชีวิตนี้ทั้งสั้นและบอบบางเกินกว่าจินตนาการได้ ผิดกับตอนที่เรายังมีสุขภาพแข็งแรงพลานามัยสมบูรณ์ เรากลับพร่ำบ่นอยู่ตลอดเวลาว่าเรามีเวลาน้อย และทำราวกับว่าเวลาจะไม่มีวันสิ้นสุดลงกระนั้น นอกจากเราไม่เห็นความสำคัญของเวลายามเรามีชีวิตอยู่แล้ว หลายครั้งที่เรายังเบียดบังเวลาของชีวิตผู้อื่นด้วย

ลองจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่ทุกคนกำลังเร่งรีบ หากได้ยินเสียงไซเรนดังจากรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อขอความร่วมมือผู้ใช้ท้องถนนร่วมกัน ‘เปิดทาง’ แม้เพียงเล็กน้อย ให้ผู้ป่วยที่กำลังอยู่ระหว่างยื้อชีวิต…คิดว่า ‘เวลาของใคร’ สำคัญกว่ากัน

แม้ว่ามนุษย์จะเพียรพยายามมากว่าหลายศตวรรษที่จะอธิบายเรื่องเวลาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมองดูดาวบนท้องฟ้า แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล เฝ้าสังเกตและศึกษาความเป็นไปในธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อหยั่งรู้กลไกที่แท้ของธรรมชาติรอบตัว สะท้อนออกมาเป็นคำอธิบายในแบบต่างๆ ตั้งแต่ตำนาน ปกรณัมปรัมปรา แนวคิดเชิงปรัชญาและศาสนา จนกระทั่งทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังคงมีคำถามให้ชวนขบคิดว่า

‘หากตัวตนเราถือกำเนิดจากละอองดาวเดียวกับที่ประกอบเป็นทุกสรรพสิ่ง’ ตามทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory) กล่าวว่า จักรวาลของเราขณะนี้กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อตั้งคำถามต่อไปว่า แรงอะไรที่ทำให้ดวงดาวและดาราจักรต่างๆ เคลื่อนขยายหนีออกจากกัน ทฤษฎีบิ๊กแบงอธิบายว่า จักรวาลเรามาจากความไม่มีอะไร ที่เกิดจากการระเบิดใน ‘จุดเดียว’ และ ‘ปริมาตรที่เป็นศูนย์’

นั่นหมายความว่า ‘ทุกคน’ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของละอองดาวประหนึ่ง ‘ครอบครัวเดียวกัน’ ฉะนั้นแล้ว การที่ให้เวลากับผู้อื่น ก็เท่ากับว่าเราให้เวลากับตัวเราเองด้วย

แม้ว่า ‘ผู้อื่น’ หมายถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็น ‘ตัวเรา’ มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่าง ‘ฉัน’ กับ ‘คุณ’
หาก ‘การให้’ คือการที่เราเห็นผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของเรา
ดังนั้นทุกครั้งที่มี ‘การให้’ เกิดขึ้น นั่นแปลว่า ไม่ใช่ ‘ฉัน’ ให้ ‘คุณ’ แต่เป็น… ‘ฉัน’ ให้ ‘เรา’
เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่า ‘ฉัน’ มีความหมายเท่ากับ ‘เรา’ แล้ว
‘ฉัน’ ก็อยากจะทำอะไรให้ ‘เรา’ ดีขึ้น
ดังนั้น ‘ฉัน’ จึงพร้อมที่จะทำให้ ‘เรา’ มีความสุขอย่างปราศจากเงื่อนไข เพราะ ‘เรา’ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
และเมื่อ ‘ฉัน’ ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว ไม่ได้รับผลตอบแทน ‘ฉัน’ ก็จะไม่มีการทวงบุญคุณใดๆ ทั้งสิ้นเพราะ

‘ฉัน’ = ‘เรา’

ความงามแห่งฟิสิกส์…ธรรมชาติของสรรพสิ่ง…เป็นไปได้หรือไม่ว่า ‘จักรวาล’ ล้วนเป็นผู้ออกแบบนับตั้งแต่ก่อกำเนิด มีระบบระเบียบและความสมบูรณ์ของตัวมันเอง เพียงอาจไม่สมบูรณ์ในแบบที่เราคิดว่ามันควรเป็น หรือในแบบที่เราอยากเห็น แม้ทุกอย่างที่เราเห็นก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะกว่า ‘แสง’ จะเดินทางมากระทบกับวัตถุ สะท้อนสู่จอตาผ่านเข้าสู่สมอง ก่อให้เกิดการมองเห็น วัตถุนั้นได้กลายเป็น ‘อดีต’ ไปแล้ว ดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนที่พร่างพราวด้วยดวงดาวนับล้านดวง ภาพของจักรวาลที่เห็นล้วนเป็นภาพมายา ที่ไม่ใช่ปัจจุบัน

ที่สำคัญ ไม่ได้มีเพียงจักรวาลเดียว!

หากเวลามีความสัมพัทธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วง และความเร็ว เป็นไปได้ไหมว่า เวลาแต่ละจักรวาล…ย่อมไม่เท่ากัน

และหากเราบันทึกเวลาได้…เก็บเวลาได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจจุดสิ้นสุด ตัดปัญหาการคำนวณระยะเวลาที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของ ‘เอกภพ’… เพื่อให้เวลากับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต…คุณจะทำไหม?

ในภาษาอังกฤษ คำว่า P-r-e-s-e-n-t ไม่ได้แปลว่า ‘ปัจจุบันกาล’ เพียงอย่างเดียว ยังหมายถึง… ‘ของขวัญ’
อันที่จริง ความลับของจักรวาลที่เราตามหาอาจอยู่ที่ว่า…เวลาไม่ได้เดินไปไหน…มีแต่เราผู้เดียวที่เดินจากไป
ก่อนการเดินทางจะสิ้นสุดลง…ควรหรือไม่ที่จะให้ของขวัญ
แด่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ‘เรา’ ด้วย…‘เ-ว-ล-า

คำที่ภาษาจักรวาลแปลว่า ‘รัก’ เช่นกัน

*****************************************

ข้อมูลอ้างอิง:
1. หนังสือ ‘ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น’, ทันตแพทย์สม สุจิรา, สำนักพิมพ์อมรินทร์
2. หนังสือ ‘มิติที่ห้า’, ทันตแพทย์สม สุจิรา, สำนักพิมพ์อมรินทร์
3. หนังสือ ‘ความงามแห่งฟิสิกส์ Seven Brief Lessons on Physics’, Carlo Rovelli เขียน, คุณสุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปล สำนักพิมพ์ openworlds

[seed_social]
13 เมษายน, 2561

วิถีสู่ความตายอย่างสงบในสังคมไทย

ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอล ๒ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ผู้มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ ภาคราชการ และบุคลากรทางสาธารณสุข จำนวนหลายสิบคน ได้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนว่า
6 กุมภาพันธ์, 2561

ทำศพแบบคนรักโลก…ทำให้เป็นของเหลว

กระบวนการอัลคาไลน์ (Alkaline Hydrolysis) จะใช้สารเคมีอัลคาไลน์ ความร้อน 152 องศาเซลเซียส และความดันทำให้ร่างย่อยสลายกลายเป็นของเหลวภายใน 3 ชั่วโมง เหลือเพียงฟัน กระดูก และวัสดุแปลกปลอม
25 เมษายน, 2561

Dharma Rosa ธรรมะจากดอกไม้

ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา ขอให้เรารู้สึกถึงความหมายอันงดงามให้ได้ ขอให้เราเชื่อและมีศรัทธาที่มั่นคง ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริง รู้สึกมหัศจรรย์ได้ว่ามันต้องเกิดเช่นนี้แหละ ว่าคนเรามีกรรมเป็นของตัวเอง