parallax background
 

เราตายอย่างไร

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

Dr. Peter Sual นายแพทย์ผู้บรรยายใน Ted.com ได้แสดงการบรรยายเรื่อง "มาคุยเรื่องความตายกันเถอะ" ได้ให้ภาพความตายที่จะเกิดในศตวรรษที่ ๒๑ การพูดคุยในหัวข้อนี้เราทุกคนคงพบว่า มันสร้างความอึดอัดใจ ลำบากใจที่จะพูดถึงไม่มากก็น้อย แต่ผู้บรรยายก็เปิดเรื่องด้วยข้อคิดที่ช่วยผ่อนคลายความอึดอัดใจในเรื่องนี้ว่า "ความจริงทำให้เราเป็นอิสระ"

จากประสบการณ์การทำงานในห้องฉุกเฉิน และห้องไอซียู ร่วม ๓๕ ปี นายแพทย์ปีเตอร์ชี้ว่า การตายนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา ในทุก ๑๐ นาที เซลล์ในร่างกายตายละร่วมหนึ่งพันล้านเซลล์ เซลล์สมองเสื่อมและตายไปร่วมสองพันเซลล์ จากนั้นผู้บรรยายได้ให้เนื้อหาสำคัญต่อไป คือ

มีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าการแพทย์ การรักษาพยาบาลนั้นสามารถ "ช่วยชีวิต" (life-saving) แท้จริงสิ่งที่ทำได้ คือ การชะลอความตายหรือการยื้อชีวิตได้เท่านั้น เพราะท้ายสุดเราทุกคนต้องตาย

ประสบการณ์ในฐานะนายแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาพบว่าคนไข้ระยะสุดท้ายและครอบครัวแทบไม่สื่อสารบอกเล่ากันเลยว่า หากมีการตายเกิดขึ้น อะไรคือสิ่งที่คนไข้ต้องการ มีเพียง ๑ ใน ๑๐๐ เท่านั้นที่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ว่าหากคนไข้ตายลง อะไร อย่างไรคือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คำแนะนำอันมีค่าของนายแพทย์ท่านนี้คือ คำถามที่มีต่อคนไข้เพื่อเตรียมพร้อม ใครคือบุคคลที่คนไข้อยากให้เป็นตัวแทนดูแลการจัดการแทนตัวเขาเมื่อเขาต้องตายลง และสิ่งนี้จะช่วยได้มากเมื่อการตายมาเยือนจริงๆ

คุณหมอปีเตอร์ได้ให้ภาพการตายที่จะเกิดขึ้นกับพวกเราว่า มีความตายที่จะเกิดขึ้นใน ๔ ลักษณะ

๑. การตายแบบฉับพลัน (sudden death) เป็นการตายแบบจบชีวิตโดยทันทีทันใด เช่น การตายด้วยอุบัติเหตุ การฆาตกรรม การตายเช่นนี้ อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับหลายคน เป็นเฉพาะกรณี
๒. การตายแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยความเสื่อมสภาพของอวัยวะ ระบบร่างกายภายใน (organ failure) เป็นการตายที่ต้องอาศัยการประคับประคองจนถึงจุดที่สภาพร่างกายไม่สามารถรักษา เยียวยาหรืออยู่รอดได้ คนไข้อาจจะร้องขอให้หยุด ไม่ยื้อยุดที่จะรักษาต่อไป พอแล้วกับการรักษา
๓. การตายโดยโรคภัย (terminal illness) มะเร็งจะเป็นสาเหตุใหญ่ของการตายลักษณะนี้
๔. การตายในสภาพทุพพลภาพ ทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วย ชราภาพ เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

สภาพการตายที่ผู้บรรยายได้ให้ภาพการตายทั้ง ๔ ลักษณะ สะท้อนถึงผลกระทบความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนยาว แต่ร่างกายเสื่อมทรุดด้วยอายุขัยที่ยาวนาน กรณีนี้ สิ่งที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิต คุณภาพจิตใจในภาวะเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร

ผู้บรรยายไม่เห็นด้วยกับการตายในลักษณะการุณยฆาต ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอย่างมาก ละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นอ่อนไหว มุมมองสำคัญคือ ท่าทีไม่เห็นด้วยนี้ไม่ใช่เพื่อคัดค้านหรือหลีกเลี่ยงความตาย แต่สิ่งสำคัญคือการมีความสามารถในการควบคุมการตายของตัวคนไข้เอง

ความปรารถนาสำคัญที่ผู้บรรยายได้ชี้ถึงสิ่งที่พึงเกิดขึ้น คือ "สันติสุข ความรัก และการตายโดยธรรมชาติ" การแพทย์ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้การตายตามธรรมชาติเกิดขึ้น ฐานคิดสำคัญเป็นการยื้อยุด ปฏิเสธความตาย

คุณหมอปีเตอร์ได้กล่าวสรุปการบรรยายด้วยคำพูดสำคัญที่มีต่อเราทุกคน ซึ่งอาจจะมาถึงสภาพการเป็นคนไข้ระยะสุดท้ายว่า "เราล้วนต่างมีความสำคัญอย่างที่เราเป็น และยังคงเป็นเช่นนั้นตราบช่วงสุดท้ายของชีวิตเรา" ซึ่งหมายถึงคุณค่าชีวิต ความหมาย ความต้องการของคนไข้ระยะสุดท้ายเป็นสิ่งที่พึงให้ความเคารพ

You matter because you are, and you matter to the last moment of your life.

ที่มา https://www.ted.com/talks/peter_saul_let_s_talk_about_dying

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

การดูแลความโศกเศร้าหลังการสูญเสีย เมื่อเพื่อนสูญเสียคนที่เป็นที่รัก

ขณะเดียวกันอยากให้คุณตระหนักว่า ชีวิตของคุณก็ยังต้องก้าวเดินไปข้างหน้าเช่นกัน เมื่อหายเหนื่อยแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป วันข้างหน้าอาจไม่เลวร้ายกว่าที่คุณคิดหรือรู้สึก
25 เมษายน, 2561

เตรียมพร้อมตกกระไดพลอยกระโจน

หลักคิดที่เป็นฐานในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรมของพี่ คือการลดละตัวกูของกู อย่าเห็นแก่ตัว และคลายความยึดติด นี่คือเรื่องจิตใจ ส่วนเรื่องร่างกายก็มีหลักการว่า ฉันต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย
19 เมษายน, 2561

ตำราเล่มใหญ่คือคนไข้

“พี่ทำงานแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งการ” ระยะเวลายาวนานที่พี่เกื้อ หรือคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ได้พบคนไข้และญาติจำนวนมากซึ่งมีความต้องการต่างกัน