parallax background
 

เพียงแค่คิด ก็สุขใจแล้ว

ผู้เขียน: พระฐิติพันธ์ อิสระธัมโม, กองสาราณียกร หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง จัดเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ สิ่งที่ต้องการมากคือ คนที่ให้กำลังใจ เพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้จิตสงบ การเข้าสู่วัด เข้าสู่ธรรมะจึงเป็นทางที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ที่เป็นชาวพุทธ) ปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่มาถือศีลที่วัดเป็นประจำ ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ เมื่อใดที่เว้นช่วงไม่มาที่วัดหรือไม่เห็นมาวัด ก็แสดงว่าป่วย

อาตมาได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การสร้างสมดุลกายใจ การฝึกบทบาทสมมุติในการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนการแบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยพระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน จากวัดป่าสันติธรรม และพยาบาลเกื้อจิต แขรัมย์ จากโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้เข้าใจถึงวิธีการให้กำลังใจผู้ป่วยมากขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่ห่างออกไปจากตัวอำเภอ อาตมาได้พบผู้ป่วยเรื้อรัง พบชาวบ้านที่มีฐานะค่อนข้างยากจนขัดสน

โยมหมอกรณิภา เป็นมัคทายิกาของวัดป่าอตุโลบุญญลักษม์ และเป็นจิตอาสาของโรงพยาบาลสนม โยมหมอกรรณิภารับภาระเป็นผู้ประสานงานระหว่างวัดกับโรงพยาบาล และเป็นผู้นิมนต์อาตมาเข้าร่วมกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วยของทีมเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลทุกวันพฤหัสบดี นำโดยหมอหลิน หมอกร ในการนี้โรงพยาบาลและวัดจึงได้มีความผูกพัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน พระก็ไปช่วยงานโรงพยาบาล และหากพระสงฆ์หรือคนของวัดป่าฯ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ได้รับบริการอย่างดี สะดวก รวดเร็ว เป็นกันเองจากคณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อาตมาจึงขอขอบคุณโรงพยาบาลสนมในความเอื้อเฟื้อมา ณ โอกาสนี้

ผู้ป่วยที่มีสภาพจิตใจท้อแท้ สิ้นหวัง เมื่อได้เห็นผ้าเหลืองของพระสงฆ์ ก็จะมีกำลังใจขึ้น และหากพระสงฆ์ได้รับการฝึกฝน เรียนรู้วิธีการให้กำลังใจผู้ป่วย ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับกับสภาพความเจ็บป่วยนี้ได้ จนกระทั่งสามารถฝึกฝนจนรู้จักการแยกกายแยกจิต คือ "กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย" มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป และหากจะจากไปก็จากไปโดยปล่อยวาง ไม่มีสิ่งค้างคาใจ นี้แหละคือพุทธโอสถ อาตมารู้สึกเป็นบุญอย่างยิ่งของอาตมาที่ได้ทำหน้าที่เยียวยาผู้ป่วยและเห็นว่างานนี้เป็นงานที่พระสงฆ์ควรได้เข้าร่วมอย่างยิ่ง

ผู้ป่วยหลายๆ ราย หลังจากที่อาตมาและทีมได้ไปเยี่ยมมาแล้ว พบว่าผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น สายตามีประกาย มีความหวัง ผู้ป่วยพยายามที่จะช่วยเหลือตนเองมากขึ้น ทุกครั้งก่อนที่จะลากลับ อาตมาจะให้ศีลให้พร ให้คำแนะนำผู้ป่วยฝึกสมาธิอย่างง่าย เช่น นับลมหายใจ หรือนอนดูลมหายใจ ให้ฝึกทำจิตให้นิ่ง นึกถึงความดีที่เคยทำ ทำให้จิตใจมีความสุข สบายๆ รับรู้ว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา คนทุกคนต้องพบทั้งสิ้น เพียงแต่เมื่อไหร่เท่านั้น

เมื่อผู้ป่วยทำใจได้ จิตก็จะคลายกังวล ยอมรับและอยู่กับโรคร้ายให้ได้ ต่างคนต่างอยู่ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้น คนรอบข้างก็จะสุขใจไปด้วย และหากถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต ให้ทำใจให้ได้ ผู้ป่วยหลายรายที่อาตมามีโอกาสให้การดูแลก็จากไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย จากไปเหมือนคนหลับแล้วไม่ตื่น อาตมาเห็นแล้วสุขใจ

อาตมาคิดว่างานเยี่ยมผู้ป่วยเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ที่ได้เรียนรู้และฝึกการวางจิตวางใจมาแล้ว ด้วยงานเยี่ยมผู้ป่วยนี้เองพระสงฆ์ก็จะสามารถที่จะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่หากมีการขยายวงกว้างจากตำบล สู่อำเภอ หลายๆ อำเภอ ออกไป ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็จะมีโอกาสได้รับการดูแลมากขึ้น "เพียงแค่คิด อาตมาก็สุขใจแล้ว"

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ความฝันกับความจริง

ศิลปะมีความน่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ โดยตัวศิลปะเองเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ได้อยู่กับตนเอง ได้ถ่ายทอดตัวตนที่อยู่ภายในออกมาเป็นผลงานภายนอกที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำไปสู่การเข้าใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง
18 เมษายน, 2561

ท่ามกลางเทคโนโลยียังมีหัวใจ

อานนท์ เป็นเด็กพิเศษ ดาวน์ ซินโดรม ถูกพ่อ แม่ ทิ้งไว้ให้ยายเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แม้จะอายุสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ยายกลับต้องดูแลอานนท์อย่างใกล้ชิด
19 เมษายน, 2561

เคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้

"วันนั้น พระอาจารย์จะไปยื่นหนังสือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตะโกนเรียกก็ไม่มีใครตอบ อาตมาเข้าไปในบ้านก็พบผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถามดูก็พบว่าเขาถูกรถชน รักษาก็ไม่หาย"