parallax background
 

หน้ากากแห่งบาดแผล
ศิลปะการเยียวยาจิตใจ หลังผลพวงจากซากสงคราม

ผู้เขียน: ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

ความเจ็บปวดจากอุบัติเหตุหรือการถูกทำร้ายนั้น เป็นบาดแผลภายนอก อาจรักษาหายได้ตรงจุด เนื่องจากเราสามารถมองเห็นบาดแผลนั้นด้วยตาเปล่าความเจ็บปวดจากอาการปวดท้อง ปวดหัว หรือปวดหลัง เป็นบาดแผลภายใน และอาจบำบัดรักษาได้จากการประเมินสาเหตุและรักษาตามกระบวนการ หรืออย่างน้อยที่สุด เราพอจะรู้ได้ว่าควรปฏิบัติตัวเช่นไร กินยาชนิดใด และใช้ชีวิตอย่างไรแต่หากความเจ็บปวดนั้นเกิดจากบาดแผลภายในที่หยั่งรากลึกลงไปถึงระดับจิตใจ การรักษาเยียวยาบาดแผลอย่างตรงจุดคงไม่ใช่เรื่องง่ายดายและหายขาดได้ในเวลาอันรวดเร็วนักบาดแผลทางใจนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากการสูญเสียคนรัก การสูญเสียคุณค่าในตัวเองจากความล้มเหลว การเชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยทางกาย หรือแม้แต่บาดแผลทางใจที่เป็นผลพวงมาจากภัยพิบัติและสงครามในยุคของการแพทย์สมัยใหม่และการพัฒนาทางอุตสาหกรรมทางทหารที่สูงขึ้น ผู้ได้รับผลพวงจากสงครามนั้น แม้จะพบว่ามีการสูญเสียทางกายภาพน้อยกว่าในอดีตมาก มีจำนวนนายทหารที่รอดชีวิตจากการบาดเจ็บมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็แบกรับบาดแผลที่มองไม่เห็นมากขึ้นด้วย

จากการตรวจรังสีวินิจฉัยสมองของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าหลังจากได้รับบาดเจ็บทางจิตใจจากสงคราม สมองส่วนโบรคา (Broca’s) ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมด้านการพูดมีการหยุดทำงาน ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า speechless terror คือเกิดความกลัวที่จะพูดหรือเล่าสิ่งต่างๆ ที่ตนเองกำลังรู้สึก หรือสิ่งที่คิดวกวนถึงมันอยู่ซ้ำๆ พฤติกรรมนี้น่าจะมาจากความวิตกกังวลถึงความเหมาะสมในการแสดงออก

ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมไม่เปิดพื้นที่การแสดงความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างตรงไปตรงมา และความกังวลถึงผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตนเองเมื่อความคิดเหล่านั้นถูกแสดงออกไป เช่น อาจกระทบต่อหน้าที่การงานทางทหาร ทำให้พวกเขาไม่กล้าบอกเล่าหรือพูดถึงความรู้สึกภายในของตนเองท้ายที่สุด สิ่งที่นายทหารเหล่านี้ต้องเผชิญคือ การจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ทรมานอย่างโดดเดี่ยวแสนสาหัส และได้แต่เก็บงำความเจ็บปวดอันแสนโดดเดี่ยวของพวกเขาราวกับถูกส่งต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

ตลอดประวัติศาสตร์การทำสงคราม มนุษย์ได้รู้จักบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นกับเหล่าทหารผ่านศึกมาหลายทศวรรษ ความผิดปกติต่างๆทางจิตใจนี้ ถูกเรียกไปอย่างแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โฮมซิคเนส (Homesickness), โซลเยอรส์ ฮาร์ท (soldier’s heart), เชลล์ ช็อค (shell shock), เทาซัน-ยาร์ด สแตร์ (thousand-yard stare) เป็นต้น

Melissa Walker คือนักศิลปะบำบัด เธอสนใจการใช้ศาสตร์ของศิลปะในการบำบัดความบอบช้ำทางจิตใจของผู้คน หรือที่เรียกว่า Post-traumatic stress disorder (PTSD) เธอทำงานที่ศูนย์การแพทย์ทหารบก วอลเตอร์ รีดด์ (Walter Reed) และ The National Intrepid Center of Excellence: NiCoE) ตามลำดับ เธอทำงานกับนายทหารนับร้อยที่กำลังเผชิญหน้ากับสงครามและบาดแผลในฐานะนักบำบัด

เธอเชื่อมั่นในศิลปะบำบัด และหน้าที่ของเธอคือต้องทำให้เหล่าทหารผู้เข้ารับการบำบัดเชื่อเช่นเดียวกับเธอ

การใช้ศิลปะบำบัดในการเยียวยารักษานั้น เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ของสมองอย่างตรงไปตรงมา

โดยในระหว่างกระบวนการทำศิลปะบำบัด จะมีการใช้คำพูดเพื่อไปกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง โดยเข้าไปยังพื้นที่สมองส่วนเดียวกับที่มีการบาดเจ็บ พวกเขาสามารถใช้กระบวนการนี้เป็นสะพานเชื่อมโยงประสบการณ์เจ็บปวดในอดีตให้ค่อยๆ ทยอยเดินพาเหรดออกมาผ่านสะพานที่พวกเขาสร้างขึ้นเองกับมือ และสิ่งนี้เอง ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถูกคุกคาม หรือถูกบีบบังคับให้ต้องพยายามเล่าเรื่องราวอันน่าเจ็บปวดเหล่านี้ออกมาเป็นถ้อยคำศิลปะบำบัดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ระบายสี การตัดแปะ (collage) แต่รูปแบบที่ได้ผลที่สุดกลับเป็นการทำ ”หน้ากาก”

การให้แต่ละคนลงมือประดิษฐ์ “หน้ากาก” ของตนเองออกมานั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด นั่นอาจเพราะพวกเขาได้เข้าใจบาดแผลของตนเองจริงๆ ว่าคืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน อักเสบเป็นหนองหรือเน่าเฟะเพียงใดและที่สำคัญที่สุด มันทำให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “บาดแผล” ของพวกเขานั้น มีอยู่จริง มีรูปร่างหน้าตา สามารถจับต้องสัมผัสได้ ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ ไม่ได้เป็นเพียงคำพูด หรือเป็นแค่ความรู้สึกที่มาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว จนทำให้เจ้าของจิตใจเองก็ไม่แน่ใจถึงการมีตัวตนอยู่จริงของมันหน้ากากแต่ละชิ้นที่พวกเขาสร้างมันขึ้นมากับมือ จึงคล้ายกับว่า เป็นหน้ากากที่พวกเขาอดทนสวมใส่มาตลอดเป็นเวลานาน ใบหน้าบูดเบี้ยว โชกเลือด ลูกตาหลุดปลิ้น และเต็มไปด้วยบาดแผล ถูกถอดออกมาแล้ว และพวกมันจะถูก Melissa เก็บไว้รักษาไว้ให้อย่างดีในกล่องลับ และนั่นเท่ากับว่า พวกมันถูกถอดออกมาเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย และจะไม่กลับไปอยู่บนใบหน้า หรือในจิตในของพวกเขาอีกต่อไป

พลังแห่งการสร้างสรรค์และพลังแห่งการทำลายล้างนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกันกับที่ วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ให้เราเห็นได้แล้วว่า สมองส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ ก็สามารถเป็นส่วนเดียวกับที่ใช้ในการเยียวยา โดยเดินทางผ่านการทำงานของศิลปะบำบัดได้เช่นเดียวกัน

ติดตามเรื่องของ Melissa Walker ได้ใน “Art can heal PTSD's invisible wounds

[seed_social]
25 พฤษภาคม, 2561

ชีวิต . ความกลัว . ลมหายใจ

ในวันที่อากาศร้อนๆ และมีฟ้าใสๆ เป็นช่วงที่เหมาะกับการพักร้อนและไปทะเล เราเลือกกิจกรรมหนึ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน คือการเรียนดำน้ำลึก หรือ Scuba Diving โลกใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตแปลกตา และมีสีสันมากมาย ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกัน...
17 เมษายน, 2561

My Sister’s Keeper พ่อแม่ไม่ฟังฉัน

ครอบครัวคือระบบความสัมพันธ์ ทุกหน่วยมีหน้าที่และสัมพันธ์ต่อกัน และต่อระบบทั้งหมด ดังนั้นยามที่องคาพยพใดเกิดความผิดปกติ การปรับตัวจึงเป็นปัจจัย ทักษะ ความสามารถ และปัจจัยชี้วัดสำคัญว่า ระบบทั้งหมดจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่
31 มกราคม, 2561

Coco ความทรงจำ ความหมาย และความตายในโลกหลังความตาย

หนังเล่าเรื่องราวของ Miguel Rivera เด็กชายอายุ 12 ปี ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ซึ่งประกอบอาชีพช่างทำรองเท้ามาอย่างยาวนาน (ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ยาย ทวด และย่าทวด ทุกคนล้วนประกอบอาชีพเดียวกัน) และแน่นอน ทุกคนย่อมปรารถนาให้มิเกลได้สืบทอดอาชีพนี้ต่อไปด้วย