สู่วิถีคิลานธรรม
วิถีสังฆะเพื่อการดับทุกข์
2 เมษายน 2561
ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย
หากท่านป่วย ท่านปรารถนาที่จะพบพระสงฆ์ที่คุ้นเคยและไว้ใจมาเยี่ยมสักครั้งหรือไม่? หากท่านตอบว่าไม่ อาจเป็นเพราะท่านยังไม่รู้จักพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งในกลุ่มคิลานธรรม
คิลานธรรมคือกลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์จิตอาสาที่ทำงานด้านการเยียวยาความสูญเสีย และดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน หลายท่านจบการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากภาควิชาชีวิตและความตาย จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)
ถึงแม้คิลานธรรมจะก่อตั้งและดำเนินงานมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่การจัดงาน "10 ปี คิลานธรรม" ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อ 2 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา อาจนับว่าเป็นการขยายผลการดำเนินงาน และร่วมสร้างเครือข่ายสังฆะแห่งการดูแลผู้ป่วยครั้งใหญ่ที่สุด โดยในสังฆะนี้ สมาชิกทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และฆราวาสเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง โดยหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) ให้การสนับสนุนทั้งสถานที่ และการพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์
ดูแลให้ตายดี ต้องดูแลตั้งแต่ยังอยู่ดี
พระมหาสุเทพ สุทฺธิญาโณ ประธานกลุ่มคิลานธรรม เผยในช่วงการเปิดงานว่า การเยียวยาผู้ป่วยที่ได้ผลนั้น ไม่อาจทำได้ในช่วงเวลาวิกฤตใกล้ตาย เพราะช่วงเวลานั้นกระชั้นชิด ผู้ป่วยและครอบครัวอาจมีทุนไม่เพียงพอต่อการเผชิญความทุกข์ การเยียวยาผู้ป่วยจึงต้องเยียวยาครอบครัวและคนรอบนอกตั้งแต่ก่อนตาย ก่อนป่วยหนัก หรือแม้กระทั่งในช่วงที่ยังสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ "ถ้าเราต้องการสร้างสังคมให้คลายทุกข์ได้ ต้องช่วยกันตั้งแต่ก่อนหน้านั้น"
คุยแบบอ่างปลา มิติใหม่ของวงสงฆ์สนทนา
ในวันที่สองของการจัดงานตลอดสามวัน คิลานธรรม ได้จัดวงน้ำชาระหว่างเครือข่ายกัลยาณมิตร สนทนาพูดคุยในกิจกรรม "สู่วิถีคิลานธรรม วิถีสังฆะเพื่อการดับทุกข์" โดยช่วงหนึ่งของกิจกรรม พระวิทยากรได้เชื้อเชิญเครือข่ายที่ทำงานด้านการเยียวยาความทุกข์ มาร่วมพูดคุยสนทนาแบบอ่างปลาทอง
ผู้เข้าร่วมสนทนาได้แก่ พระและฆราวาสที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และด้านการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย มาร่วมพูดคุย วงสนทนาจัดออกเป็น 2 วง เก้าอี้วงในคือวิทยากรที่เป็นผู้เริ่มต้นประเด็นสนทนา ส่วนเก้าอี้วงนอก คือผู้ฟังที่สนใจเรียนรู้การทำงานของชุมชนนักปฏิบัติ และสามารถเข้ามาร่วมสนทนาได้ตลอดเวลา
กระบวนการพูดคุยซึ่งจัดระเบียบความสัมพันธ์แนวราบในคณะสงฆ์เช่นนี้ นับเป็นรูปแบบกิจกรรรมที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก แน่นอนว่าเมื่อรูปแบบของการสนทนาเปลี่ยนไป ผลจากวงเสวนาแม้จะดูแปลกในช่วงแรก แต่กลับลื่นไหล มีอารมณ์ขัน และมีรสชาติในที่สุด
การฟัง: กุญแจของพระผู้เยียวยา
กุญแจสำคัญในการทำงานของเครือข่ายคณะสงฆ์ในสังคมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา การพัฒนาเด็กและเยาวชน และการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย คือการฟังอย่างลึกซึ้ง
ในขณะที่พระทำงานค่ายเด็กและสามเณรสะท้อนว่า เด็กที่มาร่วมค่ายธรรมะ เมื่อเขาได้มีโอกาสสะท้อน แสดงความคิดเห็นและความต้องการ ส่วนพระสงฆ์ก็รับฟังและใส่ใจความคิดเห็นของพวกเขา จะเกิดอำนาจร่วมในชุมชน เด็กจะต่อต้านพระน้อยลง และร่วมมือปฏิบัติธรรมมากขึ้น พระวิทยากรไม่จำเป็นต้องควบคุมบังคับ ส่วนครูก็ไม่ต้องอยู่ในสภาพที่ต้องกดดันเด็กๆ ตลอดเวลา
ส่วนพระและฆราวาสที่ทำงานด้านการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและผู้สูญเสียก็สะท้อนข้อดีของการเยียวยาด้วยการฟังเช่นกัน การฟังที่มีคุณภาพจะเปิดโอกาสให้ผู้ประสบความทุกข์ได้ระบาย บอกความรู้สึกและความต้องการ ในเบื้องต้นผู้เล่าย่อมเกิดการทบทวนจัดระเบียบความคิดของตนเอง และความทุกข์ได้จางคลายจากการระบายความอัดอั้นคับแค้นไประดับหนึ่ง ในขณะที่ผู้ทำหน้าที่เยียวยา จะเกิดความเข้าใจผู้มีความทุกข์ได้อย่างชัดเจน นำมาสู่การแสวงหาความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและถูกจุด อย่างไรก็ตาม การฟังยังไม่ใช่สิ่งที่พระสงฆ์ในสังคมไทยมีทักษะมากนัก เพราะถูกวางบทบาทให้เป็นผู้พูดหรือแสดงธรรม แต่วงสนทนาเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนให้พระสงฆ์มีทักษะการฟังมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น
รวมเครือข่ายกัลยาณมิตร สู่ศูนย์การเรียนรู้วิถีคิลานธรรม
ในภาคบ่าย พระวิทยากร เชิญกัลยาณมิตรแยกวงสนทนาในกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “ระดมใจ ระดมความคิด สร้างสรรค์สังคมไทย ให้คลายทุกข์” ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) เตรียมวัยเยาว์ให้เข้าทาง 2) เตรียมคนทำงานสู่การใช้ชีวิต สู่เป้าหมายที่มนุษย์ควรได้รับ 3) เตรียมใจก่อนล้มป่วย 4) ช่วยเหลือยามทุกข์ยากและจากลา และ 5) พัฒนาพระพาพุทธบริษัทให้มั่นคง
เครือข่ายกัลยณมิตรใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ระดมความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าวด้วยบรรยากาศเปี่ยมมิตรไมตรี เพราะในระหว่างการคุยมีการจิบชายามบ่าย ส่งผลให้การเสวนานุ่มละมุนไหลลื่น อบอวลบรรยากาศมิตรภาพ
ข้อสรุปจากที่ประชุมก็น่าสนใจเช่นกัน ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมคือ คิลานธรรม มีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมบทเรียนการทำงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในลักษณะ ศูนย์การเรียนรู้คิลานธรรม เพื่อเป็นฐานในการจัดการความรู้ เป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายกัลยาณมิตร และเผยแพร่แนวคิดและประสบการณ์จากการทำงาน เพื่อขยายผลจากการดำเนินงานในกลุ่มสังฆะให้แผ่ขยายกว้างขวาง สอดคล้องกับความต้องการที่จะคลายทุกข์ของสังคมได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที
โครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา ขอร่วมอนุโมทนาทีมงานคิลานธรรม และเครือข่ายกัลยาณมิตรทุกท่าน และทุกกลุ่มองค์กร ที่มาร่วมงานด้วยจิตใจเปี่ยมกุศลไร้อามิสเป็นการตอบแทน นับว่าเป็นที่น่าซาบซึ้งยินดียิ่ง ที่ปรากฏความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพุทธบริษัทนี้ขึ้นในสังคมไทย อันเป็นความหวังที่จะนำพุทธธรรมกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมีความหมายต่อสังคม อย่างมีนัยสำคัญ
หมายเหตุ: กิจกรรม 10 ปี คิลานธรรม จัดขึ้นวันที่ 1 - 3 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส กรุงเทพฯ ท่านที่สนใจกิจกรรมของคิลานธรรม ติดตามได้ที่ https://web.facebook.com/gilanadhamma
[seed_social]