parallax background
 

‘จาก "ตะวัน" สู่ "ตะวัน"

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด:ในชีวิตและความตาย


 
 

ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ชาวไทยผูกพันใกล้ชิดกับสายน้ำมาโดยตลอด เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ อีกทั้ง ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตทั้งในด้านการผลิตและบริโภค

ตั้งแต่การ สร้างบ้านแปงเมือง (ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางเหนือกับอีสาน แปลว่า “การสร้าง”)ต้องอยู่ใกล้แม่น้ำจนถึงการทำนาล้วนต้องอาศัยน้ำทั้งสิ้น

แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักของไทยมาเนิ่นนาน ‘เรือ’ จึงกลายเป็นวิถีชีวิตของชนชาติไทยตั้งแต่ใช้เพียง ‘เรือขุด’ เรียบง่ายในการสัญจรไปมา จนพัฒนาเป็น ‘เรือรบ’ สำหรับรักษาเอกราชทางดินแดน กระบวนเรือพระราชพิธีจึงไม่ใช่เป็นเพียงการจัดริ้วกระบวนเพื่อให้เกิดความสวยงามตระการตา หากเปี่ยมไปด้วยความหมายและกลยุทธ์ทางการศึก เพื่อจัดเตรียมกำลังรบทางเรือ ยามเมื่อว่างเว้นจากศึกสงคราม จึงระดมพลฝึกซ้อม จนถึงนำเรือมาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินยังพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำ หรือพระราชพิธีอื่นๆ ที่ต้องมีการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร คือพระปรมาภิไธยแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ปวงชนชาวไทยมักจะเรียกพระนามสั้นๆ ว่า ‘ในหลวง’

สิ่งพิเศษที่ ‘เชื่อม’ ระหว่างในหลวงกับพสกนิกรอย่างแน่นแฟ้นตลอดเวลากว่า 70 ปี นั่นคือ ‘น้ำ’ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสำคัญของน้ำ ความว่า

“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…” ด้วยสังคมไทยมีรากฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม ‘น้ำ’ จึงมีความสำคัญยิ่งต่อ ‘ชีวิตราษฎร’

เสียงเคาะกรับขับลำนำหวานเสนาะทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา พายขยับเนิบช้าน่าชม เป็นจังหวะจะโคน ช่างเป็นภาพที่ตราตรึงใจต่อผู้ชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หากสำหรับ ‘ธรรมิกราชา’ แล้ว คงไม่มีสิ่งใดเทียบได้กับเสียงสะอื้นร่ำไห้ทุกขเวทนาอ้อนวอนขอพระราชทาน… ‘น้ำ’

คุณมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2529 เล่าว่า ครั้งหนึ่ง หญิงชราที่ประสบความทุกข์จากภัยแล้งอย่างหนักได้ ‘คลาน’ เข้ากอดพระบาทของในหลวงด้วยน้ำตาอาบแก้ม เพื่อขอพระราชทาน ‘น้ำ’…น้ำที่ ‘ทุกชีวิต’ ต้องดื่ม ต้องกิน หากขาดน้ำ…ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร

ในหลวงมีพระดำรัสว่า

“ยายไม่ต้องห่วงแล้วนะ ต่อไปนี้จะมีน้ำ เราเอาน้ำมาให้”

หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับไปยังรถยนต์พระที่นั่ง ‘น้ำฝน’ ก็ตกลงมาจากฟ้าเป็นครั้งแรกในรอบปี สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ราษฎรในที่นั้นยิ่งนัก

ด้วยความสำคัญยิ่งของ ‘น้ำ’ จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ มีโครงการด้านแหล่งน้ำกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศเกือบ 3,000 โครงการ ซึ่งถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับงานพัฒนาด้านอื่นๆ อีกทั้งยังมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบทุกด้าน ตั้งแต่น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเน่าเสีย รวมไปถึงการพัฒนาฟื้นฟูป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ

โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2496 และ โครงการฝนหลวงในปี พ.ศ. 2498 เป็นโครงการพระราชดำริที่เกิดจากการเยี่ยมเยียนราษฎรช่วงแรกๆ ทั้ง ‘น้ำบนดิน’ และ ‘น้ำจากฟ้า’… ธ ทรงธรรม โดย ‘ทรงทำ’

พระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะเรื่อง ‘น้ำ’ มิได้มีเพียงชั่วข้ามคืน หากมีความสนพระทัยทั้ง ‘น้ำ’ และ ‘ดิน’ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายใต้การอภิบาลเลี้ยงดูจากสตรีผู้หนึ่งที่คนไทยทั่วทั้งแผ่นดิน ต่างเปล่งเสียงเรียกด้วยความเคารพรักเทิดทูนและผูกพันว่า

‘สมเด็จย่า’…ดุจ ‘ดวงตะวัน’ ที่ให้ความอบอุ่นใจ มิเคยลาลับจากปวงชนชาวไทย

‘แม่ฟ้าหลวง’…ดุจ ‘แม่’ ผู้สูงส่งจากฟากฟ้า ผู้นำความสุข ความสดใส และความหวังมาสู่ชาวเขาบนดอยสูงทางภาคเหนือด้วยพระราชปณิธาน …“ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง”

ด้วยพระราชกุศโลบาย… “คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้”

เสียงดังกระหึ่มของเครื่องเฮลิคอปเตอร์บนฟากฟ้า พร้อมๆ กับที่เห็นลำเครื่องบินชัดขึ้นๆ และบินลดระดับจากฟ้าต่ำลงมาเรื่อยๆ จนจอดนิ่งที่พื้นดิน ย่อมเป็นสัญญาณแจ้งว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จมาถึงแล้ว ด้วยความรัก ความเข้าใจ ความสนพระราชหฤทัยต่อประชาชนบ้านป่าเมืองดอยที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในดินแดนแสนไกลทุรกันดาร ถูกตัดขาดจากกระแสธารแห่งวัฒนธรรมและชีวิตแบบไทย กำลังถูก ‘เชื่อม’ ด้วยความรักของ ‘สมเด็จย่า’ ที่มีให้แก่ราษฎร

โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเริ่มต้นเพื่อให้ราษฎรมีอาชีพและรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยไม่ต้องไปประกอบอาชีพค้ายาเสพติด หรือค้ามนุษย์

ความตายใดเล่า โหดร้ายเท่ากับการตายของจิตวิญญาณ…ไม่มี

‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ คือของขวัญอันล้ำค่าที่พระราชทานคืนให้แก่ชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันอาศัยอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่สูง ห่างไกลการคมนาคมในแถบภาคเหนือ โดยการดำเนินการของโครงการฯ ซึ่งเริ่มในช่วงเวลาที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมมายุ 87 พรรษา

คำว่า ‘ไหว้สา’ เป็นภาษาเหนือโบราณ แปลว่า “การทำความคารวะด้วยอาการนอบน้อมถ่อมใจ”

คำว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นพระสมัญญาที่มาจากความคิด ความรัก และความผูกพันของชาวเขาที่มีต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี

ไหว้สา…แม่ฟ้าหลวง จึงมีความหมายลึกซึ้งฝังแน่นอยู่ในดวงใจของชนกลุ่มน้อยที่ครั้งหนึ่ง เคยอยู่อย่างโดดเดี่ยว…ได้สำนึกว่า ตนนั้นเป็นประชาชนของแผ่นดินไทย องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 (ค.ศ. 1999) ถวายพระเกียรติด้วยการอัญเชิญพระนามบันทึกไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญระดับโลกประจำปีคริสต์ศักราช 2000-2001 ในฐานะที่ทรงมีผลงานเด่นเพื่อส่วนรวม ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม

จาก ‘ตะวัน’ ดวงหนึ่ง ส่งต่อ แสงทองแห่งปัญญา สู่ ‘ตะวัน’ อีกดวงหนึ่ง

ในหนังสือ ‘เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์’ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเขียนเล่าไว้ถึงการอภิบาลของสมเด็จย่าต่อพระราชโอรสและพระราชธิดาว่า อยากให้เล่นกลางแจ้งให้มากที่สุด จึงสร้างที่ ‘เล่นทราย’ เป็นโครงไม้กรอบสี่เหลี่ยมบรรจุทรายอยู่ข้างใน หลังจากนั้นพระราชโอรสก็ทรงเปลี่ยนเป็น ‘เล่นน้ำ’ โดยย้ายออกมาเล่น ‘นอกกรอบไม้’ และเริ่ม ‘ขุดคลองดิน’ จากนั้นนำน้ำมาใส่ให้ไหลในคลอง และเติมกิ่งไม้ ใบไม้ ต่อมาเมื่อเสด็จประพาสบนภูเขาในต่างประเทศช่วงฤดูร้อน ก็ทรงอดไม่ได้ที่จะเสด็จออกมาปิกนิกใกล้ๆ ลำธารและทรงเล่น ‘ทำเขื่อน’

พระราชาในนิทานกำลังย่างพระบาทสู่โลกแห่งความเป็นจริงดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า

“ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง…”

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วภูมิภาคของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2498 ตั้งแต่ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ พระองค์ทรงโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภูมิภาคสืบต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นเหตุให้พระองค์ทรงทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนปัญหาของราษฎรอย่างแท้จริง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย เมื่อครั้ง ‘ในหลวง’ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง…เมื่อนานมาแล้ว

ในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพ แม้จะทรงพระประชวร หากยามใดที่พระองค์ทอดพระเนตรลงมาที่แม่น้ำเจ้าพระยา จากห้องประทับชั้น 16 ณ โรงพยาบาลศิริราช หรือแม้แต่ประทับทอดพระเนตรจากศาลาท่าน้ำ พระองค์ท่านอาจมิได้ทอดพระเนตรเพียง ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ เท่านั้น หากสายพระเนตรยังคงทอดยาวไกลไปทั่วทุกภูมิภาค ทั่วทุกสารทิศ ทุกๆ ตารางนิ้วของผืนแผ่นดินไทยที่ท่าน ‘เคยเสด็จเยี่ยม’ ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วย ‘ความรักและห่วงใย’ พสกนิกรทุกคน ผ่าน ‘กระแสสินธุ์’ อันก่อกำเนิดจากแหล่งต้นน้ำทั้ง แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังไม่นับรวมแม่น้ำสาขาย่อย ไปจนถึงลำห้วย หนอง คลอง บึง ตามแต่ละถิ่นที่ท่านเคยเสด็จไป

เวลานี้แม้สายน้ำยังคงไหล…แต่ดู…เงียบเหงา
หากแลกได้..หยาดน้ำตาของพสกนิกรทั้งแผ่นดินรวมกันเพื่อให้พระชนม์ชีพยืนนาน พวกเราก็ยินดีถวาย แม้ชีวิต…ก็ยอม
หากพระองค์ท่านทรงทราบ…คงแย้มพระสรวลน้อยๆ และปฏิเสธอย่างนุ่มนวล…เช่นเคย
ก็ในเมื่อความฝัน…ของพระองค์คือความสุขของราษฎร
ก็ในเมื่อความรัก….ของพระองค์คือชีวิตของราษฎร
ก็ในเมื่อความสุข…ของพระองค์คือการ ‘ทรงทำ’ เพื่อราษฎร
หน้าที่ของ ‘ดวงตะวัน’ คอยสาดแสงส่องสรรพชีวิตบนพื้นโลกให้ยังคงดำเนินชีวิตต่อไป…แม้ตนจะต้องอยู่ท่ามกลางความร้อนแรงของเปลวสุริยัน…ก็ยินดี…
เพราะนั่น…ก็คือความสุขของ ‘ดวงตะวัน’ เช่นกัน


ข้อมูลอ้างอิง:

  1. นิทรรศการ “ร้อยเรื่องราวแห่ง ‘การให้’ ของครอบครัวมหิดล” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 ธ.ค. 2559 – 29 ม.ค. 2560 ณ หอแห่งแรงบันดาลใจ พระตำหนักดอยตุง
  2. หนังสือ ‘เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์’ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
  3. หนังสือชุด ‘จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา’: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
  4. หนังสือ ‘ตามรอยพ่อ ก-ฮ’: สำนักพิมพ์สารคดี
  5. หนังสือ ‘กาพย์เห่เรือ จากสมัยอยุธยาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ โดย ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์: สำนักพิมพ์แสงดาว
  6. หนังสือ ‘กระบวนพยุหยาตราชลมารค’: กองทัพเรือ
  7. สารคดีการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี: กองทัพเรือ
[seed_social]
12 มกราคม, 2564

วิถีแห่งดอกไม้: วิถีแห่งการข้ามพ้นความกลัว

หลังฟังคำตอบในฐานะผู้สอนได้เห็นรูปแบบการตัดสินตัวเองของ ผู้เรียนที่เชื่อว่า ศิลปะเป็นงานของคนที่มีพรสวรรค์หรือความสามารถเท่านั้น ส่วนตัวฉันนั้นไม่มีความรู้ศิลปะ และไม่สามารถทำงานศิลปะได้ ผู้เรียนมีความกลัวที่แสดงผ่านความรู้สึกไม่ไว้วางใจในตนเอง
4 เมษายน, 2561

ก้าวต่อไปของกฎกระทรวง เรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ

จากกรณีความเคลื่อนไหวในการผลักดันกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน
23 เมษายน, 2561

การรักษาสัมพันธภาพในขณะให้การดูแล

ผู้คนราว ๕๔ ล้านคนในสหรัฐอเมริกากำลังดูแลคนชราหรือคนรักที่ป่วยเรื้อรัง ตามข้อมูลของสมาคมผู้ดูแลแห่งชาติ คนที่ดูแลบางคนก็เป็นคู่ บางคนก็เป็นพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เจน มิลเลอร์ (เป็นนามสมมุติ) ต้องดูแลทั้งสองกรณีและเธอรู้ด้วยตนเองว่าความเครียดที่เกิดจากการดูแลจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์