parallax background
 

สารคดีปู่สมบูรณ์
ภาพชีวิต แก่ เจ็บ ตาย

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

คุณลุงสมบูรณ์พาภรรยาคู่ยาก คุณป้าเมียดมาตรวจเลือด ฟังผล และรับยา ป้าเมียดป่วยด้วยโรคเรื้อรัง คือ ไตวายระยะสุดท้าย น้ำหนักตัวที่มากเกิน ทำให้มีโรคภัยตามมาร่วมขบวนด้วย คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหัวใจ ฐานะที่ยากจน ทำให้ความยากลำบากมากขึ้นเป็นทวีคูณ ลุงบอกว่ากว่าจะมาถึงโรงพยาบาลได้ก็ทุลักทุเล ทั้งเรือ ทั้งสามล้อ ฟังเรื่องราวของคุณลุงที่ต้องดูแลป้า ทั้งการล้างไตวันละ ๔ เวลา อาบน้ำ ดูแลเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกาย แทบทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว เพราะลูกๆ ไปทำงานต่างถิ่น รู้สึกทั้งชื่นชมและสะท้อนใจในชีวิตของคนแก่ที่เจ็บป่วยเรื้อรังและยากจน

ถามลุงว่าเหนื่อยไหม ท้อแท้บ้างไหม ลุงตอบว่าก็มีบ้าง บางครั้งแกก็นึกสงสัยว่า แกกับเมียทำบาปกรรมอะไรไว้ถึงได้ต้องเผชิญเคราะห์กรรมเช่นนี้ โรคภัยต้องมาเบียดเบียนแบบนี้ ก็ได้แต่สงสัย เพราะถึงอย่างไรแกกับเมียก็ต้องพยายามมีชีวิต ต่อสู้โชคชะตา และช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป คุณลุงเล่าว่า แกกับป้ามาใช้ชีวิตด้วยกัน เพราะผู้ใหญ่จัดสรรให้แต่งงานกัน ไม่ได้รัก ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงามแกก็เลยตามเลย อยู่กินกันจนมีลูกหลาน บางช่วงที่ลุงป่วยหนัก ป้าก็ดูแลรักษา ไม่ทอดทิ้ง พอมาถึงคราวป้าล้มป่วย แกคงจะเมินเฉยทอดทิ้งไม่ได้ คงเป็นเพราะความผูกพัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ใช่แค่เรื่องความรักอย่างเดียวที่ทำให้ลุงยังอยู่กับป้าและทุ่มเทขนาดนี้ สายสัมพันธ์ของลุงกับป้าคงถักทอหนักแน่นจนแทบเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว

ความจริงในโรงพยาบาลหลายแห่งมีกรณีผู้ป่วยเรื้อรังที่ถูกญาติทอดทิ้งอยู่ไม่น้อย พูดง่ายๆ คือญาติไม่เอา จะเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ภาระส่วนตัวหรืออุปนิสัยด้านลบของคนไข้จนญาติๆ พากันเดินหนี เป็นโชคดีของป้า รวมถึงของโรงพยาบาลด้วยที่ลุงเลือกไม่ทอดทิ้งป้า ไม่ผลักภาระไปที่โรงพยาบาล แถมยังดูแลป้าอย่างดีเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ลุงทำให้กับป้า นับว่ามีส่วนช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขของไทยเลยทีเดียว

จากที่รู้จักลุงสมบูรณ์ ผู้เขียนคิดว่าลุงมีสิ่งที่เป็นขุมทรัพย์ เป็นทุนชีวิตที่ดีมาก นั่นคือ ลุงมีความสุขุม ยอมรับความจริงและเข้มแข็งในการเผชิญความทุกข์ยาก แกยอมรับความเป็นไปที่เกิดขึ้นและอยู่กับความจริงตรงหน้ามากกว่าเรียกร้องหรือคร่ำครวญหาสิ่งที่อยากให้เป็น ควรเป็น คนป่วยทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บ แต่คนดูแลก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะความเครียดความกดดันที่รุมเร้า ต้องแบกภาระหลายอย่างทั้งการดูแล ความกังวลต่างๆ จึงไม่แปลกที่คนดูแลมีโอกาสล้มป่วย ทรุดโทรมได้ง่าย แต่ท่าทีสุขุม ยอมรับความจริง ทำให้ลุงอยู่กับแต่ละวันที่เข้ามาได้พอสมควรแก่อัตภาพ เป็นสิ่งที่น่านับถือมาก

ลุงคงเรียนจบแค่ ป.๔ หรืออาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ อาชีพเดิมคือ ชาวนา กรรมกร มีลูกๆ แต่ก็แยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น อาจเพราะเป็นสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่หล่อหลอมลุงมาแต่เด็ก ลุงจึงอยู่กับป้าโดยไม่มองว่าป้าเป็นภาระ เป็นตัวขัดขวางความสุข เป็นตัวสร้างความทุกข์ยาก ผู้เขียนเดาว่าทุกครั้งที่อาบน้ำ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัยให้กับป้า ลุงคงมองเห็นคู่ชีวิตที่มีความรักความผูกพันต่อกัน คุณความดีที่เคยอยู่และทำร่วมกัน ลุงกับป้าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจริงๆ

เรื่องของป้าเมียดกับลุงสมบูรณ์สะท้อนภาพชีวิตของคนเรา ยามเมื่อเผชิญบั้นปลายชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังซึ่งสร้างภาระและคุกคามชีวิตอย่างรุนแรงไม่แพ้อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมีคนไข้มากมายที่เข้าคิวรอการรักษาโรคภัยจากเพชฌฆาตเงียบ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน หัวใจ ความดัน ที่สำคัญโรคภัยเหล่านี้ค่อยๆ กัดกร่อยอวัยวะภายใน คุณภาพชีวิตให้เสื่อมทรุดลงทั้งตัวผู้ป่วย และผู้ดูแล แต่สิ่งที่น่าตระหนกคือ ระบบสาธารณสุขยังไม่เน้นเรื่องการป้องกัน แต่ตั้งรับด้วยการรักษามากกว่า

พวกเราล้วนต่างปรารถนาการตายที่ดี การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การดูแลสุขภาพร่างกายไม่ให้มีโรคภัยเบียดเบียน ถือเป็นของขวัญล้ำค่า การเลือกดูแลตนเองน่าจะเป็นเรื่องดีต่อชีวิต เพราะหลายคนคงไม่มีคนข้างเคียงแบบลุงสมบูรณ์ ถึงมีก็อย่าให้คนข้างเคียงต้องมารับภาระแบบนี้เลย

ตลอดช่วงเวลาที่ได้พบปะและพูดคุย ลุงมักถามไถ่เรื่องสุขภาพ การดูแลสุขอนามัยที่สำคัญของคุณป้าว่า ต้องทำอย่างไร ถ้าลุงจะปรับทุกข์หรือระบายความรู้สึกอะไรต่างๆ ภายในใจออกมาบ้าง จะดีมาก แต่ลุงไม่เคยบอก สีหน้าลุงแสดงถึงการยอมรับ มีแต่ความใส่ใจที่มีกับป้า ลุงคงยอมรับโชคชะตาของตนเองและถือหลักดำเนินชีวิตว่า ทำวันนี้ให้ดี วันพรุ่งนี้ว่ากันใหม่ ผู้เขียนคิดถึงคำพูดของนักปราชญ์คนหนึ่งที่น่าจะสอดคล้องกับเรื่องราวของคุณลุงพอดี

“จงรักในชะตาชีวิตของคุณ”

ไม่ว่าชะตาชีวิตของเราจะเลวร้ายอย่างไร แต่เมื่อเรายอมรับและอยู่กับมัน กระทำสิ่งที่ดี มีคุณค่าเท่าที่จะทำได้ต่อสิ่งที่รัก เราจะไม่เสียใจ ไม่ทุกข์ทรมานเกินไปนัก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง

หลังน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ข่าวว่าป้าจากไปแล้ว ลุงดูเศร้า ลุงเล่าให้ฟังว่า พอป้าไม่อยู่ กิจวัตรอะไรต่างๆ ที่เคยทำก็หายไป ลุงพบว่าชีวิตที่เคยมีป้า แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับภาระความรับผิดชอบ แต่ก็ทำให้ลุงรู้สึกว่าตนเองมีความหมาย ลุงบอกว่า “ในเมื่อมีชีวิต ยังไงๆ ก็ต้องอยู่ต่อไป” ลุงยิ้ม เหมือนให้กำลังใจ ปลอบใจตนเองและพวกเราด้วย

“ใช่แล้ว ในเมื่อมีชีวิต ยังไงๆ ก็ต้องอยู่ต่อไป และอยู่ให้ดีด้วย”

ขอบคุณครับ ลุงสมบูรณ์

[seed_social]
5 ธันวาคม, 2560

ประสบการณ์ล้ำค่าเพื่อก้าวผ่านการพรากจากของคน ๙ ลักษณ์

ผู้เขียนนำกรอบคิดเรื่องนพลักษณ์ มาเป็นฐานการจัดหมวดหมู่เรื่องราวชีวิตว่า คนแต่ละลักษณ์ทำอะไร อย่างไร ยามเผชิญหน้ากับความตาย หลายเรื่องที่เจ้าของชีวิต เจ้าของลักษณ์บอกเล่า เป็นเรื่องราวยามเผชิญกับความตายที่มาทักทายในรูปของการป่วยไข้
12 ตุลาคม, 2565

บทเพลงข้างเตียง: สื่อเสียงเพื่อผู้ป่วยระยะท้ายและการจากไปอย่างสงบ

เราอยู่ในยุคที่การฟังเสียงที่ต้องการไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในวันที่ทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต ลูกหลานเพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟน สัมผัสหน้าจอแค่ไม่กี่ครั้ง
24 มกราคม, 2561

หน้ากากแห่งบาดแผล ศิลปะการเยียวยาจิตใจ หลังผลพวงจากซากสงคราม

ความเจ็บปวดจากอุบัติเหตุหรือการถูกทำร้ายนั้น เป็นบาดแผลภายนอก อาจรักษาหายได้ตรงจุด เนื่องจากเราสามารถมองเห็นบาดแผลนั้นด้วยตาเปล่าความเจ็บปวดจากอาการปวดท้อง ปวดหัว หรือปวดหลัง เป็นบาดแผลภายใน