โดยทั่วไปแล้วฆราวาสส่วนใหญ่เมื่อป่วยระยะสุดท้าย จะได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลในระยะหนึ่ง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะถูกส่งกลับบ้านพร้อมกับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยให้กับครอบครัวต่อไป แต่สำหรับพระภิกษุนั้นต่างออกไป เพราะที่วัดแม้จะมีพระสงฆ์รูปอื่นอยู่ด้วย แต่ก็แตกต่างจากครอบครัวที่พร้อมจะทุ่มเทดูแลผู้ป่วยด้วยทุกอย่างที่มี ปัญหานี้ยากขึ้นไปอีกขั้นเมื่อภิกษุรูปนั้นจำวัดอยู่ต่างจังหวัดที่ไกลออกไป เพราะจะมีพระที่จำวัดอยู่เพียงไม่กี่รูป วัดบางแห่งมีพระจำวัดอยู่เพียงแค่รูปเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่ออาพาธระยะสุดท้ายจนโรงพยาบาลส่งกลับมาที่วัด ภิกษุรูปนั้นก็เผชิญหน้ากับภาวะไร้คนดูแล
นอกจากนั้นแล้ว หากเป็นฆราวาสทั่วไปที่ไร้ครอบครัวดูแล สถานที่ต่อไปหลังออกจากโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยระยะท้ายอาจเป็นสถานสงเคราะห์สักแห่ง แต่ถ้าเป็นพระภิกษุแล้ว การจะเข้าสถานสงเคราะห์ได้ จำเป็นจะต้องสึกออกจากความเป็นพระเสียก่อน
“บางครั้งก็ส่งกลับไปหาครอบครัวนะ” พระอาจารย์วิชิต ธมฺมชิโต ผู้ก่อตั้งสถานดูแลภิกษุอาพาธระยะท้ายเริ่มอธิบายถึงทางเลือกที่ไม่ค่อยมีมากนัก “บางทีมันก็น่าเศร้า บางครอบครัวเขาก็ตอบกลับมาเมื่อเราส่งพระกลับไปว่า สมัยเป็นพระหนุ่มๆ สมัยยังทำงานได้ เคยเรียกออกมาช่วยกันทำมาหากินก็ปฏิเสธ อยากจะศึกษาพระธรรม แต่ตอนนี้แก่ชราและอาพาธลง ทำไมไม่ให้ศาสนาดูแลล่ะ?”
ทั้งสามย่อหน้าที่ผ่านมานี้ คือเหตุและปัจจัยที่ผลักดันทำให้ พระวิชิต ธมฺมชิโต ตัดสินใจก่อตั้งสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้น สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า ‘สันติภาวัน’ พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ให้ โดยความหมายของชื่อนี้ก็คือ
“คำว่าสันติแปลว่าความสงบ ภาวันก็คือการภาวนา ดังนั้นเราจะมีพื้นที่เล็กๆ ให้เกิดความสงบสูงสุดของพระภิกษุที่อาพาธระยะท้าย”
การดูแลอาการอาพาธระยะท้ายที่สันติภาวัน
พระอาจารย์วิชิตเล่าว่า การดูและภิกษุระยะสุดท้ายที่สันติพาวันนั้นคำนึงถึงความสบายใจและสบายกายของพระแต่ละรูปเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งอันที่จริงก็คือหลักการของการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ของฆราวาสทั่วไป พระบางรูปอาจสบายใจกว่าที่จะอยู่ท่ามกลางเสียงทำวัดและระฆังที่ลอยมาตามลม ที่สันติภาวันก็มีสภาพแวดล้อมแบบนั้นรองรับอยู่แล้ว แต่ถ้าบางรูปสบายใจที่จะเปิดทีวีดูสารคดี มากกว่า ที่สันติภาวันก็มีให้เช่นเดียวกัน
เมื่อพระรูปหนึ่งเข้ามาที่สันติภาวัน สิ่งที่แรกพระอาจารย์วิชิตและผู้ดูแลจะต้องทำก็คือ การย้ายทะเบียนของพระรูปนั้นให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพื่อขอรับสิทธิ์การรักษาจากโรงพยาบาล ผู้ดูแลของสันติภาวันไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่เป็นภิกษุใต้ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยกันเอง เป็นการช่วยเหลือและเกื้อกูลกันอย่างเช่น การฉันอาหาร สรงน้ำ เช็ดตัว อาหารจากที่นี่ก็มาจากการบินฑบาตรในตามเช้า ถ้าพระอาพาธรูปไดยังลุกจากเตียงไปขึ้นรถเข็นได้ พระผู้ดูแลก็จะพาไปชมธรรมชาติตามความต้องการ แต่ปัญหาทางเทคนิค อย่างเช่น การฉีดยาหรือให้อาหารทางสายยาง หรือทักษะที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พระผู้ดูแลไม่สามารถทำให้ได้ แต่ก็สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลจังหวัดให้เข้ามาดูแลได้
“ที่สันติภาวัน ไม่จำกัดนิกายพระที่จะเข้ามารักษาตัวในช่วงท้ายของชีวิต เพราะอาตมาถือว่า พระทุกรูปเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่จำกัดนิกายว่าเป็นธรรมยุติ หรือมหานิกาย” พระอาจารย์วิชิตกล่าว
ของบริจาคที่สันติภาวันต้องการมากที่สุด
พระอาจารย์วิชิตเล่าต่อว่า การรับของบริจาคที่นี่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหนึ่งซึ่งก็คือ ช่วงชีวิตบั้นปลายของภิกษุผู้อาพาธ บางครั้งจะไม่เปิดรับของบริจาคมากเกินไป เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การบริจาคแพมเพิสผู้ใหญ่ที่ต้องจำเพาะขนาดให้ใช้ได้กับพระอาพาธแต่ละรูป ก็ไม่อาจเปิดรับบริจาคในปริมาณมากเพื่อกักตุนได้ เพราะไซส์แตกต่างกันไปในแต่ละรูป อีกประการหนึ่ง หลังจากที่พระรูปนั้นจากโลกนี้ไปแล้ว แพมเพิสที่เหลืออยู่ก็จะเป็นภาระต้องจัดหาที่เก็บมากกว่าของที่มีประโยชน์ ดังนั้นที่สันติภาวันจึงไม่เปิดรับบริจาคของอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ฆราวาสที่ต้องการเกื้อกูลสันติภาวันส่วนใหญ่มักจะเอ่ยปากกับหลวงพ่อว่า
“หากขาดเหลืออะไรสามารถติดต่อมาได้เสมอเลยครับ”
สิ่งที่สันติภาวันต้องการมากที่สุด ไม่ใช่ของบริจาค แต่คือบุคลากรอย่างพระผู้ดูแลต่างหาก งานดูและผู้ป่วยระยะท้ายเป็นงานที่ยากลำบาก ใช้ความอดทนสูง ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุก็ตาม พระวิชิตเล่าต่อไปว่า ถ้ามีจิตอาสาจากพระด้วยกันเข้ามาช่วยเหลือก็จะดีมาก แต่จะเป็นการดีกว่าหากมองว่าการดูแลพระอาพาธระยะท้ายนี้เป็นการปฏิบัติธรรม
“เพราะการเป็นจิตอาสาหมายถึงการเป็นผู้ให้ เป็นผู้ออกแรงดูแล แต่ถ้าเรามองว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เราจะมองว่าการทำงานนี้เป็นการขอเรียนรู้จากพระผู้อาพาธ บางคืนกลางดึกเสียงกระดิ่งจากหลวงปู่ที่ป่วยก็ดังมา พระผู้ดูแลก็ต้องตื่นมาทำความสะอาดอุจจาระ พบกับสิ่งสกปรก ก็จะได้เห็นความรู้สึกในจิตใจตัวเอง การตั้งใจเป็นจิตอาสากับการตั้งใจว่ามาปฏิบัติธรรม ท่าทีของสองอย่างนี้แตกต่างกัน ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้พระที่จะมา มองว่านี่คือการปฏิบัติธรรมทางหนึ่ง”
เงื่อนไขในการใช้สันติภาวันของพระภิกษุ
พระอาจารย์วิชิตเล่าว่า สันติภาวันไม่ใช่สถานที่รักษาให้หายจากความเจ็บป่วย แต่เป็นสถานที่พำนักสุดท้ายของพระที่เผชิญกับอาการอาพาธจนต้องจากโลกนี้ไปในสักวันหนึ่ง ดังนั้นถ้าภิกษุต้องการให้สันติภาวันดำเนินเรื่องในการขวนขวายหาทางรักษาจนภิกษุรูปนั้นหายจากความเจ็บป่วย สันติภาวันไม่อาจบริการอย่างนั้นให้ได้ เพราะนอกจากจะขาดทั้งปัจจัยด้านการเงินและบุคลากร อีกทั้งยังผิดจุดประสงค์ของการก่อตั้งอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเงื่อนไขคร่าวๆ จากบทสัมภาษณ์ของพระอาจารย์วิชิต
- เป็นพระที่อาพาธระยะสุดท้าย ต้องการหยุดขวนขวายในรักษาให้หายจากโรคแล้ว และต้องการหาพื้นที่พำนักเยียวยาดูแลในช่วงชีวิตสุดท้ายอย่างสงบ
- ถ้าวัดของพระรูปนั้นมีผู้ดูแลอยู่แล้ว จะเป็นการดีกว่าที่จะไม่เข้าพักที่สันติภาวัน เพราะนอกจากพระภิกษุผู้อาพาธจะได้ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายชีวิตอยู่ในสถานที่ๆ คุ้นเคยแล้ว การไม่เข้าพักที่สันติภาวันยังเป็นประโยชน์ต่อพระรูปอื่นที่ไร้ผู้ดูแลเพราะจำเป็นต้องใช้เตียงที่สันติภาวันจริงๆ
- เรื่องเงินทองไม่ใช่ปัญหาในการเข้าพักที่นี่เลย
- อาการอาพาธระยะท้ายเฉพาะโรคที่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการรักษา แต่ทางสันติภาวันไม่อาจหาได้ สันติภาวันไม่อาจรับดูแลได้จริงๆ
- สำหรับพระภิกษุผู้ป่วยเป็นโรคติดเตียงหรือเส้นเลือดในสมองแตกจนไม่สามารถเดินได้ ไม่มีผู้ดูแล และไม่ถึงขั้นป่วยระยะท้าย สันติภาวันสามารถรับมาดูแลได้เช่นกัน แต่ไม่อาจรับจำนวนมากได้เพราะต้องเหลือเตียงเอาไว้ให้กับภิกษุที่อาพาธระยะท้ายตามจุดประสงค์ของการก่อตั้ง
เป้าหมายถัดไปของสันติภาวัน
พระอาจารย์วิชิตเล่าว่า ลำดับต่อไปที่สันติภาวันต้องการให้เกิดขึ้นไม่ใช่การขยายสันติภาวันให้ใหญ่โตครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจนเป็นศูนย์กลางการพำนักของพระภิกษุอาพาธระยะสุดท้าย แต่สิ่งที่สันติภาวันต้องการให้เกิดขึ้นคือการผลักดันให้เกิดสถานดูแลภิกษุอาพาธระยะสุดท้ายในหลากหลายพื้นที่ต่างหาก พระที่อาพาธในระยะท้ายจะได้มีผู้ดูแลเกื้อกูลกันให้เกิดความสงบในช่วงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท
พระอาจารย์วิชิตยังทิ้งท้ายเอาไว้อีกด้วยว่า “เรื่องชีวิตระยะท้ายของเราอย่าประมาทว่าเป็นเรื่องไกลตัว จริงๆ มันเกิดขึ้นง่ายมาก สมมติถ้าเราคิดได้ดั่งนี้ เราไตร่ตรองกันว่าถ้าหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจนถึงกับต้องนอนติดเตียง หรือเส้นเลือดสมองแตก อนาคตต่อไปของเราจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นคนดูแลเราอีกสองสามปี ถ้าเราตระหนักได้อย่างนี้ เราก็อาจขยับตัวเตรียมตัวรับมือแล้วเป็นอย่างน้อย ยิ่งพระที่ต้องการอยู่ใต้ผ้าเหลืองตลอดไป ยิ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก การคิดแบบนี้ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตไม่ประมาทเหมือนกับที่พระพุทธศาสนาพยายามบอกมาโดยตลอด หากเราระลึกรู้ว่าชีวิตนี้แสนสั้นมากเพียงใด เราก็จะกลับมาตระหนักถึงสิ่งดีๆ ที่อยากทำก่อนชีวิตนี้จะจบลง”
ช่องทางการติดต่อ
แม้ส่วนใหญ่แล้วพระอาจารย์วิชิตจะเปิดรับบริจาคสิ่งของหน้าเพจเฟสบุ๊คของสันติภาวันอยู่แล้ว แต่หากประชาชนทั่วไปประสงค์อยากบริจาคสิ่งของใดๆ ก็สามารถติดต่อได้ที่ 0814916575 หรือ ส่งข้อความไปยัง www.facebook.com/santibhavan
วันที่ออกอากาศ: 15 พฤศจิกายน 2563
ผู้เรียบเรียง: กฤติน ลิขิตปริญญา