parallax background
 

ศิลปะกับการเข้าใจความตาย

ผู้เขียน:ปองกมล สุรัตน์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

กว่าจะเป็นผลงานศิลปะสักชิ้น หลายคนอาจคิดว่าต้องอาศัยพรสวรรค์ เวลา และความเป็นศิลปินนั่นอาจเป็นศิลปะในนิยามของสุนทรียะชั้นสูงหรือเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ในแง่หนึ่ง ศิลปะกับชีวิตมีโยงใยที่ผสานแนบแน่น เป็นกิจกรรมที่สะท้อนความงาม จินตนาการ และห้วงความคิด ทุกคนสามารถวาด ลาก ตวัด ระบาย ลงสี เพื่อสื่อสารความงามในแบบของตัวเอง บางครั้งศิลปะจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น เชื่อมโยงเรื่องราวชีวิต รวมทั้งความตาย

ดังเช่นภาพสีน้ำหลากสีสันกว่า 20 ภาพ จากปลายพู่กันของคนต่างวัยที่เข้าร่วมเวริ์คช้อปทำนิทานภาพเรื่อง “นกฮูกไม่ยอมให้คำปรึกษา” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Peaceful death โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เจ้าของผลงานเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานวาดภาพหรือลงสีน้ำอย่างจัดเจนมาก่อน พวกเขาคือคู่พ่อแม่และลูกหลายคู่ที่ชวนกันมาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และเรียนรู้เรื่องความตายผ่านการเรียนศิลปะภาคปฏิบัติ จำนวน 4 ครั้ง

“นกฮูกไม่ยอมให้คำปรึกษา” เป็นชื่อของนิทานที่มีนกฮูกวัยชราเป็นตัวละครเอก นกฮูกเป็นที่ปรึกษาอาวุโสในป่าใหญ่ เป็นที่พึ่งของเหล่าสรรพสัตว์ แต่แล้ววันหนึ่งคุณตานกฮูกก็ส่ายหน้า ปฏิเสธที่จะให้คำปรึกษาใดๆอีกต่อไปเพราะป่วยระยะสุดท้าย สัตว์น้อยใหญ่ต่างพากันตกใจและหวาดหวั่นเหมือนขาดเสาหลักชีวิต ตอนจบของนิทานไม่มีบทสรุปตายตัว ขึ้นอยู่กับการแต่งเรื่องของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะตกลงร่วมกัน

คุณเอกภพ สิทธิวรรณธนะ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและคนในครอบครัว เป็นคีย์สำคัญในการดูแลในช่วงท้ายๆของชีวิต เวลาคุณภาพ เป็นตัวที่ช่วยเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีได้ เราเลือกใช้กิจกรรมศิลปะ เพราะมันเป็นทำให้ผู้สูงอายุและคนในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานได้ เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างวัย ตัวนิทานเองเป็นเนื้อเรื่องที่เราสามารถเติมเนื้อหาลงไปได้ ในที่นี้เราก็เติมเนื้อหาเรื่องคุณค่าผู้สูงอายุ เรื่องการวางแผนก่อนตาย เรื่องความสัมพันธ์ที่ดี เรื่องการตายอย่างสงบ ซึ่งมันทำให้เกิดการสนทนาในระหว่างทำนิทานระหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูก กระบวนการระหว่างทำนิทานทำให้ได้คุยเรื่องความตาย เพราะมันมีตัวละครที่กำลังจะตาย ผู้สูงอายุและคนในครอบครัวก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำยังไงกับตัวละครตัวนี้และตัวอื่นๆดี เราสามารถอาศัยทัศนคติที่เราได้คุยกับพ่อแม่ในเรื่องนี้ระหว่างทำนิทาน เป็นตัวสนทนาในเวลาที่อาจต้องเผชิญความเจ็บป่วยด้วยกันในอนาคต อีกอย่างคือช่วงเวลาที่ทำงานศิลปะเป็นช่วงความทรงจำที่ดีของคนในครอบครัว”

ดนตรีทำนองบอสซ่าดังเคียงเคลาเสียงเม็ดฝนกระทบหน้าต่าง บรรยากาศจูงใจให้จรดพู่กันอย่างต่อเนื่อง มือและตาสอดประสาน แต้มสีอย่างตั้งใจ ช่วงเวลานี้ ผู้สูงอายุและคนในครอบครัวได้ทำงานร่วมกันจริงๆจังๆ เป็นบทบาทที่หลายครอบครัวอาจไม่ค่อยได้แชร์ช่วงเวลาแบบนี้มาก่อน กิจกรรมดำเนินผ่านการลากเส้น ลงสี ผลัดกันเล่านิทาน นอกจากสุนทรียะในการสร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง ผลัดกันให้ความเห็นและชื่นชมระหว่างครอบครัว ผู้เข้าร่วมยังถูกชวนให้คิดเรื่องความตาย ความพลัดพรากสูญเสีย การปล่อยวาง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่แฝงในนิทานฉบับสมบูรณ์ที่สร้างมากับมือ ตบท้ายด้วยการถอดบทเรียนที่เชื่อมถึงความตาย ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในครอบครัวอาจไม่มีจังหวะปะเหมาะที่จะคุยกัน การเรียนรู้เรื่องความตายโดยสร้างสรรค์นิทาน เป็นจินตนาการที่เชื่อมโยงกับความจริงของชีวิต จะมองให้ดี เราต่างก็เป็นนกฮูกหรือสรรพสัตว์รอบข้างนั่นเอง

ศิลปะเพื่อผู้สูงวัยในต่างประเทศ
กิจกรรมศิลปะเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ บุคลากรทางการแพทย์ และ สถาบันผู้สูงอายุแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมมือกับหอศิลป์ Dulwich Picture Gallery ในลอนดอน และเครือข่ายกว่า 65 ชุมชน เปิดเวริ์คช้อปศิลปะเพื่อผู้สูงอายุชื่อว่า “Good Times” ตั้งแต่ปี 2005 ด้วยเล็งเห็นว่างานศิลปะจะก่อเกิดประโยชน์ต่อคนสูงวัยในหลายๆด้าน ทั้งคลายความเครียด มีคุณภาพกายและคุณภาพจิตที่ดี นอกจากนี้ยังขยายการอบรมไปยังกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นโรคซึมเศร้าและอัลไซเมอร์ รวมทั้ง มีช่วงเรียนศิลปะร่วมกันของคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุในชุมชน (Intergenerational Creative Workshops) อีกด้วย

กิจกรรมศิลปะ “Good Times” ในประเทศอังกฤษ
โดยหอศิลป์ Dulwich Picture Gallery และเครือข่ายกว่า 65 ชุมชน
ที่มา: www.dulwichpicturegallery.org.uk/learning/older-people/

ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีองค์กรชื่อว่า ARTS by the People เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำกิจกรรมสาธารณะกับผู้สูงอายุและเยาวชน โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างพลังผ่านการแสดงตัวตน (Self-Expression) สร้างชุมชนสำหรับคนที่สนใจงานศิลปะหลากหลายกลุ่มและเชื่อมรอยต่อระหว่างวัย มีศิลปินที่เชี่ยวชาญศิลปะแต่ละสาขามาสอนให้โดยไม่คิดเงิน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคลาสเรียนกว่า 40 คลาสได้อย่างเท่าเทียม และเปิดเวิร์คช้อปในที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน สตูดิโอศิลปะ ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ศูนย์บริการผู้สูงอายุ โดยศิลปะที่สอนมีหลายประเภท เช่น วาดภาพสีน้ำ แต่งบทกวี ถ่ายภาพ ทำภาพยนตร์สั้น เต้นประกอบเรื่องราว จัดดอกไม้ ทำเครื่องประดับ เป็นต้น

ภาพประกอบ 3 กิจกรรมศิลปะเพื่อผู้สูงอายุ โดยองค์กร ARTS by the People สหรัฐอเมริกา
ที่มา: artsbythepeople.org/site/arts-programs-for-senior-citizens/

ตัวอย่างกิจกรรมที่กล่าวมา ทำหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุและเชื่อมโยงกลุ่มคนระหว่างวัยเช่นเดียวกับกิจกรรมวาดภาพประกอบนิทานนกฮูกไม่ยอมให้คำปรึกษา โดยอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันตามกิจกรรม สำหรับนิทานนกฮูก เป็นกิจกรรมที่เน้นการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับคนในครอบครัว เมื่อรวมกันหลายครอบครัวและรวมผู้จัดกิจกรรมก็กลายเป็นชุมชนเล็กๆที่ใช้เวลาช่วงหนึ่งแบ่งปันความงามและรอยยิ้ม โดยสื่อสารเรื่องความตายผ่านภาษาภาพและเรื่องเล่า ความตายในมุมนี้มีแง่งามอ่อนโยน ให้ความรู้สึกเชิงบวก ผู้สูงอายุได้ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านในบรรยากาศผ่อนคลาย สร้างสรรค์ ดังเสียงสะท้อนของผู้ร่วมกิจกรรมที่กล่าวในช่วงสรุปบทเรียนว่า

“เราเห็นแง่มุมของพ่อ ที่ปกติเขาไม่ค่อยเป็นอย่างนี้ เขาหัวเราะ ผ่อนคลาย เรามีความสุขที่ทำให้พ่อหัวเราะ เห็นความน่ารักของเขา เห็นพรสวรรค์ของพ่อ”

“ได้พาแม่มาพักผ่อน ได้เรียนสีน้ำแล้วรู้จักเพื่อนใหม่ เราได้เห็นแม่ในสังคมที่ต่างจากเดิม”

ศิลปะเป็นกิจกรรมที่ทำด้วยกันได้ในครอบครัวและหลายช่วงวัย ขยายไปสู่ชุมชน เป็นสื่อกลางสร้างบทสนทนา เปิดพื้นที่อิสระ และประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ได้หลายอย่างทั้งในมิติกาย ใจ ความสัมพันธ์ และการเตรียมตัวตาย

หมายเหตุ: บันทึกเหตุการณ์จากกิจกรรมวาดนิทานภาพ นกฮูกไม่ยอมให้คำปรึกษา โดยกลุ่ม Peaceful death ณ ร้าน Present Moment จัดกิจกรรมวันที่ 17, 19, 24 และ 6 กันยายน 2561

เอกสารอ้างอิง:
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ. นักจัดการความรู้ กลุ่ม Peaceful Death. (สัมภาษณ์, 24 กันยายน 2561) ARTS by the People. (2018). Arts Programs for Senior Citizens. Retrieved September 24, 2018, from http://artsbythepeople.org/site/arts-programs-for-senior-citizens/ Harper, Sarah.; & Hamblin, Kate. (2010). Oxford Institute of Ageing Report Good Times: Art for Older People at Dulwich Picture Gallery. Retrieved September 24, 2018, from https://www.ahsw.org.uk/userfiles/Evidence/This%20Is%20LivingGood%20Times%20A rt%20for%20Older%20People-1.pdf

25 เมษายน, 2561

Love / Language

แต่ทว่า ตอนนี้เขากำลังจะตาย ลมหายใจที่รวยรินและร่างกายที่ทรุดโทรมลงทุกวันตอกย้ำความจริงนี้แก่เธอ อย่างไม่ปราณี เมื่อผมพบกับเขาเป็นครั้งแรก เราสามารถสื่อสารกันได้แค่การกระพริบตา และคำถาม ใช่/ไม่ใช่ แบบง่ายๆ เท่านั้น
24 มกราคม, 2561

แมวมอง มองแมว

อยากลองเป็นแมวดูบ้าง ระหว่างที่กำลังจินตนาการตามที่คิด ก็เผลอหลับไปเมื่อลืมตาขึ้นอีกที ก็มีความรู้สึกแปลกๆ แบบบอกไม่ถูก เรากลายเป็นแมวไปแล้วจริงๆ
7 มีนาคม, 2561

ชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต: ภาวะร่างกายและการดูแล

การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ นอกจากการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยทางจิตใจแล้ว การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะทางร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงขณะสุดท้ายมีความจำเป็นไม่แพ้กัน