parallax background
 

ลมหายใจ…มีไว้แบ่งปัน

ผู้เรียบเรียง: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

บนโลกใบเดียวกัน…
บางสิ่งเลือก ‘หยิบยื่น’ โอกาสให้ผู้อื่นมีพื้นที่หายใจสะดวกสบาย แม้ต้องแลกด้วยลมหายใจสุดท้ายของตนเอง บางสิ่งเลือก ‘เหยียบย่ำ’ ผู้อื่น เพื่อตนเองจะได้มีโอกาสสูดลมหายใจเต็มปอด แม้หมายถึง..การเบียดเบียนชีวิต

ทุกลมหายใจคือ ‘อากาศ’ โดยเฉลี่ย เราหายใจกันประมาณ 12-14 ครั้งต่อนาที และในวันหนึ่งๆ เราหายใจเข้าออกถึง 17,820 ครั้ง แต่เราเคยสังเกตไหมว่าคุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปเป็นอย่างไร หากเราอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสารพัด อีกทั้งสารพิษที่เป็นอันตรายจำนวนมาก และฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ล้วนเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กสามารถเข้าไปถึงหลอดลมได้ ปัญหามลภาวะทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกถึงปีละ 2 ล้านคน โดยในประเทศไทยมีการสำรวจพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจถึง 44% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 6,000 ล้านบาทต่อปี

เครื่องฟอกอากาศธรรมชาติ คือ ต้นไม้
ต้นไม้ไม่เพียงแต่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนเท่านั้น แต่ยังช่วยดูดซับสารพิษอื่นๆ รวมทั้งดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยใบไม้และเปลือกไม้ได้ด้วย ยิ่งวันใดที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น หากได้อาศัยใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ แม้จะมีแสงแดดรำไร แต่กลับมีอุณหภูมิต่ำกว่ากลางแจ้งถึง 3 องศาเซลเซียส

ข้อมูลจากนิทรรศการ ‘มาหาสมบัติ’ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์จัดขึ้นเมื่อปี 2560 ระบุว่าโดยเฉลี่ยต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้น สามารถผลิตออกซิเจนได้ปีละ 118 กิโลกรัม เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงลมหายใจของคนสองคน หากเป็นป่าขนาด 1 ตารางกิโลเมตร จะสามารถผลิตออกซิเจนให้กับคนได้ถึง 4,446 คน แต่พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เหลือเพียง 145 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

คำถาม…คนกว่า 5 ล้านคนที่แออัดกันในกรุงเทพฯ…เอา ‘ลมหายใจ’ จากที่ไหน?

คำตอบ…พวกเราทุกคนกำลังหยิบยืมลมหายใจพื้นที่สีเขียวจาก ‘ที่อื่น’

ธนาคารพันธุกรรมขนาดใหญ่ รู้จักกันในนามว่า ‘ป่า’ คือพื้นที่สีเขียวที่เรากำลังขอแบ่งปันลมหายใจมาให้คนเมืองได้มีอากาศเข้าหลอดลมสู่ปอดอย่างสบาย หากเราตั้งคำถามว่า ‘ใคร’ เป็นผู้ดูแลต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ เราอาจจะไม่เชื่อว่า ผู้พิทักษ์ขุมสมบัตินี้ไม่ใช่มีเพียงมนุษย์

บางที… ผู้ปกป้องก็มาในคราบของ นักล่า… ‘เสือ’ คือผู้พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในป่าที่แท้จริง เนื่องด้วยป่าประกอบด้วยความสัมพันธ์อันซับซ้อนของพืช สัตว์ และปัจจัยทางชีวภาพอื่นๆ เสือต้องการอาศัยอยู่ในป่าที่มีสัตว์หลากหลาย การอนุรักษ์เสือจึงเป็นหลักประกันได้ว่า ระบบนิเวศจะมีความสมดุลได้ ไม่ใช่ด้วยเสือเพียงตัวเดียว แต่ต้องมีความหลากหลายของเหยื่อในปริมาณมากพอ ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงสัตว์ต่างๆ ตัวเล็กๆ ที่อยู่ชั้นล่างของห่วงโซ่อาหารอีกด้วย

‘เสือโคร่ง คือ หัวใจของระบบนิเวศ’
แต่วันนี้พวกมันกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ด้วยพื้นที่อยู่อาศัยลดลง และการ ‘ล่า’ เพื่อสนองความต้องการที่ไม่รู้จักพอของมนุษย์ ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือประมาณ 3,200 ตัว หรือเพียง 3% ของจำนวนประชากรเสือเมื่อ 100 ปี ก่อน

แม้การล่าและการถูกล่าเป็นกฎการอยู่รอดในธรรมชาติ ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าจึงมีสิทธิ์อยู่ต่อไป แต่ไม่มีการ ‘ล่า’ ใดทำไปเพื่อความสนุกและความโลภ!

จากการสำรวจวิจัยในประเทศไทย เสือโคร่งตัวผู้ตัวหนึ่งต้องการพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร

ดังนั้น การ ‘ฆ่า’ เสือโคร่ง จึงไม่ได้ ‘ฆ่าสัตว์’ เพียงจำนวน 1 ตัว หากเป็นการ ‘ฆ่ามนุษย์’ โดยทางอ้อมกว่า 1 ล้านคน

หากพลังออกซิเจนรักษาโรคได้…ถ้า ‘ขาด’ ล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น?

ชีวิตของเราอิงแอบอยู่ระหว่างมูลเหตุแห่งความตาย ดุจตะเกียงท่ามกลางกระแสลมแรง - จากคัมภีร์ รัตนมาลา ของนาคารชุน

ในเมื่อ ‘ทุกชีวิต’ ล้วนมีความตายเป็นที่สุดรอบอยู่แล้ว จำเป็นหรือที่เราต้องกระพือแรงลมด้วยการ ‘ล่า’ เพราะ…

เชื่อว่า…เป็นยาขนานดี

เชื่อว่า…มีพลังอำนาจ

เชื่อว่า…แสดงถึงอำนาจบารมี

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธไม่เป็นคนเชื่อง่ายๆ แต่ให้พิจารณาก่อนเชื่อ

พุทธศาสนาไม่ต้องการความเชื่อประเภทงมงาย…แต่ต้องการให้คนคนนั้นมีโอกาสใช้ปัญญาของตนพินิจอย่างรอบคอบเสียก่อน แล้วจึงปลงใจเชื่อลงไป

เมื่อเราทำใครบาดเจ็บ แน่นอนว่ามันสร้างความเจ็บปวด แต่การปกป้องช่วยเพิ่มความรัก เช่นนั้นแล้ว ในโลกนี้ควรมี ‘ความรัก’ หรือ ‘ความเจ็บปวด’ กันแน่?

แม้สัตว์เดรัจฉาน…ไม่มีความรู้ แต่พวกเขามี ‘ความรัก’

…เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ลิม กา ยง กะลาสีเรือชเมย์สตาร์ วัย 32 ปี ชาวเกาหลี กำลังโยนเศษอาหารลงทะเล เกิดเสียหลักพลัดตกลงไปจากเรือ เมื่อฟื้นคืนสติ เขาเล่าว่า เขาลอยคออยู่กลางทะเลเป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง ขณะที่นึกว่าจะไม่รอดแล้ว พลันเห็นวัตถุคล้ายไม้แผ่นใหญ่ เขาจึงปีนขึ้นไป ปรากฏว่ามีหัวสัตว์ใหญ่หันมามอง เลยรู้ว่ากำลังอยู่บนกระดองเต่ายักษ์! เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือ เต่ายักษ์ก็ยังไม่หนีไปไหน คงลอยตัวอยู่ข้างเรือ ก่อนที่ทั้งสองจะจากกัน เขาได้ผูกสร้อยไว้กับคอเต่า มีข้อความว่า “เต่าตัวนี้ช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ อย่าทำร้ายมัน”

…เมื่อปี 2539 มีข่าวกอริลลาช่วยชีวิตเด็กน้อยในสหรัฐอเมริกากลายเป็นเรื่องดังไปทั่วโลก เด็กน้อยผู้นี้อายุเพียง 3 ขวบ ไปเที่ยวสวนสัตว์บรูกฟิลด์ ในรัฐอิลลินอยส์ ได้ชะเง้อคอดูกอริลลาแล้วก็ยังไม่ถูกใจ จึงปีนกำแพงไปดู แต่เกิดพลัดตกลงไปในคูน้ำ เป็นเวลาเดียวกันกับที่มีกอริลลาเจ็ดตัวอยู่ในลานคอนกรีต โชคดีที่มีกอริลลาแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งเกิดเห็นเข้า จึงรีบวิ่งเข้าไปอุ้มเด็กน้อยซึ่งได้รับบาดเจ็บ แล้วพาไปที่ประตู เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์มารับเด็กไป ระหว่างที่อุ้มเด็กนั้น กอริลลาแม่ลูกอ่อนวัย 7 ขวบนี้มีลูกน้อยเกาะหลังอยู่ด้วย

สิ่งที่เชื่อมโยงสรรพสิ่งในโลกนี้ที่ดีที่สุดคือ ‘ความรัก’ และไม่ได้ผูกขาดไว้กับคนเท่านั้น สัตว์หลายชนิดก็มีลมหายใจที่เปี่ยมล้นด้วยความรักที่กรุณา จนบางครั้งอาจทำให้ ‘คน’ กลับมาย้อนถามตัวเองว่า

ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต ที่เราทุกคนล้วนปรารถนาที่จะตายอย่างสงบนั้น ….เราเตรียมความพร้อมไว้แล้ว แน่หรือ?

ความรักที่มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน คือกุญแจสำคัญที่ไขความลับระหว่างความเป็นกับความตาย ความกรุณาคือภาวะจิตที่ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรง ไม่ทำร้ายใคร ไม่ก้าวร้าวใคร เป็นจิตที่มุ่งปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ปราศจากความทุกข์ อีกทั้งเป็นความรู้สึกที่อุทิศตนเพื่อรับผิดชอบและเคารพผู้อื่น หากเราไม่เพาะเมล็ดพันธุ์กรุณาในหัวใจเราแล้ว ความตายอย่างสงบนั้นดูจะเป็นเรื่องห่างไกลเกินเอื้อม เพราะความรักนั้น มิได้เกิดจากคำสั่งจากสมอง แต่ ‘รัก’ ด้วยความรู้สึกทางจิตวิญญาณ ยิ่งตระหนักถึงความทุกข์ของผู้อื่นมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็สามารถพัฒนาความกรุณาในหัวใจเราได้มากขึ้นเท่านั้น แล้วความสงบสุขจึงจะอยู่กับเรา จวบจนชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต

‘ผู้อื่น’ ที่ไม่จำต้องเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเรา ล้วนขึ้นชื่อว่า ‘สรรพสัตว์’ ทั้งสิ้น

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก….จะดีกว่ามั้ยหากเราในฐานะมนุษย์สามารถยกระดับความรักทางจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้นพอที่จะไม่เบียดเบียนสรรพชีวิตอื่นๆ เพื่อบอกพวกเขาจากหัวใจว่า “ฉันรักเธอ” เช่นกัน

สำหรับ ‘สัตว์ประเสริฐ’ อย่างเรา การที่จะแบ่งปันลมหายใจให้ ‘สรรพสัตว์’ เหล่าอื่นให้สามารถดำรงชีวิตได้ตามวิถีของเขานั้น คงไม่ยากเกินไปหรอกนะ…ว่าไหม?

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. นิทรรศการ ‘มาหาสมบัติ’ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภฺ ร่วมกับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-31 สิงหาคม 2560 ณ ห้างสรรพสินค้า Emquartier ชั้น 5 Helix Garden
  2. หนังสือ เพื่อนร่วมโลก โดย พระไพศาล วิสาโล และ คุณสมควร ใฝ่งามดี, สำนักพิมพ์สารคดี
  3. หนังสือ เสือ โดย ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ, คุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ, คุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ และ ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
[seed_social]

17 ตุลาคม, 2560

ฉันไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว

มีคำกล่าวกันว่า สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอีกสิบหรือยี่สิบข้างหน้า ให้ดูสังคมอเมริกันในเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ประเทศไทยเดินตามรอยมานานหลายสิบปี
6 กุมภาพันธ์, 2561

ทำศพแบบคนรักโลก…ทำให้เป็นของเหลว

กระบวนการอัลคาไลน์ (Alkaline Hydrolysis) จะใช้สารเคมีอัลคาไลน์ ความร้อน 152 องศาเซลเซียส และความดันทำให้ร่างย่อยสลายกลายเป็นของเหลวภายใน 3 ชั่วโมง เหลือเพียงฟัน กระดูก และวัสดุแปลกปลอม