สุนทรียะกับความตาย

เรียบเรียง: ดิเรก ชัยชนะ หมวด:ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อกล่าวถึง “สุนทรียะกับความตาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตอบคำถามที่ว่า ความงามของศิลปะที่สื่อสารเรื่องความตายคืออะไร หรือมีศิลปะประเภทไหนบ้างที่สื่อสารเรื่องความตาย แต่เกี่ยวข้องกับการสืบค้นทำความเข้าใจว่า มิติสุนทรียะได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเรียนรู้และการสัมพันธ์กับความตายอย่างไร ดังนั้นความหมายของสุนทรียะในที่นี้จึงไม่ใช่การตัดสินความงาม แต่คือการเห็นว่าประสบการณ์สุนทรียะหรือความงามได้เปิดเผยถึงสัจธรรมของชีวิตเกี่ยวกับความตายเพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร

ศิลปะเป็นเครื่องมือรับใช้ศาสนา

สุนทรียะกับความตายไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่กล่าวถึงกัน และเรียนรู้กันอยู่แล้วในทุกชาติ ทุกภาษาและทุกวัฒนธรรม ทุกคนรู้ว่าจริงๆแล้วในทุกแถบพื้นที่ทั่วโลก เรื่องการเกิดและการตายเป็นธรรมดาของคนในอดีตโดยเฉพาะในยุคนั้นมันไม่สามารถหลีกเลี่ยงความตายได้ ในปัจจุบันถึงแม้เรามีความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีมาช่วย มาดึง มายื้อ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วชีวิตต้องจบเพื่อให้มันสมบูรณ์ในวงจรของชีวิต แต่คำถามคือจะจบยอย่างไรให้เป็นการตายดี

ในยุโรปช่วงยุคกลางเป็นต้นมาซึ่งเป็นยุคที่สังคมมีความอดอยาก เผชิญกับทุกข์ภัยจากโรคระบาดและเกิดสงครามบ่อยครั้ง กล่าวได้ว่าความตายเป็นสิ่งใกล้ตัว ในยุคนี้ศาสนาจักรได้เข้ามามีบทบาทในการเสนอว่าเราจะเผชิญกับความตายอย่างไร จะตายอย่างไรให้มันมีความสุข หรือการตายดีควรเป็นอย่างไร ไว้ในหนังสือเรื่อง ศิลปะของการตาย (art of dying) โดยเนื้อหาในเล่มนี้จะเป็นการอธิบายถึงความศรัทธาในพระเจ้า ศรัทธาในการทำดี ถ้าคุณทำดีมีความศัทธาในพระเจ้า เมื่อคุณตายแล้วก็จะมีเทวทูตมีอะไรมารับ แต่ถ้าคุณทำไม่ดีและคุณไม่มีความศัทธาในพระเจ้าด้วยหรือคุณเป็นคนบาป ตอนตายจะมีซาตานและเหล่าปีศาจมาล้อมรอบเตียงคุณ หนังสือนี้เป็นหนังสือสำคัญมากในยุคนั้น ในทิเบตก็มีเช่นเดียวกัน หนังสือเรื่อง “คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต” เป็นหนังสือที่พุทธวัชรยานแบบทิเบตที่เข้ามามีบทบาทในการอธิบายเรื่องการตายดี ทั้งยังนำเสนอแนวทางการปฏิบัติอย่างละเอียดในบาร์โดหรือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ชีวิตมีโอกาสหลุดพ้นจากสังสารวัฏฏะ และสามารถเลือกเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีหรือภพภูมิที่เอื้อต่อการปฏิปัติธรรม

ถึงแม้ว่าศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญในเสนอความรู้ความเข้าใจให้คนในสังคมตระหนักถึงความตาย และให้หนทางการตายดี  อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหรือคำสอนที่ศาสนานำเสนอนั้นมีความเป็นนามธรรมสูง ดังนั้นการนำสัญลักษณ์ทางศิลปะมาใช้สื่อสารคำสอนทางศาสนาให้สุนทรียภาพและความประทับใจได้ง่าย อีกด้านหนึ่งศิลปะโดยตัวมันเองแม้ว่าจะหยิบยกเนื้อหาต่างๆมาสื่อสารได้หลากหลายประเด็น แต่เนื้อหาทางศาสนามีความเข้มข้นสูงที่น่าสนใจและเข้าไปสัมผัสถึงได้ในระดับจิตใจและจิตวิญญาณ นั่นคือศิลปะและศาสนาจึงผยุงซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ในยุคกลางที่สังคมยุโรปเผชิญความอดอยาก โรคระบาด และภาวะสงครามที่พร้อมจะคร่าชีวิตผู้คน ได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า มะเมนโท โมรี่ (memento mori) ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลความได้ว่า “จำไว้ว่าคุณจะต้องตาย” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการทำงานศิลปะในยุคนั้นโดยใช้สัญญลักษณ์ หัวกะโหลก นาฬิกา และดอกไม้เหี่ยว เพื่อสื่อถึงความตาย ความเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมสลาย และเป็นการเครื่องมือที่คริสต์ศาสนาใช้สื่อสารให้ผู้คนในสังคมตระหนักและใช้ชีวิตดีๆเพื่อจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า

ภาพ Still-Life with a Skull ของศิลปิน Philippe de Champaigne สื่อสารแนวคิด memento mori

ความตายเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้

ในวัฒนธรรมลาตินอเมริกามีเทศกาลวันแห่งความตาย ที่นำศพพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มาแต่งตัวใหม่ให้สวยงามแล้วกินเลี้ยงเฉลิมฉลองกัน ในเทศกาลนี้มีการใช้สัญลักษณ์ศิลปะเป็นภาพหัวกะโหลกคลุมผ้าถือเคียว ที่ภาษาลาตินเรียกว่า “ซานต้ามัวร์เต (Santa Muerte)” ซึ่งเป็นภาพนักบุญในรูปของยมทูตที่เป็นเทวทูตจะมารับดวงวิญญาณผู้ตายไป วัฒนธรรมนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชนเผ่าในลาตินอเมริกาไม่ว่าจะเป็นอินคาหรือมายัน ที่มองว่า ความตายเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และเฉลิมฉลองได้ ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมความเชื่อนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับจากทางฝังคาทอริกหรืออนุรักษ์นิยมของวาติกัน แต่ในลาตินอเมริกาถือว่าความคิดนี้ถูกแทรกเข้ามาจากวัฒนธรรมชุมชน และรูปซานต้ามัวร์เตจะได้บูชาแทบจะคู่กับพระเยซูและพระแม่มารี

ในวัฒนธรรมไทย การมองว่าความตายเป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้จะมาจากแง่มุมคำสอนพุทธศาสนาผ่านการเจริญมรณานุสติเพื่อระลึกถึงความตายอยู่เสมอ สำหรับภิกษุผู้ระลึกถึงความตายอย่างเข้มข้นจะมีคำสอน “อสุภกรรมฐาน” เป็นการเพ่งพิจารณาศพที่ค่อยๆเสื่อมสลายไป คำสอนอสุภกรรมฐานมักบันทึกไว้เป็นภาพจิตรกรรมที่ผนังโบสต์หรืออุโบสถ ตัวอย่างเช่น ภาพจิตรกรรมพระอุโบสถวัดถ้ำตะโกพุทธโสภา อําเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ที่ตำแหน่งผนังด้านล่างเขียนภาพอสุภกรรมฐานเพื่อสอนธรรมแก่พระภิกษุและพุทธศาสนิกชน

ในญี่ปุ่นซึ่งมีพุทธศาสนาเหมือนกันก็มีคำสอนเรื่องอุสภกรรมฐานเช่นเดียวกัน ศิลปินเขียนภาพศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่า มีเลือด น้ำเหลือง เน่าเปื่อย เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในยุคหลังศิลปินญี่ปุ่น มิซุย ฟูอูโก๊ะ (Fuyuko Matsui) นำเนื้อหาอสุภกรรมฐานมาเขียนใหม่ เช่น ภาพที่ชื่อว่า Keeping up the pureness เป็นภาพศพที่มีดอกไม้งอกงามอยู่ รอบๆเป็นภาพเขียนที่สะท้อนสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นที่งามแต่น่าสะอิสะเอียน ที่ชวนให้พิจารณาและใคร่ครวญถึงความตายในฐานะความงามของความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมของชีวิต

ภาพ Keeping up the pureness ของศิลปินมิซุย ฟูอูโก๊ะ (Fuyuko Matsui)

การนำเนื้อหาเรื่องความตายมาสื่อสารผ่านมิติสุนทียะปรากฏอยู่ในทุกภาษาและทุกวัฒนธรรม ในอดีตความตายเป็นสิ่งใกล้ตัว เรื่องการเกิดการตายเป็นธรรมดาที่ไม่อาจหนีพ้น ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีความเจริญทางเทคโนโลยีมาช่วยยื้อชีวิตจนเกิดเป็นภาพจำใหม่ของคนรุ่นปัจจุบันที่ต่างจากคนรุ่นเก่าว่า ‘ความตายยื้อได้’ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เหมือนดังคำกล่าวของธรรมาจารย์เซน ชุนวิว ซูซูกิ ที่ว่า “ชีวิตเหมือนกับการล่องเรือไปกลางมหาสมุทรและรอวันจม” ความพยายามที่ทุกวัฒนธรรมนำเรื่องความตายมาสื่อสารนั่นเพื่อ ที่จะบอกว่า  ความตายเป็นเรื่องปกติ ความตายเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ เพราะถึงที่สุดแล้วความเข้าใจเรื่องความตายก็คือการเข้าใจสัจธรรมของชีวิตและการตายดีก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการมีชีวิตที่ดี และการใช้มิติสุนทรียะเป็นเครื่องมือดูท่าจะเป็นมิตรที่สุดแล้วในการสื่อสารสัจธรรมที่เที่ยงตรงและแหลมคมนี้

บทความนี้เรียบเรียงจากเนื้อหาการบรรยายเรื่อง “สุนทรียะกับความตาย” โดย ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ณ ร้านหนังสือ Greenbook Cafe – Space เมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

[seed_social]

18 เมษายน, 2561

ลมหายใจคลายเครียด

คุณเคยสังเกตไหมคะว่าเวลาที่เผชิญกับปัญหา สิ่งที่ทำให้เราทุกข์และเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายนั้นส่วนใหญ่มาจากความคิดฟุ้งซ่านของเราเอง
19 เมษายน, 2561

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
24 มกราคม, 2561

แมวมอง มองแมว

อยากลองเป็นแมวดูบ้าง ระหว่างที่กำลังจินตนาการตามที่คิด ก็เผลอหลับไปเมื่อลืมตาขึ้นอีกที ก็มีความรู้สึกแปลกๆ แบบบอกไม่ถูก เรากลายเป็นแมวไปแล้วจริงๆ