parallax background
 

ชุมชนแห่งความเอื้ออาทร (2)
รูปธรรมจากแนวคิด

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรรณธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

"เราเกิดมาตัวเปล่า เวลาตายก็ตายตัวเปล่า”

"คนเราเกิดมาโดยลำพัง เวลาตายก็ตายโดยลำพัง"

ข้อความทั้งสอง แม้จะดูคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ข้อความแรกดูจะเป็นจริงกว่าข้อความหลัง เราเกิดและตายตัวเปล่า แต่เราไม่เกิดและตายโดยลำพัง เพราะขณะที่เราเกิดมานั้น เราได้รับความช่วยเหลือจากทั้งแม่ผู้อุ้มท้อง พ่อผู้ดูแลแม่อีกที รวมถึงทีมแพทย์พยาบาล และญาติคนอื่นๆ

เช่นเดียวกับการตาย มนุษย์โดยส่วนใหญ่ไม่ตายโดยลำพัง (เว้นแต่เหตุสุดวิสัย เช่น การฆ่าตัวตาย การประสบอุบัติเหตุ การตายฉับพลัน ซึ่งมักเป็นการตายที่ไม่พึงปรารถนา) กล่าวได้ว่าการตายตามธรรมชาติและการตายดี มักเป็นการตายที่อยู่ท่ามกลางวงล้อมแห่งการดูแลจากคนที่รักและห่วงใยเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือบุคลากรสุขภาพที่ปรารถนาดีต่อผู้ใกล้ตาย


 
 

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายอย่างสงบ จึงมีตัวละครเกี่ยวข้องที่มากกว่าผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และแพทย์เท่านั้น แต่สมาชิกทุกคนในชุมชนมีบทบาทที่ต้องเล่นและมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายในทางใดทางหนึ่งเสมอ ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

คนขับรถฉุกเฉินมีส่วนช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลกลับบ้านโดยปลอดภัยและเก็บค่าบริการที่เป็นธรรม อาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนมีส่วนช่วยดูแลทางกายแก่ผู้ป่วยและดูแลทางใจแก่ญาติ ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นมีส่วนช่วยผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วย หน่วยงานประกันสังคมและสุขภาพมีส่วนช่วยกำหนดหลักประกันการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี ไปจนถึงบริษัทให้เช่าอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในราคายุติธรรม

การตายดีซึ่งดูคล้ายจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล จึงมีมิติของชุมชนอยู่เสมอ

แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้ตายแสดงเจตนาขอตายโดยลำพัง ไม่ให้ผู้ใดรบกวน การตายในกรณีนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนอยู่ดี เพราะผู้ตายต้องสื่อสารขอความเป็นส่วนตัวจากชุมชน หากชุมชนเข้าใจผู้ใกล้ตาย ย่อมเอื้อเฟื้อให้ผู้ตายจากไปโดยลำพัง

จึงกล่าวได้ว่าชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญของการตายดี และควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตายอย่างสงบ มีความเอื้ออาทรต่อผู้ตาย เคารพการตัดสินใจของผู้ตาย ยิ่งชุมชนมีวุฒิภาวะมากเท่าใด คนในชุมชนย่อมมีโอกาสเข้าถึงการตายอย่างสงบมากขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วุฒิภาวะของชุมชนเกี่ยวกับการตาย มิได้เกิดขึ้นเองจากอากาศธาตุ แต่ต้องได้รับการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจ ภายในชุมชนควรมีข้อมูลเกี่ยวกับการตายดีและไม่ดีไหลเวียนแลกเปลี่ยนกัน สมาชิกในชุมชนควรมีทักษะในการช่วยเหลือให้ผู้ตายจากไปอย่างสงบ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนขับรถฉุกเฉิน อาสาสมัคร ผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่น หรือเจ้าของบริษัทให้เช่าอุปกรณ์

แนวคิดที่ว่า ผู้ป่วยไม่ควรตายโดยลำพัง แต่ควรได้รับการดูแลใส่ใจจากชุมชน ดังนั้นการช่วยให้ปัจเจกบุคคลเข้าถึงการตายดี จึงหมายถึงการสนับสนุนให้สถาบันต่างๆ ในชุมชน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันสุขภาพ สถาบันการศึกษา สถาบันธุรกิจ สถาบันภาครัฐทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น

 
 

การมีส่วนรับผิดชอบและมีบทบาทดูแลการตายของสมาชิกด้วยความกรุณา คือหนึ่งในแนวคิดหลักของชุมชนแห่งความเอื้ออาทร (compassionate communities) ซึ่งกำลังมีความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญและพัฒนาเป็นนโยบายในอังกฤษ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ

บางที การศึกษาแนวคิดจากตัวอย่างรูปธรรม อาจทำให้เราเข้าใจชุมชนแห่งความเอื้ออาทรมากขึ้น


เมื่อผู้ป่วยระยะท้ายเจอเด็กๆ: ชุมชนเอื้ออาทรที่เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ

ปี 2004-2005 สถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายเซนต์คริสโตคริสโตเฟอร์ฮอสพิซ ทำโครงการร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่น ชวนผู้บริหาร ครู และนักเรียนอายุ 9-16 ปี มาเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย การพบกันครั้งนั้นทำให้นักเรียนได้ซึมซับความเป็นไปของชุมชน เด็กๆ ได้ตระหนักว่าในชุมชนของพวกเขามีคนแก่ คนป่วย และคนใกล้ตายอยู่เป็นจำนวนมาก

เด็กและผู้ป่วยจะใช้เวลาเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกันครั้งละ 1-3 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ของเซนต์คริสโตเฟอร์จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ตั้งคำถามเกี่ยวกับความกลัวและความสงสัย เช่น ทำไมคนแก่บางคนจึงไม่มีเต้านม ทำไมบางคนจึงไม่มีผม จะเกิดอะไรขึ้นหากคนเหล่านี้เผชิญช่วงเวลาใกล้ตาย เป็นต้น

เมื่อเด็กๆ กลับโรงเรียน คุณครูจะสอบถามถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยม แล้วสนับสนุนให้พวกเขาทำงานศิลปะจากประสบการณ์ในวันนั้น บ้างสนับสนุนให้ทำละครหรือจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนกว่า 40 แห่ง ตลอดระยะเวลา 2 ปี

โครงการของเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ พบว่า การจัดให้เด็กนักเรียนกับผู้ป่วยได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีส่วนช่วยเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความตายของเด็กและครอบครัว การตายกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น มั่นใจที่จะพูดถึงมากขึ้น ประสบการณ์เกี่ยวกับการตายและความตายเป็นเรื่องธรรมชาติมากขึ้น โครงการนี้ยังได้เปลี่ยนบทบาทผู้ป่วยให้กลายเป็นผู้ให้การศึกษาและผู้สร้างสรรค์ ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างฮอสพิซและชุมชนใกล้เคียง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวยังสะท้อนว่า ยิ่งผู้เข้าร่วมเยี่ยมผู้ป่วยมีความหลากหลาย จะยิ่งให้ประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับกับการตาย การดูแลความเศร้าและการสูญเสีย ทั้งยังช่วยลดความกลัวเกี่ยวกับการตาย เพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้การใช้เวลาที่เหลืออย่างเป็นสุข ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง การสร้างสรรค์ช่วงเวลาแห่งความเป็นชุมชนในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ต่อเนื่อง ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและช่วยให้บรรยากาศในสถานบริบาลดีขึ้นอย่างมาก

 
 

อาสาสมัครพิทักษ์ความอบอุ่น: บทเรียนที่ชรอปไชร์ (Shropshire)

ปี 2009 ฮอสพิซทั้งเจ็ดแห่งที่ชรอปไชร์ ประเทศอังกฤษ ได้ประยุกต์แนวคิดชุมชนแห่งความเอื้ออาทรเป็นกิจกรรมอบรมอาสาสมัครดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย เริ่มจากการบรรยายสิ่งที่ผู้ป่วยต้องพบเจอตั้งแต่ช่วงเกษียณอายุ การรับรู้ความเจ็บป่วย การได้รับข่าวร้าย การรักษาไปจนถึงการตาย

อาสาสมัครจะได้รับการฝึกอบรมทักษะการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน และวิธีให้ความช่วยเหลือโดยที่ไม่ต้องรู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว การอบรมชุดนี้สร้างสำนึกว่า “การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ การดูแลทำได้หลากหลายอย่าง และไม่จำต้องเป็นแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น จึงจะให้การดูแลได้”

หลังการอบรม อาสาสมัครบางส่วนยินดีที่จะเป็นผู้ให้การดูแลผู้ป่วยในชุมชน พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่รักษาโรคแบบแพทย์หรือพยาบาล แต่ช่วยให้ภาวะความโดดเดี่ยวอ้างว้างจากความเจ็บป่วยบรรเทาเบาบางลง

โครงการนี้ยังขยายตัวจากการอบรมไปสู่การพัฒนาระบบคัดกรองและประเมินผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าอีกด้วย ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับการช่วยเหลือและส่งต่อการดูแลจากฮอซพิซในเครือข่ายภายใน 24 ชม.


ห้างร้านเอื้ออาทรที่โอซาก้า

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น หน่วยงานสวัสดิการสังคมจังหวัดโอซาก้า สถานดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเฉพาะช่วงเวลากลางวัน หรือ Day Care Service แห่งหนึ่งในย่านศูนย์การค้า ได้เสนอวิธีสร้างสรรค์ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยไม่ต้องแยกพวกเขาออกมาและกักบริเวณ

แทนที่จะดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายรับบริการ เช่น รอรับประทานอาหารกลางวัน รออาหารว่าง ดูทีวี นั่งเฉยๆ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยแห่งนี้กลับทำในสิ่งที่แตกต่าง เจ้าหน้าที่สร้างความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียงซึ่งเป็นย่านค้าขาย เริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับอาการโรคสมองเสื่อม พฤติกรรมของผู้ป่วย วิธีการสื่อสารกับผู้สูงวัยที่มีอาการสมองเสื่อม

จากนั้นเจ้าหน้าที่สถานดูแลจะมอบหมายงานง่ายๆ ให้ผู้สูงวัยที่มีอาการสมองเสื่อมรับผิดชอบ เช่น การทำอาหารกลางวัน ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปซื้อวัตถุดิบทำอาหารในชุมชน และเนื่องจากชุมชนรู้วิธีการดูแลและสื่อสารกับผู้ป่วย ผู้สูงวัยเหล่านั้นจึงซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกลางวันได้

ผู้สูงวัยอีกจำนวนหนึ่งได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมและปรุงอาหาร ขณะที่ผู้สูงวัยบางส่วนได้รับมอบหมายให้เขียนหนังสือพิมพ์ของศูนย์บริการร่วมกับเจ้าหน้าที่ และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ให้ชุมชนเรียนรู้ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยสมองเสื่อมในสถานดูแล

ด้วยวิธีนี้ ชุมชนและสถานดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจึงมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อกัน ขณะที่สถานดูแลได้รับความช่วยเหลือจากห้างร้านในชุมชน ชุมชนก็ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมจากสถานดูแลด้วยในตัว


บทสรุป

เราไม่อาจบรรลุสุขภาวะในช่วงระยะท้ายของชีวิตโดยฝากชะตากรรมไว้แต่เพียงสถาบันทางการแพทย์เท่านั้น ชีวิตเป็นเรื่องของทุกคน ชีวิตช่วงท้ายที่ดีและการตายอย่างสงบคือความรับผิดชอบของทุกคนและทุกสถาบันในสังคม เราไม่ควรปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องรับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายครอบครัวหรือฝ่ายการแพทย์ก็ตาม

โรงเรียน ธุรกิจ หน่วยงานไม่แสวงผลกำไร หน่วยงานท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์หรือสถานบันเทิง สามารถช่วยเหลือชุมชนได้ในมิติต่างๆ ทั้งการให้บริการ ให้การศึกษา และอำนวยความสะดวก

เราพึงตระหนักว่า ‘เรา' ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน คือแหล่งทรัพยากรในการช่วยให้ผู้ป่วยตายดี ทั้งยังเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากชุมชนแห่งความเอื้ออาทรนี้ไปพร้อมกัน

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

พลัดพราก…แต่ไม่พรากรัก

เพราะความป่วยและความตายไม่จำกัดว่าจะเป็นกับใคร อายุเท่าใด สมควรหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยด้วยโรคระยะสุดท้ายคือเด็ก ความทุกข์ทรมานมิได้เกิดกับผู้ป่วยตัวน้อยเท่านั้น หากยังแผ่ลามไปถึงครอบครัว คือพ่อแม่ด้วย
19 เมษายน, 2561

จ่อขยายหน่วยดูแล “ผู้ป่วยระยะท้าย” โรงพยาบาลหมื่นแห่ง เป็นของขวัญปีใหม่

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมขยายระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต หนุนโรงพยาบาลกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง ตั้งหน่วยบริการคุณภาพชีวิตทั้งในโรงพยาบาล และบ้าน ช่วยบรรเทาทุกข์จากการเจ็บป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ