parallax background
 

มื้อสุดท้าย

ผู้เขียน: ต้นชมพู่ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

“ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่ร่างกายเอาอาหารไปใช้ไม่ได้ ไม่ใช่การรับประทานอาหารไม่พอ!”

“ไปเที่ยวมิลานกันมั้ยคะ?”

อิตาลีเป็นประเทศในฝันของนักเดินทางหลายคน และแน่นอนในลิสต์ของการเดินทาง ก็มักจะต้องมีเมืองมิลาน หรือ มิลาโน่ (ในภาษาอิตาเลียน) เป็นหนึ่งในที่หมาย

การไปเที่ยวเมืองมิลานนั้น หลายคนก็อาจนึกถึงการไปช้อปปิ้งสินค้าเมดอินอิตาลีและดื่มด่ำกับบรรยากาศใน Galleria Vittorio Emanuele หรือการได้ลิ้มรสริซอตโต้สูตรต้นตำรับมิลาน แล้วตบท้ายด้วยเจลาโต้ซักถ้วย และหลายๆ คนก็มักจะต้องไปบันทึกภาพความทรงจำที่หน้า Duomo สัญลักษณ์ประจำเมืองมิลาน แต่ว่า ยังมีอีกสถานที่หนึ่ง ที่ได้รับนิยมจนถึงกับต้องจองคิวการเข้าชมล่วงหน้าหลายเดือน นั่นคือ การไปชมภาพ The Last Supper (พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย) ที่โบสถ์ Santa Maria delle Grazie ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Leonardo Da Vinci อัจฉริยบุคคลแห่งยุคเรเนสซองส์

ภาพ The Last Supper ได้เล่าถึงเหตุการณ์บนโต๊ะอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูและสาวก 12 คน ก่อนที่พระเยซูจะถูก ยูดาส หนึ่งในสาวกที่คิดทรยศ พาทหารมาจับตัวไปให้กับ กลุ่มฟาริสี (เป็นกลุ่มผู้นำทางศาสนาของชาวยิวที่มีบทบาทสำคัญในปาเลสไตน์ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะประพฤติตามกฎบัญญัติทุกข้อที่ปรากฏในธรรมบัญญัติของโมเสส บางคนสนใจแต่เรื่องการปฏิบัติตามกฎบัญญัติ แต่ไม่สนใจสภาพฝ่ายจิตวิญญาณ พระเยซูจึงมักจะกล่าวตำหนิคนเหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นเหตุให้ฟาริสีพวกนี้วางแผนกำจัดพระองค์) จนพระเยซูถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์ในที่สุด เลโอนาร์โดได้จับภาพในช่วงสั้นๆ ขณะที่พระเยซูซึ่งทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าในอนาคต และตรัสขึ้นมาว่า “คนหนึ่งในท่าน จะทรยศเรา” ทำให้สาวกต่างพากันตกใจด้วยสีหน้าและท่าทางที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ถามพระเยซูด้วยความสงสัยว่า พระองค์ทรงหมายถึงตัวเขาหรือเปล่า มีเพียง ยูดาส (คนที่ 5 จากทางด้านซ้าย ซึ่งเป็นคนเดียวที่ใบหน้าอยู่ในเงามืด) ที่ในมือกำถุงเงินสินบน และมีสีหน้าสับสนต่างจากสาวกคนอื่นๆ

ลักษณะการวางเท้าของพระเยซูนั้นสื่อให้เห็นเหมือนกับตอนที่ทรงถูกตรึงกางเขน เป็นการสื่อให้เห็นถึงการยอมรับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ น่าเสียดายที่ในปี ค.ศ. 1652 (พ.ศ. 2195) ได้มีการเจาะประตูที่ผนังรูปนี้ ทำให้รูปในส่วนเท้าของพระเยซูนั้นหายไป

ภาพ The Last Supper เป็นภาพที่เลโอนาร์โดทดลองวาดภาพด้วยเทคนิคใหม่บนกำแพงแห้ง ทำให้ภาพนั้นเริ่มเลือนหายหลังจากที่ภาพเสร็จไปแล้วเพียง 6 ปี ภาพนี้จึงได้รับการซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง มีการวิเคราะห์และตีความอย่างมากมายถึงรายละเอียดในรูปนี้ แต่ด้วยเทคนิคการสร้างภาพ perspective (ภาพที่ให้ความรู้สึกเป็นสามมิติ) ของเลโอนาร์โดที่ทำให้รูปในห้องนี้ดูลึกเหมือนเป็นส่วนขยายของสถาปัตยกรรม การจัดวางแสงที่เป็นธรรมชาติ และรายละเอียดที่สมจริงแม้แต่ในแก้วไวน์ และกลีบส้มบนจาน ก็เป็นอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของเลโอนาร์โดในการสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นนี้

มาสู่ยุคปัจจุบัน มีหลายคนเป็นผู้ป่วยที่ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล และได้รับอาหารมื้อสุดท้ายผ่านทางสายให้อาหาร ด้วยญาติพี่น้องและคนส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าใจว่ามนุษย์ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อในทุกๆ วัน...แต่ว่า มีการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลตามหลักของวิทยาศาสตร์ว่า ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่ร่างกายเอาอาหารไปใช้ไม่ได้ ไม่ใช่การรับประทานอาหารไม่พอ!

จากเสวนาในงาน Happy Death Day หัวข้อ “ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” โดย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส และ นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี มีข้อมูลที่น่าสนใจมากคือ ร่างกายตอนใกล้เสียชีวิต จะมีการปรับตัวตามธรรมชาติ คือ จะหิวน้อยลง และรับประทานอาหารน้อยลง เนื่องจากการใช้พลังงานในกิจกรรมต่างๆ น้อยลงการ “ฝืน” ให้อาหารทางสาย นอกจากร่างกายของผู้ป่วยจะเอาไปใช้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้เกิดผลเสีย เช่น อาหารอาจไม่ย่อย ทำให้แน่นท้อง, อาเจียน และสายยางเองก็สร้างความไม่สบายให้กับผู้ป่วย แต่ในทางกลับกัน ถ้ารับประทานอาหารน้อย ร่างกายจะมีการใช้ไขมันที่อยู่ตามตัว และจะเกิดสารคีโตนในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสบาย

และสำหรับการให้น้ำเกลือ ถ้าผู้ป่วยได้รับน้ำเกลือมากจนเกินไป ก็จะทำให้บวมน้ำ, ปัสสาวะเยอะ มีเสมหะและน้ำในลำคอเยอะ ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย แต่ในทาง Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคอง) จะมีการปล่อยให้ผู้ป่วยขาดน้ำนิดๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์คือ ผู้ป่วยจะไม่บวมน้ำ และจากการขาดน้ำนิดๆ นี้เอง ก็จะมีการหลังสารเอ็นโดรฟินในสมอง ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ปกป้องร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยนั้นกลับรู้สึกดี

แม้เราไม่อาจเลือกมื้อสุดท้ายของชีวิตได้ ว่าจะเป็นอาหารชนิดไหน แต่ด้วยความรู้และความเข้าใจ ก็น่าจะทำให้เราไม่กลัวที่จะวางแผนเลือกมื้อสุดท้ายของชีวิต ว่าจะเป็นวิธีไหนที่จะสบายที่สุดสำหรับร่างกายของเรา


  • หมายเหตุ: การเข้าชมภาพ The Last Supper ควรทำการจองล่วงหน้าเนื่องจากมีการจำกัดผู้เข้าชมรอบละ 30 คน และมีคิวจองล่วงหน้าที่อาจยาวนานหลายเดือน สามารถจองบัตรเข้าชมทางโทรศัพท์หรือ ทางwww.cenacolovinciano.org ค่าเข้าชมราคา10 ยูโร (รวมค่าจอง)
  • Hospice & Palliative Care : ศูนย์ดูแลประคับประคอง คือ ศูนย์บริการสุขภาพแบบองค์รวมแก่ผู้ป่วยที่มีโรคคุกคามต่อชีวิตและครอบครัว โดยจัดการทั้งอาการเจ็บปวด และ ดูแลด้านจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ และเป็นการดูแลต่อเนื่องตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงบ้าน
  • แนะนำชมคลิปการเสวนา “ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” โดยเข้าไปที่หน้าVideo ใน FB: Peaceful Death by Happy Deathday ชื่อคลิป “คุณรู้มั้ยว่า สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย...”
  • ภาพ The Last Supper จาก HYPERLINK "https://www.thoughtco.com/the-last-supper-leonardo-da-vinci-182501" https://www.thoughtco.com/the-last-supper-leonardo-da-vinci-182501
  • ภาพยูดาส จาก https://www.wired.com/2007/11/gallery-lastsupper/
  [seed_social]
20 มีนาคม, 2561

ความตายจากความรุนแรงในครอบครัว

สำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว ครอบครัวคือแหล่งพักพิง ปกป้องชีวิตให้อยู่รอดและเติบโต การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณภาพ พวกเขาต้องพึ่งพิงพ่อแม่ ครอบครัว ในการอยู่รอดและเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ
20 กุมภาพันธ์, 2561

ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า: โลกแฟนตาซีของชีวิตหลังความตาย

ฉากเปิดของภาพยนตร์แฟนตาซี แอคชั่น ดราม่า สัญชาติเกาหลี เรื่อง Along with the Gods: The two Worlds หรือ ‘ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘คิมจาฮง’ พนักงานดับเพลิงหนุ่มผู้กล้าหาญ
31 มกราคม, 2561

มุมมองความตาย ในซีรีส์ญี่ปุ่น “ยอดหญิงยอดเชฟ”

ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดหญิงยอดเชฟ” เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนชื่นชอบ หลายฉากมีบทสนทนาที่สะท้อนระบบคุณค่าและความหมายของชีวิต ตัวเอกซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวคือ เมโกะ เป็นคนที่รักการทำอาหาร มีความสุขกับการทำอาหาร