parallax background
 

มหิดลทุ่มพันล้าน สร้างศูนย์วิจัย
ดูแลคนชรา-คนป่วยระยะท้าย

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมตวันนา กรุงเทพฯ ศ. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวนำการเสวนาเรื่อง "อยู่อย่างเป็นสุข ไม่เป็นทุกข์เมื่อยามจาก" ในงานประชุมวิชาการก้าวสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศไทย จัดโดยโครงการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับการดูแลรักษาบุคลลกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการดูแลที่เหมาะสม ทั้งสวัสดิการสังคมและสุขภาพ โดยมีสถานที่ดูแลนอกเหนือจากโรงพยาบาลในการช่วยรักษาแบบประคับประคอง ใกล้ชิดครอบครัว ให้ชีวิตสุดท้ายมีความสุข

ปัจจุบันสถานที่บำบัดผู้ป่วยระยะท้ายยังมีไม่เพียงพอ จึงต้องมีการไปดูแลกันที่บ้านด้วย ซึ่งต้องมีกระบวนการช่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกับครอบครัว ชุมชน อาสาสมัคร บุคลากรทางการแพทย์และสวัสดิการสังคม ม.มหิดล จึงได้เตรียมก่อสร้างศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรฯ ขึ้นที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ ๑๐๐ ไร่ โดยใช้งบก่อสร้างประมาณหนึ่งพันล้านบาท คาดว่าใช้เวลา ๒-๓ ปีจึงแล้วเสร็จ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยการดูแลผู้สูงอายุทุกระดับ ทั้งที่แข็งแรงดี ต้องการความช่วยเหลือประคับประคอง และผู้ป่วยระยะท้าย ว่าชีวิตอย่างไรจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนจะแปลงเป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติได้ในอนาคต

"นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเป็นแหล่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุด้วย ทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักชีวบำบัด และสร้างเครื่องมือช่วยเหลือประคับประคองผู้สูงอายุ การออกแบบบ้าน สุขภัณฑ์ เฟอนิเจอร์ต่างๆ ที่สะดวกปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต โดยมีนักวิศวกรรมศาสตร์และภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ รวมถึงการออกกำลังกายเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และดนตรีบำบัดด้วย ถือเป็นศูนย์ดูแลและวิจัยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย" ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน อาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมีสองเรื่องคือ ๑.ความเจ็บปวดจากโรคทางกาย ซึ่งต้องดูแลไม่ให้จากไปอย่างเจ็บปวด และ ๒.เรื่องทางใจ คือทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการตาย ไม่ใช่การจบสิ้นทุกอย่าง แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะ เป็นวาระที่ต้องยอมรับ เมื่อถึงเวลาผู้ป่วยจะจากไปด้วยความทรงจำที่ดี นอกจากนี้ ยังต้องดูแลจิตใจของญาติที่ต้องพบกับความสูญเสียล่วงหน้าด้วย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาคือคนไทยไม่ค่อยคุยกันเรื่องความตายนี้ ศูนย์ฯ จึงจะเน้นองค์ความรู้การดูแลทั้งทางกายและจิตใจร่วมกัน รวมถึงจัดระบบเรื่องอาสาสมัคร และการผลิตผู้ดูแลมืออาชีพด้วย โดยทำให้ ต.หนองพลับ เป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนอื่นศึกษาและนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเอง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน

ผศ.ดร.จตุพร วงศ์สาธิตกุล อาจารย์คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายมักเคลื่อนไหวน้อยลง พื้นที่ใช้ชีวิตแคบลง การดูแลคือต้องทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกได้นานสุดเท่าที่จะนานได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักดูแลโดยไม่ให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะท้ายทำสิ่งใด สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายเสื่อมลงไวขึ้น เพราะไม่ได้ถูกใช้งาน จึงต้องให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้ายได้เคลื่อนไหวเท่าที่ร่างกายมีสมรรถภาพ นอกจากนี้ จะต้องจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการออกมาใช้ชีวิตนอกห้อง และได้รับแสงแดดด้วย ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง บันได ควรมีความสูงเท่าไรจึงจะเหมาะสม เป็นต้น

เรียบเรียงจาก “มหิดลทุ่มพันล้าน สร้างศูนย์วิจัย ดูแลคนชรา-คนป่วยระยะท้าย”
ASTV ผู้จัดการรายวัน ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

หญิงสูงวัยยืนยันสิทธิ์ที่จะตาย ‘สัก’ อกซ้ายประกาศเจตนารมณ์

จอย ทอมกินส์ วัย ๘๑ ปี ตัดสินใจเด็ดขาดว่าไม่อยากฟื้นขึ้นมาในห้องฉุกเฉินในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป หลังจากเคยทุกข์ทรมานใจที่เห็นสามีค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ มาแล้ว
13 เมษายน, 2561

เมื่อพระจอมเกล้าฯ สวรรคต : การเตรียมตัวตายอย่างสงบแบบไทยๆ

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด จริงๆ สำหรับเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล แต่หายนภัยใหญ่หลวงที่เกิดจากธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์เองในครั้งนี้ น่าจะช่วยทำให้พวกเราเกิดอนุสติ
18 เมษายน, 2561

สธ.สั่งระงับการใช้คำแนะนำ แต่ สช.ยันสิทธิไม่ยื้อตายยังมีผลบังคับใช้อยู่

กระทรวงศึกษาธิการ (สธ.) ได้พิจารณาเรื่องการจัดทำคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธาณสุข เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข