คุณเบิร์ด นีลชา เฟื่องฟูเกียรติ กลุ่มละครคิดแจ่ม ทำละครเพื่อสื่อสารกับครอบครัวในประเด็นต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง แสดงละคร และการเล่านิทาน โดยสารสำคัญประการหนึ่งที่ต้องการสื่อคือ เรื่องความตายที่ใช้เป็นเครื่องเตือนสติในการใช้ชีวิต หยิบยกเอาอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ในเรื่องเล่ามาเป็นเครื่องมือให้เกิดการตระหนักรู้เรื่องการอยู่ดีและตายดี โดยใช้ศิลปะหลายแขนงมาใช้ ทั้งการเล่นละครหุ่น หุ่นเงา หุ่นเชิด ชวนศิลปินมาทำงานด้วยกัน ใช้เทคนิค Reader Theater คือการเอาหนังสือมาอ่านออกเสียงต่อกัน
คนส่วนใหญ่อาจมองว่าคิดแจ่มเป็นละครสำหรับเด็ก แต่คิดแจ่มมุ่งเน้นไปที่ “ครอบครัว” เพราะเป็นหน่วยรวมของสมาชิกหลายๆ ช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะ “พ่อ แม่ ลูก” แต่บางครอบครัวยังอาจหมายถึงปู่ ย่า หลาน พี่น้อง ฯลฯ บางครอบครัวอาจไม่มีความผูกพันกันทางสายเลือด แต่ทุกคนต่างสนับสนุนกันและอยู่ด้วยกันในบ้าน หรือบางคนคือคนนอกบ้านที่สนิทจนเหมือนคนในครอบครัว ครอบครัวจึงมีความหมายกว้างกว่าแค่ผู้ใหญ่หรือเด็ก ขึ้นอยู่ที่การนิยามว่า “คนในครอบครัว” ของเราคือใคร เรื่องเล่าของคิดแจ่มจึงเหมือนการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ เป็นร่มไทร เป็นร่มเงาให้กับครอบครัวทุกรูปแบบ
การที่คุณเบิร์ดหยิบเอาเครื่องมือละครมาใช้กับงานเรื่องความตาย เพราะเห็นประโยชน์ของกระบวนการละครที่เธอได้เรียนรู้จากกลุ่มมะขามป้อมในสมัยวัยรุ่น ที่ทำให้ตนเองเข้าใจโลกรอบข้างได้ดีขึ้นและเรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อสังคม
“กระบวนการละครสอนให้เราต้องเข้าใจคนอื่น การจะแสดงได้ เราต้องเห็นบริบทชีวิตของผู้คน เข้าใจคนที่เราต้องทำบทบาทสมมุติ ต้องไม่คิดเอาเอง ต้องเรียนรู้จากพื้นที่ เช่น การสวมบทบาทของชาวเขา กับการทำไร่เลื่อนลอยไม่ดี ทำลายป่าจริงหรือไม่ แต่เมื่อเราได้ลงพื้นที่ ได้คุยกับชาวบ้าน เรากลับเข้าใจว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนเมืองเข้าใจ มันคือวิถีชีวิต มันมีวิธีคิดในการจัดการป่า ตรงนี้คือการทำความเข้าใจคนอื่นโดยไม่ตัดสิน นอกจากนี้เราจำเป็นต้องเข้าใจบริบทชีวิตอื่นๆ ด้านร่างกายและจิตใจ กายเรา เสียงเรา ทำอะไรได้บ้างในละคร”
คุณเบิร์ดเริ่มต้นทำละครไปเล่นให้เด็กๆ ที่โรงพยาบาลดู และขยายไปที่วัด เนื้อหาของละครที่เล่นจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตาย “เราอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเศร้า เพราะเราคิดว่าหากรู้จักความเศร้า เราสามารถจะมีความสุข เรื่องที่หยิบมาเล่า เช่น แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ นำเสนอเรื่องของแมวตัวหนึ่งที่ตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเหมือนกับว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา”
ประเด็นเรื่องความตายไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะพูดคุยกันโดยเฉพาะในสังคมไทย การพูดเรื่องความตายในครอบครัวจึงต้องใช้ทักษะและใช้เวลาทำความเข้าใจ ต้องสร้างกระบวนการหรือกิจกรรมให้คนกล้าที่จะพูดคุยเพื่อเรียนรู้ว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนจะต้องเผชิญ กระบวนการเล่านิทานผ่านละครเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องเล่าความตายได้ วิธีหลักของกระบวนการละครไม่ใช่แค่การเล่าให้คนฟัง แต่ดึงให้ผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องเล่า แสดงความเห็น และทำให้เขาได้ยินเสียงของตัวเอง จึงต้องการออกแบบกระบวนการให้เกิดการตอบรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เรื่องเล่าดำเนินอยู่ ในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มละครคิดแจ่มร่วมกับ Peaceful Death เล่าเรื่องผ่านระบบ Zoom ทำให้ผู้แสดงและผู้รับชมมีปฏิสัมพันธ์และเป็นการสื่อสารสองทาง
“ประเด็นเรื่องความตายจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “สติ” แต่เราไม่ได้พูดคำว่า “สติ” ในเรื่องเล่าเลย เพราะว่าสติคือฐานการใช้ชีวิต การเล่านิทานจึงต้องคิดว่าเรื่องเล่าจะทำหน้าที่เตือนสติให้ผู้ฟังได้อย่างไร ประเด็นที่สื่อก่อนจะถึงเรื่องความตาย ตั้งแต่การพรากจากกัน ทั้งพรากจากตัวเองและคนอื่น ความกลัวตายหรือความไม่อยากให้คนรักจากไป มองว่าสิ่งเหล่านี้เตรียมตัวได้ การเล่าเรื่องความตายคือการตระหนักว่าวันหนึ่งทุกคนต้องไป จะทำให้เราคิดว่าเราจะอยู่อย่างไร”
ผลตอบลัพธ์ของกิจกรรม คุณเบิร์ดมองว่าการทำงานกระบวนการละครทำให้ได้เพื่อนหลากหลายวัยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น แม้อาจมีจำนวนไม่มากนัก เพราะเนื้อเรื่องมีความเฉพาะเจาะจง แต่จากการจัดละครความตายไปถึง 22 รอบ มีผู้เข้าร่วมเกินเป้าหมายทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ แม้ว่าเรื่องงบประมาณอาจเป็นอุปสรรคที่มีมาตลอด แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้เลิกทำกิจกรรม คุณเบิร์ดเชื่อและเห็นว่า สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเองและผู้อื่น จึงทำให้ “คิดแจ่ม” ไม่ใช่แค่กลุ่มกิจกรรม แต่คือกระบวนการเล่าเรื่องทางสังคมของคนตัวเล็กๆ ที่ทำเรื่องการแบ่งปันต่อไปด้วยความศรัทธา
วันที่ออกอากาศ: 7 มีนาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ