parallax background
 

นำตักบาตร กลางไอซียู

ผู้เขียน: กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ สง่า ลือชาพัฒนพร หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ห้องไอซียู มักมีแต่ความตึงเครียด หดหู่น่ากลัว โดยหลักแล้วห้องนี้มีไว้เพื่อกอบกู้ชีวิตผู้คน แต่ในความเป็นจริงชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาสิ้นสุดกันที่นี่ จึงเป็นธรรมดาที่ห้องไอซียูเป็นความทรงจำที่ผู้ผ่านประสบการณ์มักต้องการลบและลืม แต่สำหรับคุณยายพิสมัย และลูกหลานอีกสองคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เช้าวันนั้น ความเป็นไปในห้องไอซียูกลับเป็นความประทับใจที่ต้องจดจำไปอีกยาวนาน

คงเป็นความโชคดีที่คุณยายพิสมัยมาป่วยพร้อมๆ กับพระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ ผู้เป็นเสาหลักของการเผยแผ่ธรรมจากภูโค้ง จ.ชัยภูมิ ท่านมีลูกศิษย์มาก ด้วยเหตุนี้ภายในห้องไอซียูจึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำเฝ้าไข้ ค่ำคืนก่อนหน้านี้เป็นเวรของพระอธิการครรชิต อกิญฺจโน ด้วยเหตุห้องไอซียูไม่เอื้อต่อบรรยากาศในการสนทนาความ แต่อาการชักของคุณยายพิสมัยในค่ำคืนนั้นเป็นจุดสังเกตที่ชัดเจน จึงอยู่ในสายตาของพระอธิการครรชิตโดยตลอด ท่านจึงได้แต่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ คอยแผ่เมตตาส่งแรงใจช่วย ตลอดคืนนั้นอาการของคุณยายพิสมัยไม่ดีขึ้น อาการชักมีต่อเนื่องไม่ผ่อนคลาย มาตรวัดที่มอนิเตอร์ข้างเตียงบ่งบอกถึงอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ จนแพทย์เวรต้องมาเปรยกับลูกหลาน ว่าคุณยายควรทำสังฆทานได้แล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้นขณะพระอธิการฉันเช้า ลูกหลานของคุณยายพิสมัยได้เข้ามาอาราธนาเพื่อขอให้ไปรับสังฆทานจากคุณยาย แม้ว่าจะเห็นหน้ากันคุ้นเคย แต่การสนทนาที่แท้จริงเพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรก พระอธิการได้สอบถามถึงความป่วยไข้ จึงรู้ว่าเป็นด้วยความชราภาพอ่อนกำลัง ไม่ใช่ความผิดปกติจากโรคภัยใดๆ อาการชักนั้นไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แพทย์บอกได้เพียงว่ามาจากสภาพเสียสมดุลของเคมีภายในร่างกาย

ลูกหลานขอให้พระอธิการครรชิตรับสังฆทานแล้วช่วยสวดมนต์ให้คุณยายด้วย พระอธิการตอบรับ แต่ในใจนั้นท่านมีวิธีการอื่นที่น่าลองมากกว่า พระอธิการได้ถามถึงกิจวัตรของคุณยาย รู้ว่าคุณยายใส่บาตรทุกเช้าไม่เคยขาด คุณยายเคยผ่านการอบรมกรรมฐานมาบ้าง และชอบไปไหว้หลวงพ่อทองคำที่วัดไตรมิตรฯ เป็นประจำ ด้วยข้อมูลชั้นต้นเพียงเท่านี้ พระอธิการครรชิตพยักหน้ารับทราบ และแสดงความรู้สึกพอใจ

ที่ข้างเตียงของคุณยายพิสมัยในห้องไอซียู คุณยายยังคงอยู่ในสภาพที่ร่างกายกระตุกตลอดเวลา พระอธิการครรชิตได้พิจารณาอาการ และคิดหาหนทางแก้ไข และเห็นว่าการน้อมนำจิตของคุณยายออกจากเวทนา ไปสู่ที่หมายใหม่ให้จิตได้ตั้งมั่น และที่ง่ายที่สุดน่าจะพึ่งอานิสงส์จากการใส่บาตรเป็นประจำทุกเช้านี่แหละ ท่านนั่งลงที่ข้างเตียงแล้วเริ่มบทสนทนา แน่นอนว่าเป็นการพูดข้างเดียว เพราะคุณยายมีสายยางสอดผ่านลำคอ แต่ยังดีที่คุณยายมีสติพยักหน้ารับรู้

“คุณโยม อาตมาเป็นพระนะ วันนี้มาเยี่ยมไข้คุณโยม คุณโยมรับรู้หรือไม่ ถ้ารับรู้ช่วยพยักหน้ารับทีได้ไหม” พระอธิการเริ่มการสนทนา คุณยายผงกศีรษะรับรู้ พระอธิการจึงเข้าเรื่องทันที

“คุณโยม วันนี้วันพระนะ เช้าแล้วไปใส่บาตรกันดีไหม” คุณยายผงกศีรษะรับอีก

“เข้าครัวกันดีกว่า........ หาขันข้าวเจอหรือยัง......... กับข้าวอยู่ไหน...... เรียงใส่ถาดให้ครบนะ ค่อยๆ ใจเย็นๆ ” พระอธิการเริ่มนำจินตนาการ เป็นจังหวะช้าๆ หน่วงเวลาให้คุณยายได้สร้างมโนภาพตาม ด้วยความคุ้นเคยในกิจวัตรที่กระทำในทุกเช้า จึงไม่ยากเลยที่คุณยายจะคล้อยตาม

“ไปหน้าบ้านกันดีกว่าโยม ใกล้เวลาพระมาแล้ว เอาเก้าอี้ไปด้วยนะ จะได้นั่งให้สบาย” คุณยายผงกศีรษะรับ

“ไหนคุณโยมพระมาหรือยัง หันไปทางซ้ายดูซิ มีพระมาไหม” คุณยายสั่นศีรษะ พระอธิการรู้ทันทีว่า ที่บ้านของคุณยายทุกเช้าพระบิณฑบาตมาจากทางขวามือ

“ทางขวาล่ะ พระมาหรือยัง” คราวนี้คุณยายผงกศีรษะรับ

“คุณโยมพระมาแล้ว ท่านมายืนข้างหน้าเปิดฝาบาตรรอแล้ว คุณโยมยกขันข้าวขึ้นอธิษฐานก่อน” คราวนี้คุณยายเลื่อนมือที่เคยวางทอดอยู่ข้างเตียงขึ้นมาประสานกันที่บริเวณหน้าท้อง ในลักษณะประคองขันข้าว พระอธิการได้กล่าวคำอธิษฐานนำ ซึ่งมีแต่สิ่งดีงามเพื่อน้อมนำจิตใจ

“อ้าวคุณโยมตักข้าวใส่บาตรนะ ....ใส่กับข้าวด้วย ........เอาดอกไม้ธูปเทียนวางบนฝาบาตร......เสร็จแล้วองค์ที่หนึ่ง ......พระไปยืนรอทางซ้ายแล้ว”

“องค์ที่สอง ตักข้าวใส่บาตรนะ........ ใส่กับข้าวด้วย .........อย่าลืมดอกไม้ธูปเทียนวางบนฝาบาตร........เสร็จแล้วองค์ที่สอง .........พระไปยืนรอทางซ้าย”พระอธิการนำจินตนาการใส่บาตรทีละองค์ ทีละองค์ จนครบหกองค์ เป็นการพูดนำทีละขั้นตอนเป็นจังหวะที่เนิบช้าอยู่หกรอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการย้ำภาพเดิมที่คุณยายคุ้นเคย เพื่อปลุกเร้าจินตนาการให้เกิดนิมิตอันแรงกล้าขึ้น เพียงการนำจินตนาการใส่บาตรพระผ่านไปยังไม่ทันครบ ผลที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดก็คือ อาการกระตุกของร่างกายเริ่มลดลง คุณยายเริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้น แล้วเมื่อการนำจินตนาการใส่บาตรครบสมบูรณ์ทั้งหกองค์

“คราวนี้กรวดน้ำรับพรนะ เตรียมตัวพระจะสวดแล้ว .......... ยะถา วาริวะหา ปูรา ปาริปูเรนติ........” พระอธิการสวดอนุโมทนายะถาสัพพีทั้งบทอย่างสมจริงให้คุณยายได้ตั้งจิตรับพร ไม่น่าเชื่อว่าความปกติได้หวนคืนกลับมา คุณยายพิสมัยไม่มีอาการกระตุกหลงเหลืออีกแล้ว

“คุณโยม ใส่บาตรรับพรจากพระเรียบร้อยแล้ว อิ่มอกอิ่มใจกันแล้ว วันนี้เราไปไหว้พระที่วัดไตรมิตรฯ กันต่อดีไหม” คุณยายผงกศีรษะรับ พระอธิการจึงพาไปเที่ยวไหว้พระต่อที่วัดไตรมิตรฯ ทันที

ที่วัดไตรมิตรฯ ตามจินตนาการ พระอธิการครรชิตได้พาคุณยายพิสมัยกราบหลวงพ่อทองคำ ท่านถามคุณยายว่าพระพุทธรูปงามไหม คุณยายผงกศีรษะรับว่างดงาม พระอธิการยังได้ชวนคุณยายนั่งลงภาวนาพุทโธที่หน้าองค์พระ โดยที่ท่านนำการภาวนาด้วยตัวเอง โดยออกเสียง พุท – โธ พุท – โธ เป็นจังหวะช้าๆ เมื่อการภาวนาผ่านไปไม่นานนัก สิ่งที่พระอธิการสังเกตเห็นก็คือ เส้นกราฟแสดงผลการเต้นของหัวใจที่ปรากฏบนจอมอนิเตอร์ข้างเตียงนั้น จากที่เคยยุ่งเหยิงสับสนก็เริ่มจัดระเบียบตัวเอง และเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เส้นกราฟก็เริ่มขยับเป็นจังหวะสอดคล้องตรงกับจังหวะเสียง พุท – โธ ที่ท่านพูดนำ ท่านรู้ทันทีว่าจิตของคุณยายได้ดิ่งสู่สมาธิภาวนาที่สมบูรณ์แบบแล้วในขณะนั้น

ในท่ามกลางความเป็นไปในห้องไอซียู ความเคลื่อนไหวรอบกายยังคงยุ่งเหยิงไปตามปกติของภารกิจในหมู่พยาบาลและแพทย์ แต่ที่เตียงของคุณยายพิสมัยนั้นเป็นข้อยกเว้น ทุกอย่างสงบและควบคุมอยู่ในอาการภาวนา พุท – โธ ที่ราบเรียบ โชคดีที่ไม่มีใครในห้องหันมาให้ความสนใจหรือเข้ารบกวนขัดจังหวะ มีแต่ลูกหลานทั้งสองที่สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด เกิดปีติจนน้ำตาพรั่งพรู เพราะนี่คือความสงบรำงับของคุณยายอันน่าอัศจรรย์ เพราะร่างกายของคุณยายได้กระตุกต่อเนื่องนานหลายเวลาแล้ว

เวลาล่วงเลยไปนานหลายนาน การภาวนา พุท – โธ ยังคงดำเนินต่อเนื่อง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่จอมอนิเตอร์ ระดับชีพจรของคุณยายเริ่มช้าลง แรงดันโลหิตลดระดับลง และลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้หยุดนิ่งลง เส้นกราฟราบเรียบเป็นเส้นตรง ตัวเลขทุกตัวแสดงค่าเป็นศูนย์ บ่งชี้ว่าคุณยายพิสมัยได้สิ้นลมแล้วอย่างสงบ เป็นการละสังขารในขณะที่ยังตั้งมั่นอยู่ในจิตภาวนาที่สมบูรณ์แบบ อันเป็นภาวะที่หาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับปุถุชนที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนจิตอย่างช่ำชอง

ความเป็นไปทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในห้องไอซียู ห้องที่มักพบแต่ความอาภัพอับเฉาของชีวิตผู้คน แต่สำหรับวันนี้ของคุณยายพิสมัย ด้วยการนำจินตนาการของพระอธิการครรชิตที่ไม่เคยเสวนาธรรมกันมาก่อนเลยในชีวิต แต่วันนี้พระอธิการได้พาคุณยายก้าวเดินสู่การละวางสังขารที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้อารมณ์ของการภาวนาอย่างแท้จริง

* จากหนังสือ “เพื่อรอยยิ้ม เมื่อสิ้นลม” ประสบการณ์ของ กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ สง่า ลือชาพัฒนพร เขียน

** พระอธิการครรชิต อกิญฺจโน เจ้าอาวาสวัดป่าสันติธรรม ต.ท่าหินโงม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
*** พระอธิการครรชิตได้อรรถาธิบายว่า อาการกระตุกของคุณยายเกิดจากเวทนา ด้วยความเสื่อมไปของสังขาร เมื่อเวทนาแรงกล้า จิตย่อมขาดที่พึ่งพิง การน้อมนำสู่จินตนาการใส่บาตรที่คุ้นเคย เป็นการสร้างปุญฺญานุสสติ ใช้ความดี ใช้บุญกุศลเป็นที่ตั้ง เมื่อจิตมีที่หมายที่แรงกล้าได้พักพิง จิตย่อมสงบ เมื่อจิตสงบ กายย่อมระงับเป็นธรรมดา เมื่อกายระงับและจิตสงบ ย่อมง่ายที่จะน้อมนำไปสู่สมาธิภาวนาได้ในท้ายที่สุด

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

“ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ

การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มนุษย์ทุกยุคสมัยยังพยายามคิดค้นและสรรหาร้อยแปดวิธีมาเพื่อยับยั้งหรือบรรเทา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
4 เมษายน, 2561

เครือข่ายชีวิตสิกขา

หลังจากที่นิสิตปริญญาโทภาคจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาชีวิตและความตาย รุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศิริราชในปี ๒๕๕๐
18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว