parallax background
 

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญญาณเตือน

ผู้เขียน: แคทมิน หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

จริงไหมว่าที่ผ่านมา เมื่อมีสัญญาณเตือนส่งมา แต่เราในฐานะผู้รับไม่เข้าใจ หรือบางครั้งก็ละเลย ไม่สนใจ ทำให้สิ่งที่พอจะแก้ไขหรือรักษาได้ กลายเป็นเกินกว่าจะเยียวยาหรือรักษา

เมื่อพูดถึง “สัญญาณเตือน” หลายคนอาจจะนึกไปถึงเสียงจากสัญญาณเตือนภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ หรือเสียงไซเรนรถพยาบาล อาการกระตุกที่หางตาก็อาจจะทำให้นึกถึงลางร้าย หรือสัญญาณทางกายที่เริ่มบ่งบอกถึงความเจ็บป่วย สัญญาณบางอย่างเราอาจจะรับรู้จากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง แต่สัญญาณบางอย่างก็ต้องอาศัยการคาดเดา และจะยิ่งยากขึ้นไปอีกถ้าเราไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นกับเรา

เชื่อว่าคนที่เลี้ยงสัตว์ย่อมมีประสบการณ์กับการส่งสัญญาณความเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงมาไม่มากก็น้อย ผู้เขียนเลี้ยงสัตว์มาหลายปี ก็ผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วเช่นกัน เพียงแต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งเท่านั้นเอง

หมูหยอง สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ลทอย ขนสีน้ำตาล นิสัยขี้อ้อน ตัวอ้วนป้อม ขาเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของพุงพุ้ยๆ อายุประมาณ 15 ปี ผ่านช่วงวิกฤตความเป็นความตายมาแล้ว 4 ครั้งในรอบ 2 ปีนี้

ความเจ็บป่วยของหมูหยองเริ่มมาจากอาการชัก ซึ่งในตอนนั้นไม่คิดว่าจะส่งผลอะไรตามมา หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกเรื่องอะไร เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นจนหายเป็นปกติ แต่หมูหยองไม่กลับมาเป็นสุนัขที่น่ารัก ขี้อ้อนเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะหลังจากนั้นพฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนไป จากนิสัยขี้อ้อน กลายเป็นไม่สนใจใคร จำใครไม่ได้ อาหารที่เคยชอบกินก็ไม่ยอมกิน หมอสันนิษฐานว่าสมองบางส่วนเสียหายเพราะขาดออกซิเจนเนื่องจากอาการชัก ซึ่งในฐานะคนเลี้ยงแม้จะรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนเดิม แต่ยังรู้สึกดีที่ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่านี้ เมื่อเทียบกับการบอกเล่าของหมอว่า บางตัวมีอาการเห่าหรือหอนเกือบจะตลอดเวลา

แต่หลังจากนั้นก็มีสัญญาณบางอย่างตามมาโดยที่เราไม่ได้รู้สึกเอะใจ หมูหยองเริ่มมีอาการแปลกๆ อีก เมื่อเช้าวันหนึ่งเราต้องตื่นขึ้นมาเพราะเสียงร้องของหมูหยอง แล้วพบว่าเขานอนตะกายอยู่ที่พื้น เสียงเหมือนกำลังหอบหายใจ แขนขาไม่มีแรง ทำให้ลุกขึ้นไม่ได้ แถมยังมีจ้ำเลือดตามตัว หมออธิบายว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในกรณีที่เคยป่วยด้วยอาการชัก และเนื่องจากอายุมาก เส้นเลือดเปราะ ทำให้มีเลือดตกในอวัยวะภายใน และมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ทำให้แขนขาไม่มีแรง ในกรณีของหมูหยองส่งผลให้ร่างกายซีกซ้ายไม่มีแรง ไม่สามารถลุกขึ้นหรือเดินได้เหมือนเดิม ไม่นับเรื่องสูญเสียการมองเห็นที่ถือเป็นเรื่องปกติของสุนัขอายุมาก

เมื่อเดินไม่ได้ ทำให้การดูแลไม่ต่างไปจากการดูแลคนป่วยติดเตียง นั่นหมายถึงต้องดูแลแบบใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่การกินที่จะต้องคอยยกจานอาหาร ชามน้ำคอยเสิร์ฟให้เมื่อเวลาหิว ท่ากินอาหารที่ดีที่สุดคือ การประคองให้อยู่ในท่านั่ง เพราะจะช่วยให้กินสะดวกและไม่สำลัก การขับถ่าย หรือการทำความสะอาดเนื้อตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ยังดีที่สมัยนี้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดูแลมากมาย เพียงคนดูแลมีกำลังทรัพย์ใช้จ่ายก็ช่วยลดภาระได้มาก เช่น แผ่นรองซับเพื่อไม่ให้ปัสสาวะเปียกตัว

ในระหว่างที่ดูแลพบความยากอีกเรื่องหนึ่งคือ ท่าที่ชอบนอน เชื่อว่าทุกคนคงจะมีท่าถนัดที่นอนแล้วรู้สึกสบายและหลับได้เร็ว หมูหยองก็เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อจับนอนท่าอื่นก็จะร้อง ดิ้นไปมา ต้องพลิกกลับมาท่าเดิมถึงจะยอมนอน ทำให้เกิดแผลกดทับ ซึ่งเป็นปัญหาที่เจอกับผู้ป่วยติดเตียงเหมือนกัน การทำความสะอาดแผลทุกวันเลยเป็นการดูแลที่เพิ่มขึ้นมา

เรื่องอารมณ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจอบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกขัดใจ หรือคนดูแลเดาใจไม่ถูกว่าจะเอาอะไร จะมีอาการร้อง ดิ้น หรือพยายามตระกายหนี ซึ่งท่าจะคล้ายๆ กับกำลังว่ายน้ำ คือวาดขาหน้าไปข้างๆ มีขาหลังในการช่วยถีบส่งพลังไปข้างหน้า ดูไปดูมาก็ขำกับท่าทางที่เหมือนเด็กถูกขัดใจแล้วลงไปนอนดิ้นกับพื้น

ภาวะอารมณ์ของคนดูแลที่เกิดจากความเครียด ความเหนื่อย ภาระในชีวิตประจำวันเนื่องมาจากการดูแลเป็นสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการดูแลในระยะยาว

เมื่อลองทบทวนเรื่องราวตั้งแต่สัญญาณเจ็บป่วยเริ่มแสดงออก การสังเกตอาการหรือการรักษาแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญมาก จริงไหมว่าที่ผ่านมา เมื่อมีสัญญาณเตือนส่งมา แต่เราในฐานะผู้รับไม่เข้าใจ หรือบางครั้งก็ละเลย ไม่สนใจ ทำให้สิ่งที่พอแก้ไขหรือรักษาได้ กลายเป็นเกินกว่าที่จะเยียวยาหรือรักษา เหมือนผู้ป่วยหลายคนพบสิ่งผิดปกติในร่างกาย แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ ต่อเมื่ออาการลุกลามมากขึ้น เช่น เริ่มปวด จึงไปหาหมอ และพบว่าตัวเองป่วยและเข้าสู่ระยะ 3 ระยะ 4 หรืออยู่ในระยะสุดท้ายของโรค

ในเมื่อไม่ได้เตรียมใจรับมือกับเรื่องราวหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ทำให้บางคนถึงกับเสียสติ ตีโพยตีพาย หรือไม่ยอมรับเมื่อสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้าง ที่บางครั้งเปลี่ยนบทบาทในชีวิตเราไปอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะในฐานะคนป่วยหรือผู้ดูแลก็ตาม

ประสบการณ์จากการเจ็บป่วยของหมูหยองคราวนี้ ช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรืออยู่ในภาวะติดเตียงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาวะอารมณ์ของคนป่วย ของคนดูแล ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดูแล เช่น คนรอบข้าง หมอที่ให้การรักษา จะต่างกันก็ตรงที่หมูหยองเป็นสุนัข ไม่ใช่คน แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้ประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลได้เป็นอย่างดี เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่า ถ้าต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็นคนดูแลผู้ป่วย หรือเราเองนั่นแหละที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เราจะเป็นอย่างไร เราจะวางใจหรือยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่ไหนกัน

ที่ผ่านมา เราละเลยให้ความใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนต่างๆ แค่ไหนนะ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือนทางร่างกาย ความเครียด ความเหนื่อยล้า หรืออาการเจ็บป่วยบางอย่าง หรือสัญญาณจากคนรอบข้างที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่เริ่มจะมีปัญหา

ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเพิ่มความใส่ใจสัญญาณเตือนและใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา จะดีหรือไม่ดี อยู่ที่เรามีมุมมองและใช้ประโยชน์อย่างไรต่างหาก

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

สติ มรรคาแห่งการดูแลจิตใจผู้ป่วย

“สติ” หลายคนคำนี้เป็นคำของพระและผู้ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงแล้ว สติยังเป็นคำที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ เพราะสติให้ผลอย่างมากในการนำพาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ
18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา-จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๒)

หลังจากนั่งสมาธิและแผ่เมตตาเสร็จแล้ว ให้นำพลังเมตตาที่เกิดขึ้นไปจดจ่อในจุดที่เจ็บปวดหรือเจ็บป่วยในร่างกาย และจินตนาการส่งพลังดีๆ ไปเยียวยาให้อวัยวะส่วนนั้นกลับมาทำงานเป็นปกติดีเหมือนเดิม
13 เมษายน, 2561

โมงยามที่เปี่ยมชีวิตชีวา

วิลโก จอห์นสัน เป็นนักร้องและมือกีตาร์ชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดขบวนการพังค์ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา