การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
ของโรงพยาบาลพุทธชินราช (2)
ทีมสุขภาพดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา
แต่เดิมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลพุทธชินราช เกิดจากความสนใจส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์บางคน ที่ต้องการจะช่วยดูแลจิตใจของผู้ป่วย ไม่มีตำแหน่งงานดังกล่าวอยู่ในโครงสร้างงานของโรงพยาบาล จึงเป็นการทำงานนอกเวลาราชการ ไม่มีผลต่อความก้าวหน้าในทางวิชาชีพ ต่างคนต่างทำงานกันอยู่ตามจุดต่างๆ ในโรงพยาบาลโดยไม่มีการประสานงานกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ไม่รับรู้ว่ามีคนทำเรื่องดังกล่าวอยู่ในโรงพยาบาล
จนกระทั่งรัฐบาลออกนโยบาย “พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลของรัฐ” จึงเกิดโครงสร้างงานใหม่ในโรงพยาบาลที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและมีผู้เข้ามารับผิดชอบในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้งานดูแลแบบประคับประคองของโรงพบาบาลพุทธชินราชก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่นาน
บทความนี้จะพูดถึงการเดินทาง ปัจจัยความสำเร็จ และอุปสรรคความท้าทายของการดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลพุทธชินราช ว่าต้องฟันฝ่าและก้าวข้ามอะไรมาบ้างจนมีความเข้มแข็งอย่างเช่นในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้น
จุดเริ่มต้นสำคัญของการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เมื่อกระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและใช้ทรัพยากรของระบบบริการสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพ จึงนำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนางานการดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราชอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จากเดิมที่มีแพทย์และพยาบาลกลุ่มหนึ่งทำอยู่แล้วเป็นส่วนตัวมานับสิบปี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลในเชิงจิตวิญญาณและรับรู้กันในวงแคบ เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ การดูแลแบบประคับประคองขึ้น ทำให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงที่เข้ามารวบรวมบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่อย่างกระจัดกระจายให้เป็นกลุ่มก้อน ต่อยอดและส่งเสริมให้เป็นการดูแลแบบองค์รวม คือเพิ่มการดูแลมิติทางกายและมิติทางสังคมเข้าไป
ภารกิจแรกของคณะกรรมการฯ คือ การสร้างทีมดูแลแบบประคับประคองที่เข้มแข็ง เฟ้นหาแพทย์จากทุกแผนกที่ทำงานด้วยกันได้มาพัฒนางานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้สูงอายุ กุมารแพทย์ แพทย์ครอบครัว วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ แผนกกายภาพบำบัด เป็นต้น
ปัจจุบัน แม้ว่าหลายคนจะห่างหายไปบ้าง เนื่องจากมีภาระงานประจำมาก แต่ถือว่าเป็นทีมงานที่มีแพทย์เข้าร่วมมากที่สุดโรงพยาบาลหนึ่ง แม้จะยังขาดแคลนพยาบาล แต่ด้วยระยะเวลาการทำงานอย่างเป็นทางการเพียงสองปี ถือว่ามีคุณภาพและปริมาณงานเติบโตแบบก้าวกระโดด
แต่เดิม แพทย์ไม่ได้ถูกฝึกสอนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมาก่อน จึงขาดความรู้ความเข้าใจ คิดเพียงว่าเป็นเรื่องของการดูแลทางจิตวิญญาณแก่คนที่กำลังจะตาย ไม่ต้องทำอะไรนอกจากให้ยามอร์ฟีนระงับปวด แต่ไม่เข้าใจว่าการดูแลแบบประคับประคองต้องทำควบคู่ไปกับการรักษา กระบวนการดูแลควรเริ่มต้นตั้งแต่ผู้ป่วยรู้ตัวว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เพราะเป็นกระบวนการเตรียมตัวและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
นอกจากนี้ แพทย์ส่วนใหญ่เข้าใจว่า การดูแลแบบประคับประคองเป็นหน่วยงานสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้เสียชีวิตเท่านั้น จึงมักจะมาขอคำปรึกษาจากทีมงานเมื่อผู้ป่วยใกล้ตายแล้ว ทำให้การดูแลทำได้ยาก การทำงานเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรสุขภาพในโรงพยาบาลเองให้มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และมองเห็นไปในทิศทางเดียวกับคณะทำงานจึงมีความจำเป็น แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาอีกไม่ใช่น้อย
ในขณะเดียวกัน การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองยังเป็นสาขาวิชาใหม่ การขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต้องการผู้เชี่ยวชาญครบทุกภาควิชา ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้และพัฒนาบุคลากรอย่างมาก มีการสนับสนุนให้บุคลากรในทีมไปศึกษาอบรม จัดกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนการทำงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อทำให้การดูแลแบบประคับประคองได้รับการยอมรับว่าเป็นสาขาวิชาที่จะร่วมดูแลรักษาผู้ป่วยได้เหมือนสาขาวิชาอื่นๆ เช่น มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การดูแลอาการป่วยเป็นไปได้ด้วยดีตั้งแต่ต้นจนจบ
พิสูจน์ฝีมือ
การทำงานในช่วงแรก ทีมงานต้องพิสูจน์ฝีมือให้แพทย์กับพยาบาลคนอื่นๆ ในโรงพยาบาลพุทธชินราชเห็นผลงานว่า พวกเขาสามารถช่วยผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริง โดยการเสนอเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้บุคลากรฝ่ายอื่นๆ มองเห็นวิธีการดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นรูปธรรม จนช่วยแนะนำกับเพื่อนบุคลากรต่อ ซึ่งช่วยขยายการรับรู้ออกไปทีละน้อย
พร้อมๆ กับหว่านความคิดการทำงานลงไปในบุคลากรระดับต่างๆ เช่น แนะนำทีมงานกับกลุ่มพยาบาลและแพทย์ประจำบ้าน การทำกิจกรรมกับแพทย์จบใหม่และนักศึกษาแพทย์ โดยเลือกกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย เช่น จัดฉายภาพยนตร์เรื่อง The Fault in our Stars ให้นักศึกษาแพทย์ดู ให้รู้จักคำว่า ภารกิจที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจก่อนตาย (unfinished business) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบด้าน ว่าส่งผลต่อคนรอบข้างอย่างไร
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การไปศึกษาดูงานบทเรียนจากโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ ที่มีระบบการดูแลแบบประคับประคองเข้มแข็ง เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลที่น่าน ซึ่งมีจุดเด่นในการทำงานแตกต่างกัน เพื่อให้ทีมทำงานมีความเข้าใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคองตรงกันว่าคืออะไร มีขอบข่ายกว้างขวางแค่ไหน อย่างเช่นโรงพยาบาลน่านจะมีจุดเด่นเรื่องระบบเชื่อมต่อจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน ส่วนโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่เป็นสถาบันการศึกษาแพทย์คล้ายกับโรงพยาบาลพุทธชินราชจะเป็นศูนย์อบรมและให้ความรู้ทางวิชาการเป็นหลัก ทำให้เห็นทีมงานมองเห็นภาพตรงกันว่าทำอย่างไรโรงพยาบาลพุทธชินราชจึงจะเป็นแหล่งฝึกอบรม เพิ่มศักยภาพบุคลากร และมีระบบเชื่อมต่อไปยังบ้านผู้ป่วยได้ ก่อนจะมาออกแบบกิจกรรมที่จะต้องทำต่อไป
นอกจากการทำงานดูแลผู้ป่วยแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คืองานจัดการความรู้ที่มีสองส่วน หนึ่ง การจัดการความรู้ภายในโรงพยาบาล คือพัฒนาทีมการดูแลแบบประคับประคองที่เข้มแข็ง ได้รับการยอมรับในโรงพยาบาล มีระบบการจัดการ ระบบการให้คำปรึกษา และดูแลอาการผู้ป่วยที่ดี
สอง การจัดการความรู้ภายนอกโรงพยาบาล คือ การเตรียมบ้านและชุมชนให้มีความพร้อม และสร้างระบบสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลชุมชน และชุมชน ให้มีความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง สามารถดูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลไปถึงบ้านและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทีมงานจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ที่จำเป็นในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และทดลองจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้แก่บุคลากรในโรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลสุขภาพตำบลในเขตเมือง ก่อนจะขยายไปจังหวัดรอบข้างในเขตสุขภาพ 2 ซึ่งได้ผลตอบรับดี โดยทีมงานจะตามไปเยี่ยมบ้านเมื่อส่งผู้ป่วยกลับ พร้อมกับชวนแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลสุขภาพตำบลไปเยี่ยมบ้านด้วยกัน เพื่อฝึกฝนจากตัวอย่างจริง โดยเป้าหมายต่อไปคือ การอบรมหัวหน้าชุมชน คนในหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในการช่วยดูแลผู้ป่วยต่อไป
มีการทำการตลาดเชิงรุก เช่น การนำเครื่องมือใหม่ๆ อย่างไซริงค์ไดร์เวอร์หรือเครื่องให้ยาใต้ผิวหนังที่ยังไม่แพร่หลายมากนักมาใช้ เพื่อให้แพทย์รุ่นใหม่เห็นว่าทีมงานมีเครื่องมือดี และฝึกให้พยาบาลที่วอร์ดใช้เครื่องมือกับยาเพื่อช่วยจัดการอาการ รวมถึงนำกรณีการดูแลที่ประสบสำเร็จ เช่น ให้แพทย์และนักศึกษาแพทย์ดูวิดีโอของผู้ป่วยใกล้ตายที่กลับไปใช้ชีวิตอยู่บ้านได้นานนับเดือน จนเกิดความมั่นใจในคณะทำงานและกระบวนการดูแลแบบประคับประคองกระทั่งมีการแนะนำต่อ มีอาจารย์แพทย์หลายคนเริ่มมาขอคำปรึกษา
จากเดิมที่การดูแลแบบประคับประคองแฝงอยู่ในยุทธศาสตร์มะเร็ง และเป็นงานที่จะต้องทำควบคู่กันไปงานหลัก แต่หลังจากผ่านไปหนึ่งปี เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเรื่องการดูแลแบบประคับประคองเป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นปัจจัยเสริมให้การดูแลแบบประคับประคองเคลื่อนไปได้ดี
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่างานดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลพุทธชินราชยังก้าวหน้าไปอย่างช้าๆ จากปีแรกที่มีการขอปรึกษาผู้ป่วย 180 คน เพิ่มเป็น 800 คนในปีที่สอง และปีล่าสุดมีการขอปรึกษาผู้ป่วยมาวันละ 4 คน พร้อมกับสร้างระบบให้คำปรึกษาผ่านระบบไอทีแทนการใช้ใบส่งปรึกษา
กล่าวโดยสรุป การทำงานในปีแรกของทีมงานจะเป็นการหาประสบการณ์ การสร้างทีม การพาไปศึกษาดูงานการดูแลแบบประคับประคอง ที่โรงพยาบาลอื่นๆ และจัดฝึกอบรม ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
จากการถอดบทเรียนของทีมงาน พบว่าความก้าวหน้าของงานดูแลแบบประคับประคองที่โรงพยาบาลพุทธชินราชมีเงื่อนไขหลายประการที่คนทำงานในส่วนอื่นๆ น่าจะเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้
หนึ่ง ทีมงานรู้ใจกัน เพราะถูกเลือกมาตามความสนใจส่วนตัวที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ป่วยจริงๆ แต่ละคนจึงมีความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอยู่แล้ว ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องง่าย
สอง การสร้างทีมงานที่มีศักยภาพหลากหลาย เป็นแพทย์และพยาบาลจากหลายสาขา เช่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์ครอบครัว เป็นต้น และพร้อมจะเรียนรู้และทำงานร่วมกัน จึงช่วยพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญแก่กัน ปรึกษาเพื่อช่วยเรื่องการรักษาหรือแนวทางการรักษาอื่นๆ ได้ง่าย สาม มีกระบวนการทำงานที่ได้สัมผัสชีวิตของผู้ป่วยและญาติ มีการไปเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามอาการหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว แม้ว่าโรคทางกายจะรักษาไม่หาย แต่ยังสามารถเข้าไปช่วยดูแลเยียวยาความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติได้ ทำให้คนทำงานมีความสุขใจ
สี่ มีกระบวนการจัดการความรู้ที่เป็นระบบ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว จนทีมงานมีความรู้ที่แม่นยำ และยังสามารถปรึกษาเพื่อนในกลุ่มได้ทันทีหากมีความไม่มั่นใจ ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำงาน เพราะทำให้แพทย์คนอื่นๆ ในโรงพยาบาลเกิดความเชื่อมั่นในทีมงานเพราะเห็นว่าทำงานได้ผลจริง ตลอดจนมีการแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจที่ได้จากการดูแลผู้ป่วย ที่ช่วยหล่อเลี้ยงคนทำงานให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป
ห้า มีปัจจัยเชิงระบบจากภายนอกและภายในโรงพยาบาลที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น การมีนโยบายสาธารณสุขระดับชาติเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ผู้บริหารของโรงพยาบาลสนับสนุนนโยบายอย่างจริงจัง ทำให้เกิดโครงสร้างรองรับงานดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นทางการ และมีแบบอย่างการทำงานที่ดี เช่น รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล อาจารย์แพทย์ผู้บุกเบิกเรื่องงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในสังคมไทยเป็นผู้ให้คำปรึกษา ตลอดจนฝ่ายการพยาบาลของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นกำลังหลักที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ อย่างเต็มที่
ในทัศนะของ พญ.พรพิศ ตรีบุพชาติสกุล แกนหลักสำคัญคนหนึ่งของคณะทำงานเห็นว่า “ปัจจัยสำคัญของงานการดูแลแบบประคับประคอง คือการสร้างโอกาสให้แต่ละคนได้ทำงานร่วมกัน เพราะเมื่อได้สัมผัสกัน มีพื้นที่ให้กัน จะเกิดการเชื่อมโยงกันเอง เพราะเป็นธรรมชาติที่คนชอบอะไรเหมือนกันจะไหลไปหากัน จากตอนแรกที่เหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางอยู่ตลอด เช่น บางส่วนในทีมงานอย่างชมรมจริยธรรม จะเน้นไปที่เรื่องจิต ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ยาก และทำให้งานเดินหน้าไปได้ช้า เพราะคนทำงานเรื่องการดูแลแบบประคับประคองแต่เดิมแยกส่วนจากระบบของโรงพยาบาลมาก ในขณะที่คนทำงานอีกกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่องทางกายอย่างเดียว แต่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง หรือบางคนเคมีตรงกัน แต่ไม่ตรงกับอีกคนหนึ่ง จะทำอย่างไรให้คนที่เคมีไม่ตรงกัน ทำงานด้วยกันได้ เพราะการตายเป็นเรื่องจริงของทุกคน และต้องผ่านประสบการณ์ จึงจะเกิดการเรียนรู้ไปเอง หลายคนเปลี่ยนไปมาก เมื่อได้รับข้อมูล ค่อยๆ ซึมซับ ค่อยๆ ปรับเข้าหากัน และไหลมารวมกันโดยสมัครใจ”
ความท้าทาย
แม้ว่างานดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราชจะเริ่มมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนและก้าวหน้าไปมาก แต่ยังมีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องเผชิญและประคับประคองทีมงานให้เคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกันให้ได้ โดยเฉพาะการหลอมรวมความเข้าใจ ทัศนคติ และวิถีการทำงานของแต่ละคนในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าคนในทีมด้วยกันเอง หรือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงเรียนพยาบาล ที่อาจยังยึดมั่นว่าวิธีการของตัวเองดีที่สุด จึงต้องมีการสื่อสาร เปิดใจยอมรับความแตกต่าง และนำมาช่วยเติมเต็มกันและกันให้ได้
พญ.พรพิศ ตรีบุพชาติสกุล เห็นว่า “สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรจะประคับประคองให้ผู้คนที่มีความคิดความเชื่อหลากหลายยอมทำงานด้วยกัน เพราะคนพร้อมจะมีเรื่องมีราวกันเมื่อไม่ตรงกับความคิดหรือธงของตัวเอง เราต้องทำให้แต่ละคนชะลอธงของตัวเองไว้ก่อน เพราะพื้นที่ของการดูแลเรื่องความตายจะมีความคลุมเครือ ไม่มีศาสตร์ที่ชัดเจนตายตัว ไม่มีใครถือธงว่าตัวเองเชี่ยวชาญที่สุด การดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จเสมอไป ทุกคนจึงอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเข้าสักวัน ทำให้คนในทีมยังคบกันไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นประโยชน์ของกัน เป็นงานกลางที่ให้ทุกคนเอาความรู้ที่ตนมีมาผสมกันได้ เพื่อปรับให้ตรงกับผู้ป่วย”
แพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง เนื่องจากไม่เคยมีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ จึงเข้าใจว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นเพียงเรื่องจิตวิญญาณหรือจิตใจ ในขณะที่ฝ่ายพยาบาลมีการเรียนการสอนเรื่องดังกล่าวในหลักสูตรอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจมากกว่า
ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องยาระงับปวดที่จำเป็นอย่างมอร์ฟีน ซึ่งช่วยเรื่องการจัดการความปวดของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดี เนื่องจากจัดอยู่ในประเภทยาเสพติด จึงไม่มีใครสอน และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังเข้าใจว่าการให้มอร์ฟีนคือการทำการุณยฆาต รวมถึงระบบเข้าถึงยายุ่งยากและอืดอาด เพราะถูกควบคุมการใช้งานอย่างเข้มงวด ต้องขออนุญาตหลายขั้นตอน ทำให้ใช้งานได้ไม่สะดวกและแพร่หลายอย่างที่ควรจะเป็น นับเป็นอุปสรรคต่อการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างยิ่ง
เรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองยังเป็นเรื่องใหม่ จึงทำให้ช่องทางความก้าวหน้าทางวิชาชีพมีน้อย นอกจากสุขใจและเติมเต็มสิ่งที่ตัวเองปรารถนา โดยเฉพาะพยาบาล เนื่องจากงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่มีตำแหน่งงานรองรับเพียงพอ จึงต้องฝากพยาบาลหลายคนไปไว้ตามแผนกต่างๆ เช่นแผนกนารีเวชหรือห้องคลอด แล้วมาทำงานดูแลแบบประคับประคอง เมื่อถึงเวลาประเมินผลงานจึงไม่มีความก้าวหน้าเพราะไม่ได้ทำงานตามสายงานหลัก
แม้ว่างานดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราชจะมีความก้าวหน้าหลายด้าน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ยังมีงานอีกมากที่ต้องสานต่อ ขยายผล และที่สำคัญคือเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อนำมาปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แต่อย่างน้อย การขับเคลื่อนงานเรื่องการดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราช เป็นโมเดลการทำงานแบบหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ในการทำให้ระบบสุขภาพสามารถดูแลผู้คนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีนับแต่เกิดจนถึงตายได้อย่างแท้จริง
บุคคลสำคัญ: รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล,พญ.พรพิศ ตรีบุพชาติสกุล
[seed_social]