parallax background
 

ดูหนัง เข้าใจชีวิต
กับหอภาพยนตร์

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เราท่านอาจใช้เวลาว่างตีตั๋วดูหนังในโรงภาพยนตร์ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่โรงหนังเข้าถึงได้ไม่ยากในห้างสรรพสินค้าแทบทุกแห่ง หากยังมีคนบางกลุ่มที่ชื่นชอบการดูหนัง แต่มีโอกาสน้อยที่จะได้ดู เช่น คนแก่ที่อาจต้องรอคอยให้ลูกหลานพาไป หรือเด็กในอำเภอห่างไกลที่ไม่มีโรงหนังใกล้ๆ สักแห่ง ด้วยเหตุนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการจัดกิจกรรมชมภาพยนตร์ที่มีคุณค่า หลากหลายรูปแบบ

หอภาพยนตร์ มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ และเผยแผ่ภาพยนตร์ทรงคุณค่าในช่วงที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หอภาพยนตร์ตระหนักว่า การชมภาพยนตร์เป็นกิจกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์ ผู้สูงอายุชื่นชอบ ช่วยกระตุ้นความคิด ก่อเกิดแรงบันดาลใจ หรือสะท้อนภาพชีวิต นำไปสู่การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนพูดคุย ทำให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจในการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า รวมถึงอาจทำให้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับความสูญเสีย หรือการจัดการกับชีวิตในช่วงระยะท้ายได้ ดังนั้นหอภาพยนตร์จึงจัดกิจกรรมภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ ดังนี้

กิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์สำหรับผู้สูงอายุที่หอภาพยนตร์ พุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานท้องถิ่น กลุ่ม หรือชมรมต่างๆ แจ้งความจำนงในการเข้าชม และเชิญชวนผู้สูงอายุมาดูหนังที่หอภาพยนตร์ ซึ่งหนังที่ฉายเป็นหนังไทย หรือหนังเก่า ที่เน้นความสนุก ผ่อนคลาย รวมทั้งจัดฉายเป็นประเด็น(Theme) เช่นช่วงเดือนสิงหาคม จะจัดฉายหนังที่เกี่ยวข้องกับแม่ เป็นต้น กิจกรรมนี้หอภาพยนตร์ได้จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีกลุ่มผู้สูงอายุมาดูหนัง 5 กลุ่มในหนึ่งเดือน

ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่ง หอภาพยนตร์ ร่วมกับ ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จัดฉายหนังคัดสรรและวงเสวนาหลังการรับชม โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจากคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ บริษัทชีวามิตร ท่านมีความเห็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากอยากดูหนัง แต่ไม่สามารถไปโรงหนังได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นอกจากนี้ ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง ยังมองว่าการดูหนังช่วยบริหารสมอง กระตุ้นความคิด เกิดการเรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจ รวมถึงอาจทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต และความเจ็บป่วยของตนเองมากขึ้น

กิจกรรมจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ที่โรงพยาบาลจุฬา ในห้องที่ความจุ 50 คน และได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ทำให้มีการเปลี่ยนขนาดห้องฉายหนังให้รองรับผู้ชมได้มากขึ้น

โดยเฉลี่ยแล้วกิจกรรมนี้จะจัดสองเดือนครั้ง มีผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไปเข้าชมคราวละ 100-200 คน ภาพยนตร์ที่จัดฉายจะถูกเสนอและคัดเลือกโดย คุณหมอสุขเจริญ คุณหญิงจำนงศรี และคุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่คัดสรรให้ฉายจะมีความหลากหลาย ทั้งหนังวัยรุ่น หนังแอนิเมชัน หนังเกี่ยวกับชีวิตผู้ป่วยโรคต่างๆ หนังบางเรื่องเกี่ยวข้องกับความตาย

หนังที่ฉายทุกเรื่องจะต้องได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย โดยในส่วนนี้เป็นส่วนที่หอภาพยนตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลหลัก เมื่อหนังจบ จะมีการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของหนัง ในบางครั้ง ผู้จัดจะเชิญวิทยากรพิเศษมาร่วมเสวนาด้วย “ตัวหนังเองอาจไม่ได้ทำให้คนเรียนรู้หรืออะไรซักอย่าง แต่หนังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงพูดคุยกัน” คุณสัณห์ชัย สะท้อนถึงประโยชน์ของภาพยนตร์ที่ช่วยให้เกิดบทสนทนาตามมา

นอกจากกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น หอภาพยนตร์ยังจัดให้มี “รถโรงหนัง” ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์เคลื่อนที่สำเร็จรูปที่ติดล้อลากจูงโดยหัวรถบรรทุก คล้ายรถเทรลเลอร์ รถโรงหนัง สามารถปรับเป็นโรงภาพยนตร์รูปแบบทันสมัยขนาด 100 ที่นั่งได้ด้วยระบบไฮดรอลิค เดินทางออกไปให้ความบันเทิงเชิงสาระแก่ชุมชนจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

รถโรงหนัง มักจัดฉายภาพยนตร์สำหรับเด็กในช่วงเช้า และจัดฉายให้คนในชุมชนพื้นที่ห่างไกลหรือไม่มีโรงภาพยนตร์ในช่วงเย็น แต่ละครั้งที่รถโรงหนังเดินทางไปในชุมชนหนึ่งๆ จะใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่า สำหรับเด็กจะคัดเลือกหนังที่ฉายให้เหมาะสม ส่วนหนังสำหรับชุมชนจะฉายเป็นหนังสือเก่าหรือหนังที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ เช่น เรื่องสันติ-วีณา เป็นต้น

สำหรับรถโรงหนัง ซึ่งมีขนาดใหญ่และใช้งบประมาณสูงในการจัดซื้อนั้น อาจทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดจึงไม่จัดฉายในรูปแบบ “หนังกลางแปลง” คำตอบคือ การมีโรงภาพยนตร์เคลื่อนที่ลักษณะนี้ไปถึงชุมชน และโรงเรียนตามต่างจังหวัด นอกจากเด็กและชาวบ้านจะได้รับความบันเทิงจากหนังแล้ว ยังช่วยเปิดประสบการณ์และโอกาสให้ได้ดูหนังในโรงหนังจริงๆ ผู้ชมจะมีสมาธิกับการรับชม ส่วนเด็กๆ จะได้เรียนรู้มารยาททางสังคมไปพร้อมกัน เช่น การตรงต่อเวลา ความเกรงใจ เป็นต้น

การจัดกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ จึงเป็นกิจกรรมที่เปิด “โอกาส” ให้กับทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และบุคคลทั่วไปที่อยู่ในชุมชนห่างไกล ซึ่งสำหรับบางคนทั้งชีวิตของเขาอาจไม่เคยดูหนังในโรงหนังมาก่อนเลย ผู้สูงอายุบางท่านอาจเคยไปดูหนังเสมอในวัยหนุ่ม แต่เมื่อร่างกายไม่แข็งแรง เดินทางไม่สะดวก การไปโรงหนังอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ การเปิดโอกาสของหอภาพยนตร์ผ่านกิจกรรมต่างๆ นั้น จึงช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ขึ้นอีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้การดูหนังยังมีประโยชน์ในการช่วยบริหารสมอง ได้เรียนรู้และขบคิด อาจทำให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น รวมถึงเข้าใจตัวเองมากขึ้น “บางครั้งการดูหนัง เบื้องหลังของตัวเรา ปมของเรา ความคิดทั้งหลายของเรา เราอาจมองเห็นมันอยู่ในหนัง จากการที่เรามองอะไรที่ไม่ใช่ตัวเราเอง (เรื่องของคนอื่นที่เหมือนตัวเอง) เราอาจจะเข้าใจง่ายกว่าและได้หันกลับมามองตัวเองเห็นชัดขึ้น” ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย กล่าวไว้

มากไปกว่านั้น ภาพยนตร์ยังเป็นเครื่องมือเรียนรู้ชีวิตชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ ภาพชีวิตของตัวละครในหนังที่ป่วย เป็นทุกข์ เผชิญอุปสรรคนานา จะทำให้เราเรียนรู้ เข้าใจอาการและการดำเนินของโรค เช่น โรค ALS ในหนังเรื่อง The Theory of Everything หรือโรคอัลไซเมอร์ในหนังเรื่อง Away from Her และ Still Alice รวมทั้งเห็นภาวะอารมณ์ของผู้ดูแลผู้ป่วย การเผชิญหน้ากับความสูญเสีย ความตาย คุณค่าของความรักและความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ การเรียนรู้และเข้าใจประเด็นจากหนังเหล่านี้ ช่วยเราเปิดโลกอีกด้าน

เมื่อพูดถึงหนังเรื่อง Departure ซึ่งเป็นหนังญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับสัปเหร่อ พิธีศพ และความตายนั้น คุณสัณห์ชัยสะท้อนว่า “ยอมรับว่าหลายเรื่องเปิดโลกทัศน์ผมเลย ผมดูหนังพวกนี้มาแล้วก็จริง พอเริ่มฉาย ได้มาคุยกับทั้งคุณหญิงจำนงศรี และคุณหมอ(สุขเจริญ) รวมทั้ง feedback จากคนฟังคนดู ก็จะเห็นโลกอีกแบบหนึ่ง และเราเองจากเดิมไม่เคยสนใจเรื่องการตายดี เฟสบุค Peaceful Death ก็ตามอ่าน ก็ทำให้ อ๋อ มันก็มีอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่เคยสนใจก็ต้องสนใจ และมันก็น่าสนใจจริงๆ”

สุดท้าย ประเด็นจากภาพยนตร์อาจจะช่วยให้เรารับมือกับภาวะการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งตัวเราเองหรือคนที่เรารักก็ได้ อีกทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ เห็นชีวิตผู้อื่นที่ต่างไป เห็นทุกข์เห็นสุขที่เกิด ซึ่งจะนำพาให้จิตใจของเราเพิ่มพูนด้วยความเมตตา และอาจมุ่งหวังช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจกรุณาต่อไป

________________________________
ข้อมูล:
คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561
ทศพร กลิ่นหอม สัณห์ชัย โชติรสเศรณี และคณะ (เรียบเรียง). (2560).
ภาพยนตร์ ยาบำรุงผู้สูงอายุ. จัดพิมพ์โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม โดม สุขวงศ์ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี และคณะ (เรียบเรียง). (2560).
คู่มือโรงหนังโรงเรียน. จัดพิมพ์โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม

อ้างอิงภาพประกอบ:
เฟสบุคเพจ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage/

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

วันปีใหม่

ช่วงเวลาของปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองของคนส่วนมากทั้งโลก เป็นช่วงเวลาแห่งรอยยิ้ม ความสุขและหยุดพักจากการงาน แต่สำหรับงานรักษาพยาบาลนั้นเรื่องราวของคนไข้และผู้ดูแลนั้นไม่มีคำว่าหยุดพัก
19 เมษายน, 2561

แม่อุ้ยสม

“ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องตาย ตายเป็นรุ่นๆ ถึงจะรักและห่วงลูกหลานเพียงใด เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไป ชีวิตเป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาเอง”
13 มีนาคม, 2561

ตัวจากไป ใจยังรักษ์โลก

ประเพณีการฌาปนกิจศพของชาวไทยพุทธมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย จากที่เคยเผากันกลางแจ้ง พัฒนามาสู่การเผาศพบนเมรุ และทุกวันนี้ เทคโนโลยีการฌาปนกิจก็ก้าวหน้าถึงขั้นใช้ระบบไฟฟ้า ไม่ต้องจุดไฟเผาเหมือนสมัยก่อน