โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี หรือ Peaceful Death คือทีมที่สนับสนุนให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อการอยู่และตายดี ดำเนินงานภายใต้เครือข่ายพุทธิกา คุณเอกภพ สิทธิวรรณธณะ หนึ่งในทีมชุมชนกรุณา ได้เล่าให้เราฟังถึงกิจกรรมและความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่า “ชุมชนกรุณา” ชุมชนแบบที่พวกเราหลายคนยังไม่เข้าใจ
เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความเจ็บปวด
เพราะชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความผิดหวัง ความเสียใจ ความทุกข์ที่เกิดจากความสูญเสียเกิดขึ้นได้ทุกเวลา การเดินก้าวผ่านเรื่องร้ายในชีวิตย่อมเป็นเรื่องลำบากและยากที่จะผ่านไปได้เพียงลำพัง
คงจะดีกว่าหากเรามีใครบางคนที่คอยรับฟังเราอย่างไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย มีเสียงเชียร์ข้างหูที่คอยกระซิบบอกเมื่อเราไม่กล้าก้าวเดินไปข้างหน้า มีมือที่คอยประคองยามเราล้มลงแล้วไม่มีเรี่ยวแรงจะยืนหยัดขึ้นมาใหม่ และมีสองแขนที่พร้อมโอบกอดยามหัวใจแหลกหลาย สังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจนี้เองที่เรียกว่าเป็น “ชุมชนกรุณา”
โครงการชุมชนกรุณาทำอะไร?
โครงการชุมชนกรุณามีกิจกรรมหลากหลาย เป้าหมายหลักคือต้องการให้ผู้คนเรียนรู้การเผชิญความตายและก่อนตายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงการดูแลผู้ดูแลผู้ป่วย (caregiver) เราอยากให้สังคมไทยมองความตายในแง่ดีขึ้นเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องความตายกับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวอย่างเปิดเผย เมื่อเรามองความตายอย่างเป็นมิตรแล้วการพูดคุยเรื่องความตาย การจัดการการตายก็ไม่ใช่เรื่องอัปมงคลอีกต่อไป
เราเน้นการผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการเรียนรู้ชีวิตและความตาย เราอยากให้สังคมไทยมองความตายในแง่มุมที่ดีขึ้น นำไปสู่การเปิดโอกาสให้คนในสังคมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องชีวิตและความตายกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ที่จริงแล้วความรู้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้หายากจนเกินไปนัก เพียงแต่ยังขาดพื้นที่แลกเปล่ี่ยน ประสบการณ์การเผชิญหน้ากับความตายและการเตรียมตัวตาย เราอยากเห็นพื้นที่นี้แบบนี้ในสังคมให้มากขึ้น
จุดเริ่มต้นการทำชุมชนกรุณา
เราเริ่มต้นจากการเห็นความทุกข์ของผู้สูงอายุในครอบครัว การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้รับการปฏิบัติที่รุนแรงเกินไปจึงคิดว่าตนเองควรทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงเลือกเข้ามาทำงานสื่อสารในโครงการนี้ ในอนาคตอยากเห็นสังคมไทยเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีทักษะการดูแลความเจ็บปวดและการสูญเสียของคนรอบข้างได้ มันทำให้โลกหน้าอยู่ สังคมเข้มแข็ง เมื่อเริ่มเห็นคนรอบข้างมีความเข้าใจเรื่องนี้ ตนเองเองก็รู้สึกปลอดภัย ลดความกังวลลงไปด้วย แม้ทุกวันนี้ชุมชนกรุณาจะยังไม่เป็นที่เข้าใจของสังคมไทยมากนัก และมีงานรออยู่ข้างหน้ามากมาย แต่ก็เชื่อว่าคุ้มค่าและมีความหมาย
ใช้ความเป็นมนุษย์ ดูและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
หากเราพูดเรื่องการดูแลผู้ป่วยและความตาย สังคมจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ แต่ชุมชนกรุณาเชื่อว่าความรู้ทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอในการดูแลความรู้สึกของผู้สูญเสีย แต่ละคนสามารถใช้ความเป็นมนุษย์ในการดูแลคนอื่นได้หมดตามความถนัดและทักษะที่มี ไม่ว่าความช่วยเหลือจะเล็กน้อยเพียงใด แต่ล้วนมีค่าทั้งสิ้น เช่น อ่านหนังสือให้ฟัง มอบต้นไม้ให้ ซื้อลิปสติกไปฝาก เป็นต้น บางครั้ง การดูแลผู้ป่วยโดยตรงอาจยาก หรือต้องใช้ความเข้มแข็งมากเกินไป ให้ลองถอยมาดูแลผู้ดูแลผู้ป่วยแทน (caregiver) เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เหนื่อยล้าและเจ็บป่วยไม่น้อยไปกว่าผู้ป่วยเอง เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนกรุณาได้หมด
เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนกรุณาได้
เมื่อใดที่เรามองเห็นความทุกข์ของผู้คนรอบตัว เมื่อนั้นเราก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนกรุณาแล้ว เพราะในสังคมที่เราอยู่ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน ย่อมมีใครบางคนกำลังเผชิญความทุกข์อยู่เสมอ ลองมองไปรอบๆว่ามีใคร กำลังต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ให้ลองยื่นมือเข้าไป อาจเป็นแค่กิจกรรมเล็กๆน้อยๆในจุดที่เราและเขาสบายใจ มอบความเป็นเพื่อนและความปรารถนาดีให้เขา ยิ่งมีคนพร้อมจะรับฟังความทุกข์ของคนอื่นมากเท่าไหร่ ชุมชนกรุณาก็ยิ่งใหญ่ขึ้นมากเท่านั้น ความกรุณาเป็นสิ่งที่มีพลังเสมอ
สมุดเบาใจ
น่าเบื่อเกินไปที่จะพูดว่าเราทุกคนต้องตาย หรือบอกให้ใครหมั่นคิดเรื่องความตาย สมุดเบาใจ จึงกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การเตรียมตัวตายเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นคือ สมุดเบาใจ คือ สมุดน้อยเล่มบางที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมชีวิต ภายในประกอบด้วยคำถามเพียงไม่กี่คำถาม แต่สำคัญและแสนยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เราหวนนึกถึงความตาย และการจัดการหลังความตายของเราเอง เช่น หากเราป่วยหนัก หรือตายจากไป อยากให้ครอบครัวจัดการกับตัวเราหรือทรัพย์สินของเราอย่างไร แน่นอนหลายคนย่อมเคยคิดเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่นั่นเป็นคำตอบที่ลอยอยู่ในหัว ต่างกับการเขียนลงในสมุดที่จะทำให้เราตกผลึกความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ เปรียบเสมือนการกรองความคิด และเป็นสัญญาจับต้องได้ที่ฝากไว้ให้ลูกหลาน หากการใช้สมุดเบาใจกับญาติพี่น้องในช่วงแรกเป็นเรื่องยากลำบาก อาจลองหยิบยกบางคำถามในสมุดมาพูดคุยด้วยปากเปล่าแบบสบายๆ แล้วคอยสังเกตว่าปฏิกิริยาของพวกเขาเป็นอย่างไร หากดูแล้วไม่มีสิ่งใดติดขัด ค่อยเพิ่มคำถามหรือเริ่มเขียนลงในสมุด หรือหากยังไม่พร้อมจริงๆก็ไม่เป็นไร ให้พักเอาไว้ก่อน แล้วโอกาสหน้าค่อยมาลองด้วยกันใหม่เมื่อพร้อม สิ่งสำคัญคือต้องค่อยๆก้าวผ่านไปด้วยกันที่ละสเต็ป
แม้คำถามในสมุดเบาใจจะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ขอให้ลองคิด พิจารณา ไตร่ตรองให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บรรยากาศในการเขียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะลงมือเขียนขอให้เตรียมสถานที่ เตรียมจิตใจให้นิ่ง และใช้เวลาให้นานเพียงพอ หากติดขัดหรือไม่แน่ใจ อย่าเร่งรัดตนเอง ขอให้เว้นไว้ก่อน แม้ในช่วงแรกอาจยากลำบาก แต่ขอให้พยามผ่านมันไปให้ได้ หากจบลงด้วยความไม่สมบูรณ์แบบก็ไม่เป็นไร ขอให้ภูมิใจว่าเราทำได้ดีแล้ว และเมื่อพร้อมค่อยกลับมาเขียนใหม่ หรือเปลี่ยนใจ สมุดเบาใจก็พร้อมให้ขีดฆ่า ลบทิ่้งได้เสมออย่างไม่มีเงื่อนไข
สมุดเบาใจไม่ได้เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเท่านั้น แต่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ยังมีสุขภาพดี เพราะหากรอให้ถึงวันที่เจ็บป่วยมากๆเสียแล้ว เราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขียนลงในสมุดใกล้ความจริงมากขึ้นทำให้เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆอาจจะไม่พร้อมก็เป็นไปได้
สมุดเบาใจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารกับคนรอบข้าง บางรายที่มีการสื่อสารกับญาติมาเป็นอย่างดีแล้วอาจไม่จำเป็นต้องใช้สมุดเบาใจก็ได้ แต่บางกรณีที่ครอบครัวมีญาติพี่น้องเยอะ สมุดเบาใจจะเป็นหลักฐานในการจัดการพวกเขาเมื่อจากไปอย่างเป็นรูปธรรม เพราะส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของญาติคือไม่รู้ว่าความต้องการของผู้เสียชีวิตเป็นอย่างไร ลดความขัดแย้งในครอบครัวได้
ท้ายที่สุดแล้ว เราเชื่อว่าความกรุณาเป็นสิ่งที่มีพลังมาก เราฝันเห็นชุมชนที่เต็มไปด้วยสิ่งนี้ การมีผู้คนที่คอยคำชู โอบอุ้มประคับประคองผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจ ผลัดกันให้-ผลัดกันรับ ทำให้ทุกคนสามารถเผชิญความทุกข์ได้อย่างเข้มแข็ง กล้าหาญ และมีสติมากขึ้น.
วันที่ออกอากาศ: 6 กันยายน 2563
ผู้เรียบเรียง: ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์