พระกฤษดา ขันติกโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยยอดและผู้ก่อตั้งชมรมชายผ้าเหลืองเพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งทำงานร่วมกับโรงพยาบาลห้วยยอดในการช่วยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 มีจุดเริ่มต้นจากการที่พระกฤษดาเข้าร่วมการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ทำให้กลับมาทบทวนว่า ตนเองจะทำประโยชน์ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างไรบ้าง จึงติดต่อกับโรงพยาบาลห้วยยอด ซึ่งกำลังเปิดตึกหลังใหม่ "อโรคยาศาล" ให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม และต้องการพระสงฆ์มาร่วมดูแลผู้ป่วยเช่นกัน ท่านจึงร่วมมือกับคณะทำงานที่วัดและโรงพยาบาลห้วยยอดในการดูแลผู้ป่วยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
กิจกรรมแรกที่ทำคือการไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง ทำให้พบว่ามีผู้ป่วยต้องการพบพระสงฆ์ พูดคุยเรื่องของธรรมะและประกอบพิธีกรรมเพื่อความสบายใจของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต หลังจากเข้าไปสนับสนุนงานของโรงพยาบาลระยะหนึ่ง ท่านเห็นว่าโรงพยาบาลยังขาดแคลนสิ่งต่างๆ จึงเริ่มขอบริจาคอาหารบิณฑบาตจากคณะสงฆ์ของวัด ใน “โครงการข้าวก้นบาตรเติมใจผู้ป่วย” ที่ต่อมาขยายเป็นแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ มาสนับสนุนโรงพยาบาล ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือญาติผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยอีกด้วย เพราะเป็นการสร้างกำลังใจและลดค่าใช้จ่าย
การเข้าร่วมอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ ช่วยให้พระกฤษดาได้พบกับความหมายของชีวิต เข้าใจตนเอง และมีแรงบันดาลใจในการแบ่งปันแก่ผู้อื่น แต่การเริ่มต้นทำงานชุมชนอย่างจริงจังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเข้าใจเรื่องความตายที่แตกต่างกันทำให้กระบวนการทำงานกับพระสงฆ์และผู้คนทั่วไปมีความซับซ้อน และการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครในชุมชนเคยทำมาก่อน ท่านจึงต้องเริ่มเรียนรู้ตัวเองและชุมชน ชุมชนห้วยยอดเป็นชุมชนชาวจีน มีความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวพุทธ และมีคติว่าการพูดคุยเรื่องความตายไม่เป็นมงคล ท้าทายและขัดแย้งกับจิตใจของคนในชุมชน ไม่ควรนำมาพูด ท่านจึงเริ่มด้วยการให้คนในชุมชนเข้าใจการทำงานกับความป่วยไข้ก่อน และนำสิ่งที่ทำมาอธิบายเพื่อให้การเรียนรู้เรื่องความตายมีน้ำหนักและช่วยเปิดใจผู้คนได้
การทำงานเพื่อให้ชุมชนเปิดใจและความเข้าใจเรื่องความตาย ใช้เวลาถึง 2 ปี ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ “ชมรมชายผ้าเหลือง” จนสร้างความเชื่อมั่นและเข้าสู่การรับรู้ของผู้คน ทำให้เห็นว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน นำไปสู่การสร้างชุมชนการเรียนรู้ จนต่อยอดเป็น “ชุมชนกรุณาห้วยยอด” เชื่อมโยงงานที่พระอาจารย์ทำและการสนับสนุนของชุมชนเข้าด้วยกัน
ชุมชนกรุณาห้วยยอดเกิดจากงานที่เติบโตและชุมชนที่ตระหนัก เริ่มเห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วย จึงเข้ามามีบทบาทและขยายการทำงานไปสู่ภาครัฐ เช่น การจัดโครงการ “เยี่ยมบ้าน 8 วัน 8 ชุมชน ในเขตเทศบาล” เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน คือโรงพยาบาลห้วยยอด โรงเรียน เทศบาล และชุมชน โดยแบ่งทีมเยี่ยมผู้ป่วย 8 วันติดต่อกัน แล้วนำมาสรุปและถอดบทเรียนร่วมกัน รวมถึงเชื่อมโยงกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาฝึกเรื่องการดูแลผู้ป่วยด้วย เป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้คนนอกเข้ามาศึกษาดูงาน “ชุมชนกรุณาห้วยยอด” เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการเตรียตัวตาย
การรวมวัด บ้าน โรงเรียน รัฐ มาทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้และมองเห็นบทบาทของพระสงฆ์ภิกษุในการทำงานชุมชน จนเกิดกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานกัน ทำให้ชุมชนเชื่อมโยงกันได้ผ่านการดูแลผู้ป่วย มีการทำงานกับเยาวชนที่บวชสามเณรภาคฤดูร้อนให้มาช่วยดูแลผู้ป่วย ชื่อโครงการ “สามเณรหัวใจแห่งการเยียวยา หรือ สามเณรหัวใจพระ” เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วย โดยทำงานกับผู้สูงอายุ อาสาสมัครชุมชน ทำให้เด็กๆ ได้รับความรู้จากแพทย์ พยาบาล นอกจากการบวชเพื่อได้ความรู้ทางธรรมแล้ว ยังได้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยเพื่อนำกลับไปบอกเล่าหรือปรับใช้ในชุมชนอีกด้วย
วันที่ออกอากาศ: 6 ธันวาคม 2563
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง