คุณมิลค์ อริสา โพธิชัยสาร ทำงานอยู่ในส่วนงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล หรือ “Routine to Research - R2R” และเป็นผู้ช่วยวิจัยที่หน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ งานของคุณมิลล์คือการนำปัญหาจากการทำงานประจำมาหาวิธีแก้ด้วยกระบวนการวิจัย โดยค้นหาว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน มีปัญหาอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงาน ผู้รับบริการ ระบบการทำงานในหน่วยงานหรือในองค์กร โดยยังไม่ต้องตัดสินว่าเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ แล้วหยิบยกมาทำเป็นงานวิจัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ อย่างเป็นระบบ
ลักษณะสำคัญของงาน R2R คือ 1. เป็นบุคลากรหน้างานที่มองเห็นปัญหานั้น 2. บุคลากรหน้างานเป็นคนลงมือแก้ไขปัญหานั้นๆ 3. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถวัดได้จากหน้างาน ไม่ว่าการบริการที่เปลี่ยนแปลงไป คนไข้ใช้เวลารอรับบริการน้อยลง ต้นทุนต่างๆ ลดลง การบริการที่ดีขึ้น 4.ประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ในงานประจำของตนเอง หรือขยายผลสู่หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมีบริบทใกล้เคียงกันได้ โดยการตีพิมพ์ผลการวิจัยเป็นเพียงผลพลอยจากการทำ R2R
ตัวอย่างที่แสดงถึงข้อดีหรือความสำเร็จของงาน R2R เช่น การพ่นยาของเด็กเล็กอายุ 5-6 ขวบ ที่เป็นโรคหอบหืด ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเด็กจะดิ้นขัดขืน พ่อแม่ต้องคอยช่วยจับ หนักที่สุดคือการต้องผูกแขนเด็กไว้เพื่อไม่ให้ดิ้น พยาบาลในหน่วยกุมารแพทย์ ศิริราชพยาบาล มองเห็นว่าเป็นปัญหาที่น่าสะเทือนใจ ส่งผลให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก และผู้รักษาเกิดความรู้สึกท้อแท้ จึงใช้กระบวนการ R2R เริ่มจากทบทวนวรรณกรรมว่ามีงานศึกษาปัญหาดังกล่าวหรือไม่ มีการศึกษาเรื่องการแก้ปัญหาการพ่นยาในเด็กวัย 5-6 ขวบหรือไม่ ทำให้พบว่าการใช้ “นิทาน” น่าจะเป็นคำตอบของปัญหาดังกล่าว เพราะทำให้เด็กเกิดความนิ่ง จึงทำนิทานเรื่องคือ “หนูไก่ไม่กลัวการพ่นยา” นำเปิดให้เด็กดู ปรากฏว่าเด็กนิ่งขึ้น หนูไก่กลายเป็นต้นแบบในการพ่นยาให้เด็กๆ ได้ จากนั้นจึงสอบถามเด็กและผู้ปกครองว่าชอบหรือไม่ชอบนิทานตรงส่วนไหน ควรปรับปรุงนินทานอย่างไร แล้วนำมาปรับปรุงนิทานและนำไปใช้อีก พบว่าหลังจากเด็กดูนิทานแล้วจะมีความกล้าในการพ่นยา มีการขัดขืนน้อยลง เมื่อทำนิทานเวอร์ชั่นแรกสำเร็จ จึงนำไปพัฒนาร่วมกับนักวาดการ์ตูนเพื่อให้เขียนเรื่องราวที่สนุกและเข้าใจได้มากขึ้น นับจากนั้น นิทาน “หนูไก่ไม่กลัวการพ่นยา” ได้ถูกนำมาใช้กับการพ่นยาให้แก่เด็กๆ ทุกครั้ง ช่วยลดปัญหาเด็กดิ้นขัดขืน ลดผลกระทบต่อผู้ปกครองและแพทย์พยาบาลลงอย่างเห็นได้ชัด
กระบวนการทำ R2R จะเริ่มจากคนทำงานนำปัญหามาปรึกษาหน่วย R2R ในโรงพยาบาล หลายคนที่มาปรึกษาล้วนแต่อยากจะหาทางแก้ปัญหาหรือลดทุกข์ที่เกิดกับตนเอง คนอื่น และองค์กร หน้าที่ของคุณมิล์คือ การรับฟังปัญหาและหาแนวทางสนับสนุน สะท้อนปัญหากลับไปให้ผู้มาขอคำปรึกษาทบทวนว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร มองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ต่อไปจะเป็นการทบทวนวรรณกรรม ทำให้เริ่มเห็นแนวทางแก้ไขมากขึ้น สรุปรวมเรียกว่าเป็นกระบวนการ “ตั้งคำถามให้ชัด และทบทวนทางออกเบื้องต้น”
หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณกลุ่มตัวอย่าง วิธีการศึกษา โดยทีมงาน R2R จะสนับสนุนการออกแบบวิธีการศึกษา กระบวนการวิจัย และการทำร่างโครงการ ไปจนถึงการขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเพื่อทำการศึกษาในคน ช่วยดูเรื่องแบบบันทึก การเก็บข้อมูลการวิจัย จนถึงขั้นตอนการลงข้อมูล โดยร่วมทำงานกับผู้ขอคำปรึกษา และเมื่อได้ผลการวิเคราะห์ จะนำมารับฟังร่วมกับการวิเคราะห์ของคณาจารย์ที่ดูแลโครงการ และตีพิมพ์หรือส่งต่องานให้คนอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลายครั้งผู้ปฏิบัติงานมีความเห็นว่า กระบวนการ R2R อาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน เนื่องจากมีบริบทการทำงานที่เร่งรีบ เคร่งเครียด บุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่เผชิญกับแรงกดดันการทำงานในหลายด้านอยู่แล้ว การรับภาระทำงานวิจัยเพิ่มเข้าไปอีกจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะในบางหน่วยงานจะใช้ R2R เป็นเกณฑ์มาตรฐานการทำงาน คนทำงานถูกบีบให้ต้องเขียนบทความ ทำแนวปฏิบัติต่างๆ จน เกิดความท้อแท้ใจ
แต่โมเดลการทำ R2R ของศิริราช พยายามจะใช้การจัดการความรู้เข้ามาช่วย เช่น การสร้างเรื่องเล่าความภาคภูมิใจหรือสำเร็จ (Success story telling) หรือการสร้าง “คุณอำนวย (Facilitator)” ที่คอยดูแลว่าเกิดปัญหาอะไรในการทำงาน และมาช่วยกันแก้ไข เพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย “คุณอำนวย” ในหน่วยบริการมีทั้งที่มาจากการแต่งตั้งของผู้บริหาร หรืออาจจะเป็นไปตามธรรมชาติจากคนที่เห็นปัญหาแล้วเข้ามาช่วย ค่อยๆ พัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นคุณอำนวย ซึ่งรูปแบบหลังจะค่อนข้างยั่งยืนกว่า เพราะเริ่มจากการใช้ใจในการแก้ไขปัญหา
เครือข่าย R2R ประเทศไทยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้บุคลากรหน้างานที่ประสบปัญหาในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย เป็นเครือข่ายที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทำหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงให้กับคุณอำนวยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย มาพบคนทำงานที่อาจไม่มีหน่วย R2R ในองค์กรของตน
ในส่วนของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย คุณมิลล์สะท้อนว่า ยังมีงาน R2R ไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะรวบรวมการทำงานในเรื่องดังกล่าวออกมา โดยการทำ R2R อาจจะช่วยเรื่องการพัฒนาให้เกิดข้อมูลเชิงประจักษ์ และเชื่อว่าการทำ R2R เรื่องการดูแลแบบประคับประคองของ Peaceful Death สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาการประคับประคองในสถานบริการและในชุมชนได้
วันที่ออกอากาศ: 6 มิถุนายน 2564
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ