การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ การรักษาทางกายถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือการดูแลรักษาสุขภาพใจ รวมถึงมุมมอง ทัศนคติของผู้ป่วย ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่านสภาวะที่ยากลำบากไปได้ และจะช่วยเสริมให้การรักษาทางกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Art for Cancer วิสาหกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งโดยคุณออย ไอรีล ไตรสารศรี ผู้เล็งเห็นว่าการดูแลใจของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ จึงค้นหาเครื่องมือหรือตัวกลางที่จะเสริมสร้างการดูแลใจให้แก่ผู้ป่วย พร้อมกับให้คนในสังคมมีส่วนในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นไปด้วย โดยออกแบบ “ชุดศิลปะดูแลใจ” ในลักษณะของกระบวนการศิลปะบำบัดเพื่อเป็นเครื่องมือดูแลใจ ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจที่คุณออยป่วยเป็นมะเร็งมานานกว่า 10 ปี จนรับรู้และเข้าใจความรู้สึก รวมถึงการจัดการกับสภาวะต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกของผู้ป่วยมะเร็ง เธอต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้โดยใช้ศิลปะซึ่งตนเองชื่นชอบและมีศักยภาพ จึงนำมาเป็นตัวกลางขับเคลื่อนกิจกรรม เริ่มจากนำงานศิลปะมาระดมทุนรักษาผู้ป่วย ก่อนเปลี่ยนมาสู่การใช้ศิลปะดูแลใจผู้ป่วยโดยตรง เนื่องจากศิลปะเป็นภาษาสากลที่เชื่อมโยงผู้คนได้ทุกเพศ วัย เชื้อชาติ และศาสนา เป็นเครื่องมือสื่อสารและส่งต่อที่ทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะบำบัดซึ่งเป็นกระบวนการที่พิเศษเพราะเชื่อมโยงกับความรู้สึกภายใน สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนออกมา ผ่านกระบวนการศิลปะที่เป็นอิสระ เปิดกว้าง และไม่มีถูกผิด
คุณออยเองศึกษาศิลปะบำบัดและมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักศิลปะบำบัด นำมาทำกิจกรรมในรูปแบบการสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support) ให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตลอดจนใช้กับผู้ดูแลและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่ก่อนร่วมอาจมีอาการจากสภาวะภายในที่เก็บซ่อนอยู่ แต่ภายหลังจากผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด จะเห็นความผ่อนคลายและการคลี่คลายอารมณ์ความรู้สึก
Art for Cancer เปิดกว้างให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ที่จะแสดงทุกอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาโดยไม่มีการตัดสิน และมีเพื่อนร่วมทางที่โอบอุ้มความรู้สึกกันและกัน
แม้ว่าศิลปะบำบัดไม่ใช่กระบวนการที่เข้าถึงยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ และหลายคนประสงค์ที่จะหาเครื่องมือดูแลใจหรือทำความเข้าใจตนเอง แต่นักศิลปะบำบัดในไทยมีจำนวนน้อย Art for Cancer จึงปิดช่องว่างด้วยการร่วมกับองค์กรและนักศิลปะบำบัด พัฒนาชุดศิลปะดูแลใจด้วยกระบวนการศิลปะบำบัดเป็นเวลา 2 ปี โดยทดลองทำวิจัยกับผู้เล่นที่ป่วยด้วยโรคต่างๆ 2 ครั้ง กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งเรื่องอายุและความมั่นคงของสภาพจิตใจ
ชุดศิลปะดูแลใจมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ศิลปะ (Art Kit) มีคู่มือ (Playbook) มีสีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เล่นได้ด้วยตัวเองและเล่นจบได้ในชุด แบ่งวิธีการเล่นตามอารมณ์สีหรือฤดูกาลชีวิต 4 สี สีละ 3 กิจกรรม รวม 12 กิจกรรม บางกิจกรรมเล่นซ้ำและต่อยอดการเล่นได้ เริ่มต้นด้วยไพ่ abstract 24 ใบที่จะช่วยสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นในวันนั้นออกมา แล้วจึงนำเข้าสู่กิจกรรมต่างๆ ภายในชุด โดยมีคำอธิบายที่เป็นเสมือนนักศิลปะบำบัดคอยเป็นเพื่อนร่วมทางอยู่ด้วย และในหน้าสุดท้ายจะมีพื้นที่ให้จดบันทึกประสบการณ์ต่างๆ พร้อมกับบทส่งท้ายที่ทำให้ย้อนกลับมาตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เล่นไป
นอกจากการออกแบบมาให้เล่นได้ด้วยตัวเองแล้ว Art for Cancer ยังเปิดช่องทางสนับสนุนการเล่นทางออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊กกรุ๊ปและกลุ่มไลน์ เพื่อให้คำปรึกษา แบ่งปัน หรือขอความช่วยเหลือเรื่องการเล่นเบื้องต้น และยังมีการเล่นเป็นกลุ่มผ่านเวิร์กชอปออนไลน์ เป็นความพยายามที่จะทำให้คนในสังคมเห็นว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่โอบอุ้มใจและทำให้คนรู้เท่าทันตนเองได้
ชุดศิลปะดูแลใจเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ รวมถึงผู้ดูแลและผู้อยู่ในภาวะหมดไฟที่ต้องการค้นหาตัวเอง โดยต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางศิลปะมาก่อน เพราะการเห็นหรือมีมุมมองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่รอบตัว แล้วกลับมาคิดใคร่ครวญอย่างมีสติ เชื่อมโยงเข้ากับภาวะอารมณ์ของตนเอง ได้สื่อสารกับตนเองและสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในออกมา ถือว่าเป็นกระบวนการศิลปะบำบัดแล้ว
ส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่อยู่ในช่วงรักษาสุขภาพใจ ควรเล่นภายใต้การดูแลของนักศิลปะบำบัด ทีมงานไม่แนะนำให้ผู้ดูแลนำชุดศิลปะไปเล่นกับผู้ป่วยเอง เพราะเนื้อหาบางเรื่องในชุดศิลปะมีความอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล จึงควรให้ผู้ป่วยเล่นด้วยตัวเองในพื้นที่ปลอดภัย
คุณออยยังแนะนำว่า ผู้ดูแลเองควรดูแลใจตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเองก่อน เพื่อสร้างความพร้อมในการส่งต่อความกรุณาให้กับผู้ป่วย และถ้าผู้ดูแลต้องการทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วย ทาง Art for Cancer มีกิจกรรมอื่นให้ทำร่วมกัน ภายใต้การดูแลของนักศิลปะบำบัด
ผู้ต้องที่การนำศิลปะไปใช้ดูแลใจให้ผู้ป่วย สามารถนำศิลปะที่เป็นทักษะเบื้องต้นไปปรับใช้กับการสะท้อนอารมณ์ได้ แต่ควรทำอย่างต่อเนื่อง และอาจขอคำปรึกษาหรือกิจกรรมร่วมกับนักศิลปะบำบัดวิชาชีพ เพราะกระบวนการเรียนรู้ศิลปะบำบัด ผลลัพธ์ที่ดีมาจากการเปิดใจ มีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และเชื่อมั่นในพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถระบายเรื่องภายในออกมาได้ โดยไม่มีการตัดสินถูกหรือผิด
ปัจจุบันมีช่องทางในการเรียนรู้เรื่องศิลปะบำบัดเป็นจำนวนมาก รวมถึง Art for Cancer ที่จัดเวิร์กชอปออนไลน์ทุกเดือน เพื่อเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้มาเปิดประสบการณ์และกลับมาดูแลตนเอง หากต้องการทำกิจกรรมกับนักศิลปะเป็นการส่วนตัว ทางกลุ่มสามารถติดต่อให้ ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ Art for Cancer by Ireal (https://www.facebook.com/artforcancerbyireal)
วันที่ออกอากาศ: 10 พฤษภาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง