parallax background
 

จ่อขยายหน่วยดูแล “ผู้ป่วยระยะท้าย”
โรงพยาบาลหมื่นแห่ง
เป็นของขวัญปีใหม่

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมขยายระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต หนุนโรงพยาบาลกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง ตั้งหน่วยบริการคุณภาพชีวิตทั้งในโรงพยาบาล และบ้าน ช่วยบรรเทาทุกข์จากการเจ็บป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ หลังนำร่อง โรงพยาบาล ๑๖ แห่งแล้วได้ผลดี หวังเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย

วันที่ ๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๗ ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กทม. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง/ระยะสุดท้าย จากโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลในสังกัดกรมวิชาการ จำนวน ๔๐๐ คน ว่า

ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ ๓ แสนคน แนวโน้มส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับหนึ่ง คือ มะเร็ง ปีละประมาณ ๖ หมื่นคน ซึ่งโรคเรื้อรังดังกล่าวมีระยะการก่อโรคเป็นเวลานาน และในระยะสุดท้ายซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการใดๆ แล้ว อาจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน

สธ. มีนโยบายพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดตั้งหน่วยบริการคุณภาพชีวิตที่โรงพยาบาลและมีทีมไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ให้ผู้ป่วยอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ มีระบบการให้คำปรึกษาและประสานงานส่งต่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณตามหลักศาสนา ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์พัฒนาด้านวิชาการ เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ เริ่มดำเนินการในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ ๑๖ แห่งแล้ว พบว่าได้ผลดีมาก

“ในปี ๒๕๕๘ เป็นต้นไป จะขยายผลดำเนินการในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนไทย แนวทางการดูแลดังกล่าว เป็นการประสานความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยเป็นสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักโภชนากร เภสัชกร จิตอาสา นักบวชในศาสนาต่างๆ และที่สำคัญคือครอบครัวของผู้ป่วย” รมช.สาธารณสุข กล่าว

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นแนวทางการดูแลที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และมีการดูแลแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้าย เกือบทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการดำเนินการดูแลแบบประคับประคอง/ระยะสุดท้าย มาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ แต่ยังไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศ การดูแลจะเน้นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมุ่งเน้นบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน บำบัดตามอาการที่ปรากฏ เช่น การให้ยาบรรเทาอาการปวด รวมทั้งการใช้ศาสตร์แขนงต่างๆ มาร่วมในการให้การดูแล เช่น ความเชื่อทางศาสนา ดนตรีบำบัด การนวดประคบ การทำสมาธิ ฯลฯ เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง

“หากผู้ป่วยต้องการกลับไปใช้ชีวิตระยะสุดท้ายที่บ้าน ครอบครัว/ผู้ดูแลจะได้รับคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านด้วยตนเอง โดยครอบครัว/ผู้ดูแลสามารถโทรมาขอคำปรึกษาได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งมีหน่วยเยี่ยมบ้านไปช่วยดูแล/ช่วยเหลือตามสภาพอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงระยะท้ายของชีวิต” นพ.สุพรรณ กล่าว

ที่มา: โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

[seed_social]
14 มกราคม, 2564

ความงามของการแตกสลาย: มรณานุสติจากมุมมองสุญญตา

เมื่อกล่าวถึงมรณานุสติส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นการระลึกถึงความจริงที่ว่า เราต้องตายอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้และความตายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
19 เมษายน, 2561

ความตายในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ

บทบาทพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบันได้ถูกลดทอนลงอย่างมาก จากอดีตที่วัดและพระต่างสัมพันธ์ และพึ่งพาซึ่งกันกับชุมชนและญาติโยม ทั้งในเรื่องการศึกษา วัฒนธรรมประเพณี หรือแม้แต่การสาธารณสุข
5 เมษายน, 2561

ตามไปดู Siriraj Palliative Care Day 2010

Siriraj Palliative Care Day เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยคณะกรรมการดำเนินงาน Palliative Care คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน World Hospice and Palliative care Day