คุณอ๊อด วรรณวิภา มาลัยนวล ผู้สร้างแพลตฟอร์ม “คุยด้วยไมตรี” ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังให้กับผู้มีความทุกข์ในช่วงโควิด-19 ระบาด เล่าว่า เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ การได้ข่าวแพทย์พยาบาลทำงานหนัก และตนเองมีเวลาว่าง จึงเกิดความคิดจะนำทักษะที่ตนถนัดคือ “การรับฟังด้วยใจ” จากประสบการณ์ทำงานกับผู้ดูแลผู้ป่วยร่วมกับกลุ่ม Peaceful Death โดยใช้เครื่องมือ "ไพ่ฤดูฝน" มาช่วยคลายความเครียดให้กับกลุ่มบุคลากรสุขภาพ
“เราเคยใช้เครื่องมือนี้ช่วยคนดูแลผู้ป่วยให้คลายความเครียด เลยมองว่าน่าจะเอามาใช้กับคุณหมอและพยายาบาลที่ทำงานหนักได้เช่นกัน จึงคิดหาทางเข้าถึงกลุ่มบุคลากรที่มีความเครียด โดยปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับผู้ดูแลกลุ่ม Peaceful Death และทดลองใช้ Zoom กับไลน์ ว่าแบบไหนสะดวก”
เมื่อพบว่าการใช้ไพ่ฤดูฝนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ สะดวกกว่า Zoom คุณอ๊อดจึงเริ่มชักชวนน้องๆ ในทีมกระบวนกรสร้างพื้นที่พูดคุยกับคุณหมอคุณพยาบาลที่ประสบกับภาวะเครียด ให้ชื่อกิจกรรมว่า “คุยด้วยไมตรี” เพื่อล้อไปกับกิจกรรม “เดินด้วยไมตรี” ที่ตนเองเคยทำมาก่อนหน้า
ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นพยาบาลที่มีความเครียดค่อนข้างสูง อีกส่วนหนึ่งคือคุณหมอที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และทันตแพทย์ที่ต้องปิดคลินิก แต่ผลตอบรับของกิจกรรมในช่วงแรกไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง เพราะคุณหมอและพยาบาลไม่ค่อยมีเวลาว่าง คุณอ๊อดจึงขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังบุคลากรส่วนอื่นๆ และประชาชนทั่วไป โดยเปิดบริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ใช้ไพ่ฤดูฝนเป็นเครื่องมือหลัก และใช้ทักษะการรับฟังในบางครั้ง หากผู้ขอความช่วยเหลือไม่สะดวกในการเปิดไพ่
“การรับฟังและการใช้ไพ่ฤดูฝน เราไม่ได้คาดหวังผลในเชิงบำบัด แค่ให้พวกเขามีโอกาสคุยกับใครสักคนที่รับฟัง สะท้อนความคิด ความรู้สึกของเขาให้เห็นชัดขึ้น เพื่อให้พวกเขาค้นพบทางออกของตัวเองได้”
คุณอ๊อดสะท้อนว่า การที่สังคมไทยในปัจจุบันไม่ค่อยรับฟังกัน แต่มีลักษณะพูดฝ่ายเดียวเหมือนการโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง แล้วมาคอมเมนต์ตามเวลาที่ตนเองสะดวก ไม่ได้โต้ตอบหรือสนทนาในลักษณะรับฟังกัน ทำให้เห็นประโยชน์ของการคุยด้วยไมตรีว่า คนที่มาปรึกษารู้สึกว่ามีคนฟังเขาจริงๆ และผู้ฟังมีโอกาสฝึกฟังคนอื่นเพิ่ม จึงได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน
การฟังและคุยด้วยไมตรี แตกต่างจากการพูดคุยกันตามปกติตรงที่การรับฟังจะไม่ตัดสินถูกผิดคู่สนทนา เสนอทางออกหรือบอกสอน เห็นด้วย เข้าข้าง หรือตำหนิ แต่เป็นการฟังเรื่องราว ฟังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เล่าจริงๆ
เทคนิคการฟังด้วยไมตรี คือการวางตัวให้เป็นกลาง โดยพยายามเข้าใจว่าประสบการณ์และบริบทชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทำให้การตีความสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป การได้ฟังเรื่องราวหรือมุมมองหนึ่งๆ ของผู้คนจึงไม่เพียงพอให้ผู้ฟังตัดสินหรือเข้าใจผู้เล่าได้หมด อย่าว่าแต่จะหาทางออกให้คนอื่น ผู้ฟังจึงควรทำหน้าที่รับฟังและสะท้อนสิ่งที่คู่สนทนาแสดงออกมา โดยฝึกฝนการฟังอย่างไม่ตัดสินคนอื่น
“การเริ่มต้นรับฟังผู้อื่น สิ่งหนึ่งที่ต้องฝึกคือเมื่อเราได้ยินบางอย่างจากใครสักคน จงกลับมาได้ยินเสียงของตัวเราเองด้วย ว่ากำลังตีความหรือตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า มันจะสลับไปสลับมาอยู่แล้วตามธรรมชาติของใจเรา สักพักหนึ่งเมื่อเราฟังเขาและกลับมาคิดตัดสินในหัวเรา พยายามกลับมาสู่การฟังโดยไม่ตัดสิน คือฝึกการมีสติรู้เท่าทันความคิดขณะที่เราฟังคนตรงหน้าว่าอะไรคือความคิดของเขา และอะไรคือความคิดปรุงแต่งของเรา”
พี่อ๊อดสรุปว่า เราต้องเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ว่าจะเดินออกจากความทุกข์ได้ ความรู้สึกสั่งสอนคือการมองว่าคนอื่นเอาตัวไม่รอด บางครั้งเราอาจคิดว่าทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้ แต่นั่นอาจจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เขายังดำรงความเป็นมนุษย์ได้ แต่ละคนมีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง แต่เราจะเป็นกระจกสะท้อนให้เขาให้เห็นตัวเอง กรณีที่ชัดที่สุดคือ ความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีต่อลูก หากพ่อแม่เห็นความกลัวของตัวเอง มองเห็นว่าถ้าคนเราไม่มีโอกาสล้ม ก็จะไม่มีโอกาสลุก การเรียนรู้จากการล้มลงและลุกขึ้น พ่อแม่ต้องกล้าหาญพอที่จะปล่อยมือ ให้อิสระและเชื่อมั่นในตัวของลูกที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ การก้าวผ่านสิ่งที่ยากจะทำให้เขาเข้มแข็ง เรียนรู้ และภูมิใจในสิ่งที่ก้าวผ่าน “ยอมรับและเคารพชีวิตเขา แล้วมันจะสะท้อนกลับมาหาเรา คือผู้ฟังด้วยไมตรี การดึงตัวเองออกมาให้เท่ากับคนอื่น ภาษาพระคือ “สมานัตตา” หรือการมองเพื่อนมนุษย์เท่าๆ กัน” เป็นกระบวนการที่ทำให้เขาเห็นทุกข์ของตัวเอง เห็นสาเหตุ และหาทางแก้ปัญหาของตัวเองให้เจอ
ผู้สนใจกิจกรรม "คุยด้วยไมตรี" สามารถเข้าไปนัดวันเวลาคุยกับกระบวนกรได้ที่ไลน์ @mritritalk
วันที่ออกอากาศ: 30 สิงหาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ