เรียบเรียงโดย ถิรนันท์ ถิรสิริสิน
วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2567
เรือนจำกักขังแค่เพียงอิสรภาพ แต่ความเป็นมนุษย์และสิทธิการเข้าถึงการดูแลความป่วยไข้ และสิทธิของการตายดียังคงเป็นของคนในเรือนจำอย่างครบถ้วน
ชวนติดตามสถานการณ์ความเจ็บป่วยของคนในเรือนจำ การดูแลด้านสุขภาวะของผู้ต้องขัง ทั้งด้านจิตใจ การดูแลระยะท้าย และด้านสุขภาวะทางปัญญา ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อการอยู่และตายดีของคนในเรือนจำ ในบันทึกการเสวนาชุมชนกรุณากับกลุ่มคนชายขอบ “ความป่วยไข้และการตายของคนในคุก” วันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 (Facebook Live)
ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่
- ภรทิพย์ มั่นคง อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง
- วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death
- กตัญญู หมื่นคำเรือง นักจัดกระบวนการเรียนรู้ กลุ่ม PLearn De (ดำเนินรายการ)
1. สถานการณ์ความเจ็บป่วยและความตายในเรือนจำ
- ความเจ็บป่วยของนักโทษในเรือนจำเป็นเรื่องปกติ บางคนมีโรคประจำตัวตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ ต้องการการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรค NCDs เรือนจำจะมีระบบการคัดกรอกคนป่วยและดูแลแลอย่างต่อเนื่อง
- ส่วนนักโทษที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย จะมีสถานพยาบาลในเรือนจำประเมินว่าเป็นโรคอะไร ต้องการได้รับการรักษาอย่างไร โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางกาย ที่ไม่ซับซ้อน จะมีการตรวจสุขภาพและดูแลรักษาต่อเนื่อง
- ส่วนความเจ็บป่วยทางจิตใจของนักโทษจะเป็นเรื่องที่ยาก ซับซ้อนมากกว่า มักจะมองไม่ค่อยเห็น อาจถูกละเลย เช่น ความเครียด ซึมเศร้า ความกังวลต่อโลกข้างนอกเรือนจำ ความรู้สึกผิด การโทษตัวเอง ขณะที่บางคนก็รู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกสูญเสียอิสรภาพ
- ในมุมของอดีตนักโทษในเรือนจำ จากประสบการณ์การอยู่ในเรือนจำ พบว่าตัวเองมีสุขภาพดี ได้ออกกำลังกายทุกวัน กินและนอนเป็นเวลา มีการตรวจคัดกรองโรค ส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับตัวปรับใจที่จะอยู่ในเรือนจำได้ ต่างจากการใช้ชีวิตก่อนเข้าเรือนจำไม่เคยตรวจสุขภาพ ใช้ชีวิตไม่ค่อยดี
การดูแลนักโทษที่ป่วยไข้ในในเรือนจำ
- ในเรือนจำมีการตรวจสุขภาพนักโทษ การเฝ้าระวัง การตรวจคัดกรอง และรักษาอย่างเร่งด่วน นักโทษมีสิทธิได้รับการรักษา ถือว่าเป็นการดูแลนักโทษที่ป่วยไข้ได้ดีในระดับหนึ่ง ในขณะที่ผู้ต้องขังบางคนชีวิตก่อนเข้าเรือนจำอาจไม่เคยได้รับการดูแลดีเช่นนี้มาก่อน
- หากมีนักโทษที่เจ็บป่วยในเรือนจำ จะมีขั้นตอนการรักษาพยาบาล ดังนี้
- อาการป่วยเบื้องต้น รับยาภายในเรือนจำ
- อาการป่วยเรื้อรัง กินยาไม่หาย ส่งไปหน่วยพยาบาลในเรือนจำ
- อาการหนักส่งไปยังสถานพยาบาลของราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลนอกเรือนจำตามลำดับ โดยในทุกๆ ครั้งของการส่งผู้ป่วยไปรักษานอกโรงพยาบาล จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดตามไปเฝ้าด้วยทุกครั้ง
- ในเรือนจำจะมีนักโทษที่ช่วยดูแลนักโทษที่เจ็บป่วยหนัก หรือต้องการคนช่วยดูแล เรียกว่า อส. หรืออาสาสมัครช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในเรือนจำ
ความตายในเรือนจำ
- ในเรือนจำ ผู้ต้องขังแทบจะไม่มีการเสียชีวิตจากโทษที่ได้รับ อย่างโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะได้รับการอภัยโทษและโทษจะลดลงเรื่อยๆ การตายของคนในเรือนจำมักเกิดจากโรคความเจ็บป่วย และความแก่ชรา
- ในมุมของราชทัณฑ์ไม่ต้องการให้มีการเสียชีวิตของนักโทษในเรือนจำ เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ความปั่นป่วน ความหวาดกลัวเรื่องผีหรือวิญญาณ ความเชื่อเรื่องเพื่อนจะเอาตัวไปอยู่ด้วย จนนำไปสู่การอุปทานหมู่ในนักโทษ ส่งผลกับความสงบสุขของเรือนจำ ดังนั้น เรือนจำต้องป้องกันให้เกิดการตายของนักโทษให้น้อยที่สุดในเรือนจำ
- หากมีการเสียชีวิตของนักโทษในเรือนจำ ผู้คุมจะรีบจัดการเคลื่อนย้ายนักโทษออกจากเรือนจำ จะควบคุมสถานการณ์โดยการปิดบังเรื่องการเสียชีวิตไว้ ผู้คุมจะกำชับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าอย่าเปิดเผยเรื่องที่เกิดขึ้น และสื่อสารกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ว่าเกิดการเจ็บป่วยกระทันหันและนักโทษคนดังกล่าวเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เพราะหากเกิดการเสียชีวิตในเรือนจำจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักโทษด้วยกันดังที่กล่าวข้างต้น
- นอกจากนั้น ในแง่มุมของสถานที่เสียชีวิตของผู้ต้องขังก็มีความสำคัญ หากเกิดเหตุการเสียชีวิตในที่สาธารณะของเรือนจำ อย่างล็อกเกอร์ โรงอาหาร จะสร้างความหวาดกลัวมากกว่าการเสียชีวิตในเรือนนอนหรือห้องขังซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า
- จากสถานการณ์การตายในเรือนจำ จะเห็นได้ว่าผู้ต้องขังในเรือนจำต้องรับมือกับการตายของเพื่อนในเรือนจำ และรับมือกับการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย
- การตายของผู้ต้องขังในเรือนจำจึงไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ ทำให้เกิดความปั่นป่วน คนที่เจ็บป่วยอยู่แล้วจะป่วยหนักอีก คนที่เป็นจิตเวชอาจจะอาละวาดเพิ่มขึ้น
- หากมีการตายของผู้ต้องขังในเรือนจำ ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางวิญญาณ เพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังด้วย
2. การวางแผนดูแลล่วงหน้าในเรือนจำ
ผู้สูงอายุในเรือนจำ
ในเรือนจำมีผู้ต้องขังเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยหลายสาเหตุ
- รับผิดแทนลูกหลาน เพราะลูกหลานยังสามารถหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้
- ถูกหลอกมา ไม่ได้เต็มใจรับผิด แต่เข้าใจว่าหากเป็นผู้สูงอายุจะได้รับโทษน้อยกว่า
- ชีวิตนอกเรือนจำลำบาก โดดเดี่ยว ไม่มีลูกหลานดูแล ผู้สูงอายุจึงเลือกมาอยู่ในเรือนจำ เพราะสบายกว่าการใช้ชีวิตด้านนอก
- ปัญหาเศรษฐกิจที่บีบคั้น ทำให้ผู้สูงอายุเลือกทำผิดกฎหมาย
ประเด็นผู้สูงอายุกับการมาอยู่ในเรือนจำ สะท้อนสถานการณ์ที่มีผู้สูงอายุเยอะขึ้น แต่สังคมไม่ได้มีมาตรการหรือการเตรียมการเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ทำให้ผู้สูงอายุโดดเดี่ยว ต้องดิ้นรน และหาทางออกเองด้วยการมาอยู่ในเรือนจำ
“เชื่อว่าไม่มีใครอยากอยู่ในคุก เพราะในคุกคือการกำจัดอิสรภาพ แต่ถ้าข้างนอก ที่บ้านของเค้า ครอบครัวของเค้าไม่มีใคร การมาอยู่ในคุกก็อาจจะดีกว่าในมุมของเค้า ถ้าติดคุกมันก็ไม่แย่นะ”
การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าในกลุ่มผู้ต้องขัง
- จากสถานการณ์ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ หากไม่ได้วางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้ามาก่อน เมื่อผู้ต้องขังสูงอายุเจ็บป่วยระยะท้ายมักจะถูกยื้อชีวิตที่โรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลไม่รู้ความต้องการของผู้ป่วย ไม่มีญาติที่ช่วยตัดสินใจ การยื้อชีวิตผู้ต้องขังส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งสูญเสียทรัพยากร การครองเตียง กำลังคนในราชทัณฑ์ และที่สำคัญไม่ตรงกับความต้องการของผู้ต้องขังที่ไม่ต้องการการยื้อชีวิตเช่นกัน
- มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณา และกลุ่ม Peaceful Death จึงร่วมกับเรือนจำกลางขอนแก่น และโรงพยาบาลขอนแก่น นำร่องทำกระบวนการสนับสนุนให้ผู้ต้องขังกลุ่มสูงอายุ และผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางได้มาวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning หรือ ACP) ด้วยการทำสมุดเบาใจ
- การทำ ACP ในผู้ต้องขังเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ต้องขัง เรือนจำ และโรงพยาบาล คือผู้ต้องขังได้เลือกความต้องการดูแลช่วงท้ายของตัวเองในขณะที่ยังตัดสินใจได้ เรือนจำและโรงพยาบาลได้จัดการและดูแลผู้ต้องขังตามความต้องการ ไม่เกิดการรักษาที่ไม่จำเป็น
- เป็นการเพิ่มโอกาสการตายดีของผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะสิทธิการเข้าถึงการการตายดี การตายอย่างสงบเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง
- กระบวนการที่เกิดขึ้นในเรือนจำขอนแก่น ไม่เพียงแต่ให้ผู้ต้องขังได้วางแผนดูแลล่วงหน้าเท่านั้น แต่ยังเกิดการทบทวน ใคร่ครวญ และเข้าใจชีวิตที่ผ่านมา สัมพันธ์กับการเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วย เช่น
- ได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา
- ได้ขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชมตัวเอง
- ได้เยียวยาและปลดล็อกตัวเองจากความรู้สึกผิด สิ่งที่ติดค้าง
- ได้ทบทวนสิ่งสำคัญ คนสำคัญ เป้าหมายในชีวิตต่อไป
- วางแผนชีวิตหลังออกจากเรือนจำ
- การทำงานประเด็นเรื่องการตายในผู้ต้องขัง ยังเพิ่มโอกาสการมีพื้นที่และช่วงเวลาสำหรับผู้ป่วยระยะท้ายในเรือนจำ โดยหากมีผู้ต้องขังอยู่ในช่วงท้ายใกล้เสียชีวิต จะมีโอกาสวิดีโอคุยกับครอบครัว มีการจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ซึ่งจะช่วยลดความวิกฤติของการตายในเรือนจำ ทำให้การตายในเรือนจำไม่น่ากลัว ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ
3. ช่องว่างการดูแลสุขภาวะผู้ต้องขังในเรือนจำ
- การจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมิติสุขภาพในเรือนจำยังไม่ได้สัดส่วน อัตรากำลังส่วนใหญ่เน้นที่การดูแลควบคุม ส่วนการดูแลสุขภาพยังมีน้อย
- โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง และของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
- กระบวนการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังยังขาดมิติด้านสุขภาวะทางปัญญา การทำงานกับโลกภายในของผู้ต้องขังที่นำไปสู่การเข้าใจชีวิต คุณค่าและความหมาย กระบวนการนี้มีความจำเป็นกับการเตรียมพร้อมก่อนออกจากเรือนจำ โดยอาจมีการทำงานร่วมกับผู้ต้องขังในประเด็นเหล่านี้
- ผู้ต้องขังควรเข้าใจว่าตัวเองคือใคร เพราะเหตุอะไรถึงเข้ามาอยู่ในเรือนจำ หากออกจากเรือนผู้ต้องขังจะพบกับอะไรบ้าง เช่น การตัดสิน การตีตรา อคติ การประกอบอาชีพไม่ได้ ผู้ต้องขังจะเตรียมตัวเองให้พร้อมและรับมือกับเหตุการณ์ข้างต้นได้อย่างไร
- การปรับตัวหรือเตรียมความพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกข้างนอก ความทันสมัย และเทคโนโลยี
- เตรียมให้คำปรึกษา หรือการมีที่ปรึกษา ที่ระบายความทุกข์ การใช้ชีวิต การเทรนนิ่งอาชีพให้ผู้ต้องขัง
4. ข้อเสนอการดูแลความป่วยไข้และความตายของคนในเรือนจำ
- สนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้องค์กรหน่วยงานภายนอกที่มีความสนใจ/ความเชี่ยวชาญ มาร่วมสนับสนุนการดูแลสุขภาวะของคนในเรือนจำ
- ผลักดันการดูแลจิตใจ มิติสุขภาวะทางปัญญาในผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ทำให้เรือนจำเป็นพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกัน สัมพันธ์กันในความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกันมากขึ้น
- ตั้งแกนใหม่ในเรือนจำ เรือนจำจำกัดเพียงแค่เสรีภาพ แต่ไม่ได้จำกัดความเป็นมนุษย์ ผู้ต้องขังได้สำรวจและค้นพบโลกภายในของตัวเอง
- สนับสนุนโครงการ/หลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนออกจากเรือนจำ
- ขยายผลการดูแลสุขภาพระยะท้ายในเรือนจำ สนับสนุนการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ