การมีท่าทีและทัศนคติต่อชีวิตและความตายที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความประมาทในความตาย ความเกลียดกลัวความตาย เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความทุกข์ และความเครียดของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ยิ่งคิดถึงความตายยิ่งกลัวตาย จึงพยายามหลีกเลี่ยงละเลยที่จะครุ่นคิดถึง หลีกหนี และไม่สนใจที่จะเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความตายที่ต้องมาถึงอย่างแน่นอน แต่เลือกที่จะไปเผชิญความตายเอาดาบหน้าเมื่อหมดทางเลี่ยงแล้ว ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ตนเองหรือคนใกล้ชิดต้องตายจริงๆ จึงทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีความรู้ และไม่เคยตระเตรียมตัวอะไรไว้เลย
ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นปัญหาร่วมของมนุษยชาติ ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายไม่ดี ผู้ป่วย ญาติ ตลอดจนแพทย์พยาบาลจัดการต่อการตายได้อย่างยากลำบาก คือทัศนคติที่ปฏิเสธความตายมาโดยตลอด เพียงแค่การบอกข่าวร้ายก็สามารถกระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยทรุดหนักลงได้ จนญาติอาจฟ้องร้องโรงพยาบาลเป็นเงินจำนวนมหาศาล เรียกได้ว่าเป็น “อาการเปราะบางต่อความตาย”
ดังนั้น แม้จะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผ่านการอบรมด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะท้ายของชีวิต (พาลลิเอทีฟแคร์) มาเป็นอย่างดี มียาช่วยลดความปวดอย่างเพียงพอ แต่เมื่อมาติดอุปสรรคใหญ่ตรงที่ไม่สามารถพูดเรื่องความตายกับผู้ป่วยและญาติได้ ส่วนใหญ่จึงต้องรักษาแบบ “สู้จนหยดสุดท้าย” ตามแนวทางหลักของการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ เกิดการยืดชีวิตจนเกินความจำเป็น สร้างความทรมานแก่ผู้ป่วยจำนวนมากและญาติอย่างไม่น่าจะเป็น
การรณรงค์เรื่อง “ความตายพูดได้” เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมปฏิเสธความตายด้วยการเริ่มต้นพูดถึงความตาย จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านสุขภาพในหลายประเทศใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว
แต่การพูดถึงระลึกถึงความตายไม่เพียงมีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้คนตายดี ซึ่งอาจเป็นเรื่องอนาคตอันใกล้หรือไกล ไม่มีใครรู้ เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ที่เห็นผลได้ในปัจจุบันทันที คือทำให้ชีวิตปลอดโปร่งโล่เบา เกิดแรงบันดาลที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ประมาท ตลอดจนช่วยทำให้ใจปล่อยวางเมื่อมีความทุกข์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
กลับเข้ามาที่สังคมไทย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้เรื่องการตายดีและการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างจริงจังปรากฏขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย เริ่มจากผู้สนใจและบุคลากรสุขภาพกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะขยายตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ มาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด จากการจัดงาน “Before I die พร้อมก่อนตาย” กลางห้างยักษ์แถวราชประสงค์ ไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม ปีกลาย โดยเครือข่ายพุทธิกา พบว่ามีชาวไทยและเทศมาร่วมงานจนเต็มลานจัดงาน มากมายกว่าที่คาดการณ์กันไว้อย่างนึกไม่ถึง แม้แต่ชาวต่างชาติที่มาร่วมงานยังรู้สึกประหลาดใจและชื่นชมว่า ในประเทศของเขาไม่สามารถพูดเรื่องความตายในสถานที่เปิดเผยเช่นนี้ได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่อง “Before I die พร้อมก่อนตาย” ใน อาทิตย์อัสดง ฉบับที่ ๑๙)
ผลจากการจัดงานดังกล่าว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมไทยปัจจุบัน ความเชื่อว่าการพูดถึงความตายเป็นสิ่งอัปมงคลอาจไม่ใช่เรื่องจริงเสียทีเดียว เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา จัดงานเสวนาหรืออบรมเกี่ยวกับชีวิตและความตาย จะมีคนสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมากทุกครา แสดงว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมจะพูดคุยเรื่องความตายอย่างเปิดเผย แต่การขยายปรากฏการณ์ดังกล่าวให้กว้างขวางออกไป เพื่อให้การพูดคุยเรื่องความตายเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ยังต้องอาศัยความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเครื่องมืออันหลายหลากที่เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตและความสนใจของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม
คำถามดังกล่าว เป็นคำถามร่วมของผู้คนทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องความตาย กองสาราณียกรอาทิตย์อัสดงเห็นความพยายามที่จะคิดค้นเครื่องมือเพื่อเปิดใจและเปิดทางให้ผู้คนได้มาพูดคุยเรื่องดังกล่าวในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายน่าสนใจ ควรที่เราจะนำมาพินิจใคร่ครวญเพื่อเรียนรู้ข้อดี ข้อจำกัดอย่างจริงจัง เพื่อหาทางนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยต่อไป
เกมไพ่ใคร่ครวญความตาย (My gift of grace)
“คนอเมริกันคุยเรื่องความตายน้อยเกินไป นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเราจึงตายไม่ค่อยดีนัก” เจ้าหน้าที่แอคชันมิลกล่าว (action mill – กลุ่มคนทำงานเพื่อการพัฒนาทักษะและการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ประเทศสหรัฐอเมริกา)
“จะมีเครื่องมือใดหนอที่จะช่วยให้คนพูดเรื่องความตายอย่างไม่บังคับยัดเยียดเกินไป ทำอย่างไรให้การเรื่องลึกๆ ในชีวิตได้ถูกพูดถึง” ความคิดนี้นำชาวแอคชันมิลมาสร้างวงสนทนาเรื่องชีวิตและความตายผ่านเกมไพ่ กระบวนการกลุ่มที่ช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างผ่อนคลายสบายอารมณ์
My gift of grace หรือในชื่อภาษาไทยที่กองสาราณียกรเรียกคือ “เกมไพ่ใคร่ครวญความตาย” คือชุดไพ่ที่พวกเขาออกแบบ เพื่อกระตุ้นให้คนได้พูดถึงชีวิตและความตายอย่างผ่อนคลาย ทว่าก็ได้สาระสำคัญสำหรับขบคิดใคร่ครวญ เกมนี้ไปด้วยไพ่คำถาม ๔๗ ใบ ชิปแสดงความขอบคุณ และไพ่อีก ๒-๓ ใบ ที่จะช่วยให้เกมดำเนินไปอย่างมีสีสันและไหลลื่น
กองสาราณียกรได้สั่งซื้อมาลองเล่นดู ก็ได้พบกับความรู้สึกใหม่ๆ ไพ่เหล่านั้นนำให้พวกเราได้สำรวจชีวิตและความตายผ่านประเด็นคำถามต่างๆ ตัวอย่างเช่น “ถ้าเราจะต้องตาย คุณคิดว่าใครจะเป็นผู้จัดงานศพให้กับคุณ” “ถ้าคุณอยู่ในระยะสุดท้าย รักษาไม่หาย คุณจะให้ใครเป็นคณะกรรมการตัดสินชีวิตของคุณ” “คุณใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับอะไร” ฯลฯ
เมื่อหยิบไพ่คำถามมาใบหนึ่ง พวกเราในวงทุกคนจะต้องตอบคำถามเดียวกัน คำตอบจะพาให้เราได้สนทนากันในคำตอบของแต่ละคนที่มีทั้งเหมือน และความต่าง ตลอดจนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำตอบนั้นๆ คนที่พูดก็ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น คนที่ฟังก็ได้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
ทุกครั้งที่คนในวงไพ่รู้สึกขอบคุณใครก็ตาม เขาก็มีโอกาสแสดงความซาบซึ้งผ่านการมอบชิปขอบคุณให้แก่ใครก็ได้ ด้วยเหตุผลใดได้ หรือแม้แต่จะไม่บอกเหตุผลก็ยังได้ เกมนี้เน้นความเปิดกว้างและสมัครใจ เว้นก็แต่กติกาข้อเดียวที่สำคัญที่สุดก็คือ “ทุกคนในวงต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง”
คำถามแต่ละคำถามผ่านการออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่าคำถามง่ายๆ บางคำถาม ทำให้เราได้สำรวจความเชื่อของเราเอง เครือข่ายความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว กระตุ้นให้เราฉุกคิดถึงความหมายและมุมมองใหม่ๆ ต่อความตาย เราได้กลับมาพูดคุยและใคร่ครวญเรื่องลึกๆ ของชีวิตในกิจกรรมที่สนุกๆ ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยามามากนัก วงไพ่ก็สามารถที่จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งจบลงได้เองพร้อมกับความรู้สึกดีๆ หรือแม้แต่ในวงจะเสียน้ำตา แต่มันก็เป็นเรื่องดีได้เหมือนกัน
ไพ่ชุดนี้เพิ่งเริ่มขายในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ในอเมริกา เป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยเปิดพื้นที่สนทนาเรื่องความตายให้กับคนรุ่นใหม่
“เป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงความตาย แต่เมื่อเราพูดถึงมัน เรากลับพบว่ามันช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นในทันที และบางที อาจช่วยเราได้อย่างต่อเนื่องทีเดียว” เจห์เลน (Jehlen) หนึ่งในผู้พัฒนาเกมไพ่ใคร่ครวญความตายกล่าว
มรณสภากาแฟ (Death Café)
ในเมืองไทย เวลาพูดถึงสภากาแฟ เราจะนึกถึงวงสนทนาที่พูดคุยกันได้ทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องครอบครัวคนอื่นไปจนถึงเรื่องการบ้านการเมือง อาจมียกเว้นเรื่องความตายที่ไม่พูดกันเพราะถือเป็นเรื่องอัปมงคล ไม่ต่างจากประเทศอังกฤษที่มีการสำรวจพบว่า ชาวอังกฤษถึงร้อยละ ๗๐ ไม่สะดวกใจพูดเรื่องความตาย และมีเพียง ๑ ใน ๓ พูดเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตที่ตนเองปรารถนากับคนในครอบครัว แต่ที่ประเทศอังกฤษมีคนริเริ่มสภากาแฟรูปแบบใหม่ที่เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมสนทนากันในเรื่องความตาย เรียกว่า “มรณสภากาแฟ” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงอยากจะรู้ว่า แล้วมรณสภากาแฟคืออะไรกันแน่
มรณสภากาแฟ ก็คือสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อกินเค้ก จิบชา แล้วพูดคุยเรื่องความตาย โดยไม่ต้องมีวาระการประชุม หรือประเด็นหลักอะไร แต่เป็นกลุ่มสนทนาเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ต่อความตายด้วยมุมมองที่ช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตอันจำกัดให้มีคุณค่าที่สุด
เพียงแค่ลงทะเบียนยืนยันว่าสมัครใจรับแนวทางและหลักการของกลุ่ม คือไม่แสวงหากำไร ทุกคนเข้าถึงได้ เคารพและเชื่อมั่นในกันและกัน ไม่เจาะจงนำผู้เข้าร่วมไปสู่ข้อสรุป ผลิตภัณฑ์ หรือหลักสูตรใดๆ ตลอดจนมีบริการเครื่องดื่ม อาหาร และเค้กให้ แค่นี้ก็สามารถใช้ชื่อมรณสภากาแฟ ส่งภาพและเหตุการณ์เข้าไปในเว็บไซต์ของกลุ่ม หรือพูดคุยกับสื่อมวลชนในฐานะสมาชิกได้เลย
มรณาสภากาแฟกำเนิดมาจาก จอน อันเดอร์วูด ชาวลอนดอนตะวันออก ตัดสินใจพัฒนาชุดโครงการเกี่ยวกับความตายขึ้นมา และมีอยู่โครงการหนึ่งที่เน้นการพูดคุยเรื่องความตาย กระทั่งจอนได้อ่านงานของเบอร์นาร์ด เครตทาซ ในหนังสือพิมพ์ Independent จึงเกิดแรงบันดาลใจและตัดสินใจนำรูปแบบกิจกรรมของเบอร์นาร์ดมาใช้ในโครงการ กลายเป็นมรณสภากาแฟ โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านของตนเองเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ มี ซู บาร์สกี เรด แม่ของเขาเป็นกระบวนกร ก่อนจะเริ่มจัดไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านกาแฟแบบบ้านๆ บ้านคน สุสาน โรงละครหลวง และผลิตคู่มือการจัดมรณสภากาแฟด้วยตัวเอง ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งทำให้มีผู้เข้ามาร่วมจัดมรณสภากาแฟไปทั่วโลกนับหลายร้อยคน
ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องมรณสภากาแฟได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย มีการจัดสภากาแฟไปแล้วถึง ๕๓๗ ครั้ง โดยกลุ่มผู้สนใจพูดคุยเรื่องความตายซึ่งกระตือรือร้นพอที่จะจัดสภากาแฟด้วยตัวเอง
เพราะมรณสภากาแฟทำงานด้วยระบบอาสาสมัคร ไม่มีพนักงานแต่อย่างใด
โปสการ์ดสื่อสารเรื่องความตาย (Dying Matters postcards)
เกมไพ่ใคร่ครวญความตาย และมรณสภากาแฟ อาจเป็นตัวอย่างรูปธรรมของเครื่องมือเรียนรู้เรื่องความตายเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายคน แต่ โปสการ์ดสื่อสารเรื่องความตาย (Dying Matters postcards) ซึ่งองค์กร Dying Matters Coalition คิดค้น เป็นเครื่องมือรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความตายอย่างง่ายๆ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ใช้ตระหนักและใคร่ครวญเรื่องความตายของตนเองเท่านั้น หากยังขยายขอบเขตการครุ่นคิดไปถึงคนอื่นๆ ชุมชน ตลอดจนสังคมวงกว้างอีกด้วย ซึ่งนับว่าน่าสนใจไม่น้อย แม้บางคำถามออกจะชี้นำมากไปสักหน่อย
โปสการ์ด “สิ่งที่คุณทำได้ ๕ ประการ เพื่อชีวิตและการตายดี (five things)”
ใบแรก คุณอยากให้วาระสุดท้ายของตัวเองเป็นแบบไหน (Write your will)
ใบที่ ๒ คุณอยากให้งานศพของตัวเองเป็นอย่างไร (Record your funeral wishes)
ใบที่ ๓ คุณอยากได้หรือไม่อยากได้การรักษาแบบไหน (plan your future care and support)
ใบที่ ๔ ลงทะเบียนบริจาคอวัยวะเสีย (Register as an organ donor)
ใบที่ ๕ คุณอยากบอกอะไรกับคนที่คุณรักก่อนตาย (Tell your loved ones your wishes)
โปสการ์ด "ทำเล็ก เปลี่ยนใหญ่ (Small Actions, Big Difference)”
เขียนสิ่งเล็กๆ ที่คุณทำได้ ซึ่งจะสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงแก่คนอื่นๆ
ใบแรก เขียนให้ตัวคุณเอง
ใบที่ ๒ เขียนให้คนที่คุณรัก
ใบที่ ๓ เขียนให้ชุมชนของคุณ
ใบที่ ๔ เขียนให้ที่ทำงานของคุณ
ใบที่ ๕ เขียน ๔ ข้อข้างบน แล้วส่งกลับไปที่ผู้จัดงานรณรงค์ เพื่อแบ่งปันข้อความให้คนอื่นทราบ
โปสการ์ดทั้งสองชุด ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องความตาย โดย Dying Matters Coalition ซึ่งก่อตั้งโดยสภาการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมต่อความตาย การตาย และการสูญเสีย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยส่งเสริมให้มีการพูดคุยเรื่องที่เกี่ยวกับความตาย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการตายดีได้
Dying Matter เปิดรับสมาชิกฟรี รายได้มาจากการขายอุปกรณ์การรณรงค์ที่องค์กรผลิต ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นการสนทนาเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตได้ไม่ยาก สามารถนำไปใช้วางแผน เขียนพินัยกรรมชีวิต พูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับความตาย หรือภาพยนตร์ชุดเกี่ยวกับความสำคัญของการพูดคุยเรื่องความปรารถนาในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์รางวัลระดับนานาชาติอย่าง Dying for a laugh หรือ Dying to Know และ I Didn’t Want That และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น
[seed_social]