คุณโอ๋ สุณิตา หอมกลิ่น อดีตพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพุทธชินราชที่ผันตัวไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่ด้วยใจรักในงานด้าน palliative care แม้จะเป็นงานที่หนัก และใช้พลังใจในการทุ่มเทสูง ประกอบกับการชักชวนจากแพทย์คนสนิท จึงไม่ยากนักในการตัดสินใจกลับมาทำงานที่คลินิกเบาใจ
ว่าด้วยเรื่องคลินิกเบาใจ
คลินิกเบาใจคือพื้นที่บริการให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้ามาปรึกษา หรือพูดคุยเกี่ยวกับการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก เปิดดำเนินการเมื่อต้นปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีจุดเริ่มต้นจาก 2 งานที่เชื่อมต่อกัน คือธนาคารเวลา และคลินิกเบาใจ ซึ่งธนาคารเวลาเป็นการทำงานของจิตอาสาที่มีทักษะด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่นทักษะด้านการฟัง หรือการเล่นดนตรี รวมถึงการับบริจาค ส่วนคลินิกเบาใจจะทำงานโดยตรงกับผู้เข้ารับบริการ เพื่อวางแผนสุขภาพล่วงหน้าให้กับผู้ป่วย โดยทั้ง 2 งานถือเป็นจุดเริ่มต้นชุมชนกรุณาของโรงพยาบาลพุทธชินราช
คลินิกเบาใจมีลักษณะการทำงาน 2 แบบคือ เชิงรับ และเชิงรุก การทำงานเชิงรับ จะเป็นการรับเคสโดยตรงจากแพทย์ที่เล็งเห็นว่าคนไข้มีแนวโน้มที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นเวลานาน และควรได้รับการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า รวมไปถึงการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต หรือ Advance Care Planning (ACP) เช่นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง โรคร้ายแรง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้ดูแล เป็นต้น ในส่วนของงานเชิงรุก คือการออกปฏิบัติงานร่วมกับรพ.สต. หรือโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยเข้าไปบรรยายให้ความรู้ในชุมชน ซึ่งทั้งสองรูปแบบการทำงานจะใช้วิธีการพูดคุย ให้คำแนะนำ และให้สมุดเบาใจ เพื่อวางแผนการดูแลรักษาสุขภาพ
สมุดเบาใจ: กระบวนการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมสู่ความตายอย่างสงบ
สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือสำคัญของคลินิกเบาใจที่ใช้ในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง รุนแรง หรือจำเป็นต้องใช้เวลานานในการดูแลรักษา ความสำคัญของสมุดเบาใจเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดความต้องการของคนไข้ในการรักษา หรือแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ และเนื่องจากความต้องการต่างๆของคนไข้ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สมุดเบาใจจึงทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางการสื่อสารระหว่างคนไข้กับคนในครอบครัวได้รับรู้ถึงความต้องการของคนไข้ในช่วงเวลาที่คนไข้ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตลอดจนทางโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก็จะทำการรักษาตามความต้องการของคนไข้ที่ได้บันทึกไว้ ซึ่งทางโรงพยาบาลพุทธชินราชเองได้นำสมุดเบาใจมาใช้ในการดูแลรักษาตามภาวะที่เหมาะสมในช่วงสุดท้ายของชีวิตตามที่คนไข้ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้ กล่าวโดยสรุปสมุดเบาใจเป็นหลักฐานที่ทำให้บุคคลอื่นรับรู้ถึงการตัดสินใจของคนไข้ ซึ่งจะช่วยเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อกำลังเผชิญอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
กระบวนการวางแผนสุขภาพล่วงหน้ากับทางคลินิกเบาใจ มีทั้งกลุ่มผู้เข้ารับบริการที่เข้าใจว่าการวางแผนดังกล่าวคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งอาจเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์จากสถานการณ์ฉุกเฉินมาก่อน ผ่านการตัดสินใจในภาวะเหล่านั้นมาบ้างแล้ว จะทำให้ง่ายต่อกระบวนการวางแผน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการวางแผนมาก่อน หรืออาจไม่สบายใจที่ต้องเข้าสู่กระบวนการวางแผนสุขภาพและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระยะสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องให้เวลากับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ในการผ่อนคลายและพิจารณาด้านต่างๆก่อน และทางบุคลากรของคลินิกเบาใจจะใช้การพูดคุย ตั้งคำถาม รวมถึงยกตัวอย่างๆสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการกลุ่มนี้สามารถใช้เป็นแนวทางประกอบในการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าได้
การยอมรับเรื่องความตาย: เรื่องยากสำหรับคลินิกเบาใจ และการมุ่งเน้นความต้องการของคนไข้เป็นหลัก
การยอมรับว่าตนเองต้องตาย ไม่ใช่เรื่องที่ใครหลายคนจะทำใจได้ เช่นเดียวกันกับการทำงานของคลินิกเบาใจที่มีความยากอยู่ที่ระดับความสามารถในการยอมรับเรื่องความตายและการปล่อยวางทั้งของผู้ป่วยและญาติ เช่นนั้นการบรรลุความสำเร็จของงาน palliative care ไม่ได้มุ่งหมายเพียงการให้คนไข้ยอมรับเรื่องความตาย แต่รวมถึงคนไข้รู้สึกสุขสบายในทางที่ตนเองเลือก เช่นเดียวกันสำหรับทีมผู้ให้การรักษา แม้จะมีธงในการรักษา แต่อย่างไรแล้วการรักษาก็ต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนไข้เป็นหลัก จำเป็นต้องเคารพสิทธิ์ของคนไข้เป็นสำคัญ
ข้อควรคำนึงสำหรับผู้สนใจจัดตั้งคลินิกเบาใจ
คุณโอ๋ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะเปิดคลินิกเบาใจไว้ว่า หนึ่งต้องเรียนรู้ใจของตัวเอง สามารถปล่อยวางได้จริง เมื่อเข้าใจจิตใจตนเอง ก็สามารถเข้าใจจิตใจของคนอื่นได้ และสองคือความมุ่งมั่นที่จะทำงาน palliative care ที่เป็นการทำงานกับจิตใจคนที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด เราสามารถยอมรับข้อจำกัดเหล่านี้ได้ไหม และผลในการทำงานอาจมีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ หากไม่สามารถยอมรับได้ การดำเนินงานอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามหรือสอบถามรายละเอียดได้ทางเพจ คลินิกเบาใจ โรงพยาบาลพุทธชินราช ACP Clinic หรือลิงค์ https://www.facebook.com/AdvanceCarePlanClinic
วันที่ออกอากาศ: 27 กันยายน 2563
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง