parallax background
 

คนกินไฟ

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ชีวิตคือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของจักรวาล ประกอบรูปร่างขึ้นจากธรรมชาติที่มีการถ่ายเทหมุนเวียนกันระหว่างสิ่งมีชีวิตสู่สภาวะแวดล้อมธรรมชาติ และกลับคืนสู่สิ่งมีชีวิตเสมอ

เพราะ ‘พลังงาน’ ไม่เคยอยู่นิ่ง จึงไม่ยอมให้ใครเก็บกักไว้เป็นของตัวเองเพียงผู้เดียว ตลอดเวลาของการดำรงชีวิต มนุษย์เราจึงต้องรับทั้งอากาศ น้ำ และอาหารเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เลย เพราะทั้ง 3 สิ่งนี้ล้วนจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการให้พลังงานแก่ร่างกายที่เรารู้จักกันในนาม ‘เมตาบอลิซึม’

ถาม : เมื่อไหร่ที่พลังงาน ‘นิ่ง’?
ตอบ : เมื่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตหยุดทำงานลงอย่างถาวร หมายถึง ไม่สร้างสิ่งใหม่ ไม่ปรับเปลี่ยนแปรสภาพ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ไร้ซึ่งกระบวนการเมตาบอลิซึม หรือที่เรียกว่า ‘ตาย’

คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบตอธิบายถึง ‘พลังงาน’ ของคนที่กำลังเข้าสู่ภาวะการแตกดับทางกาย เริ่มต้นที่ ธาตุดิน…ร่างกายผ่ายผอม แขนขาอ่อนเปลี้ย ปวดเมื่อยกระดูก ร่างกายอ่อนแรง กล้ามเนื้อไร้กำลัง ความสง่าราศีของชีวิตค่อยๆ เสื่อมลง ลืมตาไม่ขึ้นสายตาพร่ามัว ประสาทรับรู้ทางตาเสื่อมถอยลงไป

ต่อมา…ธาตุน้ำ… ปากคอแห้ง เหงื่อออกมาก ตาแห้ง มีเสลดมาก ผิวหนังแห้ง การขับถ่ายมีปัญหา ถ่ายไม่ออกหรือควบคุมไม่ได้ หูไม่ค่อยได้ยินเพราะประสาทรับรู้ทางหูถดถอยลง
ต่อมา…ธาตุไฟ… ไออุ่นของร่างกายเริ่มจะหมดไป อุณหภูมิในร่างกายจะเย็นลงเรื่อยๆ หรือในบางรายอาจจะร้อนขึ้นก็ได้ ประสาทการรับรู้ทางด้านกลิ่นค่อยๆ ลดลงไป
จบที่…ธาตุลม… หายใจเสียงดัง ติดขัดเหมือนปลาทองหิวอากาศ (Air Hunger) ประสาทการรับรู้ทางด้านการสัมผัสค่อยๆ หมดลง…สุดท้าย…หยุดหายใจ

ธาตุทั้งสี่ล้วนหมุนเวียนเข้าออกแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมข้างนอกเสมอ ทั้งตัวเราและธรรมชาติจึงเชื่อมโยงเคลื่อนไหวถ่ายเทสู่กันไม่สิ้นสุด เนื่องด้วยธาตุสี่เป็นพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง ความสมดุลของธาตุสี่ทั้งภายนอกและภายในจึงต้องคงความสมดุลเสมอ สิ่งที่เป็นผู้สร้าง ‘ท่อ’ ล่องหนเชื่อมเราไว้กับโลกใบนี้ก็คือ ‘ดวงอาทิตย์’ ด้วยการทำให้โลกมีความร้อนและอบอุ่นขับเคลื่อนวัฏจักรของน้ำในทะเล มหาสมุทร และน้ำทุกแห่งระเหย ควบแน่น และกลั่นตัวลงมาเป็นหยาดฝน

แทบไม่อยากเชื่อว่า พลังงานเพียงเศษเสี้ยวของแสงอาทิตย์ถึงกลับปลุกชีวิตทั้งหมดบนโลกด้วย ‘อาหาร’ จนมีคำกล่าวว่า ‘เนื้อทุกชนิด…คือหญ้า’ เพราะทุกชีวิตกินดวงอาทิตย์ ไม่เว้นแม้แต่…มนุษย์

วิธีกินโยงใยซับซ้อนนี้เรียกว่า ‘ห่วงโซ่อาหาร’ หรือ ‘โครงข่ายพลังงาน’ แน่นอนว่าพลังงานที่สิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทรับเข้ามาย่อมมีความต้องการในปริมาณที่แตกต่างกัน หากสิ่งที่เหมือนกันคือ ‘ทุกชีวิต’ พยายามรักษาพลังงานที่รับให้อยู่กับตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุด นานที่สุด หากรักษาไม่ได้จนพลังงานหยุดนิ่ง นั่นหมายถึงรอบชีวิตเป็นอัน ‘สิ้นสุด’

ในขณะที่พืชและต้นไม้ไม่ได้ใช้พลังงานทั้งหมดที่รับมาจากแสงอาทิตย์ เช่น ในการ ‘เปิดครัว’ ปรุงอาหารของพืชและต้นไม้ ใช้พลังงานเพียง 0.1-2% เท่านั้น ยกเว้นพืชอาหารบางชนิดอย่างเช่นอ้อย ใช้ 6-8% โดยพลังงานที่เหลือสะท้อนกลับออกไป โดยเฉพาะแสงสีเขียว ดังนั้นเราจึงเห็นพืชและต้นไม้เป็นสีเขียว หาก ‘มนุษย์’ นอกจากสามารถกินพลังงานจากดวงอาทิตย์ผ่านพืชจน ‘ไฟ’ ในร่างกายเรามีพอเพียงแล้ว กลับมีบางครั้งที่ปริมาณมากเกินความจำเป็น ซ้ำร้ายการดับไฟนี้ดูจะไม่ง่ายเลย ไฟที่ว่านี้คือ ไฟโทสะ…ที่สมัยนี้เรียกว่า ‘หัวร้อน’

ทั้งๆ ที่ไฟชนิดนี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ ส่งผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจ เช่น เมื่อผิวหนังเป็นแผลจะหายช้ากว่าคนอารมณ์เย็น ทำให้ฮอร์โมนความเครียดเร่งหลั่งออกมาวุ่นวายจนส่งผลกระทบให้อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจและความดันโลหิตสูงผิดปกติ ทำให้มีอารมณ์ลบเรื้อรัง แต่ก็เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสามารถควบคุมไฟชนิดนี้ให้ ‘อยู่หมัด’ ขนาดคนปกติทั่วไปยังควบคุมได้ยาก นับประสาอะไรกับผู้ป่วยทั่วไป และ ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง รวมไปถึง ‘ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย’ ที่สามารถมีไฟโทสะแทรกอยู่เป็นระยะๆ “ฉันรัก ‘คุณ’ ด้วยความรักของพระเจ้า” คือคำกล่าวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยกล้าตั้งคำถามกับตัวเองเมื่ออายุเพียง 17 ปีว่า

“ฉันเกิดมาเพื่อที่จะทำอะไรให้โลกนี้?”

ผู้หญิงที่เกิดมาในยุคที่ ‘ลูกผู้หญิง’ ในสังคมชั้นสูง มีฐานะร่ำรวย จะต้องอยู่กับบ้าน ฝึกหัดการทำงานเยี่ยงกุลสตรี หากเธอได้รับโอกาสรับการศึกษาที่เป็นมาตรฐานสมัยนั้น ได้แก่ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา จริยธรรม ไวยากรณ์ นโยบายการเมือง ภาษาละติน กรีก ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาเลียน แต่เมื่อเธอกลับมาพิจารณาอาหารบนโต๊ะของคนชั้นสูงที่มีมากมาย สตรีชั้นสูงต่างสวมเสื้อผ้าราคาแพงที่ตัดเย็บอย่างประณีตโดยฝีมือผู้คนที่ขาดโอกาสทางสังคมและยากไร้ นั่งเย็บอยู่ทั้งวันทั้งคืนใต้แสงเทียน ล้วนสร้างความทุกข์ทรมานใจให้เธออย่างแสนสาหัส จนครั้งหนึ่ง เธอตัดสินใจอ้อนวอนพระเจ้าให้มอบ ‘ความตาย’ แก่เธอ หากแม้นว่าชีวิตของเธอจะต้องดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปอย่างไร้ค่า ไร้ประโยชน์

ผู้หญิงที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่หน้าประวัติศาสตร์โลกจนได้รับการกล่าวขานว่า… อังกฤษเสียแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ไปคนหนึ่ง เหตุเพราะ… ‘เธอ’ …ได้ถือกำเนิดมาเป็นผู้หญิง นามว่า…ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

งานดูแลผู้ป่วยตามมุมมองของเธอนั้น คือ ‘ปฏิบัติการทางจิตวิญญาณ’ ที่ไม่สามารถทำไปเพียงแค่มีความรู้และทักษะ หรือเป็นเพียงวิชาชีพและความรับผิดชอบเท่านั้น แต่ผู้ดูแลต้องประกอบกิจด้วยเมตตาจิต ความกรุณาเอื้ออาทร จนความรักนั้นสามารถดำรงไว้แม้กระทั่งในยามที่ผู้ป่วย ‘ไม่น่ารัก’ เธอให้ข้อคิดเกี่ยวกับงานการพยาบาลในมุมมองที่น่าสนใจว่า

“…ท้ายที่สุดนี้ คือการตั้งอยู่ในความรักของพระเจ้าในยามที่ต้องดูแลปรนนิบัติต่อผู้ที่เจ็บป่วยทางกายให้ดีขึ้น ต้องใช้ความรักมากขึ้นไปอีกในการปรนนิบัติดูแลอย่างเหมาะสม และในกรณีที่ต้องดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางใจและเหนื่อยหน่ายท้อแท้ แต่ต้องยังคงความรักของพระเจ้ามากยิ่งขึ้นต่อกรณีต่อไปนี้ กล่าวคือ การทำดีต่อผู้ซึ่งทำไม่ดีต่อเรา การปรนนิบัติรับใช้ด้วยความรักต่อผู้ที่ไม่ยอมรับการบริการของเราด้วยอารมณ์ที่ดี การให้อภัยต่อเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องที่คาดไม่ถึง หรือเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดร้ายแรง…เราต้องพยายามที่จะปรนนิบัติรับใช้ด้วยความอดทนและด้วยความรักต่อบรรดาผู้ที่มุ่งร้าย ดูแลปรนนิบัติด้วยสุดใจของเราต่อผู้ป่วยที่เจ้าอารมณ์ และไม่เห็นค่าของเรา…”

ไม่น่าแปลกใจที่ภายใต้การดูแลของเธอ ผู้ป่วยจะได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ประกอบด้วย ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เพียงแค่เธอปรากฏกายก็สามารถทำให้ผู้ป่วยสงบลง และพร้อมเผชิญกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความโหดร้ายของสงครามที่ไม่ได้มีเพียงบาดแผล เลือด ไข้ กระสุน โรคระบาด สภาพอากาศร้อนระอุ ความหนาวเหน็บ ความป่าเถื่อนนานัปการเท่านั้น เธอต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงด้วยการกล่าวร้าย ความอิจฉาริษยา จิตใจอันคับแคบของผู้คน แต่เธอกลับไม่ยอมจำนนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจนยอมละทิ้งภาระงานที่ใหญ่หลวงนั้น ดังที่เธอกล่าวว่า ‘มีโอกาสน้อยมากที่จะทำสิ่งใดสำเร็จ หากอยู่ภายใต้ความกลัว’ - How very little can be done under the spirit of fear. เมื่อบรรดาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามกำลังได้รับการผ่าตัด เธอจะเยี่ยมไข้ ทำการพยาบาลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสให้แก่ทุกคน หากช่วงกลางวันเธอติดภารกิจ เธอจะใช้ช่วงเวลากลางคืน ถือตะเกียงแบบตุรกีออกเดินเยี่ยมเยียนทหารบาดเจ็บที่นอนเรียงรายกันอยู่ในห้องโถงยาวถึง 4 ไมล์! แทบทุกคืน

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จึงเป็นที่รู้จักในฐานะ “สตรีแห่งดวงประทีป” และ “แสงสว่างแห่งสงครามไครเมีย” ในที่สุด

เชื่อเหลือเกินว่าตลอดชีวิตของผู้หญิงคนนี้ เธอได้ใช้ ‘ธาตุสี่’ ในการแสวงหา ‘ความหมาย’ เพื่อค้นพบ ‘ความจริงแท้’ ของชีวิตจนสามารถเชื่อมต่อระหว่างพลังธรรมชาติกับจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยการต่อยอดองค์ความรู้ทางการพยาบาลของโลกในลักษณะทฤษฎีเชิงนิเวศนิยม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ธรรมชาติ’ ว่าเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเยียวยา รักษา รวมทั้งฟื้นคืนพลังให้แก่ผู้ป่วยที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้ ส่วนการพยาบาลเป็นเพียงการช่วยให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด เช่น สะอาด เงียบสงบ มีอากาศถ่ายเท แสงสว่างเพียงพอ นับว่าทฤษฎีนี้เป็นการพยาบาลที่สอดคล้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองอย่างยิ่ง

ก่อนที่ธาตุทั้งสี่จะแยกสลายออกจากกัน ด้วยพลังภายในที่แข็งแกร่ง เปี่ยมล้นด้วยความรักที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ เธอจึงได้รับ ‘อิสรภาพทางจิตวิญญาณ’ เพื่อเป็นของขวัญในการเดินทาง… ‘กลับบ้าน’ อันเป็นนิรันดร์

สำหรับบางคน ‘ไฟ’ คือความร้อนที่เผาผลาญทุกสรรพสิ่งให้มอดไหม้ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าของผู้ถูก ‘จองจำ’
สำหรับบางคน ‘ไฟ’ คือแสงสว่างแห่งปัญญาที่นำพาตนเอง และชีวิตที่เกี่ยวเนื่อง เดินทางสู่ ‘อิสรภาพ’
หากรู้แล้วว่า ‘ธาตุไฟ’ มีคุณค่าเพียงใดก็ควรประหยัดไว้ ไม่สมควรใช้เกินความจำเป็น มิเช่นนั้นอาจไม่มีพลังงานสำรองพอใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงชีวิตระยะสุดท้าย
เพราะทั้งชีวิต เราอาจเป็น ‘คนกินไฟ’ เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้…จนได้

***********************************************************************************
ข้อมูลอ้างอิง:
1. หนังสือ ธาตุสี่ในทุกสิ่ง ไฟ: จากดวงอาทิตย์ถึงพลังงานหมุนโลก, คุณนิรมล มูนจินดา: มูลนิธิโลกสีเขียว
2. หนังสือ จิตวิญญาณของผู้นำทางการพยาบาล ฟรอเรนซ์ ไนติงเกล, คุณพัชนี สมกำลัง: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร ‘เผชิญความตายอย่างสงบ ขั้นพื้นฐาน’ ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2559 ณ สวนธรรมศรีปทุม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี จัดโดยเสมสิกขาลัย และเครือข่ายพุทธิกา
4. ภาพประกอบ: www.unsplash.com

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ความตายพูดได้

สังคมที่ใส่ใจโลกสีเขียว การให้บริการลูกค้าทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ได้พยายามขายแนวคิดแบบกรีนมากขึ้น และเป็นจุดขายของงานบริการต่างๆ แม้กระทั่ง “งานบริการทำศพแบบกรีน” ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสังคมตะวันตก
13 เมษายน, 2561

10 ปี คิลานธรรม

การศึกษาและปฏิบัติขัดเกลาตัวเองตามหลักพุทธธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็นอิสระ รวมถึงเป็นแบบอย่างและช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นแนวทางการใช้ชีวิตตามอุดมคติของพระสงฆ์มาแต่พุทธกาล