parallax background
 

ก้าวต่อไปของกฎกระทรวง
เรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ

ผู้เขียน: ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

จากกรณีความเคลื่อนไหวในการผลักดันกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ที่เรียกว่า “หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา” หรือ living will นั้น

หลังจากร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคมที่ผ่านมา และได้เตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายนเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ คาดว่าจะออกประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ภายในต้นปี ๒๕๕๓ เป็นอย่างเร็ว

โดยในการดำเนินงานก่อนหน้า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ใน ๔ ภูมิภาค คือ ภาคใต้ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สงขลา - ภาคเหนือ ณ โรงพยาบาลมหาราชฯ เชียงใหม่ - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น - ภาคกลาง กรุงเทพฯ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายแพทย์ พยาบาล คนทำงานในห้องไอซียู ห้องฉุกเฉิน ฯลฯ มีผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์เวทีละประมาณ ๑๐๐ คน โดยมีแกนนำชาวบ้าน ญาติผู้ป่วยที่สนใจเข้าร่วมด้วย พร้อมกันนั้น สช.ยังได้ดำเนินการรับฟังความเห็นทางจดหมายไปทางมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๗๐๐ กว่าแห่ง

ผลการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นโดยสรุป ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นชอบโดยหลักการในร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เพราะเห็นว่าจะทำให้แพทย์ พยาบาลเกิดความสบายใจและมั่นใจในการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยอาจเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้าไปในกฎกระทรวงให้ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายยังให้ความคุ้มครองแพทย์ พยาบาลไว้ด้วย

สช. ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประสานงานกับโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะมีผลใช้บังคับในเร็วๆ นี้ เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลสงฆ์ ฯลฯ โดยจะเผยแพร่ความรู้ จัดอบรมทำความเข้าใจกับแพทย์ พยาบาล ในเรื่องมาตรา 12 และกฎกระทรวง รวมทั้งพัฒนาคู่มือหรือแนวปฏิบัติสำหรับแพทย์ พยาบาลในเรื่องนี้

ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น แพทย์ พยาบาลจะเป็นสื่อกลางการให้ความรู้กับผู้ป่วยรวมถึงญาติที่มารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน จะรับทราบข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ เพื่อทำความเข้าใจว่าการทำหนังสือปฏิเสธการรักษาเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่ง หากการรักษานั้นเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นหรือมีผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์มิได้ทอดทิ้งผู้ป่วย ยังให้การดูแลรักษาตามอาการ อนึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดสัมมนาให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. แกนนำชาวบ้านที่ทำงานเรื่องผู้สูงอายุประมาณ ๒๐๐ คน เพื่อเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นอีกทางหนึ่งด้วย

Living will สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ในการดูแลผู้ตาย ควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ตลอดหลายปีที่ผมทำงานกับศพในสหรัฐอเมริกา เท่าที่ผมรู้ ไม่มีใครพาลูกๆ ไปซ่อนตอนที่ผมเดินผ่าน แต่ความกลัวต่อนักจัดการศพไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลเท่านั้น
25 เมษายน, 2561

คัลลานิช นิเวศบำบัดเพื่อการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง

ประเทศแคนาดาได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) และมีฮอสพิซ (Hospice) ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างเป็นระบบ ทว่ายังมีความพยายามค้นหาวิธีการดูแลเยียวยาผู้ป่วยถึงด้านในของจิตใจ
2 พฤศจิกายน, 2560

มากกว่าเบี้ยผู้สูงอายุ อะไรคือความปรารถนาของผู้สูงวัย

คุณป้าวัยหลังเกษียณนั่งรถเข็นในสถานดูแลคนชรา เคลื่อนไหวได้ช้าและอ่อนแรงจนต้องรับการป้อนข้าวป้อนน้ำ คุณป้ารู้สึกเหงาเพราะนานๆ ครอบครัวจึงมาเยี่ยมสักครั้งหนึ่ง