parallax background
 

กาลครั้งหนึ่ง…นานแสนนาน

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “คนทุกคนมีการเริ่มต้นและเติบโต...เมื่อเติบโตขึ้น ก็จะพบว่าทุกคนล้วนมีหนทางของตัวเองที่แตกต่างกันไป แต่เราจะพบกับหนทางของเรา...หรือไม่?”

หลายคนยอมรับว่าเมื่อเติบโตขึ้น เรามักจะกลายเป็นคนอีกคนที่ไม่เคยจินตนาการไว้เสมอ ผิดกับเด็กชายตัวน้อยที่กล่าวกับมารดาด้วยความมุ่งมั่นว่า

“ลูกจะต้องมีชื่อเสียงให้ได้”

ไม่ว่าตอนนั้นเด็กน้อยผู้นี้จะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ชื่อเสียง’ อย่างไร แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผัน ชื่อเสียงของเขากลับไม่ได้หมายถึงอำนาจ อิทธิพล หรือความมั่งคั่ง หากหมายถึงสิ่งซึ่งจะ ‘ให้ความหมาย’ ต่อชีวิต ไม่ใช่แก่เขาเพียงผู้เดียว หากเป็นการมอบของขวัญอันล้ำค่าให้แก่เด็กทั่วโลกนับล้านอย่างไร้พรมแดน…เด็กน้อยคนนี้มีนามว่า

แฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน…ราชาแห่งโลกนิทาน

เทพนิยายเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในยุคโรแมนติกของยุโรป อีกทั้งเป็นวรรณกรรมยอดนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมันและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย แม้ว่าแอนเดอร์เซนไม่ใช่บุคคลแรกที่แต่งเทพนิยาย แต่เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องนี้

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะทุกเรื่องที่เขาแต่งนั้นมีพื้นฐานหนักแน่นและทรงพลังอย่างยิ่ง ด้วยแต่งบนพื้นฐานความจริงในชีวิต โดยเฉพาะชีวิตของเขาเอง…ที่แทบจะไม่เคยพบความสุขเลย

ขณะที่นักเขียนชาวเดนมาร์กในยุคโรแมนติกส่วนมากมาจากครอบครัวนักบวชที่มีฐานะสุขสบาย แม้กระทั่ง ‘พี่น้องตระกูลกริมม์’ ชาวเยอรมันผู้รวบรวมเทพนิยายและนิทานพื้นบ้านจากที่ต่างๆ ซึ่งครั้งที่แอนเดอร์เซนเดินทางไปเบอร์ลิน ได้มีโอกาสพบกับพี่น้องทั้งสองคนและได้เป็นเพื่อนกันในเวลาต่อมา พี่น้องคู่นี้ล้วนได้รับการศึกษาชั้นสูงด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และต่อมาได้เรียนวิชากฏหมาย ผิดกับแอนเดอร์เซนที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ ในเมืองอูเดนส์ ประเทศเดนมาร์ก หากความทรงจำในวัยเยาว์ที่มีความสุขคือการเป็นผู้เดินบัตรนำผู้ชมไปยังที่นั่งในโรงละครเมืองอูเดนส์ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมคณะละคร เมื่อไปถึงกรุงโคเปนเฮเกน เขามีอายุเพียง 14 ปี แอนเดอร์เซนวนเวียนอยู่ตามโรงละครหลายแห่ง ด้วยเพราะรูปร่างหน้าตาที่ไม่สะดุดตา หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ขี้เหร่’ จึงมีผู้แนะนำให้เขาเดินทางกลับบ้านครั้งแล้วครั้งล่า แต่เด็กหนุ่มยืนกรานไม่ยอมกลับ เพราะมีความฝันอย่างแรงกล้าที่จะโลดแล่นในวงการละคร ผนวกกับคำสอนของบิดาที่คอยย้ำเตือนสติลูกชายอยู่เสมอว่า

“พระเยซูเป็นคนอย่างเรา แต่พระองค์มิใช่คนธรรมดา” และ “ปีศาจชั่วร้ายไม่มีอยู่ที่ไหนหรอก หากอยู่ในหัวใจของเราเอง”

ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าแอนเดอร์เซนจะล้มเหลวสักกี่ครั้ง เขาก็ไม่เคยอ่อนข้อให้โชคชะตาแม้แต่ก้าวเดียว ความหวังสุดท้ายของเขาคือการแต่งบทละคร แต่งานเขียนถูกปฏิเสธพร้อมกับคำวิจารณ์ว่า “ไม่ประสงค์จะรับผลงานทำนองนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งเรียนไม่จบแม้เพียงชั้นประถมศึกษา!”

ความทุกข์ทรมานใจลำดับต่อมาคือ การที่ต้องเข้าเรียนในชั้นเกือบล่างสุดเมื่ออายุ 17 ปี และนั่งเรียนรวมกับเด็กผู้ชายอายุ 12-13 ปี เป็นเรื่องที่ต้องอดทนมาก โดยเฉพาะเมื่อครูใหญ่ไม่เข้าใจว่าเด็กหนุ่มในความดูแลของตนเป็นคนที่มีภาวะ ‘อ่อนไหวและหดหู่’ มากเพียงใด ซ้ำร้ายเขายังขาดความรักในวิชาที่ครูใหญ่โปรดปราน ก็คือภาษากรีกและละติน ซึ่งถือเป็นภาษาสำคัญที่นักประพันธ์ต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงกระนั้นเขาก็พยายามเล่าเรียนจนจบ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 ขณะอายุได้ 23 ปี

หลังจากเรียนจบ เขาเริ่มลงมือเขียนงานและออกหนังสือ ซึ่งเล่มแรกถูกวิจารณ์เละเทะไม่เป็นท่า ว่า ‘ห่วยแตก’ และราวกับชีวิตยังเศร้าไม่พอ นอกจากเรื่องงานจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว แอนเดอร์เซนยังอาภัพในเรื่องความรักอีกด้วย เขาได้พบกับ รีบอร์ค โฟคท์ สาวงามชาวชนบทผู้มีนัยน์ตาสีน้ำตาล แอนเดอร์เซนหลงรักเธอ เขากล้าที่จะบอกรักและขอเธอแต่งงานทั้งๆ ที่เธอมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แน่นอนว่าหญิงสาวปฏิเสธความรักครั้งนี้ แม้ว่าต่อมาเขาจะชื่นชอบหญิงสาวคนอื่นๆ แต่มีผู้พบจดหมายของรีบอร์คในถุงหนังแขวนอยู่ที่คอของแอนเดอร์เซนเมื่อเขาสิ้นชีวิต แต่เพราะเขาได้สั่งไว้ จดหมายจึงถูกเผาโดยไม่มีการเปิดอ่าน

บางที…ภาพในความทรงจำอาจบันทึกความรู้สึกได้ดีกว่าภาพถ่าย…ก็เป็นได้

ก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยอาจมีความปรารถนาที่ต้องทำให้บรรลุก่อนตาย เช่น พบคนที่ไม่ได้เจอกันมานาน หากสำหรับแอนเดอร์เซนแล้ว ความปรารถนาสุดท้ายคือการได้อยู่กับความทรงจำที่แม้จะเจ็บปวด แต่ก็มีความสุขที่จะอยู่ในความฝันที่ช่วยเต็มเติมชีวิตให้สมบูรณ์ในวาระสุดท้าย อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ใกล้ตายจากไปอย่างสงบได้

เมื่อ ‘รอยยิ้ม’ ของผู้คนทั่วโลก แลกมาด้วย ‘ความเศร้า’ ของคนผู้หนึ่ง

ว่ากันว่า ความโศกเศร้าในความรักนี้เอง ที่ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานนิทานสำหรับเด็กออกมามากมาย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จุดเด่นในงานของเขาคือ จินตนาการเพ้อฝันและภาษาที่เรียบง่าย รูปแบบการเขียนเทพนิยาย อ่านผิวเผินอาจรู้สึกว่าตรงไปตรงมาและเรียบง่าย แต่ความจริงแล้ว ซับซ้อนมาก แอนเดอร์เซนเคยเขียนไว้ในเรื่อง ‘ความสุขของคนเชิดหุ่นกระบอก’ ว่า

“โลกทั้งโลกคือลำดับความมหัศจรรย์ที่สืบเนื่องกัน แต่เราคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้น กระทั่งมองมันว่าเป็นเรื่องราวประจำวัน”

แอนเดอร์เซนเขียนนิทานทั้งสิ้น 212 เรื่อง ได้รับการแปลภาษาต่างๆ 145 ภาษา ผู้ที่นำนิทานของแอนเดอร์เซนมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยคนแรกคือ นาคะประทีป ซึ่งได้แปลเก็บไว้โดยไม่ได้พิมพ์เผยแพร่เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2482-2486) แต่ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2515 ภายหลังจากผู้แปลได้ล่วงลับไปแล้ว

แอนเดอร์เซนเริ่มเขียนนิทานโดยนำเรื่องที่เคยได้ฟังมาตั้งแต่เด็กมาเล่าด้วยภาษาเขียน แต่มีเพียงนิทาน 9 เรื่องเท่านั้นที่มาจากนิทานพื้นบ้านของเดนมาร์ก และมีอีก 3 เรื่องที่มาจากวรรณกรรมเก่าแก่อื่นๆ นอกนั้นเป็นเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ด้วยความที่รักชีวิตอย่างเข้มข้นลึกซึ้ง โดยมีความทุกข์เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมเข้ามาสอดประสานปนเปอย่างเป็นธรรมชาติ เขาจึงมักประพันธ์เทพนิยายให้มี ‘ความตาย’ เป็นองค์ประกอบในแต่ละเรื่องอยู่เนืองๆ การครุ่นคิดคำนึงถึงความตายนี้เป็นเรื่องที่เขามองว่าเป็นปกติของทุกชีวิต และเห็นว่าเป็นแก่นของทุกศาสนา

และอาจเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนนิทาน แต่ยังเป็น ‘นักเล่านิทาน’ การได้มีโอกาสไปเล่านิทานในครอบครัวที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาร่วมฟัง รวมทั้งมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศถึง 29 ครั้ง หลายครั้งเขานำ ‘วัตถุดิบ’ ที่ได้ระหว่างการเดินทางมาเรียงร้อยในงานวรรณกรรม ครั้งหนึ่งเขาเคยเขียนจดหมายถึงทางบ้านว่า

“เยอรมันและประเทศทางเหนือนั้นดีสำหรับหัวใจ ฝรั่งเศสดีสำหรับภูมิปัญญา ส่วนอิตาลีดีสำหรับจินตนาการ และที่นั่น จิตรกรรมก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง…”

ทั้งหมดนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนนิทานที่ฟังได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นนับจากปี 2386 เขาจึงเลิกใช้คำว่านิทานสำหรับเด็ก และเปลี่ยนมาเรียกผลงานชนิดนี้ของเขาว่า Eventyr og Historier ในภาษาเดนมาร์กแปลว่า ‘เรื่องจริงอิงนิทาน’

นิทาน คือ ยาสามัญประจำใจที่ไม่ใช่เฉพาะกับเด็ก แต่กับทุกคนที่ต้องการเยียวยาจิตใจ

เมื่อครั้งมีโอกาสเล่านิทานให้กับผู้ป่วยเด็กฟัง จำได้ว่าเป็นเด็กผู้หญิงวัยประมาณ 7-8 ขวบ เข้ารับการรักษาดวงตาเนื่องจากขณะที่นอนอ่านหนังสือนิทานเวลาอยู่บ้าน เธอเกิดเห็นตัวหนังสือพร่ามัว ตอนแรกเด็กน้อยไม่ได้บอกผู้ปกครองเพราะนึกว่าหากล้างตาด้วยน้ำสะอาดสองสามครั้ง อาการดังกล่าวน่าจะหายไป แต่นับวันอาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิมจนตอนเช้าของวันหนึ่ง เธอถูกปลุกให้ไปโรงเรียนเพราะว่าสายมากแล้ว แต่เธอกลับตอบว่า ‘นี่ยังมืดอยู่เลย’ ตอนนั้นดวงตาเธอบอดสนิท!

เมื่อเธอได้รับการวินิจฉัยว่าให้รักษาโดยการ ‘ผ่าตัด’ เพื่อลอกเอาก้อนเนื้อที่ขึ้นตรงบริเวณประสาทตาออก เธอจึงได้แต่ร้องไห้และไม่ยินยอมเข้าห้องผ่าตัด จนกระทั่งพี่สาวได้มาแจ้ง ‘อาสาศิลปะเด็ก’ ขอให้ไปช่วยปลอบให้น้องหยุดร้องและยินยอมเข้าห้องผ่าตัด แน่นอนว่าการจะอธิบายเรื่องความจำเป็นในการรักษาให้เด็กเข้าใจ เป็นเรื่องที่ยาก หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ครั้งนั้นจึงเลือกใช้วิธี ‘เล่านิทาน’ ให้ฟัง ระหว่างที่เล่านิทานหลายเรื่อง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น้องขอให้เล่าซ้ำไปซ้ำมาอยู่ 2-3 ครั้ง นั่นคือ เงือกน้อย … แม้การก้าวเดินไปบนพื้นดินจะทุกข์ทรมานราวกับย่ำไปบนใบมีดคมกริบ…คือข้อความตอนหนึ่งในนิทานเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อเล่าจบ เธอเข้ามากระซิบค่อยๆ ว่า

“หนูอยากลองผ่าตัดดูค่ะ เจ้าหญิงเงือกน้อยไม่เห็นต้องใช้ยาชาเลย หนูอยากกล้าหาญแบบเจ้าหญิงเงือกน้อยค่ะ”

ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เธอยังขอสัญญาว่าเมื่อออกจากห้องผ่าตัดแล้ว จะขอฟังนิทานเรื่องเงือกน้อยอีก และดอกกุหลาบที่มีความสุขที่สุด, ดอกไม้ของหนูน้อยไอด้า, ลูกเป็ดขี้เหร่, นกน้อยไนติงเกล ฯลฯ แทบทุกเรื่องล้วนเป็นนิทานที่ประพันธ์โดยแอนเดอร์เซนที่โด่งดังข้ามกาลเวลาและได้รับความนิยมมานานนับศตวรรษ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยเด็กหลายคนเวลาที่ฟังนิทาน น้องๆ จะเพลินจนลืมเจ็บ บางครั้งลืมว่าตนมารอคิวพบคุณหมอด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่บนแขนมีเข็มให้น้ำเกลือปักคาไว้!

นิทาน…เปลี่ยนกาลครั้งหนึ่งที่นานแสนนานด้วยความทุกข์ทรมาน…

เป็น ‘กาลครั้งหนึ่ง...เมื่อนานมาแล้ว’ ด้วยความหวัง…ความสุข

เฮช. ซี. อือร์สเต็ด (Hans Christian Ørsted) ผู้ค้นพบวิชาแม่เหล็กไฟฟ้า เคยพูดกับแอนเดอร์เซนว่า

“ถ้านวนิยายทำให้คุณมีชื่อเสียง เทพนิยายจะทำให้คุณเป็นผู้มีชีวิตตลอดกาล”

กาลเวลาได้พิสูจน์ว่าเขาคาดการณ์ได้ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เจลลา เลปแมน นักข่าวสาวเยอรมันผู้เคยลี้ภัยนาซีไปอยู่ที่กรุงลอนดอน เล็งเห็นว่าการที่จะธำรงเสรีภาพและเยียวยาผลของสงครามได้ ต้องเริ่มจาก ‘เด็ก’ และเครื่องมือสำคัญในการเยียวยาเด็กก็คือ ‘หนังสือ’

ในเดือนพฤศจิกายน 2494 เธอได้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เรื่อง ‘ความเข้าใจอันเป็นสากลผ่านวรรณกรรมเด็ก’ มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 250 คน จาก 26 ประเทศ มีทั้งนักเขียน นักวาดภาพประกอบ สำนักพิมพ์ บรรณารักษ์ ครู และสมาชิกองค์กรเยาวชนหลายแห่ง ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการนานาชาติหนังสือเพื่อเด็ก (ไอบีบีวาย) มีสถานภาพเป็นทางการอยู่ในองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)

ไอบีบีวายได้กระตุ้นให้เกิดการสร้างหนังสือเด็กที่มีคุณภาพสูงด้วยการตั้งรางวัลขึ้นหลายรางวัล โดยรางวัลทรงเกียรติที่สุดคือ รางวัลแฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เปิดตัวครั้งแรกในปี 2499 และทุกสองปีจะมีการมอบรางวัลนี้แก่นักเขียนหนังสือเด็กดีเด่นหนึ่งรางวัล ต่อมาตั้งแต่ปี 2509 ได้มีการมอบรางวัลนี้ให้แก่นักวาดภาพประกอบดีเด่นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรางวัล และปี 2510 ไอบีบีวายก็ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดของ แฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เป็น ‘วันหนังสือเด็กสากล’ โดยเลือกนักเขียนผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้เขียนสารที่จะส่งไปถึงเด็กทั่วโลก และมีนักวาดภาพประกอบเป็นผู้ออกแบบโปสเตอร์เผยแพร่ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน และชวนให้ผู้ใหญ่หันมามองหนังสือเด็ก ดังที่แอนเดอร์เซนเคยเล่าว่า

“ข้าพเจ้าได้ความคิดสำหรับผู้มีอายุ แล้วก็นำความคิดนั้นไปเล่าให้เด็กฟัง แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่าบิดา มารดาของเด็กจะร่วมฟังอยู่ด้วย และคงจะได้แง่คิดที่จะนำไปใคร่ครวญต่อไป”

ขณะที่เด็กๆ ชอบตอนที่มีตัวแสดงในบทบาทต่างๆ กัน แต่ผู้ใหญ่มักชอบความหมายที่ซ่อนลึกลงไปในเรื่อง

ตลอดชีวิตของแอนเดอร์เซน แม้เขาจะได้รับการชื่นชมสรรเสริญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากบรรดาเจ้านายและกลุ่มชนชั้นสูงในยุโรป และประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในวรรณกรรมทุกรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยลืมเลือนเลยคือ ตนเป็นเพียงลูกชายของหญิงซักผ้าขี้เมาผู้หนึ่ง กับชายผู้มีอาชีพทำรองเท้าผู้ยากไร้ ดังนั้นยิ่งรุ่งเรืองมากเท่าไร ความอ่อนน้อมถ่อมตนของเขายิ่งมากขึ้นเท่านั้น

การมีชีวิตอย่างเทพนิยายกับการประพันธ์เทพนิยายไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ชีวิตของนักประพันธ์จะมีโลกสองใบเสมอ เรียกว่า ‘โลกความจริง’ และ ‘โลกสมมุติ’ ในขณะที่โลกความจริงมักมีมายาเคลือบแฝงตามแต่สถานการณ์ หรือบริบททางสังคมกำหนดให้โลกใบนั้น ‘ควร’ เป็น หากโลกสมมุติคือพื้นที่ว่างสำหรับนักเขียนใช้วาดอารมณ์เพื่อดึงความจริงทั้งที่ ‘ปรากฏ’ และ ‘ซ่อน’ อยู่ในโลกความจริงมาระบายเป็นตัวอักษร ให้ผู้อ่านได้มีโอกาสสัมผัสและใช้จินตนาการเฉพาะบุคคลนำพาตัวเองดำดิ่งไปสู่ดินแดนแห่งความฝัน กลับสู่ ‘บ้านหลังเดิม’ เพื่อพักกาย ผ่อนใจ ก่อนที่จะต่อเติมแรงบันดาลใจจนสามารถก้าวเดินทางในชีวิตต่อไป

ที่สำคัญ…โลกใบนี้เองที่หล่อเลี้ยง ‘ความสุข’ ของนักเขียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า…แม้ว่าจะหาไม่ได้เลยในโลกความจริงก็ตาม

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. หนังสือ รวมนิทานแอนเดอร์เซน เล่ม ๑: ราชินีหิมะ, แฮนส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน, แปลและเรียบเรียงโดย คุณวัชรินทร์ อำพัน, สำนักพิมพ์จินด์ ในเครือห้างหุ้นส่วนจำกัด ชุบหับ
  2. หนังสือ เงือกน้อย และเรื่องอื่นๆ, ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เสน, แปลโดย คุณผกาวดี อุตตโมทย์, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
[seed_social]

16 กุมภาพันธ์, 2561

คุณภาพชีวิตในระยะท้ายคืออะไร (1) มุมมองจากผู้ป่วย

การมีชีวิตยาวนานถือเป็นพรข้อหนึ่ง แต่ถ้าชีวิตที่ยาวนานนั้นเป็นชีวิตที่มีแต่ความเจ็บป่วย ไม่สุขสบาย ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา เราคงไม่เรียกชีวิตแบบนี้ว่าได้รับพร
19 เมษายน, 2561

สัญจรพิพิธภัณฑ์ศิริราช ตอน “มรณสติ : อสุภกรรมฐาน”

ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นชีวิตและความตายแบบเข้าใกล้มากขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรงเพราะหลายคนอาจจะรู้สึกหวาดเสียว เพราะรู้สึกว่าเฉียดกรายเข้าไปใกล้จนเกินไป
8 พฤศจิกายน, 2560

จากตะวันสู่ตะวัน

ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ชาวไทยผูกพันใกล้ชิดกับสายน้ำมาโดยตลอด เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ อีกทั้ง ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตทั้งในด้านการผลิตและบริโภค