“การให้พื้นที่แก่ผู้รอดพ้นในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เลวร้าย บาดแผลในชีวิต เพื่อทำความรู้จักแง่มุมของผลกระทบ และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องซ่อนเร้น ปกปิด เก็บกดอีกต่อไป ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญ เข้มแข็ง ในการเผชิญเรื่องราวอันเจ็บปวด สิ่งสำคัญคือ ผู้รอดพ้นได้รับรู้เชิงประจักษ์ (acknowledge) ว่าตนเองเป็นอิสระจากเหตุการณ์เลวร้ายนั้น ผู้พิพากษาได้ใช้บทบาทผู้เยียวยาผ่านการสนับสนุน อยู่เคียงข้างผู้รอดพ้น ด้วยการรับฟัง ให้กำลังใจ และเปิดรับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยกระบวนการนี้ ผู้รอดพ้นได้ยกระดับตนเองเป็น “ผู้ชนะ” พวกเธอสามารถเอาชนะผลกระทบ บาดแผล อิสระจากภาวะตายทั้งเป็น”
ปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๐ สหรัฐอเมริกามีการสืบสวนและพิจารณาคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่คึกโครม คือ นายแลรี นิสซาร์ อดีตแพทย์ประจำทีมยิมนาสติกโอลิมปิกสหรัฐ ช่วง ค.ศ. ๑๙๙๖-๒๐๑๔ ถูกดำเนินคดีในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กและหญิงสาวในความดูแลมาตลอด ๒๐ ปี จำนวนเหยื่อที่เปิดเผยตัวมีประมาณ ๒๖๕ คน จุดเริ่มต้นของการเปิดโปงคือ หนึ่งในผู้ถูกล่วงละเมิดเลือกที่จะเปิดเผยตัว ฟ้องร้อง จนก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน มีการสืบสวนและพบหลักฐานจำนวนมาก รวมถึงกระแสขานรับและแสดงตัวของผู้ถูกล่วงละเมิดคนอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษจำคุกผู้กระทำผิดร่วม ๖๐ ปี
สิ่งที่ทำให้ข่าวนี้โด่งดังและสร้างความสนใจแก่สาธารณชนอย่างมาก นอกเหนือจากการเป็นคดีความที่สะท้อนโครงสร้างและระบบของวงการกีฬายิมนาสติกที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดสามารถทำร้ายผู้บริสุทธิ์ได้เป็นจำนวนมากและเป็นเวลานานแล้ว คือบทบาทของผู้พิพากษาหญิง โรสแมรี อาคิลินา (Rosamaele Aquilina) ที่เลือกใช้บทบาทผู้พิพากษาที่ต่างออกไป คือ การอนุญาตให้เหยื่อทุกคนมีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์ ผลกระทบ ความทุกข์ทรมานจากอาชญากรรมที่ได้รับจากผู้กระทำผิด ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือน จำนวนผู้ถูกทำร้ายที่เลือกแถลงการณ์ต่อหน้าศาลเพิ่มจาก ๘๘ รายเป็น ๑๕๖ ราย
สิ่งสำคัญคือ เหยื่อทุกคนได้เผชิญหน้ากับผู้ก่ออาชญากรรม บอกเล่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงอาชญากร นายแลรีจะต้องรับฟังผลกระทบอันเลวร้ายที่ตนก่อเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ๗ วัน สิ่งที่มีความหมายคือ ผู้พิพากษาได้ส่งมอบบทสรุปและยุติเหตุการณ์นี้ด้วยคำพูดที่ให้การโอบอุ้ม รับรู้ ยอมรับประสบการณ์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้กำลังใจเหยื่อหรือผู้รอดพ้นทุกคนให้ดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญและเข้มแข็งต่อไป
ในฐานะผู้เขียนซึ่งทำงานให้บริการจิตปรึกษา (counseling services) อยากเพิ่มเติมแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน บาดแผลในใจที่สร้างผลกระทบรุนแรงแก่ผู้ถูกทำร้ายหรือเหยื่อ จนมีสภาพคล้าย “ตายทั้งเป็น”
ในความเป็นมนุษย์ที่เติบโตและมีวุฒิภาวะทั้งทางสังคมและการเติบโตภายในเราทุกคนจะต้อง
ผ่านการเกิดรวม ๓ ครั้ง คือการเกิดครั้งที่ ๑ จากการปฏิสนธิในมดลูกของแม่ระหว่างเชื้อพันธุ์ของพ่อและไข่
จากแม่ ก่อเกิดเป็นตัวอ่อนที่ผ่านการฟูมฟักจนกระทั่งเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นการเกิด ครั้งที่ ๒ คือ การถือกำเนิดและมีชีวิตบนโลกเป็นทารกตัวน้อยที่ค่อยๆ เติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา กลายเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และการเกิดครั้งที่ ๓ ซึ่งถือเป็นภาระการงานอันยิ่งใหญ่ คือ การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความตระหนักและตื่นรู้ในจิตสำนึก ถึงความเป็นตัวเองการดำรงอยู่ของตนเอง ว่าเราคือใคร จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร และอย่างไร ผู้ใหญ่หลายคนไม่ประสบความสำเร็จกับการเกิดครั้งที่ ๓ และถูกกักขัง ติดจมอยู่กับบาดผลในอดีต เป็นบาดแผลชีวิตจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งอาจเกิดในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ก็ได้
การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก วัยรุ่น เป็นความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมให้แก่ชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นกับเหยื่อหรือผู้รอดชีวิต และเป็นผลกระทบร้ายแรงกับพวกเขาคือ การสูญเสียตนเอง สูญเสียความรู้สึกไว้วางใจที่มีต่อคนอื่น ต่อโลก ต่อสัมพันธภาพ ความรู้สึกมีคุณค่า ความเชื่อมั่นในตนเองถูกบั่นทอนทำร้าย ดังนั้นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุร้าย นอกเหนือจากการถูกทำร้ายจากเหตุการณ์แล้ว ยังก่อสภาพ “ตายทั้งเป็น” หลายคนสูญเสียการนับถือตนเอง สูญเสียความสุข ความหวัง สิ่งที่กลไกทางจิตใจช่วยเหลือเราคือ การทำงานผ่านกลไกการปกป้องตนเอง เช่น การหลงลืมตนเอง การเก็บกด การโศกเศร้า การกล่าวโทษ โกรธ เกลียด ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
สิ่งที่ผู้พิพากษาคดีนี้ได้สร้างขึ้นใหม่คือ บทบาทการเป็นผู้เยียวยาให้แก่เหยื่อที่ตัดสินใจมาให้การในชั้นศาลและเผชิญหน้ากับอาชญากรที่ทำร้ายพวกเธอ คือการให้พื้นที่แก่ผู้รอดพ้นในการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เลวร้าย บาดแผลในชีวิต เพื่อทำความรู้จักแง่มุมของผลกระทบ และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องซ่อนเร้น ปกปิด เก็บกดอีกต่อไป ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญ เข้มแข็ง ในการเผชิญเรื่องราวอันเจ็บปวด สิ่งสำคัญคือ ผู้รอดพ้นได้รับรู้เชิงประจักษ์ (acknowledge) ว่าตนเองเป็นอิสระจากเหตุการณ์เลวร้ายนั้น ผู้พิพากษาได้ใช้บทบาทผู้เยียวยาผ่านการสนับสนุน อยู่เคียงข้างผู้รอดพ้น ด้วยการรับฟัง ให้กำลังใจ และเปิดรับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยกระบวนการนี้ ผู้รอดพ้นได้ยกระดับตนเองเป็น “ผู้ชนะ” พวกเธอสามารถเอาชนะผลกระทบ บาดแผล อิสระจากภาวะตายทั้งเป็น
ในสังคมไทย เมื่อเกิดคดีข่มขืน เสียงเรียกร้องของคนในสังคมคือ ให้ใช้การประหารชีวิตลงโทษผู้กระทำผิด โดยคาดหวังว่าการใช้ความกลัวต่อบทลงโทษจะช่วยหยุดยั้งหรือแก้ปัญหาอาชญากรรมนี้ หรืออาจมุ่งหมายเพื่อแก้แค้น แน่นอนว่าการกระทำผิดหรืออาชญากรรมจำต้องได้รับการลงโทษเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ประเด็นข้อพิจารณาคือ ระหว่างความยุติธรรมเพื่อแก้แค้น กับความยุติธรรมเพื่อฟื้นฟู ความยุติธรรมลักษณะใดให้ประโยชน์กับสังคมโดยรวมมากกว่า
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ให้ข้อสังเกตว่า สำหรับเหยื่อหรือผู้รอดพ้น ผลกระทบทางความรู้สึกในกรณีความเศร้าโศกเสียใจ บุคคลรอบข้างสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ผ่านการรับฟัง การปลอบโยน ให้กำลังใจ อยู่เคียงข้าง แต่ในกรณีความรู้สึกโกรธ เกลียด เป็นสิ่งที่ผู้อื่นคลี่คลายให้ไม่ได้ เพราะผู้ยึดถือจะต้องปล่อยวางด้วยตนเอง เพื่อเป็นอิสระจากพันธะทางความรู้สึกเหล่านี้ สิ่งที่ผู้พิพากษาหญิงท่านนี้ได้มอบให้แก่ผู้รอดพ้นคือ ความยุติธรรมเพื่อฟื้นฟู ให้พวกเขาสามารถมีชีวิตที่เปิดเผย และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง สำหรับผู้กระทำผิด กระบวนการพิจารณารับฟังประสบการณ์เลวร้ายที่ตนเองเป็นต้นเหตุ คือการให้บทเรียนความสำนึกผิดจากอาชญากรรมที่กระทำ
สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชมคือ ผู้พิพากษาในฐานะผู้สร้างสรรค์ความยุติธรรม การดำรงอยู่ของสังคมที่สงบสุข ระบบยุติธรรมจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ เข้าใจโลก ชีวิต สังคม การรู้จักตนเอง รวมถึงการพัฒนาเพื่อเป็นกลไกความยุติธรรมที่มีคุณภาพแก่สังคม และด้วยระบบกลไกความยุติธรรมที่มีคุณภาพ จะสามารถช่วยเหลือ ฟื้นชีวิตเหยื่อจากการตายทั้งเป็น ให้กลายเป็นผู้รอดพ้นและผู้ชนะในที่สุด
ผู้ชนะที่สามารถดำเนินชีวิตและมีความหวังในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับตนเอง ให้กับสัมพันธภาพและโลกใบนี้ต่อไป
เรื่องและภาพประกอบ :
https://www.adaymagazine.com/articles/woman-judge-aquilina
https://www.twenty20.com/photos/4dca18ec-8765-43ab-a39a-bd509ecb586e
https://www.pexels.com/photo/sunset-beach-people-sunrise-40815/