parallax background
 

กระสุนผู้พิทักษ์

ผู้เรียบเรียง: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

คนโบราณเคยกล่าวว่า ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับสรรพชีวิตทั้งปวงเพื่อเป็นเครื่องมือปลดปล่อยจากความเจ็บปวดทรมานทั้งกายและใจ แต่พวกเราทุกคนล้วนประหวั่นพรั่นพรึงกับความตายด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การเตรียมตัวเผชิญกับสิ่งที่เราไม่รู้เบื้องหน้า ไม่ว่าจะนึกถึง ‘ความตาย’ ในลักษณะใด ‘ความกลัว’ มักจะแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของความคิดเช่นกัน แต่ ‘ความตาย’ กลับไม่ทำให้บุรุษผู้หนึ่งรู้สึกสะทกสะท้านแม้แต่น้อย

ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนนัดหนึ่งจึงดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง เสียงปืนในราวป่าเมื่อ 27 ปีก่อน ไม่เพียงแต่ปลุกจิตวิญญาณผู้คนให้ตื่นตัวกับกระแสการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ยังกู่ก้องร้องตะโกนอย่างสุดเสียงจากพงไพร เพื่อตั้งคำถามกับคนทั้งโลกว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับป่าห้วยขาแข้ง’…. และผู้ที่ใช้ ‘กระสุนปืน’ เขียนคำถามแทนปากกานั้น มีนามว่า สืบ นาคะเสถียร

เมื่อ ‘ความเป็น’ ไม่ได้ให้อะไร…. ‘ความตาย’ จึงเป็นสิ่งที่ให้อะไรได้มากกว่า

หลังการเสียชีวิตด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรมของคุณสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ เพียงสองสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเจ้าหน้าที่ราชการอีกหลายฝ่ายนับร้อยคนได้จัดการระดมกำลังประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เขาเพียรพยายามถามเจ้าหน้าที่ในป่าห้วยขาแข้งระหว่างมาทำวิจัยถึงเสียงปืนของนักล่าสัตว์ที่เขามักได้ยินเป็นประจำ…ทำไมมีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำไม และทำไม…คำถามที่ไร้ผู้ตอบ..

แทบไม่มีใครใส่ใจต่อเสียงร้องระงมขอชีวิตของสัตว์ป่าหลากสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามอย่างหนักจากน้ำมือมนุษย์กลุ่มหนึ่ง เสียงอ้อนวอนของบุรุษผู้นี้กลับถูก ‘เพิกเฉย’ เขาผู้นี้มิได้ขอร้องอ้อนวอนเพื่อตัวเองแม้แต่น้อย ทุกครั้งที่มีการอภิปรายบนเวที คุณสืบ มักจะพูดจาก ‘หัวใจ’ ว่า “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้…”

ในสังคมมนุษย์ที่มีความหลากหลาย จึงอาจมีผู้พูดว่า “สำหรับสัตว์ป่าก็น่าเศร้า แต่มนุษย์ต้องมาก่อน” ถือว่ากำลังแสดงเจตจำนงตนออกมา 2 ข้อ คือ อันดับแรก ‘มนุษย์’ ไม่ได้ประเสริฐไปกว่าสัตว์เหล่าอื่นตามที่กล่าวอ้าง เรายังมีพื้นฐานในการทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด ส่วนสังคมอื่นที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์เดียวกับเราก็ปล่อยให้สูญเสีย จนถึงสูญพันธุ์ไป

อันดับสอง ‘มนุษย์’ เป็นเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตอันทรงคุณค่า มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถปรับเปลี่ยนทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั่งอาจเอื้อมในการผูกขาดทรัพยากรของโลก ให้กลายเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่ทดแทนภูมิปัญญาเดิมเพื่อทางรอดของตัวเองในอนาคต

หาก ‘มนุษย์ต้องมาก่อน’ เป็นการกล่าวอ้างสิทธิ์ว่าเรามีค่าคู่ควรมากกว่าสัตว์อื่นแล้ว มันก็กระตุ้นให้เกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า ศักยภาพ ในการแยกแยะผิดถูก ในการเสียสละเพื่อส่วนรวม อีกทั้งความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่บนโลกใบนี้ก่อนที่มนุษย์จะอุบัติขึ้นนั้น เราควรมีมากกว่าเผ่าพันธุ์อื่นด้วยใช่หรือไม่?

แม้นักนิเวศวิทยาหลายๆ ท่านได้พยายามอธิบายกลไกความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันระหว่างสังคมพืชและสังคมสัตว์ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบชีววิทยาและเคมี ทำให้โลกมีความสมดุลทางธรรมชาติซึ่งทำให้มนุษย์สามารถอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้ แต่มนุษย์เรายังไม่มีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพืชและสัตว์อย่างเพียงพอที่จะคาดเดาว่า หากมีการกำจัด หรือ สูญเสียสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งไป จะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่เหลืออยู่ในระบบนิเวศอย่างไร รวมถึง ‘มนุษย์’ ด้วย

คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัว เพื่อคนที่รัก และเพื่อตัวเอง แต่สำหรับคุณสืบ นาคะเสถียร แล้ว เขากลับยินดีสละชีวิตตนเอง เพื่อ ‘ป้องปก’ ผืนป่าและสัตว์ป่าจำนวนมากโดยไม่สนใจว่า ‘พวกเขา’ จะรักเขาตอบหรือไม่

การตายเพื่อ ‘คน’ที่เรารักยังมีเกิดขึ้นอยู่ในสังคม แต่การตายเพื่อ ‘สัตว์เดรัจฉาน’ เป็นเรื่องยากนักที่เราจะยอมแลก…ด้วยชีวิต

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์คือ ‘การล่า’ เสียงปืนที่ดังก้องกังวานในราวป่าจาก ‘นักล่า’ มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่กระนั้นก็มิทำให้จิตวิญญาณของผู้พิทักษ์ผืนป่าย่อท้อกับภารกิจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของความยุติธรรมและปกป้องชีวิตของ ‘เพื่อนร่วมโลก’ แม้แต่ครึ่งก้าว

คุณสืบ นาคะเสถียรส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และได้รางวัล ซึ่งสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของคุณสืบว่าสัตว์ป่ามีความหมายกับเขามากเพียงไร

สัตว์ป่า
เสียงปืนที่ดังลั่น
ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้
กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่
หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน
จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร
ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า
ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก
ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ
สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน

มรดกชิ้นสุดท้ายที่ทิ้งไว้ก่อนตายคือรายงานทางวิชาการเสนอยูเนสโกแห่งองค์การสหประชาชาติแสดงความสมบูรณ์ของป่าห้วยขาแข้ง เพื่อยกผืนป่าแห่งนี้ให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’

นับจากนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี และมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก

วันนั้น..ป่าห้วยขาแข้งได้รับการยกย่องให้เป็น ‘มรดกโลก’ แล้วจริงๆ

แต่วันนี้…วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 กลับมี ‘คนบางพวก’ กำลังท้าทายความยุติธรรมที่กระสุนปืนนัดนั้น เรียกร้องให้กับ ‘สัตว์ป่า’ โดยลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก จ. กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบอาวุธปืน ซากไก่ฟ้าหลังเทากับเนื้อเก้ง และพบซากเสือดำถูกชำแหละเนื้อและหนัง!

ไม่ว่าตอนจบของคดีนี้จะเป็นเช่นไร แต่เป็นการยืนยันว่า มนุษย์ มี ‘ปัญญา’ ที่สามารถเลือกทางเดินของตัวเองได้เสมอ

ระหว่างเป็น ‘ผู้สร้าง’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ ขณะที่ตนมีชีวิต

ระหว่าง ‘ตายดี’ หรือ ‘ตายเลว’ ขณะเฮือกสุดท้ายของชีวิต

หากมีคนถามว่า ‘ทำไมเราต้องอนุรักษ์เสือ?’ ‘หากไม่มีเสือ เราก็จะมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นรึเปล่า?’

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เรานั่นเอง เพราะถ้าเราสามารถรักษาเสือให้อยู่รอดในธรรมชาติได้ก็เท่ากับเรารักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ ผลประโยชน์จะย้อนคืนกลับมายังมวลมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของธรรมชาติที่ดำรงอยู่ สภาพป่าสมบูรณ์ที่เป็นต้นน้ำลำธาร รวมถึงแหล่งพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่รอการศึกษาค้นคว้าในอนาคต แม้การขาดเสือในป่าอาจทำให้มีสัตว์ป่าชนิดอื่นเพิ่มขึ้น แต่การมีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป ก็ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไปเพราะธรรมชาติดำรงอยู่ได้ด้วย ‘ความสมดุล’ ป่าหลายแห่งขาดผู้ล่าอย่างเสือ ทำให้ประชากรช้างมากเกินไป ส่งผลให้มีช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่ของเกษตรกร แน่นอนว่าปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าจึงตามมาอีกมากมาย

บางครั้งการเผชิญความตายของ ‘วีรบุรุษ’ จึงไม่ใช่การ ‘สิ้นสุด’ หากเป็นการ ‘สร้าง’ แรงสั่นสะเทือนให้ ‘ใครสักคน’ กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดำรงต่อไป…ไม่ใช่เพื่อหาวิธีการ ‘ใช้’ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรในการพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่ง หากต้องร่วมมือร่วมใจ ‘รักษา’ สภาวะแวดล้อมรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างจำกัดอย่างไร…ทั้งหมดนี้มิใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อลูก หลาน ของพวกเราทุกคนสืบไป

การอนุรักษ์และฟื้นคืนธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมเป็นเสมือนคำมั่นว่า…เสียงปืนนัดนั้นยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจพวกเรา ‘ทุกคน’…แม้กระทั่งวินาทีนี้

และนี่คือวิถีความตายอย่าง ‘ลูกผู้ชาย’ นามว่า สืบ นาคะเสถียร

ข้อมูลอ้างอิง
1. หนังสือ ‘The Last Hero: ชีวิตและความตายของลูกผู้ชายชื่อ สืบ นาคะเสถียร’ โดยคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์: สำนักพิมพ์อะบุ๊ก
2. หนังสือ ‘เสือ’ โดย ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ, คุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ, คุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ และ ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ภาพประกอบ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร www.seub.or.th

[seed_social]

25 เมษายน, 2561

ความตาย พูดได้ แนวโน้มใหม่ในอเมริกา

ฉันอายุมากพอจะจำได้ถึงยุคที่ไม่มีใครพูดกันเรื่องมะเร็ง แม้ว่าเพื่อนรักของแม่สองคนและย่าของฉันจะตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม แต่ไม่มีใครอยากจะถกกันถึงเรื่องความตาย ประสบการณ์แรกของฉันเกี่ยวกับความตายจึงดูน่ากลัวเพราะเป็นหัวข้อสนทนาต้องห้าม
17 เมษายน, 2561

เปิดบ้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful Death

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน เฟซบุ๊ก (Facebook) ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลความคิดกันอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งองค์กรเพื่อสังคมหรือบริษัทธุรกิจ ยังต้องอาศัยเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์
18 เมษายน, 2561

สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ผ่านมติยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการตายดี

ในงานสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้มีการพิจารณารายงานเรื่อง แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๙