parallax background
 

หวั่นไหวเรื่องความตาย

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล และคณะ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ถาม : กราบเรียนถามค่ะ ดิฉันไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมเวลาเจอกับเรื่องของความตายทีไร ต้องร้องไห้ทุกที ทั้งๆ ที่จิตใจรู้ดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ได้ดูวีซีดีที่พระอาจารย์โปรดนำทางคนใกล้ตายท่านสงบมาก แต่ดิฉันดูไปร้องไห้ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้จักคนตายด้วยซ้ำไป ทำอย่างไรจึงจะไม่ร้องไห้เวลาได้ประสบกับเรื่องของความตาย กราบขอบพระคุณค่ะ / ศิริวรรณ ประพันธ์ธุรกิจ

ตอบ : ที่คุณร้องไห้คงเป็นเพราะเวลาได้ยินได้รับรู้เรื่องนี้แล้วทำให้ระลึกถึงความตายของตนเอง ในใจคุณนั้นยังมีความอาลัยในชีวิต ความหวงแหนในตัวตน รวมทั้งความกลัวตาย จึงรู้สึกหวั่นไหว ไม่สามารถครองใจเป็นปกติได้เมื่อตระหนักชัดว่าสักวันหนึ่งคุณเองก็ต้องตายเหมือนคนอื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าปฏิเสธปฏิกิริยาดังกล่าวของใจ เมื่อร้องไห้ก็รับรู้ว่าร้องไห้ ยอมรับมัน อย่าไปกดข่มมัน

ที่คุณพูดว่า “จิตใจรู้ดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา” อันนี้เป็นการรู้ในระดับเหตุผล หรือระดับสมอง แต่ยังไม่ลงลึกไปถึงระดับอารมณ์หรือหัวใจ พูดอีกอย่าง คือสมองกับหัวใจยังไม่ไปด้วยกัน สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ระลึกถึงความตายบ่อยๆ ที่เรียกว่า มรณสติ การระลึกนึกถึงบ่อยๆ จะช่วยให้ใจยอมรับความตายได้ดีขึ้น

มรณสติ คือระลึกว่าสักวันหนึ่งฉันจะต้องตาย แต่จะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ อาจเป็นวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ จากนั้นให้ถามตัวเองว่าหากต้องตายวันนี้พรุ่งนี้ ฉันพร้อมหรือยัง ทำความดีมามากพอหรือเปล่า ทำหน้าที่ต่างๆ สมบูรณ์ครบถ้วนหรือยัง และพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งรวมทั้งลูกหลานพ่อแม่หรือไม่ หากไม่พร้อม ก็ควรขวนขวายทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับความตายเสมอ

หากทำถูก จิตใจจะกระตือรือร้น ไม่หดหู่ซึมเศร้า คุณควรทำทุกวัน เช่น ก่อนนอน หรือตื่นเช้า ใหม่ๆ จิตใจจะยังหวั่นไหว ต่อต้านอยู่ แต่หากทำไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ จิตใจก็จะยอมรับ และปรับตัว ขวนขวายในการเตรียมตัวเตรียมใจในเรื่องนี้ การเตรียมตัวเตรียมใจเสมอจะทำให้คุณกลัวตายน้อยลง และไม่หวั่นไหวเมื่อรับรู้ถึงความตายของคนอื่น หรือแม้กระทั่งคนที่คุณรักหรือใกล้ชิด

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

เยียวยาด้วยใจรัก

“มีพบย่อมมีพลัดพราก หรือจากลา” เป็นคำที่เราคุ้นหู หรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในยามปกติเราอาจจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำพูดนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียกับเรา เราจะรู้สึกทันทีว่า “จริง”
19 เมษายน, 2561

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
20 เมษายน, 2561

พระเอทีเอ็ม

ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักได้รับการดูแลมิติทางกายจากสถานพยาบาลหรือครอบครัว การกินอาหาร ได้รับยาที่เหมาะสม พักผ่อนในบรรยากาศแวดล้อมที่เกื้อกูล อาจช่วยบรรเทาความทุกข์กายได้บ้าง