parallax background
 

สมองตายในทางพุทธถือว่าตายไหม

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล และคณะ หมวด: How to


 

คำถาม

กราบนมัสการพระคุณท่านค่ะ หนูมีเรื่องอยากถามเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ในกรณีที่คนๆ หนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายอย่างแน่นอนแล้ว ญาติได้ยินยอมให้ผ่าตัดเอาอวัยวะบางอย่างที่ใช้งานได้ไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการโดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้แล้ว แพทย์ผู้ผ่าตัดเอาอวัยวะออกไปจะบาปไหมคะ

ในทางการแพทย์สมองตายหมายถึงตาย แต่ในทางศาสนาพุทธนั้นหนูไม่แน่ใจว่าต้องอยู่ในระดับไหนจึงจะเรียกว่าตายอย่างสมบูรณ์ (เพิ่มเติมก้านสมองตาย คือไม่มีโอกาสฟื้น หากปล่อยไว้อวัยวะภายในก็จะค่อยๆ หยุดทำงานในที่สุดค่ะ) รบกวนพระคุณเจ้าช่วยตอบคำถามหนูหน่อยนะคะ

พระไพศาล

พุทธศาสนามองว่า การตายอย่างสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อกายและจิตแตกดับอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือนอกจากหมดลม หัวใจหยุดเต้น หรือสมองตายแล้ว จิตยังไม่มีการสืบต่อในภพเดิม กล่าวคือสิ่งที่เรียกว่าจุติจิตได้ดับลง จึงเรียกว่าตายสนิท ผู้ที่สมองตายนั้น ตอนที่วินิจฉัยใหม่ๆ เราอาจยังไม่แน่ว่าจุติจิตดับ หรือกระแสชีวิตตัดขาดอย่างสิ้นเชิงแล้วหรือยัง (พูดง่ายๆ คือ จิตออกจากร่างหรือยัง) แต่ไม่นานก็จะถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามแม้จุติจิตยังไม่ดับ แต่หากสมองตายแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาฟื้นหรือครองร่างเดิมได้ จะถือว่าเขาได้ละร่างไปแล้วก็ได้ ดังนั้นการที่แพทย์ผ่าตัดเอาอวัยวะของเขา โดยที่เขายังไม่ได้อนุญาตก่อนในขณะที่ยังมีชีวิต จึงไม่ได้เป็นการเบียดเบียนเขาแต่อย่างใด คงไม่ต่างจากสัปเหร่อที่เอาร่างเขาไปเผา จิตย่อมไม่รู้สึกทุกข์ร้อนแต่อย่างใด นอกจากนั้นการผ่าตัดอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายใหม่ แพทย์ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อผู้เป็นเจ้าของอวัยวะ เพราะเชื่อว่าเขาตายแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นบาปแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ ญาติพี่น้องควรบอกผู้ตายให้ทราบก่อนว่าแพทย์จะผ่าเอาอวัยวะของเขาไป ส่วนแพทย์ควรควรขออนุญาตเขาก่อนผ่าด้วยเช่นกัน

ที่มา: เพจ พระไพศาล วิสาโล – Phra Paisal Visalo

[seed_social]
13 เมษายน, 2561

เยียวยาผู้ดูแล

พรเป็นสาวพม่า ลักลอบเข้าเมืองไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างตามบ้านอย่างผิดกฎหมาย พรอาศัยอยู่กับบ้านนายจ้างที่เป็นครอบครัวคนจีน ที่มีอาแปะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ระยะสี่ อาแปะและครอบครัวได้มาเข้าค่ายมะเร็ง
19 เมษายน, 2561

เมื่อคนดูแลอึดอัด ท้อใจ

หนูมีพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็ง และทุกคนในครอบครัวก็พยายามดูแลอย่างเต็มที่ รักษาทุกอย่าง และดูแลพ่ออย่างดีที่สุดเท่าที่คิดว่าตัวเองทำได้
6 ธันวาคม, 2560

สติ มรรคาแห่งการดูแลจิตใจผู้ป่วย

“สติ” หลายคนคำนี้เป็นคำของพระและผู้ปฏิบัติธรรม แต่ความจริงแล้ว สติยังเป็นคำที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ เพราะสติให้ผลอย่างมากในการนำพาผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งสามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ บทความนี้จะกล่าวถึงการนำบทเรียนจากงานอบรมและเวทีแลกเปลี่ยนในโครงการสังฆะดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องนำความรู้ความเข้าใจเรื่องสติมาประยุกต์ใช้เยียวยาจิตใจผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ