parallax background
 

บทเรียนชุมชนกรุณาจากเกรละ

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ชายชราวัย 67 ปีในชุมชนเมืองทางอีสาน นอนจมกองปัสสาวะของตัวเองโดยมีจานข้าวแห้งๆ ที่แมลงวันตอมหนึ่งใบวางอยู่ข้างตัว เพราะลูกสองคนทำงานอยู่กรุงเทพฯ และไม่ได้กลับมาดูแลนานแล้ว

ผู้ป่วยในเมืองที่เป็นโสด ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดีและไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากนัก เมื่อป่วยจนอยู่ในภาวะพึ่งพาตัวเองไม่ได้และไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร สุดท้ายต้องยอมไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้มีใครสักคนหนึ่งดูแล แม้ใจจริงจะไม่ต้องการ

คนไร้บ้านในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งเป็นอัมพฤกษ์และมีอาการทางจิตเล็กน้อย เมื่อมาหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องกลับไปพึ่งพาครอบครัวที่อาจจะดูแลอย่างดีในช่วงแรกๆ ก่อนจะตีตัวออกห่างเมื่อเวลาผ่านไป จึงออกจากบ้านมาใช้ชีวิตตามท้องถนนเพื่อไม่ให้เป็นภาระของคนอื่นอีกต่อไป

ชุมชนกรุณาที่เกรละ
ปรากฏการณ์ข้างต้นกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทยปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมที่ต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น และกำลังส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องอยู่และตายอย่างโดดเดี่ยวทุกข์ทรมานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่คือสาเหตุที่ทำให้โครงการ “ชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่ดีและตายดี” เชิญ ดร.สุเรช กุมาร (Dr. Suresh Kumar) อดีตวิสัญญีแพทย์ จากสถาบันแพทยศาสตร์การดูแลแบบประคับประคอง (Institute Palliative Medicine: IPM) รัฐเกรละ (Kerala) ประเทศอินเดีย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนพูดคุยกับกลุ่มคนทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายในสังคมไทย เพื่อหาแนวทางที่จะให้การดูแลกันกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม

ดร.สุเรช เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้รัฐเล็กๆ และยากจนอย่างเกรละ ที่มีประชากรเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย สามารถสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายถึงบ้านได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในรัฐ และคิดเป็น 87% ของระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ทั่วประเทศอินเดีย จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องให้เป็นศูนย์ประสานงานเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community participant) การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) และการดูแลระยะยาว (Long-term care) ในภูมิภาคเอเชีย

ในทัศนะของดร.สุเรช ชุมชนกรุณาคือชุมชนที่ผู้คนต่างมีความกรุณาและความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่จำต้องเป็นชุมชนแห่งความสุขเสมอไป แต่เป็นเมืองที่ทุกไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นคนอื่นยังมีความทุกข์อยู่

ชุมชนกรุณามีความเชื่อว่า ชีวิตหนีไม่พ้นเรื่องความทุกข์ แต่มนุษย์มีจิตใจที่ต้องการทำความดี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แต่สังคมต้องเปิดโอกาสหรือมีพื้นที่ให้ความกรุณาที่ช่วยเหลือผู้คนได้จริงแสดงออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการช่วยเหลือกันและกันให้พ้นจากความทุกข์ได้โดยไม่มีเงื่อนไข

แต่ความกรุณาแตกต่างจากการบริจาค แม้ว่าทั้งสองกรณีจะมีผู้รับและผู้ให้เหมือนกัน แต่การบริจาคไม่จำเป็นต้องมีความผูกพันและมีแนวโน้มจะสร้างอัตตาว่าผู้ให้เหนือกว่า หรือมีมากกว่าผู้รับ แต่ความกรุณาจะทำให้ผู้กรุณามีอัตตาลดลงจนผู้รับกับผู้ให้ไม่มีใครเหนือกว่ากัน ผู้กรุณาจะต้องมีสันติในตัวเองและกรุณาต่อตัวเองก่อน ความกรุณาที่แสดงออกมาจึงจะเป็นความจริงแท้

อุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงของผู้คนในปัจจุบันโดยเฉพาะคนเมืองคือ การใช้ชีวิตแบบเช็คลิสต์สิ่งที่ต้องทำในละวันเพื่องาน เงิน และความมั่นคง ซึ่งเป็นโซ่ตรวนที่ล่ามทุกคนไว้จนหาความหมายของชีวิตไม่ได้ การกลับมาทบทวนและเห็นถึงความไร้สาระของวิถีดังกล่าว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ความหมายชีวิตที่มีสันติภายในและนำไปสู่ความเป็นชุมชนกรุณา โดยเริ่มต้นจากการทำสิ่งที่เรียบง่ายและปฏิบัติได้จริง เช่น การดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางจิต และคนชายขอบอื่นๆ โดยไม่ตีกรอบหรือมีเงื่อนไขจำกัดการช่วยเหลือของตัวเอง

ดังเช่นที่คุณหมอสุเรช กุมาร เริ่มต้นจากการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่รัฐเกรละ บ้านเกิด ก่อนจะขยายไปสู่การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อย่างครอบคลุมทุกมิติของชีวิต จนอาจเป็นแนวทางที่สังคมไทยอาจเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้

การดูแลแบบประคับประคองในเกรละ
การดูแลแบบประคับประคองในเกรละเริ่มจากโครงการเล็กๆ ที่ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1993 เพื่อดูเรื่องความปวดของผู้ป่วยระยะท้าย ระยะแรกทำงานอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยแพทย์ ก่อนที่จะค่อยๆ ขยายการทำงานในรูปแบบเครือข่ายของเพื่อนบ้าน (Neighborhood network) ระหว่างหน่วยงานทางการแพทย์ กองทุนไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานด้านกฎหมาย เมื่อปี 1999 จนเกิดเป็นโครงการต่างๆ สามสิบโครงการที่ชุมชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม จนในปี 2008 รัฐบาลกลางจึงเริ่มเห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือด้านนโยบายจนส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น

แนวทางการดูแลผู้ป่วยประคับประคองในรัฐเกรละไม่เน้นการดูแลที่อาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง แต่เน้นการดูแลปฐมภูมิ (Primary health care) และการดูแลโดยจิตอาสาในชุมชน โดยเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า “เราจะช่วยคนที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่นี้ได้อย่างไร” แนวคิดหลักในการดูแลผู้ป่วยของสถาบันแพทยศาสตร์การดูแลแบบประคับประคอง (Institute of Palliative Medicine) เกรละ คือการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่เรื่องของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็น นักเรียน แม่บ้าน ตำรวจ นักการเมือง คนขับรถสามล้อ สามารถมีส่วนร่วมถ้าต้องการจะช่วย แม้จะมีเวลาเพียง 10-15 นาทีต่อวัน

“คุยกับจิตอาสาแต่แรกว่าขอเวลาสักประมาณสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าไม่สะดวกก็ขอเป็น 10-15 นาทีต่อวัน ข้อเรียกร้องต้องไม่ให้กระทบต่อชีวิตหลักของเขา ถ้ามีเวลาเหลือแล้วค่อยเจียดมาช่วย” คุณหมอสุเรช กล่าว

โดยสถาบันจะจัดอบรมฝึกทักษะที่จำเป็นให้แก่จิตอาสาที่หลากหลาย เริ่มจากการแนะนำให้คนรู้จักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองก่อนในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เรื่องปัญหากับความต้องการของผู้ป่วย และจิตอาสาจะมีส่วนช่วยเหลือได้อย่างไร ก่อนเข้าสู่การอบรมระดับพื้นฐาน (3 ชั่วโมง) เพื่อฝึกทักษะการพูดคุยกับผู้ป่วยและการดูแลแผลกดทับ ระดับกลาง (16 ชั่วโมง) พูดคุยเรื่องการดูแลปัญหาที่ซับซ้อนและการดูแลตัวเองของจิตอาสา และระดับก้าวหน้า เพื่อไปเป็นผู้ฝึกอบรม รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพในระดับพื้นฐาน 3 วัน ระดับกลาง 6 สัปดาห์ และระดับสูง 1 ปี

การอบรมที่หลากหลายและเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากยินดีเข้ามาร่วมเป็นจิตอาสา เพราะความตายเป็นเรื่องของทุกคน และความต้องการช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ทรมานเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อเรียนรู้ที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มจิตอาสาไทย

ดังที่คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเรื่องการตายดีในสังคมไทยมานานนับสิบปีให้ข้อสังเกตว่า “เวลาเราทำโครงการจิตอาสา เรามักจะมีภาพในใจว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น อยากได้จิตอาสาที่ไปอยู่ดูแลผู้ป่วยคนเดิมสามเดือน ซึ่งเวลาเป็นสิ่งที่หายากในสังคมเมือง แต่คุณหมอสุเรชกลับบอกเพียงแค่แนวคิดเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง แล้วถามจิตอาสาว่าอยากทำอะไร จะกี่นาทีก็เอา ไม่มีขอบเขตว่าต้องทำอะไร เลยทำให้การมีส่วนร่วมกว้างขึ้น”

การสนับสนุนจากภาครัฐ
จากการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี ส่งผลให้รัฐบาลกลางของอินเดียเริ่มเห็นความสำคัญจนออกนโยบายสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคอง มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เครือข่ายสามารถขยายความร่วมมือไปหน่วยงานท้องถิ่น สร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรสุขภาพและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือคนในชุมชนต่อไป

จนถึงปัจจุบัน งานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในเกรละเข้าอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรมของรัฐเกรละแล้ว โดยมีรัฐบาลเกรละ หน่วยงานในท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงาน อาศัยงบประมาณจากท้องถิ่นเองเป็นส่วนใหญ่ (รัฐบาลท้องถิ่นปีละ 480 ล้านรูปี องค์กรพัฒนาเอกชน 280 ล้านรูปี ส่วนรัฐบาลกลางและองค์กรสาธารณสุขระดับชาติสนับสนุนเพียงองค์กรละ 20 ล้านรูปี) ซึ่งทำให้เกรละมีศูนย์การดูแลประคับประคองครอบคลุมทุกพื้นที่ มีพยาบาลชุมชนคอยประสานงานกับหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ และมีจิตอาสาช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องการแพทย์ เช่น ช่วยจัดหาอาหารให้ผู้ป่วยในบ้านที่ขาดแคลน ไม่เฉพาะกับผู้ป่วยระยะท้าย แต่ยังรวมผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางประสาท โรคเอดส์ กลุ่มมีปัญหาทางการเรียนรู้อีกด้วย

ร่วมด้วยช่วยดูแล
การทำให้กลุ่มคนที่หลากหลายมาร่วมทำงานภายใต้เป้าหมายเดียวกันได้ คือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในเกรละขยายตัวออกไปจนครอบคลุมมิติอื่นๆ ของชีวิต กลายเป็นชุมชนแห่งความกรุณา เพราะความหลากหลายช่วยทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง และทำให้เครือข่ายเห็นว่าจะจำกัดตัวเองอยู่แค่งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ได้ ต้องขยายไปยังผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงเป็นเพียงจุดแรกเข้าก่อนจะต่อยอดไปทิศทางตามความสนใจของจิตอาสาเอง

คุณวรรณากล่าวถึงประสบการณ์ตอนไปดูงานที่เกรละว่า “ตอนไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะท้าย จะมีชาวบ้านมาบอกว่าอยากให้ไปดูคนตกต้นมะพร้าวจนพิการอีกบ้านหนึ่งด้วย พอไปดู ทำให้เห็นว่าผู้ป่วยต้องการทำกายภาพ แต่ภรรยาต้องออกจากงานมาดูแลสามี เลยมีปัญหาเศรษฐกิจ เด็กในบ้านไม่ได้เรียนหนังสือ จิตอาสาจึงประสานให้กลุ่มที่ทำเรื่องการศึกษาช่วยให้เด็กได้เรียน ทำให้ทีมงานเห็นว่าทุกเรื่องมีความเชื่อมโยงกันไปหมด และมีคนต้องการความช่วยเหลืออีกมากมายในชุมชน จึงขยายไปทำกับคนพิการ คนโรคจิต หรือบ้านที่ยากจนไม่มีอะไรกิน ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แค่การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย แต่ช่วยเหลือในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

ผลการขับเคลื่อนงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายใสตลอด 25 ปี ทำให้เกรละกลายเป็นรัฐที่ผู้คนช่วยเหลือดูแลกันและกัน กลายเป็นต้นแบบของชุมชนแห่งความกรุณาที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สังคมไทยได้

“เมืองคาลิกุต (สถานที่ตั้งของสถาบันการแพทย์แบบประคับประคอง) มีประชากรสองแสนกว่าคน แต่มีจิตอาสาเกินแสนคนเข้าไป มีทั้งพระ อิหม่าม เด็กประถม มัธยม ตำรวจ แพทย์ พยาบาล ทุกอาชีพทุกสายงาน” นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจาก ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงความประทับใจจากการไปดูงานที่เกรละ

บทเรียนจากรัฐเกรละ ช่วยให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างวัฒนธรรมการดูแลกันและกัน แม้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ความกรุณาจะยังเป็นพลังและหลักธรรมสำคัญที่ช่วยโอบอุ้มให้ทุกๆ คนอยู่ดีและตายดีได้ ทั้งนี้ แม้จะมีองค์กรหรือกลุ่มคนทำงานดูแลผู้ป่วย ผู้ประสบความทุกข์อยู่บ้าง แต่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมของสังคมซึ่งเคลื่อนตัวมาถึงสถานการณ์ที่ต่างคนต่างทำไม่ได้อีกต่อไป ตัวอย่างจากรัฐเกรละทำให้เราเห็นว่า การดำเนินงานด้วยความกรุณานั้น สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ภาครัฐออกนโยบายสนับสนุน และเมื่อความกรุณากลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมแล้ว เราก็จะมั่นใจได้ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการอยู่ดีและตายดีได้ โดยทั่วหน้า

......

ถาม-ตอบกับคุณหมอสุเรช กุมาร (วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2562)

ถาม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 กลุ่ม (หน่วยงานทางการแพทย์สองแห่ง กองทุนไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานด้านกฎหมาย) ที่คุณหมอชวนมาทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทำไมจึงดึงนักกฎหมายเข้ามาร่วมคิดกันแต่แรก
ตอบ การรวมหน่วยงานทางกฎหมายเข้ามาเพราะต้องการให้มั่นใจว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นมากกว่าเรื่องทางการแพทย์ เช่น กฎหมาย ครอบครัว ศาสนา จิตวิญญาณ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่หลายคนเวลาเจอปัญหาแล้วแก้ไขไม่ได้ ต้องมาจบลงที่โรงพยาบาล จึงต้องทำให้ครอบคลุมทุกอย่าง

ถาม หลักสูตรสร้างความตระหนักรู้มีเนื้อหาอะไรบ้าง
ตอบ จะใช้เวลาประมาณ 20-60 นาทีพูดคุยกันในวง เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของตนเอง อาจเป็นญาติ เพื่อนบ้าน หรือคนใกล้ตัว แล้วระบุปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ปัญหาอะไรที่แพทย์พยาบาลช่วยได้ ผู้เข้าร่วมจะพบเองว่าปัญหาทางการแพทย์เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องครอบครัว การเงิน และตัวเขาเองมีส่วนร่วมช่วยเหลือได้ แต่กุญแจสำคัญต้องเป็นประสบการณ์ตรงของแต่ละคน ให้เขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองว่ามีมากกว่าทางการแพทย์และเขามีส่วนร่วมได้

ถาม สิ่งที่ทำให้คนมาเป็นจิตอาสาอย่างต่อเนื่องคืออะไร
ตอบ 1. การไม่เงื่อนไขผูกมัดใดๆ เมื่อฝึกจบแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของจิตอาสาที่จะต้องมาเข้าร่วม แต่ถือว่าเราได้ให้ทักษะความรู้ไปแล้ว เป็นเรื่องของเขาที่อาจจะไปช่วยเหลือคนอื่นต่อในอนาคต
2. พยายามเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เชื่อมโยงให้เห็นเป็นรูปธรรมของแต่ละคน อาจจะเป็นเรื่องเพื่อนบ้าน เพื่อน แล้วผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงได้เองว่าเขาจะทำอะไรต่อได้

ถาม กิจกรรมที่ให้จิตอาสาทำมีอะไรบ้าง
ตอบ เกือบทุกอย่างที่ไม่ใช่การแพทย์ เช่น ไปนั่งเป็นเพื่อนผู้ป่วย นั่งฟังผู้ป่วย หรือระดมอาหารในพื้นที่ไปช่วยบ้านที่ขาดแคลน ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปตามสถานที่ต่างๆ หรือแค่ตรวจดูว่าทานยาครบไหม แผลดูดีหรือเปล่า ถ้าพบปัญหาจะแจ้งให้พยาบาลมาดูแลต่อ

ถาม ทางออกเมื่อโรงพยาบาลไม่มั่นใจในตัวจิตอาสา
ตอบ จิตอาสาจะไม่ค่อยไปถึงโรงพยาบาล เพราะบางทีมีปัญหาไม่มั่นใจเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะให้จิตอาสาดูแลผู้ป่วยในชุมชนเป็นหลัก หรืออาจจะช่วยรับส่งผู้ป่วยจากบ้านไปโรงพยาบาล

ถาม มีระบบการบริหารจัดการจิตอาสาอย่างไร
ตอบ เป็นโครงสร้างหลวมๆ ไม่ใช่สั่งการจากบนลงล่าง คือจะมีจิตอาสาเฉพาะบุคคลในพื้นที่ อยากมาก็มา อยากไปก็ไป ใช้วิธีคิดคุยงานร่วมกันว่าอยากจะทำอะไร ถ้าเงื่อนไขตรงกันแล้วค่อยทำ

ถาม การบริหารจัดการจิตอาสาต้องใช้เงินทุน มีเจ้าหน้าที่ประจำหรือไม่และใช้เงินไปกับอะไร
ตอบ การบริหารงานจิตอาสาไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ แต่ให้อาสาสมัครจัดการกันเอง เช่น เมื่อมีการอบรม จะบอกคนที่มาเข้าร่วมว่ามีการอบรมกี่วัน ต้องการเงินเท่าไหร่ แล้วให้พวกเขาไปหาเจ้าภาพรวบรวมเงินมาเอง

ถาม หากให้จิตอาสาบริหารจัดการกันเอง แล้วจะติดตามการทำงานของจิตอาสาได้อย่างไร
ตอบ ให้แต่ละกลุ่มย่อยจัดการกันเอง ถ้ามีปัญหา ให้แก้ไขปัญหากันเอง หน้าที่หลักของสถาบันคือให้ความรู้ บอกว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วให้จิตอาสาบริหารจัดการกันเองเลย บางรัฐอาจจะกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือของจิตอาสาและมีการตรวจสอบก่อน แต่ในเกรละ ชุมชนจะเป็นคนตัดสินยอมรับและปฏิเสธเองว่าจิตอาสาคนไหนเชื่อถือได้หรือไม่ ใช้งานได้หรือไม่

ถาม ในกรณีเมืองใหญ่ที่คนไม่รู้จักกัน มีประสบการณ์บริหารจัดการจิตอาสาอย่างไร
ตอบ ในชุมชนที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ จะได้จิตอาสาไวและเร็วกว่า ในเมืองใหญ่ต้องใช้เวลาหาจิตอาสาในช่วงแรกนานกว่า แต่ข้อดีคือจะได้กลุ่มคนที่หลากหลายกว่า เช่น จิตกร นักเรียน ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในภายหลัง

ถาม บริบททางสังคมการเมืองการปกครองมีส่วนทำให้จิตอาสาในเกรละอย่างไร ถ้าเปลี่ยนบริบทจะเกิดอะไร
ตอบ สิ่งที่เห็นเป็นผลงานที่สั่งสมมา 25 ปี ช่วงแรกๆ การทำงานจะล้มลุกคลุกคลานและมีมุมมองที่แตกต่างกัน จากตอนแรกที่สถาบันมีความต้องการบางอย่างแล้วหาจิตอาสามาช่วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วรู้สึกว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้ผล จึงเกิดการปรับเปลี่ยนและไม่เรียกว่าจิตอาสา แต่เป็นคนเกรละหนึ่งคน สถาบันมีหน้าที่แค่ให้ความรู้ แล้วปล่อยให้จิตอาสาทำสิ่งที่ต้องการเอง

ถาม ความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายเป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างไร
ตอบ ไม่มีปัญหา ถ้าจิตอาสาเป็นมุสลิมก็จะทำงานในชุมชนของเขาที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน การดูแลกลุ่มต่างศาสนามีน้อย แต่ในเกรละต่อให้ดูแลคนที่มีความเชื่อทางศาสนาและการเมืองต่างกัน ก็เป็นการไปดูแลคนหนึ่งคน ไม่ใช่เห็นต่างแล้วดูแลไม่ได้

ถาม ปัจจัยที่ทำให้เกรละประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ในขณะที่รัฐอื่นๆ ในอินเดียทำไม่สำเร็จ
ตอบ รัฐอื่นๆ อาจจะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่สู้ แต่ประชาชนไม่ร่วมด้วย ส่วนรัฐเกรละ ทุกคนเห็นว่าเป็นวาระร่วม ซึ่งต้องใช้การเสริมพลัง (Empower) ประชาชน และทำให้อำนาจของแพทย์ลดลง แพทย์ต้องลดตัวตนให้เท่าเทียมกับจิตอาสา

ถาม รัฐบาลท้องถิ่นของเกรละเป็นคอมมิวนิสต์ คนรู้สึกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทำให้การขับเคลื่อนงานได้ผลมากหรือไม่
ตอบ น่าจะมาจากอัตราการอ่านออกเขียนได้สูงมากกว่า (ชาวเกรละมีอัตราการอ่านออกเขียนได้เกือบ 100%) ทุกคนอ่านหนังสือพิมพ์ ทุกคนมีความคิดเชิงวิพากษ์ จึงทุกคนเข้าใจเองว่าต้องช่วยเหลือกัน เพราะทุกคนต้องตายเหมือนกันหมด ไม่ใช่เรื่องของการมีแนวคิดคอมมิวนิสต์ อีกอย่างหนึ่งคือการเข้าถึงกลุ่มคนได้มาก สถาบันไม่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากจิตอาสา แต่มาเพื่อให้ ส่วนจิตอาสาจะให้กลับมาหรือไม่ จะทำต่อหรือหยุดทำ เป็นเรื่องของเขาเอง

......

ข้อมูล: วงสนทนาแลกเปลี่ยนกับดร.สุเรช กุมาร เรื่อง “Community Based Palliative Care program – Kerala” เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องอาศรมสุขภาวะ และการบรรยายของดร.สุเรช กุมาร เรื่อง “Compassionate Communities: from vision to reality” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

[seed_social]
12 เมษายน, 2561

เราควรจะบอกหรือไม่ เกี่ยวกับความจริงของอาการป่วย

พระไพศาล วิสาโล : ในสังคมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การบอกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สังคมตะวันออกเรามักต้องดูคนรอบข้างด้วย
13 เมษายน, 2561

ส่งบุญ ด้วยใจเมตตา

หลังกลับจากไปสอนผู้สูงอายุที่เทศบาลไทรโยง บ่ายแก่ๆ ฉันนั่งทำชาร์ตผู้ป่วยจำหน่าย ได้ยินเสียงเทปบทสวดมนต์ที่คุ้นเคย ทำให้นึกถึงคุณยายผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ในใจคิดว่าเป็นอย่างไรกันบ้างหนอ
20 เมษายน, 2561

ไม่รักษาอาการป่วย…จนตาย ถือเป็นการฆ่าตัวตายไหม

ถ้าเรารู้ว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายรักษาไม่หายและเกิดท้อแท้ ไม่อยากรับการรักษาตามขั้นตอนของแพทย์ ปล่อยให้ตัวเองเสียชีวิตไปเอง แบบนี้เราจะบาปเหมือนกับการฆ่าตัวตายหรือไม่