parallax background
 

ความรักของซิเซลี ซอนเดอร์
ตอนที่ 2

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณะธนะ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

หลังจากเดวิด ทาสมา คนรักคนแรกของซอนเดอร์สจากไป เธอตัดสินใจทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์แผนกคนยากไร้ต่อ ที่เซนต์ลูค เบย์วอเตอร์ ที่นั่น เธอได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนอื่นๆ และมีความปรารถนาอย่างมากที่จะช่วยให้พวกเขาจากไปอย่างสงบ

ศัลยแพทย์ชายท่านหนึ่งเห็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของซอนเดอร์ส จึงแนะนำให้เธอเรียนต่อเพื่อจะเป็นแพทย์วิชาชีพ บทบาทแพทย์น่าจะช่วยให้ซอนเดอร์สช่วยผู้ป่วยได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางกว่านักสงคมสงเคราะห์ ซอนเดอร์สเห็นด้วย จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์เซนต์โทมัส จนจบเป็นพยาบาลก่อนที่จะเรียนต่อเป็นศัลยแพทย์และจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1957

หนึ่งปีหลังเรียนจบ ซอนเดอร์สทำงานที่โรงพยาบาลเซนต์โจเซฟฮอสพิซ ซึ่งบริหารงานภายใต้คณะแม่ชีโรมันคาทอลิก ในระหว่างนั้น เธอได้รับทุนวิจัยจากโรงพยาบาลเซนต์แมรี่

ที่นั่น เธอวิจัยเกี่ยวกับการจัดการความปวดจากโรคที่รักษาไม่หาย และนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อยกสถานะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัยชิ้นนั้นช่วยยกระดับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการความปวดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ซอนเดอร์สเสนอว่า แนวทางการให้ยาแก้ปวดแบบเดิมเป็นวิธีการจัดการความปวดที่มีประสิทธิภาพน้อย กล่าวคือ หากปล่อยให้คนไข้ปวดจนถึงระดับที่ทนไม่ไหวจนต้องขอยาแก้ปวด กว่ายาจะออกฤทธิ์ คนไข้จะผ่านจุดที่ "ปวดเกินเยียวยา" และยาบรรเทาปวดจะออกฤทธิ์โดยสูญเปล่า

แทนที่จะให้ยาเมื่อปวดรุนแรงจนทนไม่ไหว แพทย์ควรประเมินความปวดอย่างใกล้ชิด หากคนไข้มีแนวโน้มที่จะปวดรุนแรง แพทย์ควรให้ยาแก้ปวดในปริมาณสูงไว้ก่อน (Constant Pain Needed constant control) เมื่อควบคุมความปวดแล้วจึงลดปริมาณยาลงในภายหลัง

ปี 1958 ซอนเดอร์สเขียนบทความทางการแพทย์เสนอวิธีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแนวใหม่ว่า “หากแพทย์เจ้าของไข้รู้สึกหมดหวังในการรักษา (เพราะคนไข้ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย) ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะพลอยรู้สึกสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง และหมดอาลัยตายอยาก”

เธอเสนอว่าแพทย์ไม่ควรรู้สึกหมดหวัง แต่ควรจะมีความหวังในการดูแลความสุขสบาย แพทย์ควรกลับมาเป็นหลักของทีมสุขภาพ เพื่อลดความทุกข์ทรมานแม้ผู้ป่วยจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ยังมีหนทางที่แพทย์จะดูแลผู้ป่วยด้วยความรัก ทำให้พวกเขามีความหวัง มีความอบอุ่นสบายใจ จนกว่าพวกเขาจะจากไป

วารสารการแพทย์แห่งอังกฤษปี 2005 ชื่นชมแนวทางที่ซอนเดอร์สวางพื้นฐานไว้ว่า เป็นแนวทางที่ช่วยลดความกลัวและกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยอย่างมาก ช่วยลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบและสุขสบาย ซอนเดอร์สช่วยให้แพทย์ตระหนักว่า แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ความเจ็บปวดที่เกินเยียวยา" (แม้ว่าซอนเดอร์สจะเคยเจอแพทย์ที่น่าระอาเกินเยียวยาบ้างก็ตาม)

ซอนเดอร์สยังเสนอว่า หากแพทย์บรรเทาความปวดทางกายให้ลดลงได้ จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานทางใจลงไปด้วยเช่นกัน

ซอนเดอร์สยังเสนอให้แยกแยะความปวดออกเป็นระดับต่างๆ เช่นปวดน้อย ปวดปานกลาง ปวดรุนแรง เพราะความเจ็บปวดที่มีระดับต่างกัน ต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน เธอยังค้นพบวิธีที่ช่วยบรรเทาความไม่สบายกายด้านอื่นๆ ของผู้ป่วยระยะท้ายอีกด้วย เช่น การเป็นแผลกดทับ ความรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน ความซึมเศร้า ท้องผูก และอาการหายใจไม่ออก

ปี 1960 ที่เซนต์โจเซฟฮอสพิซ ซอนเดอร์สพบกับแอนโทนี มิชเนียวิช (Antoni Michniewicz) ผู้ป่วยชายชาวโปแลนด์อีกคนหนึ่งซึ่งกำลังเผชิญความตาย เขาคือภาพสะท้อนอดีตคนรักของเธอ อีกครั้งที่ซอนเดอร์สตกหลุมรักหนุ่มโปลิช ทั้งสองมีความสุขและมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง

ในปีเดียวกันนี้ มิชเนียวิชเสียชีวิตพร้อมกับพ่อของซอนเดอร์ส นั่นทำให้เธอได้สำรวจสภาวะของตัวเองซึ่งเรียกว่า พยาธิสภาพจากความโศกเศร้า (Pathological Grieving) ขณะเดียวกันเธอกล่าวถึงการตายของมิชเนียวิชว่า “ในขณะที่ร่างกายอ่อนแอลง จิตวิญญาณของเขากลับเข้มแข็งขึ้น”

การสัมผัสถึงความโศกเศร้าอย่างลึกซึ้งของซอนเดอร์ส แม้จะทำให้เธอรู้สึกแย่เกินกว่าจะบรรยายเป็นคำพูดใดๆ แต่ขณะเดียวกัน ความโศกเศร้านี้เองที่ทำให้ซอนเดอร์สเข้าใจความรู้สึกของญาติผู้สูญเสีย จนเธอกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า "บัดนี้ฉันเข้าใจแล้วล่ะว่า ครอบครัวผู้สูญเสียมีความรู้สึกเช่นไร"

พยาธิสภาพจากความโศกเศร้า (Pathological Grieving)

เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกโศกเศร้าเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้สูญเสียอาจมีอาการแยกตัว ซึม หงอยเหงา หมดแรง รู้สึกไร้ค่าไร้ความหมาย บางคนแสดงออกทางความโกรธ อาจมีอาการหายใจติดขัด อ่อนเพลีย ตัวชา หน้ามืด คลื่นไส้วิงเวียน รู้สึกเลื่อนลอย หมกมุ่นกับความคิด บางคนเลือกที่จะเก็บสิ่งของแทนตัวผู้จากไปเอาไว้

เป็นไปได้ที่ความโศกเศร้าตามปกติจะแสดงอาการต่างๆ ข้างต้นออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปี ผู้สูญเสียควรจะยอมรับความจริงได้ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักได้ตายไปแล้วจริงๆ และสามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ความหมายใหม่ต่อการสูญเสียและบุคคลผู้จากไป จนกระทั่งดำเนินกิจกรรมชีวิตได้อย่างปกติ

แต่ถ้าความโศกเศร้านั้นเกิดขึ้นยาวนาน (เกิน 6 เดือน) มีความเข้มข้นรุนแรง มีความพยายามฆ่าตัวตาย มีความคิดที่ไร้เหตุผล เช่น “เขาตายเพราะฉัน” “การที่เขาตายเป็นความผิดของฉัน” ในลักษณะคิดซ้ำๆ หรือย้ำคิด จนไม่สามารถควบคุมความคิดได้ ร่างกายทรุดโทรม ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันหรือช่วยเหลือตนเองได้ เราควรสงสัยไว้ก่อนว่า เขาเหล่านั้นกำลังประสบความโศกเศร้าที่ผิดปกติ มีพยาธิสภาพจากความโศกเศร้า อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคทางจิตประสาท ควรดำเนินการโดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

แม้ว่าซอนเดอร์สจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความโศกเศร้าที่ผิดปกติ แต่ซอนเดอร์สก้าวผ่านภาวะที่ยากลำบากนี้ไปได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอได้เห็นความเข้มแข็งของคนรักแม้ในช่วงเวลาใกล้ตาย นอกจากนี้ เธอได้ให้ความหมายของประสบการณ์ความสูญเสียว่าเป็นข้อดี เพราะทำให้เธอเข้าใจผู้ผ่านความสูญเสีย จึงให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวได้ดีขึ้น

รวมทั้งในช่วงเวลาเดียวกัน ซอนเดอร์สได้ตัดสินใจอย่างแรงกล้าแล้วว่า เธอจะสร้างฮอสพิซให้สำเร็จให้จงได้

ติดตามเรื่องราวของ ซิเซลี ซอนเดอร์สตอนที่ 1
และการก่อตั้งเซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซต่อ ใน Peaceful Death ในฉบับต่อไป

[seed_social]
7 มีนาคม, 2561

เรียนรู้สู่สังคมสูงวัย กับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย

อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น และประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้วโดยสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าผู้สูงอายุในไทย (อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปตามนิยามสากล) ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ (พ.ศ. ๒๕๖๘) จะมีจำนวนร้อยละ ๑๗ และร้อยละ ๒๗ ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ (พ.ศ. ๒๖๐๓) 
25 เมษายน, 2561

Dharma Rosa ธรรมะจากดอกไม้

ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา ขอให้เรารู้สึกถึงความหมายอันงดงามให้ได้ ขอให้เราเชื่อและมีศรัทธาที่มั่นคง ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้จริง รู้สึกมหัศจรรย์ได้ว่ามันต้องเกิดเช่นนี้แหละ ว่าคนเรามีกรรมเป็นของตัวเอง
4 เมษายน, 2561

สารานุกรมนานามรณะ

Bird Eye View ขอโฉบข้ามโลกย้อนอดีต ด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปเจอบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งว่าด้วยนานามรณะของทางฝรั่ง อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างเผื่อจะได้เอาดูเทียบกับบ้านเราบ้างเรื่องที่หยิบมาเล่า