parallax background
 

การุณยฆาตในสัตว์เลี้ยง

ผู้เขียน: ณพร นัยสันทัด หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อหลายเดือนก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านเรื่องของหมาตัวหนึ่งที่เพื่อนๆ แชร์มาทางเฟซบุ๊ก เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าช่วงชีวิตแสนสุขในวันสุดท้ายของเจ้าดู๊กกี้ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ สีดำ ก่อนที่มันจะถูกทำการุณยฆาต จากการป่วยเป็นมะเร็งกระดูก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก (link : http://pet.kapook.com/view93125.html) เลยทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะเขียนถึงเรื่องราวเหล่านี้ เพราะกังวลลึกๆ ว่าคนจะเห็นว่าวิธีการนี้ดีจัง เลือกเวลาที่เราพร้อมได้ด้วย โดยลืมที่จะหันมามอง หรือถามเจ้าของชีวิตก่อนตัดสินใจ

เบื้องต้นขอทำความเข้าใจศัพท์คำนี้ก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร “การุณยฆาต” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำว่า “mercy killing” และ “euthanasia” สามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ ประเภทแรกเป็น การุณยฆาตแบบสมัครใจ (voluntary euthanasia) คือผู้ตายประสงค์จะจบชีวิตของตนเองเนื่องจากต้องการยุติโรคร้ายที่รุมเร้า หรือความพิการอย่างรุนแรง แต่ไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง จึงร้องขอให้ผู้อื่นกระทำ ประเภทที่สองเป็น การุณยฆาตแบบไม่สมัครใจ (involuntary euthanasia) คือ ผู้ตายไม่อยู่ในภาวะที่จะตัดสินใจได้เองว่า ตนควรตายหรือไม่ แต่มีผู้อื่นตัดสินใจและกระทำแทน การุณยฆาตในสัตว์เลี้ยง จัดอยู่ในประเภทที่สอง เพราะสัตว์ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ว่าภายใต้สภาวการณ์หนึ่งนั้นตนควรมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ และในขณะเดียวกัน สัตว์ไม่สามารถฆ่าตัวตายได้ การุณยฆาตในสัตว์เลี้ยงมักเกิดขึ้นด้วยเหตุผล ๓ ประการด้วยกันคือ ความเจ็บป่วย ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความไม่พร้อมที่จะดูแลสัตว์ และสภาพทางจิตใจของเจ้าของสัตว์และตัวสัตว์ (อ้างอิงจาก http://petgang.com/article/index.php?Group=22&Id=8)

ซึ่งจากการหาข้อมูลพบว่า กรณีที่มักมีการถกเถียงกันมากคือ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากสัตว์เลี้ยงที่หนักจนเกินเยียวยา เจ้าของจึงตัดสินใจฉีดยาเพื่อให้หลุดพ้นจากความทรมาน ซึ่งในกรณีของประเทศไทย การเลือกวิธีการนี้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่พูดกันได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นในบางประเทศทางตะวันตก มีบริการแบบนี้และไม่จำเป็นที่จะต้องมาทำที่คลินิกเท่านั้น สามารถทำได้นอกสถานที่เช่นกรณีของเจ้าดู๊กกี้

ในมุมมองของคนที่เลี้ยงสัตว์ ก็มีมุมมองทั้ง ๒ แบบคือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ในมุมของเจ้าของดูแลกันมาจนเปรียบเสมือนสมาชิกหนึ่งในบ้าน การตัดสินใจเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงพื้นฐานความคิดทางศาสนาของแต่ละคน เช่น ในทางพุทธศาสนาการตัดสินใจแบบนี้อาจจะมีข้อถกเถียงกันอยู่ ว่าบาปหรือไม่บาป? จะถือว่าเป็นการฆ่าไหม? หรือเป็นการช่วยให้พ้นทุกข์จากความทรมาน?

ในมุมมองของสัตวแพทย์ ที่โดยบทบาทย่อมมีส่วนในการตัดสินใจ ให้ข้อมูล รวมถึงลงมือกระทำ ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป มีทั้งเห็นด้วยโดยใช้เกณฑ์ความเจ็บป่วยของโรคเป็นหลักในการตัดสินใจ (แม้หมอบางคนอาจจะมีความรู้สึกผิดที่ทำไปแล้วอยู่เหมือนกัน) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้นำเสนอให้ใช้วิธีการนี้แต่แรก แต่ด้วยสถานการณ์ในการรักษา ณ ขณะนั้นจะเป็นตัวบอกเอง แต่ก็มีหมอบางคนที่ให้ความเห็นได้น่าสนใจว่า “ในมุมมองของหมอเอง ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าสงสาร หรือทนดูเขาทรมานไม่ได้ ในกรณีเดียวกัน ในผู้ป่วยที่นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ในเครื่องช่วยชีวิตที่มีสายระโยงระยาง ทำไมเราถึงไม่ทำแบบเดียวกันล่ะ มีแต่การยื้อกันสุดฤทธิ์ หรือปั๊มกันหลายรอบ แต่นั่นเป็นเพราะชีวิตของสรรพสัตว์เขาไม่มีญาติพี่น้องมานั่งร้องไห้คร่ำครวญ หรือมานั่งเฝ้า หรือเพราะเขาพูดไม่ได้ มนุษย์อย่างเราจึงสรุปเอาเอง ไม่ว่าหมา แมว คน มด ปลวก ก็นับเป็น ๑ ชีวิตเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของเขา

การเลือกทำการุณฆาตเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียวเมื่อสัตว์เลี้ยงของเราอยู่ในระยะท้าย แต่ยังมีแนวทางอื่นๆ ในการดูแลรักษา ที่เราในฐานะเจ้าของต้องเป็นคนตัดสินใจเอง เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้เท่าหัวใจของเจ้าของเอง

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ เปิดสอนปริญญาเอกด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นแห่งแรกของโลก

มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ (Lancaster University) เปิดรับนักศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการดูแลแบบประคับประคองเป็นแห่งแรกของโลก จำนวน ๑๖ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓
17 เมษายน, 2561

นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายฯ จี้ สปสช. ผลักดัน Palliative Care เข้าไปอยู่ในระบบ ๓๐ บาท

เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
18 เมษายน, 2561

ความเสียใจ 5 อันดับแรก ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ฉันทำงานเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาแล้วหลายปี คนไข้ของฉันคือกลุ่มคนที่กลับไปเสียชีวิตที่บ้าน บางช่วงเวลาที่พิเศษอย่างเหลือเชื่อได้ถูกแบ่งปัน เมื่อฉันได้อยู่ร่วมกับพวกเขาในช่วง ๓-๑๒ สัปดาห์สุดท้ายของชีวิต