เมื่อทุกอย่างพังทลาย
หนทางฝึกใจในช่วงวิกฤตของชีวิต

ผู้เขียน: GARUDA หมวด: ชุมชนกรุณา


 

หนังสือ เมื่อทุกอย่างพังทลาย หนทางฝึกใจในช่วงวิกฤตของชีวิต
ผู้แต่ง เพม่า โชดรัน
ผู้แปล วิจักขณ์ พานิช และอัญชลี คุรุธัช
สำนักพิมพ์ ฟรีมายด์
ผู้รีวิว GARUDA

หนังสือ เมื่อทุกอย่างพังทลาย แปลจากหนังสือชื่อ When the Things Fall Apart : Heart Advice for Difficult Times ของ เพม่า โชดรัน (Pema ChÖdrÖn) ภิกษุณีชาวอเมริกัน และหนึ่งในศิษย์แถวหน้าของ เชอเกียม ตรุงปะ วัชรธรรมาจารย์ผู้เป็นที่เคารพอย่างสูงผู้หนึ่งในโลกตะวันตก งานเขียนเล่มนี้เพม่าเชื่อมโยงการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากแรงขับเคลื่อนของความหวังและความกลัว เพื่อบ่มเพาะปัญญาและความกรุณาตามหลักไตรยาน

ในบทแรก “สนิทสนมกับความกลัว” เพม่า นำเราทำความเข้าใจแรงขับเคลื่อนพื้นฐานคือความหวังและความกลัว ที่นำเราเข้าสู่เส้นทางแห่งจิตวิญญาณ เพม่าเน้นย้ำว่าความกลัวเป็นประสบการณ์สากลที่ทุกสรรพชีวิตต่างมีร่วมกัน เราต่างมีปฏิกิริยาต่อความเหงา ความตาย หรือการสูญเสียที่พึ่ง อีกความหมายคือ ความกลัวเป็นปฏิกริยาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเราเข้าใกล้ความจริง

อีกด้านหนึ่งของแรงผลักเมื่อเราออกเดินทางคือ ความหวังและอุดมคติมากมายที่เราอยากเติมเต็ม การค้นพบบนเส้นทางของการภาวนาจึงไม่ได้หมายถึงการยึดถือสิ่งใด แต่เป็นความกล้าตายและพร้อมยอมตายอย่างต่อเนื่องจากความหวังและความกลัว และช่วงวิกฤตของชีวิตไม่ว่าการมาเยือนของความเจ็บป่วยหรือความตาย ในรูปการสูญเสียคนรัก การสูญเสียความเป็นหนุ่มสาว หรือการสูญเสียชีวิต เป็นช่วงเวลาที่จะทดสอบเราว่า เมื่อสิ่งต่างๆพังทลายลง เราตื่นขึ้นหรือไม่หรือจะหลอกตัวเองต่อไป ประสบการณ์ที่ไร้หลักยืนในช่วงที่ทุกอย่างพังทลายเปรียบได้กับการค้นพบเมล็ดพันธุ์แห่งการค้นพบความดีงามพื้นฐานภายในตัวเราเอง ถ้าหากว่าเราสัมพันธ์กับประสมการณ์เหล่านี้ได้อย่างซื่อตรง มีไมตรีต่อตัวเอง และบ่มเพาะปัญญาและความกรุณาอย่างต่อเนื่องตามเส้นทางของไตรยานของหินยาน มหายาน และวัชรยาน

ขั้นหินยาน
ในขั้นหินยานอันเป็นเส้นทางของการฝึกใจตนเองเริ่มจากบทที่สาม เพม่า ให้ความเข้าใจต่อทัศนคติการภาวนาว่า เราไม่ได้พยายามเดินตามอุดมคติอะไร เรียกได้ว่าแทบจะตรงกันข้าม เราเพียงอยู่กับประสบการณ์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นยังไร “ชั่วขณะนั้นคือครูที่ดีที่สุด” จากนั้นค่อยเสนอความเรียบง่ายแห่งวินัยของการนั่งภาวนา การผ่อนคลายตามที่เป็นที่จะนำเราหยุดดิ้นรน การเผชิญกับความคิด อารมณ์ และความทุกข์ตรงๆ พิจารณาอย่างใกล้ชิด ชื่นชม และเปิดใจให้กว้าง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการมีไมตรีต่อตนเอง เพราะความจริงแล้วเมื่อเราพร้อมเลิกล้มความหวังว่าสักวันความทุกข์และความไม่มั่นคงจะถูกขจัดออกไป เมื่อนั้นเราจะมีความกล้าที่จะผ่อนคลายอยู่กับภาวะไร้หลักยืนในชีวิตได้ นี่คือก้าวแรกบนหนทางที่จะเป็นอิสระจากความหวังและความกลัว

ข้อน่าสนใจอีกอย่างคือการให้ความหมายและปฏิบัติต่อความตาย โดยเพม่าได้ยกปาฐกถาของท่านตรุงปะ รินโปเช ในหัวข้อ “ความตายในชีวิตประจำวัน” ว่าเราถูกเลี้ยงมาในวัฒนธรรมกลัวตายและพยายามเก็บซ่อนมันไว้ ในความจริงแล้ว เราประสบกับความตายในรูปของความผิดหวัง ความไม่ลงตัว สรรพสิ่งอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เมื่อหมดวัน เมื่อหมดวินาที เมื่อเราหายใจออก นั่นคือความตายที่เราพบในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ความตายในชีวิตประจำวันยังหมายถึงการประสบกับสิ่งที่เราไม่ต้องการ ชีวิตที่ล้มเหลว งานไม่เสร็จ การมีความสัมพันธ์กับความตายในชีวิตประจำวันคือ เราเริ่มรู้จักรอได้ ผ่อนคลายกับความไม่มั่นคง ความตื่นตระหนก ความละอายใจ และความไม่ลงตัวทั้งหลายได้ ความตายและความสิ้นหวังจึงเป็นแรงจูงใจที่เหมาะกับการมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยปัญญาและความกรุณา แต่แรงจูงใจนี้ถูกปฏิเสธตลอดเวลา การภาวนาในขั้นหินยานจึงเป็นการอยู่กับความสิ้นหวังและความตาย นั่นคือเลิกดิ้นรน ผ่อนคลายกับปัจจุบันขณะ ผ่อนคลายกับความจริงที่ว่าทุกสิ่งมีจุดจบ ทุกสิ่งผ่านพ้นไป ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อนั่นเราจะรื่นรมย์กับชีวิตได้ ซื่อตรง และไม่เพิกเฉิยต่อความไม่เที่ยงและความตายอีกต่อไป

นอกจากนี้ เพม่านำหลักธรรมมาอธิบายได้อย่างร่วมสมัยได้แก่ โลกธรรมแปด ทางสายกลาง ไตรลักษณ์ และมารทั้งสี่ โดยเฉพาะคำสอนเรื่องมารทั้งสี่ เพม่าให้มุมมองว่า สิ่งที่เรามองเห็นเป็นอุปสรรคแท้จริงแล้วไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นมิตร อุปสรรคคือหนทางที่โลกและประสบการณ์ชีวิตสอนให้รู้ว่าเรายังติดข้องอยู่ตรงไหนบ้าง มารทั้งสี่คือ เทวบุตรมาร ขันธมาร กิเลสมาร และยมมาร รูปแบบมารทั้งสี่นี้เราต่างก็ถูกโจมตีไม่ต่างพระพุทธเจ้าไม่ต่างจากที่โจมตีเราในปัจจุบัน

• เทวบุตรมาร เกี่ยวข้องกับการแสวงหาความสุข อีกความหมายคือหลบเลี่ยงความทุกข์แทนที่จะเปิดใจต่อสับสนที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายมากมายบนโลกนี้ • ขันธมาร เกี่ยวกับวิธีการพยายามสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่หรือปฏิกิริยาตอบโต้เมื่อเราไร้หลักยืนหรือสิ่งที่เรายึดพังทลายลง เพื่อสร้างบุคลิกตัวตนให้ดูมีแก่นสารไม่เปลี่ยนแปลง แทนที่จะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นและไว้วางใจอยู่กับปัญญาญาณพื้นฐาน
• กิเลสมารเกี่ยวกับการใช้อารมณ์ความรู้สึกมาทำให้ตัวเองเบื้อใบ้หรือหลับใหลเมื่อทุกสิ่งพังทลายลงและเรารู้สึกความไม่แน่นอน ความผิดหวัง ความตกใจ หรือความน่าอับอาย เราใช้อารมณ์ปรุงแต่งเป็นหลักยืน เราใช้มันเพื่อทำให้ทุกอย่างมั่นคงปลอดภัย และคาดเดาได้ แทนที่เราจะนั่งอยู่กับพลังอารมณ์ เป็นมิตรกับตนเอง และปล่อยให้มันผ่านไป
• สุดท้าย ยมมาร เกี่ยวกับความกลัวตาย มารตนนี้ยื้อยึดให้เราเข้าใจจากมุมมองสังสารวัฏว่า หากทุกสิ่งสามารถจัดการได้ลงตัวแล้วทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบและมีความมั่นคง แต่ในมุมมองผู้ตื่นนั่นคือความตาย เพราะการมีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยมและการตื่นรู้อย่างสมบูรณ์ คือการถูกจับโยนออกจากรังอันสะดวกสบายอยู่ตลอดเวลา การมีชีวิตคือการยอมตายครั้งแล้วครั้งเล่า

ยมมารคือความกลัวตายหรืออาจเรียกได้ว่า การกลัวมีชีวิตที่จะตื่นรู้ แต่หากเราสามารถอ่อนโยนและเป็นมิตรกับตัวเองได้ มารทั้งหลายจะนำเราไปสู่การมีชีวิตที่ตื่นรู้และมีชีวิตชีวาได้ด้วยการปล่อยวาง ไม่ต้องมองหาความพึงพอใจและหลบเลี่ยงความเจ็บปวด ทั้งไม่จำเป็นต้องสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่เมื่อมันพังทลายลง เราอยู่กับชั่วขณะกับประสบการณ์ตรงหน้าอย่างเป็นมิตร และสติปัญญาพื้นฐาน นี่คือขั้นหินยานที่จะเปิดหัวใจเราสู่ขั้นมหายาน

ขั้นมหายาน
ในขั้นมหายาน เพม่า เริ่มอธิบายจากบทที่สิบสองว่าด้วย “เติบโต” ในขั้นหินยานวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้การปฏิบัติของเราแม่นยำและซื่อสัตย์กับค้นพบความจริงด้วยตนเอง แต่วินัยที่ปราศจากไมตรีอาจทำให้เรารู้สึกหวุดหงิดและก้าวร้าว ไมตรี ในที่นี้อาจแสดงออกทางหัวใจที่ตื่นรู้ หรือโพธิจิต บางครั้งเรียกว่าความเป็นมิตรอันไร้ของเขตอันเป็นคำสอนสำคัญในมหายาน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเติบโตไปสู่พื้นที่ของความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสรรพสัตว์

การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความกรุณาหมายความว่า เราไม่ปิดตายกับตัวเอง ยอมให้ตัวเองได้รู้สึกในสิ่งที่เรารู้สึก และไม่ผลักไสออกไป ทั้งเป็นการยอมรับตัวเองในทุกๆด้าน แม้ด้านที่เราไม่ชอบ การทำเช่นนี้เราอาศัยความเปิดกว้าง หรือคำสอนเรื่อง ความว่าง นั่นคือการไม่ยึดถือหรือเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ ไม่ตัดสิน ไม่มีอคติ นั่นทำให้เราอยู่กับผู้อื่นและสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างเหมาะสม

โพธิจิตหรือหัวใจอันตื่นรู้ที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เราสามารถปลุกเร้าโพธิจิตหรือความอ่อนโยนต่อชีวิตให้ตื่นขึ้นได้เมื่อเราไม่ปกป้องตนเองจากสภาวะอันเปราะบาง ท่ามกลางความโดดเดี่ยว ท่ามกลางความหวาดกลัว ท่ามกลางความรู้สึกกังวลว่ามีคนเข้าใจเราผิด ความรู้สึกถูกปฏิเสธ นี่คือช่วงเวลาของการสัมผัสหัวใจแห่งโพธิจิต หรือหัวใจแห่งความเศร้าที่แท้ ซึ่งเป็นหัวใจที่พร้อมแตกสลาย และไม่มีท่าทีของการพยายามปกป้องตัวเองจากความสัมพันธ์ใด มันเป็นความเปิดกว้างพื้นฐานที่เรียกว่า สุญญตา ที่มีคุณลักษณะความอ่อนโยนและความอบอุ่นแห่งความกรุณา และอยู่กับภาวะไร้หลักยืน

ในขั้นของมหายานตรรกะของมันจึงย้อนแยง เพราะแทนที่เราจะฝึกใจให้เป็นหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่เราเคลื่อนเข้าหาความปั่นปวนและสับสน ดังนั้นในกระบวนการฝึกโพธิจิต วิธีหนึ่งคือ การปฏิบัติทองเล็น วิธีการที่นำเราสัมพันธ์กับความทุกข์ทั้งในตัวเราและในสรรพสิ่ง เป็นวิธีการใช้พิษถอนพิษ นั่นเพราะว่า ทองเล็นย้อนตรรกะปกติของการหลีกหนีความทุกข์และแสวงหาความสุข แต่ทองเล็นปลุกความกรุณาในตัวเรา ทำให้กำแพงที่เราสร้างไว้รอบๆหัวใจค่อยทลายลง ทลายเปลือกของการปกป้องตนเองของอัตตา ทองเล็นมีวิธีสี่ขั้นตอนคือ เริ่มต้นผ่อนพักจิตในความเปิดกว้างอันไร้งื่อนไข สอง ใส่ใจคุณลักษณะ โดยหายใจเข้าพร้อมความรู้กสึกร้อน มืดมิด หรือหนัก หายใจออกพร้อมความรู้สึผ่อนคลาย สว่างไสว หรือเบาสบาย สาม ใส่ใจกับสถานการณ์ของตน หายใจรับความทุกข์ ความเจ็บปวดของสถานการณ์ของใครสักคน (ผู้ที่กำลังป่วย กำลังใกล้ตาย หรือตายไปแล้ว รวมทั้งผู้ที่กำลังมีความทุกข์ในลักษณะใดก็ได้) แล้วส่งความบรรเทาทุกข์ ผ่อนคลาย หรือแสงสว่างหรือดอกไม้ให้คนๆนั้น ขั้นสุดท้าย ขยายการรับเข้าและส่งออกนี้ให้กว้างขึ้น ขยายสู่ผู้อื่น และสรรพสัตว์ที่มีความทุกข์แบบเดียวกัน หากเราปฏิบัติทองเล็นให้ญาติเราที่ใกล้ตาย ในขั้นสุดท้ายเราจะรวมทุกผู้คนและสรรพสัตว์ที่กำลังเผชิญความทุกข์เช่นเดียวกันนี้ด้วย ความกรุณาและความเปิดกว้างได้ถูกปลุกเร้าและขยายกว้างในยานแห่งความสัมพันธ์

ขั้นวัชรยาน
ในขั้นวัชรยาน เพม่า อธิบายถึง “คำสอนปากเปล่าอันเร้นลับ” ปรากฏในบทที่สิบแปดไว้ว่า เมื่อรู้สึกถูกบีบคั้น จิตเรามีแนวโน้มหดเล็กลง รู้สึกย่ำแย่ราวเป็นเหยื่อ คล้ายคนน่าสมเพช ช่วยอะไรไม่ได้ แต่เชื่อหรือไม่ ในเวลาที่เราสับสนวุ่นวาย ตื่นตระหนก หรือละอายใจ จิตเราสามารถขยายกว้าง เราก็แค่ทิ้งเรื่องเล่า คำบ่นทั้งหลายที่มีต่อตนเองและคนอื่นไปเสีย เราเพียงอยู่ที่นั่นโดยไม่ปกป้องตนเอง ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เพียงอยู่เฉยๆกับพลังที่ดิบและอ่อนโยนของชั่วขณะนั้น และอยู่กับความโชคดีที่ไม่มีพื้นให้เราหยัดยืนหรือยึดเหนี่ยว นี่คือสถานที่ที่เราเริ่มจะค้นพบความหมายภายใต้หลักคิดและถ้อยคำทั้งหลาย ที่ทำให้เราอ่อนโยนขึ้นและให้เราโตเป็นผู้ใหญ่เสียที ดังที่ตรุงปะ รินโปเช กล่าวว่า มนตราที่ดีที่สุดคือ “โอม เติบโตขึ้น สวาหะ” ซึ่งหมายถึงการลองดูว่าจะเป็นอย่างไรหากไม่เหวี่ยงไปกับการตัดสินถูกผิด และลองเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายกับภาวะไร้หลักยืน เพียงมองสถานการณ์อย่างที่มันเป็น ในฐานะภาวะอันปราศจากเงื่อนไขและความเป็นไปตามธรรมดา ที่จะนำเราค้นพบความหมายอันแท้จริงของชีวิต

หนทางแห่งนักรบ
หนังสือ เมื่อทุกอย่างพังทะลาย เพม่าสรุปหนทางของนักรบที่จะบ่มเพาะปัญญาและความกรุณาไปกับความโกลาหลที่เราพบเจอในทุกสถานการณ์ผ่านไตรยานไว้สามวิธีได้แก่ “การหยุดดิ้นรน” ในขั้นหินยานผ่านการฝึกสมถะและวิปัสสนาภาวนา เพื่อที่จะกลับสู่ปัจจุบันขณะ ความเรียบง่าย และการหยุดต่อสู้กับตนเอง ทั้งต่อสภาวะ อารมณ์ ความรู้สึกทั้งหลาย มันคือการพัฒนาไมตรีหรือทัศนคติแห่งการไม่ตัดสิน นี่เป็นวิธีการหลักเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันเจ็บปวด ความทุกข์ การสูญเสียในทุกระดับ และความกลัวในชีวิตประจำวัน วิธีที่สอง “การใช้พิษถอนพิษ” หรือการปฏิบัติทองเล็นในขั้นมหายาน เพื่อใช้สถานการณ์ที่ยกลำบากปลุกเราให้ตื่น เปิดกว้างโดยปราศจากเงื่อนไข และปลุกความรักและความปรารณาดีที่เรามีต่อผู้อื่น และวิธีที่สาม “การตระหนักว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเผยแสดงของพลังแห่งการตื่นรู้” ในขั้นวัชรยาน ที่นำเราข้ามพ้นข้อจำจัดของมุมมองทวิลักษณ์ และพัฒนาจิตใจที่ยืดหยุ่น เพื่อเห็นว่าตัวเองตื่นรู้อยู่แล้ว และโลกนี้ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว

หนังสือเล่มนี้เสนอคำสอนตามหลักไตรยานอย่างเรียบง่ายและอ่อนโยน ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการมองเห็นและการสัมพันธ์กับสถานการณ์และสิ่งต่างๆบนพื้นฐานของไมตรีต่อตนเอง และความเปิดกว้างอันไร้เงื่อนไข อย่างไรก็ตาม มันก็อาจเปิดโฉบหน้าและลอกหน้ากากที่เราสวมใส่ให้เจ็บปวดได้เช่น เดียวกัน แต่ก็พึงตระหนักว่า สิ่งที่เจ็บปวดนั่นคืออัตตาที่พยายามมองหาความไม่เปลี่ยนแปลง ความมั่นคงและหลักยืนเพื่อยืนยันตัวตนและสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเท่านั้น ดังนั้นหากเราเผชิญกับช่วงเวลาพังทลาย ให้ถือว่านั่นเป็นข่าวสารที่ดี ที่เราจะบ่มเพาะไมตรี ความกรุณา และปัญญาญาญพื้นฐานที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ป่วยและพร้อมจะตาย แต่คนรอบข้างกลับทุกข์ใจ

คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ เขาคิดว่าไม่มีวิธีใดรักษาให้หายได้ มีแต่จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา – จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย
19 เมษายน, 2561

คุณค่าความหมายภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

เครือข่ายพุทธิกาทำงานสร้างทีมสุขภาพที่มีพยาบาล จิตอาสาและภิกษุสงฆ์ เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง ๔ มิติ โดยทุกคนในทีมสุขภาพจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน