parallax background
 

เมื่อของเล่นจำเป็น
สำหรับคุณปู่คุณย่า วัย 61+

ผู้เขียน: อริสรา พิทยายน หมวด: ชุมชนกรุณา


 

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินว่า การเก็บเกี่ยวความสุขระหว่างทางดีกว่ามีความสุขเมื่อถึงจุดหมาย เพราะความสำคัญอยู่ที่การได้มีความสุขในทุกเวลา ชีวิตคนก็เช่นกันเมื่อไม่สามารถคาดเดาได้ว่า วันสุดท้ายจะมาถึงเมื่อไหร่ ก็ควรทำให้ทุกๆ ลมหายใจมีความสุขไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ ปี 2548 แล้ว นั่นคือ มีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 10% ของประชากรทั้งหมด และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 20% ของจำนวนประชากร และคาดการณ์ว่า ในปี 2574 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 28% ซึ่งโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ จะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจตามมา

ในต่างประเทศมีแนวทางและนโยบายต่างๆ เพื่อเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น การสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ โดยขยายอายุเกษียณ ให้ยาวออกไป 3-5 ปี การสนับสนุนให้หน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและเมืองให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ การยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย หรือแม้กระทั้งการผลิตของเล่นที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

โครงการออกแบบของเล่นสำหรับผู้สูงอายุ “BIG TOY Design 2019: เมื่อของเล่นจำเป็นสำหรับคุณปู่คุณย่า 61+” จัดโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม – 18 กันยายน 2562 เป็นกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมสินค้าของเล่นไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการและนักออกแบบให้เข้าใจ เห็นความสำคัญและโอกาสทางธุรกิจของสังคมผู้สูงอายุ สามารถผลิตของเล่นที่เป็นประโยชน์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคตที่จะมาถึง หรือส่งออกไปยังสังคมสูงอายุในต่างประเทศได้

โครงการนี้ได้รับความสนใจจาก หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นด้านผู้ประกอบการ ที่มาจากแวดวงสุขภาพ การท่องเที่ยว เครื่องอุปโภคบริโภค เฟอร์นิเจอร์ และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ด้านผู้ออกแบบ เช่น นักออกแบบเกม กราฟิคดีไซเนอร์ สถาปนิก นักออกแบบโฆษณา เป็นต้น

การออกแบบของเล่น จะต้องมีความรู้พื้นฐานก่อน ทั้งความรู้พื้นฐานด้านผู้สูงอายุ และด้านการออกแบบของเล่นเบื้องต้น ทางโครงการได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน คือ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก มาให้ความรู้เรื่องพัฒนาการของผู้สูงอายุ หรืออาจเรียกความเสื่อมถอยทางสรีระวิทยา มีลักษณะสวนทางกับพัฒนาการของเด็ก นั่นคือ สุขภาพร่างกายทั้งภายนอกและการทำงานของอวัยวะภายในจะมีประสิทธิภาพลดลง สภาพอารมณ์และจิตใจที่เปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น

โดยสามารถแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงอายุระหว่าง 60-69 ปี เรียก “ผู้สูงอายุขั้นต้น” ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุในช่วงนี้ ประมาณ 7 ล้านคน ผู้สูงอายุในช่วงอายุนี้ ยังสามารถทำงานได้ เข้าสังคม และเริ่มให้ความสนใจด้านอาหารคุณภาพ และการออกกำลังกายมากขึ้น สภาวะด้านร่างกายที่เปลี่ยนไป คือ ตา คอ หลัง แขนขาเริ่มมีความเสื่อมมากขึ้น

ช่วงอายุระหว่าง 70-79 ปี “ผู้สูงอายุขั้นกลาง” ประมาณ 3.5 ล้านคน ผู้สูงอายุในช่วงนี้ต้องการการพักผ่อนมากขึ้น ต้องการใช้ชีวิตแบบ “Slow life” หรือการใช้ชีวิตให้ช้าลง ต้องการเรียนรู้สื่อออนไลน์ต่างๆ มากขึ้น ทางด้านร่างกาย มีภาวะ เสื่อม สั่น ล้ม คือ การทำงานของร่างกายและอวัยวะต่างๆ มีความเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด อาจมีอาการสั่นเข้ามาเพิ่ม และสิ่งที่ต้องป้องกันคือ การหกล้ม ลื่นล้มในที่ต่างๆ

ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป หรือ “ผู้สูงอายุขั้นปลาย” ประมาณ 1.5 ล้านคน ในช่วงอายุนี้ ผู้สูงอายุอาศัยการพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น ร่างกายจะมีแรงน้อยลง สมอง ประสาทตอบสนองได้ช้ากว่าคนปกติ บางคนมีโรคและต้องนอนติดเตียง หรืออาจเป็นอัมพาตได้

อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุทั้งสามช่วง จะมีความต้องการที่คล้ายกัน ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสังคม-เศรษฐกิจ คือ

ด้านร่างกาย ต้องการมีสุขภาพแข็งแรง มีผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด ได้พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการใช้งานและป้องกันอุบัติเหตุ

ด้านจิตใจ เปลี่ยนแปลงไปตามร่างกายและสิ่งแวดล้อม รู้สึกท้อแท้ น้อยใจ เครียดง่ายขึ้น การรับรู้เรียนรู้สิ่งใหม่และความจำแย่ลง แต่ยังต้องการการยอมรับ การเคารพยกย่อง และการได้รับความสนใจ

ด้านสังคม ผู้สูงอายุต้องการพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยลง ต้องการใช้ความสามารถของตนช่วยเหลือสังคมและมุ่งสร้างความดีงามให้แก่ตนเองเพิ่มขึ้น ต้องการการประกันรายได้ การประกันความชราภาพ

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อของผู้สูงอายุ มักใช้ Line มากถึง 50% เนื่องจากใช้งานง่าย ส่งรูปภาพสะดวก ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ข้อความเยอะ รองลงมาคือ โทรทัศน์ 24% ผู้สูงอายุมักเปิดทิ้งไว้ให้ได้ยินเสียงคลายเหงา โดยไม่เปลี่ยนช่อง

วิทยากรท่านที่สอง คือ คุณสุกัญญา วงษ์บัวบาน นักกายภาพบำบัด จากมูลนิธิบ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ สถานส่งเคราะห์หญิงชรา จังหวัดนครนายก มาให้ความรู้จากประสบการณ์การทำงานกับผู้สูงอายุโดยตรง

บ้านสุทธาวาส เป็นบ้านที่ต้อนรับผู้สูงอายุหญิง เข้ามาอยู่รวมกัน แบ่งเป็น 2 อาคาร คือ บ้านพึ่งตนสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ และบ้านพึ่งพา สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพึ่งพาจากผู้อื่น กิจกรรมในบ้าน มีตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็น โดยเริ่มจากคุณยาย ตื่นนอนเวลา 4.00 น. แล้วลงมาสวดมนต์ที่ศาลาปฏิบัติธรรมเวลา 6.30 น. ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงไปออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัด

อุปกรณ์สำหรับทำกายภาพ ไม่ได้มีหน้าตาหน้ากลัว หรือทำให้คุณยายรู้สึกเกร็งจนไม่อยากใช้ แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ทำขึ้นง่ายๆ เช่น รอกสองตัวห่างเท่าระยะกางแขนของคุณยาย คล้องกับเชือกแขวนไว้ให้คุณยายได้ดึงออกกำลังกายแขนและมือ จักรยานประดิษฐ์ ได้ออกกำลังขา และเกมหยอดบอลลงรูตามลำดับเลขที่เขียนกำกับไว้ นอกจากจะช่วยให้คุณยายได้ขยับร่างกาย สุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้คุณยายสนุกและไม่เครียด

ในช่วงเวลาทำกายภาพนี้จะสลับกิจกรรมเป็นปลูกผักสวนครัววันเว้นวัน คุณยายที่บ้านสุทธาวาสชอบแปลงผักที่อยู่กับพื้น เพราะได้สัมผัสดิน ได้กลิ่นหญ้าโดยตรง เมื่อผักโตเต็มที่ก็นำไปทำอาหารให้กับเพื่อนคุณยายท่านอื่นทานตอนกลางวัน นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วย

กิจกรรมช่วงบ่าย มีหลากหลายกิจกรรมเพื่อให้คุณยาย ไม่รู้สึกเบื่อ และยังมีการขยับได้ใช้กล้ามเนื้อหลายมัด โดยอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น เกมส่งต่อลูกบอลพลาสติกด้วยกระดาษแข็ง ต้องใช้กล้ามมือบีบกระดาษให้เป็นราง ใช้กล้ามเนื้อแขนประคองกระดาษส่งต่อไปให้คุณยายที่นั่งอยู่ถัดไป คุณยายในวงท่านอื่น ก็ได้ทดสอบความอดทนของตนเองระหว่างรอเล่นด้วย

กิจกรรมตัดกระดาษขนาด A4 ด้วยกรรไกรให้มีความยาวให้ถึง 8 เมตร เป็นอีกกิจกรรมทำให้ใช้ความคิดบริหารสมอง ในการวางแผน และได้ใช้กล้ามเนื้อแขน ข้อมือและนิ้วในการตัดกระดาษด้วย

เกมเรียงคำที่จัดคำให้คุณยายนำเอาตัวหนังสือที่ได้ มาเรียงให้เกิดคำ ก็ทำให้คุณยาย ได้ใช้ความคิด เพิ่มความจำและรักษาทักษะการอ่านไว้ กิจกรรมด้านศิลปะมีให้คุณยายทำเช่นกัน คือ ทาสีบนก้อนหิน ช่วยทำให้คุณยายได้ใช้จินตนาการแสดงความคิดสร้างสรรค์ วาดให้เป็นรูปต่างๆ ได้ใช้กล้ามเนื้อแขนและมือระบายสีให้ได้ตามที่จินตนาการไว้

การทำดอกไม้จันทน์เพื่อนำไปบริจาคให้วัดใกล้เคียง โดยการทำดอกไม้จันทน์ 1 ดอกคุณยายจะช่วยกันทำหลายคน คนละส่วน แล้วนำมาประกอบกัน ระหว่างทำดอกไม้จันทน์ คุณยายได้เข้าสังคม ได้พูดและรับฟังผู้อื่น ลดความรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวได้ และรู้สึกมีความสุขมากกว่ากิจกรรมอื่น เพราะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย

เมื่อได้รู้จักและเข้าใจผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการออกแบบของเล่นแล้ว ทางโครงการได้เชิญวิทยากรท่านที่สาม มาให้ความรู้ถึงกระบวนการออกแบบของเล่นเบื้องต้น โดยคุณ คุณณัชชา โรจน์วิโรจน์ นักออกแบบของเล่น เจ้าของ Blix Pop ของเล่นสำหรับเด็กตาบอด

วิทยากรเล่าถึงการการออกแบบของเล่นให้ผู้สูงอายุนั้นมีความท้าทาย เนื่องจากมีความแตกต่างจากของเล่นเด็กในหลายด้าน ผู้บรรยายแนะนำให้ออกแบบของเล่นที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เล่นได้ง่ายไม่ซับซ้อน แต่อยากกลับมาเล่นอีกเรื่อยๆ และทุกคนสามารถเล่นของเล่นนี้ได้

กระบวนการออกแบบ เริ่มจากวางเป้าหมายให้ ผู้สูงอายุเป็นผู้ใช้งานหลัก ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพ และนิสัยของผู้สูงอายุ โดยการสังเกต ไม่ว่าจะเป็นทางการมอง การรับฟัง การคิด และการถามผู้สูงอายุหลายหลายกลุ่มอายุ เพื่อให้ได้เข้าใจถึงความต้องการร่วมกัน ต่อจากนั้นจึงทำการออกแบบของเล่น ผลิตแบบทดสอบ และนำไปให้ผู้สูงอายุทดลองเล่นจริง ขณะทดลองเล่นกันก็เก็บข้อมูลทั้งด้านลักษณะ ขนาด สีสัน รวมไปถึงความรู้สึกขณะเล่น หลังเล่น เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และพัฒนาของเล่นให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ทำซ้ำจนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด

การอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่ผ่านการลงมือทำจริง ผ่านการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานหลัก การออกแบบ การพัฒนาแบบจนได้ผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง เป็นเวลากว่า 5 สัปดาห์ จะช่วยให้เหล่านักออกแบบและผู้ประกอบการได้รับความเข้าใจอย่างเข้มข้น เมื่อจบโครงการแล้ว จะมีของเล่นสำหรับผู้สูงอายุที่มีลักษณะที่ช่วยส่งเสริมผู้สูงอายุทางด้านร่างกาย จิตใจ ด้านสติปัญญา หรือด้านสังคมได้อย่างไร หรือช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุขในทุกวันแบบไหน มาร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้ร่วมโครงการ และติดตามผลงานกันต่อไป

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

ของแถมล้ำค่าจากความตาย

แม้ชีวิตจะเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาถึง ๕ ครั้งติดๆ ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ตั้งแต่ขับรถไปติดคาอยู่บนรางรถไฟจนเกือบจะถูกรถไฟชน พลัดตกลงมาจากที่สูง ขับรถแฉลบน้ำขังบนถนนจนไปชนกับรถคันอื่น
25 เมษายน, 2561

อานิสงส์ของการเตรียมตัวตาย

บ้านมีอาชีพขายโลงศพ เวลาขายโลง ลูกค้ามักจะขอให้ทำพิธีบรรจุศพใส่โลงด้วย ตอนเด็กๆ จะตามพ่อไปบ่อยมากทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล เพราะคนจีนมีประเพณีว่าพอมีคนใกล้ตาย จะไปจองโลงศพและเตรียมตัวเสื้อผ้าแต่งให้ศพไว้
19 เมษายน, 2561

“ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ

การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มนุษย์ทุกยุคสมัยยังพยายามคิดค้นและสรรหาร้อยแปดวิธีมาเพื่อยับยั้งหรือบรรเทา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ