parallax background
 

The Enneagram of death
ประสบการณ์ล้ำค่าเพื่อก้าวผ่านการพราก
จากของคน ๙ ลักษณ์

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 
  • คุณสนใจเรื่องชีวิต เรื่องความตาย ใช่ไหม
  • คุณยินดีลงทุนลงแรง เวลา เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตผ่านการอ่านหนังสือไหม
  • คุณชอบครุ่นคิด ตรึกตรอง ค้นหาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวที่เปิดกว้าง ไม่มีคำตอบชี้ชัดไหม
  • คุณยินดีเรียนรู้เรื่องราวที่คุณอาจคับข้อง สงสัย กังวล เพราะแตกต่างจากความเป็นคุณ ใช่ไหม
  • คุณยินดีอ่านหนังสือด้วยสายตาของนักเรียนรู้ มากกว่าการเป็นผู้พิพากษา ใช่ไหม

ถ้าคุณตอบว่า ใช่ ตั้งแต่ ๒ ข้อขึ้นไป หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคุณอย่างยิ่ง ขอเชิญชวนให้คุณทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์การจากพราก

แม้ว่าหลายคนอาจไม่รู้จักนพลักษณ์ หรือ Enneagram ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะผู้อ่านอาจพบว่าตนเองเข้าใจเรื่องนี้ผ่านตัวอย่างชีวิตมากมายในหนังสือ เนื่องจากผู้เขียน ได้ให้ภาพรายละเอียดระดับหนึ่งในตอนท้ายของแต่ละบท ว่าคนแต่ละลักษณ์มีความเชื่ออะไร ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอะไร และทั้งหมดมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างไร

“คนเนี้ยบ ลักษณ์ ๑” เชื่อในเรื่องการมุ่งหมายทำให้ถูกต้อง ควบคุมจัดการให้ทุกอย่างอยู่ในที่ทางที่เหมาะควร น่าจะหรือต้องเป็น ต้องมี ตามกฎเกณฑ์ชีวิตที่ยึดถือ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี ถูกต้อง

“ผู้ให้ ลักษณ์ ๒” เชื่อในเรื่องการให้ คือ วิถีของการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ต้องการในสายสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมหยิบยื่นตัวตน พลังงาน ความรู้สึกนึกคิดเพื่อตอบสนองคุณภาพของการให้และ “เพื่อเธอ”

“นักใฝ่สัมฤทธิ์ ลักษณ์ ๓” เชื่อในเรื่องของวิถีความมุ่งมั่น อุตสาหะสู่ความสำเร็จ และเป็นที่ชื่นชมในความเก่ง ความสามารถ ผลงานที่น่าภาคภูมิใจ พร้อมทุ่มเทพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ ไปสู่ภาพลักษณ์ตามฝัน

“คนโศกซึ้ง ลักษณ์ ๔” เชื่อในเรื่องความลึกซึ้ง ความเข้มข้นของชีวิต สัมพันธภาพ สิ่งรอบตัวอันมีความหมาย ความแตกต่าง มองหาความงาม ความดื่มด่ำในสิ่งรอบตัว และไม่มองข้ามสิ่งใกล้ตัว สิ่งง่ายๆ รอบตัว

“นักสังเกตการณ์ ลักษณ์ ๕” เชื่อในเรื่องความรู้ การมีความเข้าใจ อธิบายได้ การพึ่งพิงตนเอง ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ชีวิตและสัมพันธภาพเน้นความพอเพียง ไม่วุ่นวายทางอารมณ์

“นักปุจฉา ลักษณ์ ๖” เชื่อในเรื่องการปกป้องตนเองจากโลกรอบตัวที่ถูกมองว่าไม่ปลอดภัย ด้วยระบบความเชื่อ มุมมอง ความรู้สึก เพื่อช่วยให้ตนเองไม่ต้องเสี่ยงภัยอันตราย ด้วยท่าทีหลีกหนี และ/หรือเผชิญหน้า

“นักเสพสุดยอด ลักษณ์ ๗” เชื่อในเรื่องความสุข ความรื่นรมย์ ทั้งวิถีทางและเป้าหมาย ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความเบื่อหน่าย คือสิ่งต้องหลีกเลี่ยง ต้องจัดการให้หายไป การใช้ชีวิตก็เพื่อตอบความมุ่งหวังนี้

“ผู้ปกป้อง ลักษณ์ ๘” เชื่อในเรื่องอำนาจ ความเข้มแข็ง ผ่านท่าทีการเป็นนักสู้ ต่อต้านความไม่ยุติธรรม คือหนทางที่มั่นใจได้ว่า ทุกอย่างอยู่ในความควบคุม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน

“ผู้ประสานไมตรี ลักษณ์ ๙” เชื่อในเรื่องความสมานฉันท์ ท่าทีการรอมชอม ปรองดอง คือ หนทางจัดการความขัดแย้ง ทุกอย่างโอเคก็ดีแล้ว “อย่ากวนน้ำให้ขุ่น”

ผู้เขียนนำกรอบคิดเรื่องนพลักษณ์ มาเป็นฐานการจัดหมวดหมู่เรื่องราวชีวิตว่า คนแต่ละลักษณ์ทำอะไร อย่างไร ยามเผชิญหน้ากับความตาย หลายเรื่องที่เจ้าของชีวิต เจ้าของลักษณ์บอกเล่า เป็นเรื่องราวยามเผชิญกับความตายที่มาทักทายในรูปของการป่วยไข้ หรือการลาจากของคนใกล้ตัว พร้อมกับมุมมองของคนลักษณ์อื่นที่พูดถึงเจ้าของลักษณ์ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร มีท่าทีอย่างไรเมื่อความตายมาพรากชีวิตพวกเขาไป หลายเรื่องราวของผู้จากไป ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของผู้ดูแล การอ่านอย่างใคร่ครวญจะช่วยให้เราเข้าใจทั้งผู้บอกเล่าและผู้ถูกกล่าวถึง

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราแต่ละคนล้วนพกพาระบบคุณค่า ท่าทีต่อชีวิตและการยึดมั่นถือมั่น สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้แสดงตัวออกมาให้เห็น เว้นแต่เมื่อมีสิ่งใดมากระตุ้น มาก่อกวนให้เรามีปฏิกิริยาตอบโต้ และตัวก่อกวนที่ว่านี้คือ ความตายที่ย่างกลายเข้ามา หนังสือเล่มนี้บอกเล่าท่าทีของแต่ละชีวิตว่าพวกเขาตอบโต้ รับมืออย่างไรกับความตายที่ใกล้เข้ามาของตนเองและคนใกล้ตัวที่พวกเขารัก ผูกพัน

บางคนเลือกที่จะควบคุม จัดการความตายของตนเอง แทนกระบวนการ

  • บางคนเลือกที่จะควบคุม จัดการความตายของตนเอง แทนกระบวนการธรรมชาติ
  • บางคนเลือกเก็บกดความรู้สึก ปิดปาก และใช้ชีวิตราวกับทุกอย่างเรียบร้อยดี
  • บางคนลาจากไปพร้อมกับเรื่องราวค้างคาใจที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย ด้วยมุมมองความเชื่อในความเป็นลักษณ์ที่กำกับชีวิต
  • บางคนก็ใช้ความเป็นลักษณ์ราวกับของใช้ประจำตัว เช่น เสื้อผ้า ที่จะใช้ฝ่าข้ามและเผชิญความตาย

หลายเรื่องราวบอกเล่าประสบการณ์ที่เจ้าของชีวิตได้พบภูมิปัญญา ขุมทรัพย์จากการศึกษาเรียนรู้ตนเองผ่านนพลักษณ์ จนช่วยให้พวกเขาปล่อยวางเรื่องราวหรือประเด็นอ่อนไหว มีทางเลือกในการดูแลชีวิตแทนความเป็นลักษณ์ที่กำกับชีวิต ในการสร้างสัมพันธภาพที่เป็นมิตรกับตนเองและคนรอบข้างได้

เมื่อเราเกิดมา เราพกพาความตายมาด้วย ความตายจึงเป็นเสมือน “เงา” ที่ตามติดเราโดยไม่ต้องไล่ล่า เงาของความตายจากสัญญาณความป่วยไข้ อายุที่มากขึ้นพร้อมโรคภัยไข้เจ็บ การจากไปของคนรอบตัวหรือข่าวคราวความตายของผู้คนในสังคม และยังมีความกลัวตายที่ทำให้บรรดาเงาทั้งหลายซ่อนอยู่ในซอกหลืบที่มืดมิด แฝงฝังอยู่ในชีวิต แต่นอกจากเงาของความตายและความกลัวตายแล้ว ยังมีเงาของสิ่งที่เรายึดถือ เราเชื่อ และเรารู้สึกอีกด้วย เงาจึงเป็นเสมือนผู้ชักใยชีวิต เพราะหลอกหลอนเราโดยไม่รู้ตัว แต่เงาจะมีชีวิตก็ต่อเมื่ออยู่ในที่ลับตา มองไม่เห็น เราจะเอาชนะเงาได้ก็ด้วยการเผชิญหน้าและทำความรู้จักเงาจริงๆ ทันทีที่เงาอยู่ในแจ้ง ถูกมองเห็น ถูกรับรู้ เงาก็จะหมดความหมายและสลายไปเอง

เช่นเดียวกัน ภายใต้การกระทำหนึ่งๆ ก็อาจมีเงาของพลังบวกซ่อนอยู่ด้วย เช่น ภายใต้การกระทำที่รุนแรง อาจมีเงาของการปกป้อง ภายใต้ความระแวง กังวล ก็อาจมีเงาของความใส่ใจ แต่เพราะสิ่งเหล่านั้นคือเงา หลายคนจึงไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองมีพลังบวกมากมายซ่อนอยู่

เงาสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงนัก คือ เงาของความประมาท ทั้งที่เราทุกคนต่างรู้ว่ามีเงาของความตายแฝงฝังอยู่ แต่เงาของความประมาทก็กดทับทำให้เรารู้สึกและเชื่อจริงๆ ว่า ความตายยังเป็นเรื่องห่างไกล เป็นเรื่องราวนอกตัวที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ เงาประเภทนี้เองที่เอาชนะได้ยาก ต้องอาศัยความเข้มแข็งในการเผชิญหน้า ลงมือกระทำ หลายคนชอบเล่นพนัน ใช้ชีวิตเสี่ยงอันตราย ราวกับความตายเป็นสิ่งไกลห่าง จนเมื่อเงาของความตายมาถึงก็อาจจะสายเกินแก้ไข เพราะความตายต่อรองไม่ได้ในเรื่องวันเวลาและลักษณะที่เข้ามา

การเผชิญและรู้จัก “เงาของเรา” ด้วยตนเอง จึงเป็นภารกิจสำคัญของชีวิตก่อนลาจากโลกนี้ไป

ในหนังสือแต่ละบท ผู้เขียนได้นำข้อความของเดวิด เบนเน็ตต์ รวมถึงท่านอื่นๆ มาสอดแทรกเป็นระยะ หลายข้อความมีความหมายในเชิงคติธรรมเพื่อเป็นข้อเตือนใจและระลึกรู้ สำหรับบางคนที่มักใช้ชีวิตพึ่งพิงตนเอง ห่างเหินความสัมพันธ์ หรือบางคนเลือกเกาะกุม ห่วงใย กังวลบางสิ่งบางอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

“จำไว้เสมอว่า เราเป็นที่รักมากเพียงใด และจงถนอมรักนั้นไว้ในใจ”

“จงรู้จุดประสงค์ของตนเองและมีความเชื่อมั่นวางใจ ในจักรวาลนี้ไม่มีความจำเป็นอันใดต้องดิ้นรนเพื่อวันพรุ่ง ปาฏิหาริย์อยู่ในวันนี้ เป็นเช่นนี้เสมอมา”

“เมื่อเราเข้าถึงของแท้จากภายใน การกระทำที่ถูกต้องก็หลั่งไหลออกมาเองตามธรรมชาติ”

เดวิด เบนเน็ตต์

“เมื่อคุณเป็นอิสระจากความอยากและความกลัว คุณจะมีชีวิตต่างจากที่เคยรู้จักมาก”

เพื่อให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น อยากขอให้ผู้อ่านลองค้นหาความหมายภายใต้เรื่องราวของแต่ละบุคคลในหนังสือว่า

  • เขา / เธอ ต้องการอะไร อะไรคือแรงขับเคลื่อนการกระทำของพวกเขา
  • เขา / เธอ ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอะไร และสิ่งนั้นสร้างผลกระทบอะไรต่อชีวิต สัมพันธภาพของเขา / เธอ

และด้วยการเปิดใจ ทำความเข้าใจ ยอมรับว่าแต่ละคนต่างมีวิถีชีวิต ความเชื่อของตนเองที่อาจแตกต่างจากตัวเรา ปล่อยวางการตัดสินใดๆ ว่าพฤติกรรมนั้นถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่

[seed_social]
5 เมษายน, 2561

The Barbarian Invasions

เรมี จิราร์ด ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ หัวสังคมนิยม ชาวแคนาดา อดีตเสือผู้หญิงผู้ผ่านการใช้ชีวิตเสเพลมาอย่างโชกโชนน กำลังป่วยด้วยโรคระยะสุดท้ายและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐที่แออัดอย่างยิ่ง
16 กุมภาพันธ์, 2561

ว่าง

พอเราได้เห็นชื่องาน “ว่าง” ทำให้ฉุกคิดและนึกอยากไปค้นหาความหมายบางอย่าง... ยิ่งได้เห็นรายชื่อแขกรับเชิญในงานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่าพลาดไม่ได้เลย... เราเดินทางไปมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 26 มกราคม 2561
17 เมษายน, 2561

My Sister’s Keeper พ่อแม่ไม่ฟังฉัน

ครอบครัวคือระบบความสัมพันธ์ ทุกหน่วยมีหน้าที่และสัมพันธ์ต่อกัน และต่อระบบทั้งหมด ดังนั้นยามที่องคาพยพใดเกิดความผิดปกติ การปรับตัวจึงเป็นปัจจัย ทักษะ ความสามารถ และปัจจัยชี้วัดสำคัญว่า ระบบทั้งหมดจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่