parallax background
 

สรุปสถานการณ์ Hospice Care ในประเทศไทย

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ฮอสพิซ (Hospice) เป็นคำเรียกสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยมีสถานที่ที่ให้บริการในความหมายแบบฮอสพิซหลากหลาย เช่น วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์มาเป็นเวลานาน อโรคยศาล วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร เป็นสถานที่พักฟื้นและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งฮอสพิซในชื่อ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังดำเนินการจัดสร้างฮอสพิซแถบชานเมืองกรุงเทพ

ทว่าฮอสพิซและรูปแบบการดูแลในฮอสพิซ (Hospice care) ยังไม่ได้รับการนิยามอย่างชัดเจนในบริบทสังคมไทยมาก่อน ดังนั้นโครงการวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย(Hospice care) ในประเทศไทย จึงศึกษาสถานการณ์ Hospice care ด้วยการทบทวนงานวิจัยของต่างประเทศทั้งด้านพัฒนาการของการดูแลในฮอสพิซ องค์ประกอบและรูปแบบการจัดบริการรวมถึงทำการสำรวจองค์ประกอบและรูปแบบการจัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาการบริการและเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงพัฒนาสำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองระยะท้าย รวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองระยะท้ายโดยกองทุนสวัสดิการต่างๆ

การวิจัยนี้นิยาม Hospice care หมายถึง การให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) แก่ผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดไว้อย่างเหมาะสม ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตทางสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ครอบคลุมช่วงระยะท้ายของชีวิต (Terminal phase) รวมถึงในช่วงเวลาระยะแรกภายหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วย (Bereavement phase) ส่วน Hospice นิยามว่าเป็น “สถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้าย”

ทั้งนี้ในการนิยาม Hospice care ดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ เนื่องจากเกิดความสับสนในการดูแลและให้บริการจากความทับซ้อนกันของเนื้องานและรูปแบบบริการในสถานพยาบาลที่มีมาแต่เดิม ทั้งการดูแลระยะยาว (Long-term care), การดูแลที่บ้าน (Home health care) และรวมถึงการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยการนิยามมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์เพื่อการจัดการระบบบริการสุขภาพของประเทศเป็นสำคัญ มิได้ต้องการนิยามเพื่อใช้ทดแทนคำเรียกของการดูแลรักษาพยาบาลในรูปแบบอื่นๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาข้อมูลโดยการเยี่ยมสำรวจพื้นที่ 12 เขตบริการ การสนทนากับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ตรงในการให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในระหว่างปี พ.ศ.2559–2560 รวมถึงการศึกษาเชิงลึกในสถานพยาบาลหลายแห่งที่มีการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย นอกจากนี้ยังทำการสำรวจข้อมูลและข้อคิดเห็นของโรงพยาบาล เกี่ยวกับการให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะท้ายด้วยการทอดแบบสอบถามไปยังสถานพยาบาล 1,188 แห่ง ครอบคลุมสถานพยาบาลหลากหลายประเภท ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับแบบตอบกลับจากสถานพยาบาลรวม 600 แห่ง

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ พยาบาลมีบทบาทสำคัญโดดเด่นในการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในสถานพยาบาล ทั้งการริเริ่ม การจัดระบบดำเนินงาน การเพิ่มพูนความรู้ด้วยการเข้ารับการอบรมหลากหลายหลักสูตร ฯลฯ โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีการจัดบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกัน เช่น จัดห้องเป็นสัดส่วนสำหรับผู้ป่วยระยะท้ายที่เป็นผู้ป่วยใน บริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้การดูแลต่อเนื่องที่บ้านผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลจะมีการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และยังเปิดโอกาสให้อาสาสมัครหรือจิตอาสามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับบริการการดูแลแบบประคับประคองส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง

นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าการจัดบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ดูแลที่เป็นญาติ คนในครอบครัว หรือเพื่อนของผู้ป่วย เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแผนการดูแลรักษาให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว โดยมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และความสุขของผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่พบว่าจะมุ่งเน้นการดูแลที่บ้าน หรือในชุมชนมากกว่าภายในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลรูปแบบอื่น

ส่วนอุปสรรคในการจัดบริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่งานวิจัยพบ ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรวิชาชีพอื่น ผู้ดูแลผู้ป่วย และภาคสังคม ยังต้องการความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับทางเลือกในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะแพทย์ที่มุ่งรักษาโรคให้หายและมักมองว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการยุติการรักษา ดังนั้นเมื่อแพทย์เจ้าของไข้ไม่ส่งต่อเพื่อการดูแลแบบประคับประคองก็จะทำให้การเข้าถึงบริการมีข้อจำกัด

อุปสรรคประการต่อมาคือ โรงพยาบาลแต่ละประเภทพบข้อจำกัดต่างกัน เช่น โรงพยาบาลชุมชนยังขาดทางเลือกในการใช้ยาระงับความปวด หรือ รพ.สต.ยังพบจำนวนผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องดูแลไม่มากทำให้ทีมงานขาดความชำนาญและความมั่นใจในการให้บริการ รวมทั้งการขาดหลักฐานหรือเอกสารแสดงเจตจำนงการเลือกเสียชีวิตตามธรรมชาติในกรณีวิกฤติฉุกเฉินด้วย

ข้อจำกัดอื่นๆ ที่พบได้แก่ การขาดอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลผู้ป่วย เช่น Syringe driver นอกจากนี้เป็นเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วยระยะท้ายที่ยังขาดระบบข้อมูลสนับสนุนระหว่างสถานพยาบาลหรือระหว่างพื้นที่ รวมถึงยังไม่มีความชัดเจนในการกำกับดูแลภาคเอกชนในการจัดบริการการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

จากการอ่านงานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อสังเกตว่า การดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นงานท้าทายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการแพทย์แผนปัจจุบันที่หัวใจสำคัญคือการรักษาผู้ป่วยให้ “หายจากโรค” แต่อาจยังไม่ได้ตระเตรียมความพร้อม ซักซ้อมความเข้าใจ และวินิจฉัยด้วยใจยอมรับให้ผู้ป่วย “หายจากโลก” ไปอย่างสงบ และเป็นสุข

ข้อสังเกตอีกประการคือ การกล่าวถึงการดูแลหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วย (Bereavement phase) ซึ่งหมายรวมถึงการช่วยเหลือสนับสนุนในการจัดการศพ ทั้งเชิงพิธีกรรมและเชิงกฎหมาย รวมถึงการดูแลชีวิต จิตใจและความเป็นไปของผู้สูญเสีย โดยการกำหนดให้บุคลากรสุขภาพมีบทบาทในช่วงระยะเวลาแรก แต่ก็มีข้อพิจารณาถึงเป้าหมายในการดูแลที่แตกต่างกัน รวมถึงช่วงระยะเวลาในทางปฏิบัติที่ควรมีความชัดเจน

ข้อสังเกตสำคัญอีกข้อคือ งานวิจัยชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มุ่งเน้นการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนมากกว่าในสถานพยาบาล จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่ชุมชนจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายร่วมกับบุคลากรสุขภาพ รวมถึงชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลภายหลังการสูญเสียได้ใกล้ชิดมากกว่า ฉะนั้น “ชุมชนกรุณา” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายได้ครอบคลุมทั้งมิติกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ

อ้างอิงข้อมูล;
จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ และคณะ (2561) โครงการวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย(Hospice care) ในประเทศไทย ส่วนที่ 1 สถานการณ์ Hospice care ในประเทศไทย. ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรายละเอียดงานวิจัยได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4924

18 เมษายน, 2561

ท่ามกลางเทคโนโลยียังมีหัวใจ

อานนท์ เป็นเด็กพิเศษ ดาวน์ ซินโดรม ถูกพ่อ แม่ ทิ้งไว้ให้ยายเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แม้จะอายุสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ยายกลับต้องดูแลอานนท์อย่างใกล้ชิด
27 มีนาคม, 2561

หัวใจตะวัน

หนึ่งคำถาม…ความฝันที่เราอยากจะทำ กับความฝันที่กระแสหลักของสังคมชี้แนะให้ทำ เราควรเลือกอะไร?