รีวิวหนังสือ “ล้อมวงสนทนา ศิลปะการสื่อสาร สำหรับบุคลากรสุขภาพ เพื่อการดูแบผู้ป่วยระยะท้ายและญาติ”



โดย: GARUDA หมวด: ชุมชนกรุณา

 

จากมุมมองทางการแพทย์ ความตายคือความล้มเหลวทางการรักษา และหน้าที่แพทย์ได้สิ้นสุดลงเมื่อผู้ป่วยหมดทางรักษา กล่าวคือ การสื่อสารเพื่อการดูแลทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและญาติที่กำลังจะเผชิญความสูญเสีย ความจริงแล้วไม่ได้อยู่ในกรอบความรู้และวิธีการรักษาทางการแพทย์ตั้งแต่ต้น หนังสือล้อมวงสนทนา: ศิลปะการสื่อสารสำหรับบุคลากรสุขภาพเพื่อการดูแลผู้ป่วยและญาติระยะสุดท้าย ของผู้แต่ง นพ.โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ ของสำนักพิมพ์ Peaceful Death ถือได้ว่าเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่แพทย์เริ่มให้ความสนใจกับการสื่อสารเพื่อดูแลร่างกายและจิตใจผู้ป่วยและญาติในระยะสุดท้าย ผู้เขียนได้รวบรวมหลักแนวคิดทางวิชาการการดูแลแบบประคับประคอง พร้อมยกกรณีตัวอย่างจากประสบการณ์จริงที่ช่วยให้เห็นแนวทาง การสื่อสารกับดูแลผู้ป่วยและญาติช่วงระยะสุดท้ายแบบประคับประคองว่ามีวิธีการและควรเป็นอย่างไร

ในช่วงแรก ผู้เขียนอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมของจิตใจผู้ป่วยและครอบครัวหลังได้รับข่าวร้ายว่าอาการป่วยไม่อาจรักษาหายได้ โดยนำแนวคิดของ Elizabeth Kubler Ross ที่เสนอว่า ลำดับขั้นตอนการตอบสนองต่อการสูญเสีย มี 5 ขั้น คือ

  1. การปฏิเสธ (Denial)
  2. โกรธ (Anger)
  3. ต่อรอง (Bargaining)
  4. ซึมเศร้า (Depression)
  5. การยอมรับ (Acceptance)

ถึงแม้ว่าในสถาณการณ์จริงผู้ป่วยหลังทราบข่าวร้ายอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่ได้เป็นไปตามลำดับขั้นข้างต้นนี้เสมอไป และใช่ว่าทุกคนทั้งผู้ป่วยและญาติจะสามารถปรับตัวกับข่าวร้ายได้ ยิ่งหากไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่ดีแต่เริ่มแล้วจะมีความทุกข์ทั้งกายและใจ ขณะที่ผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มโรคมะเร็งรู้สึกว่าตนเป็นภาระของครอบครัว ซึมเศร้า รู้สึกผิด รู้สึกไม่มีคุณค่า และรู้สึกหมดศรัทธาต่อสิ่งยึดเหนี่ยว อีกด้านหนึ่งคือญาติผู้ป่วยก็มีโอกาสเศร้าโศกผิดปกติ (Complicated Grief: GC) หลังผู้ป่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยผู้เขียนนำแนวคิดของ Bonnano G. และคณะ ที่อธิบายถึง 5 รูปแบบการตอบสนองต่อความโศกเศร้าของกลุ่มผู้สูญเสีย ได้แก่

  1. กลุ่มคนที่มีภาวะเศร้าโศกอยู่เดิมเมื่อประสบกับความสูญเสีย (Chronic Depression) พบร้อยละ 10.2
  2. กลุ่มคนที่มีภาวะเศร้าโศกเรื้อรังเริ่มมีความเศร้าโศกเพิ่มขึ้นหลังทราบว่าผู้ป่วยไม่ดีขึ้นและเสียชีวิต (Chronic Grief) พบร้อยละ 15.6
  3. คนที่มีภาวะเศร้าโศกอย่างมากในช่วงแรกที่ทราบข่าวและดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต (Depressed-Improved) พบร้อยละ 4.9
  4. กลุ่มคนที่มีภาวะเศร้าโศกปกติซึ่งมีอย่างมากที่สุดในช่วงผู้ป่วยเสียชีวิตแต่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปปกติ (Common Grief) พบร้อยละ 10.7
  5. กลุ่มคนที่มีความเศร้าโศกน้อยตั้งแต่ทราบข่าวและหลังผู้ป่วยเสียชีวิต (Resilience) พบร้อยละ 45.9

ข้อสรุปจากข้อค้นพบรูปแบบทั้ง 5 กลุ่มนี้แย้งกับความเชื่อเดิมที่เชื่อว่า คนกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรจะพบบ่อย กลับน้อยกว่านั้นกลุ่มที่ 5 ที่มีความยืดหยุด ข้อค้นพบนี้นำมาสู่ข้อสมมุติฐานที่ว่า การสื่อสารที่ดีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูญเสียมีความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เกิดความร่วมมือในการรักษา มีการวางแผนดูแลล่วงหน้า และความยืดหยุ่นต่อการเผชิญหน้ากับช่วงสุดท้าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว 

ในการพัฒนาความรู้และทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ ผู้เขียนเริ่มต้นด้วย การพํฒนาทักษะการฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน เพื่อรับฟังทั้งเนื้อหา ความรู้สึก และความต้องการของผู้ป่วย และทักษะการประเมินแบบ Ask-Tell-Ask ซึ่งเป็นทักษะผู้นำการวางแผนสุขภาพล่วงหน้าทำการสำรวจความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวต้องการผ่านคำถามและตอบได้อย่างถูกจังหวะ อย่างไรก็ตาม ทักษะการฟังและการถามตอบทั้งสองนี้ควรอยู่บนฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่เน้นการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ และความกรุณา (Compassion) ที่ผู้ฟังมีความปรารถนาดีและเปิดกว้างโดยไม่ตัดสินใดต่อทุกคำถามหรือปฏิกิริยาโต้ของของผู้ป่วยและญาติ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังรวบรวมประสบการณ์การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติสรุปแนวทางการสื่อสารเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโรคและช่วงจังหวะของการดูแลผู้ป่วย โดยจำแนกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 การแจ้งข่าวร้าย (Breaking Bad News) หรือการแจ้งความจริง (Telling the Truth)
  • ระยะที่ 2 ช่วงวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning: ACP)
  • ระยะที่ 3 การสื่อสารในช่วงติดตามอาการ
  • ระยะที่ 4 การสื่อสารในช่วงสุดท้าย (Last Hour of Life)

สำหรับช่วงแรก การแจ้งข่าวร้าย ผู้เขียนเสนอแนวทางการแจ้งข่าวร้ายที่เรียกว่า SPIKES ซึ่งมาจาก

  1. Setting เป็นการเตรียมการ เช่น สถานที่ส่วนตัว ข้อมูลทางการแพทย์ที่พร้อมเป็นอย่างดี และการนั่งคุยในระดับเดียวกัน
  2. Perception เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยคิดอย่างไรกับอาการป่วยของตนเอง รับรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างไรบ้าง
  3. Invitation เป็นการประเมินความต้องการของผู้ป่วยว่า อยากรู้อะไรและไม่อยากรู้อะไร
  4. Knowledge เป็นการให้ข้อมูลเพื่อค่อยๆแจ้งข่าวร้ายโดยสื่อสารในภาษาระดับเดียวกันและหลีกเลี่ยงภาษาทางการแพทย์
  5. Empathy เป็นการรับฟังอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นตลอดช่วงการแจ้งข่าวร้าย

ในระยะที่สอง การวางแผนดูแลล่วงหน้า เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างผู้ป่าย ครอบครัว และทีมสุขภาพ เพื่อวางแผนการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม การสื่อสารระยะนี้จะช่วยกำหนดเป้าหมายของการดูแล ค้นหาทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันโดยมีผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจและทีมสุขภาพเป็นผู้ให้ข้อมูล ทั้งนี้จังหวะที่เหมาะสมต่อการสื่อสารเรื่องการวางแผนดูแลล่วงหน้าควรทำตั้งแต่ผู้ป่วยยังมีความสามารถในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการพิจารณาช่วงที่คนไข้มีอาการทรุดหนัก คนไข้ไม่ตอบสนองการรักษา คนไข้ต้องการสั่งเสีย หรือเมื่อครอบครัวถามถึงทางเลือกในการรักษา เป็นต้น ระยะที่สาม การสื่อสารในช่วงติดตามอาการ ผู้เขียนใช้เทคนิคที่เรียกว่า BATHE technique ประกอบด้วย

  1. Background คือการทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยเป็นคนเล่า
  2. Affect คือการทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้เล่า โดยผู้ฟังอาจสอบถามความรู้สึกผู้เล่าขณะเล่า เช่น ตอนนี้รู้สึกอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เล่ามา เป็นต้น
  3. Trouble คือการสอบถามให้ผู้เล่าระบุถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ และชวนจัดลำดับความสำคัญโดยผู้เล่าเอง
  4. Handle คือการสำรวจแนวทางการจัดการและวิธีการจัดการปัญหาที่ผ่านมา และสุดท้าย
  5. Empathy คือการใช้คำพูดที่แสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้ป่วยอย่างจริงใจ สำหรับระยะที่สี่ การสื่อสารในช่วงสุดท้าย ประเด็นสำคัญคือ การประเมินว่าผู้ป่วยและครอบครัวมีความพร้อมเพื่อฟังเกี่ยวกับการดูแลในช่วงสุดท้ายหรือไม่ โดยแพทย์ผู้สื่อสารควรมีท่าทีและการสื่อสารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจ ความจริงใจ และส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อม และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ซักถามความกังวลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในระยะสุดท้าย

ช่วงสุดท้ายของหนังสือผู้เขียนให้คำแนะนำในการดูแลภาวะเศร้าโศกของญาติ ที่ผู้สูญเสียจะแสดงปฏิกิริยาผ่านอารมณ์ พฤติกรรม ทัศนคติ ผลกระทบทางสรีรวิทยา การเจ็บป่วย หรือการใช้ยาเสพติด ทั้งนี้แนวทางการดูแลผู้สูญเสียในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยสำหรับทีมสุขภาพ ผู้เขียนเสนอไว้ 5 ระยะดังนี้

  • หนึ่ง ช่วงก่อนผู้ป่วยเสียชีวิต คือเน้นการเข้าถึงบริการ palliative care
  • สอง ช่วงติดตามอาการทางกายและใจของญาติผู้ป่วยคือเน้นการเยี่ยมบ้าน นัดพบที่สถานพยาบาลหรือการไปร่วมงานศพ
  • สาม สนับสนุนการเชื่อมโยงกับความช่วยเหลือภายนอก เช่น กลุ่มอาสา กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มต่างในชุมชน
  • สี่ การให้คำปรึกษาแก่ผู้สูญเสียเกี่ยวกับการปรับตัวหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เพื่อรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน และให้กำลังใจ และ
  • ห้า เฝ้าระวังอาการเศร้าโศกที่รุนแรงและอาการแทรกซ้อน ซึ่งพบเจอเช่น มีอาการทางจิต มีความคิดฆ่าตัวตาย ไม่ตอบสนองการรักษา หรือไม่แน่ใจในคำวินิจฉัย เป็นต้น ทีมงานสุขภาพอาจส่งต่อให้พบกับจิตแพทย์

หนังสือ “ล้อมวงสนทนา: ศิลปะการสื่อสารสำหรับบุคลากรสุขภาพเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติ” นอกเหนือจากให้มุมมองทางทฤษฏีที่อ้างอิงหลักวิชาการแล้ว ยังได้เสนอทักษะและวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติที่เน้นการตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ และมอบความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยและญาติที่กำลังประสบกับช่วงวิกฤตของชีวิต นอกจากนี้ ตัวอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกจากประสบการณ์จริงให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฟังอย่างลึกซึ้ง การไม่ตัดสิน และความกรุณา ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูญเสียได้เตรียมตัวเตรียมใจได้ดี แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญของการสื่อสารในวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างดี

บุคคลสำคัญ นพ.โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ, Elizabeth Kubler Ross, Bonnano G.

[seed_social]

19 เมษายน, 2561

เคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้

"วันนั้น พระอาจารย์จะไปยื่นหนังสือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตะโกนเรียกก็ไม่มีใครตอบ อาตมาเข้าไปในบ้านก็พบผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถามดูก็พบว่าเขาถูกรถชน รักษาก็ไม่หาย"
24 มกราคม, 2561

มรดกจากพ่อ

หลังจากที่พ่อผมตาย ผมไม่เคยรู้ว่าพ่อได้ทิ้งมรดกอันมีค่าไว้ให้ หลังจากที่ผมค้นพบ มันทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป
27 มีนาคม, 2561

หัวใจตะวัน

หนึ่งคำถาม…ความฝันที่เราอยากจะทำ กับความฝันที่กระแสหลักของสังคมชี้แนะให้ทำ เราควรเลือกอะไร?