ผู้ป่วยหนักจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลที่กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมากทั้งในสถานพยาบาลทั่วประเทศและในชุมชนหลายแห่ง หากถ้ามองไปรอบๆ ตัว ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มหรือไม่ที่ถูกมองข้าม พวกเขาอาจป่วยหนักและต้องตายไปอย่างโดดเดี่ยว...อยู่อีกด้านของกำแพง
แวดวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) มากขึ้น โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2556-2559 และกำหนดให้จัดตั้งหน่วยงานดูแลแบบประคับประคองในสถานพยาบาลทุกระดับ (โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน) ทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2558 ซึ่งปัจจุบันสถานพยาบาลส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 90) มีการให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ควบคู่กับการพัฒนาทักษะและความรู้ในการดูแล โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยระยะท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ดังนั้น ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะได้รับบริการการดูแลแบบประคับประคองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงระยะท้ายได้ ทว่ายังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจถูกหลงลืม เพียงเพราะการกระทำผิดพลาดในชีวิต พวกเขาอยู่หลังลูกกรงเหล็กและลวดหนาม นั่นคือ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งต้องมีอาการเจ็บป่วยเป็นธรรมดา และแน่นอนว่ามีผู้ต้องขังป่วยระยะท้ายอยู่ภายในเรือนจำ ซึ่งควรได้รับการดูแลแบบประคับประคองเช่นกัน
ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ (โรงพยาบาลราชทัณฑ์) เป็นเรือนจำที่ทำหน้าที่พิเศษ คือคุมขังและให้การรักษาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย ตั้งอยู่ในบริเวณเรือนจำลาดยาว กรุงเทพ (เรือนจำคลองเปรม) เมื่อผู้ต้องขังป่วยจะได้รับการดูแลจากสถานพยาบาลในเรือนจำที่ถูกคุมขัง ต่อเมื่อเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาลจึงพิจารณาส่งผู้ต้องขังป่วยออกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ หรือส่งต่อมาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ปัจจุบันโรงพยาบาลราชทัณฑ์รองรับผู้ต้องขังป่วยได้ 500 ราย แบ่งเป็นแผนกต่างๆ คือ แผนกผู้ป่วยนอก แผนกทันตกรรม ส่วนหอผู้ป่วย (ward) แบ่งเป็นวอร์ดผู้ป่วยจิตเวช วอร์ดผู้ป่วยศัลยกรรม วอร์ดผู้ป่วยอายุรกรรม วอร์ดผู้ป่วยวัณโรค และวอร์ดผู้ป่วย HIV มีแพทย์รวมประมาณ 20 คน (จำนวนโดยประมาณ เนื่องจากมีแพทย์ฝึกหัดที่หมุนเวียนมาให้การรักษา) พยาบาลจำนวน 120 คน และมีผู้ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังชั้นดีที่ได้รับการฝึกทักษะเพื่อดูแลผู้ป่วย คอยช่วยเหลือดูแลผู้ต้องขังป่วย
คุณทิพย์อาภา ยืนยั่ง พยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการ ซึ่งเป็นพยาบาลประจำอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สะท้อนว่า “Palliative Care เป็นเรื่องใหม่ของราชทัณฑ์ เริ่มงานนี้เมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเริ่มจากผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย เราพยายามดูแลให้เป็นองค์รวม แต่การดูแลจำเป็นต้องทำอย่างมีระบบ บุคลากรต้องมีทักษะ โรงพยาบาลจึงเริ่มส่งพยาบาลไปอบรมเพิ่มความรู้” และด้วยประสบการณ์ทำงานกับผู้ป่วยมะเร็งมาก่อน ได้พบเห็นผู้ป่วยระยะท้าย ยิ่งมาทำงานในเรือนจำ บางครั้งผู้ป่วยจากไปอย่างโดดเดี่ยว จึงทำให้เธอสนใจงานดูแลแบบประคับประคอง เธอมองว่างานนี้เป็นงานละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลา ใช้ใจในการดูแล “ไม่ใช่เรื่องของการให้ยาอย่างเดียว ให้ยาแล้วจะต้องประเมิน ไม่ใช่ร่างกายอย่างเดียว ต้องประเมินเรื่องอื่นด้วย เพราะอาการบางอย่างก็ไม่ต้องใช้ยา ใช้การพูดคุย...”
ขณะนี้โรงพยาบาลราชทัณฑ์อยู่ในช่วงเริ่มต้นงานดูแลแบบประคับประคองในจึงยังไม่มีแพทย์เฉพาะทาง หรือหอผู้ป่วยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย แต่โรงพยาบาลพยายามดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องขังป่วยระยะท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีและจากไปอย่างสงบ
สิ่งแรกคือ การจัดการอาการปวดให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการใช้ยามอร์ฟีนเพื่อระงับปวดที่เป็นสารเสพติดประเภท 2 จึงต้องระมัดระวังและควบคุมการใช้ การใช้ยามอร์ฟีนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านปริมาณการให้ยา และควบคุมอาการข้างเคียง โรงพยาบาลแก้ปัญหาโดยดำเนินโครงการความร่วมมือกับสถาบันมะเร็ง มีผู้เชี่ยวชาญจากคลินิกระงับปวดมาตรวจที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์สัปดาห์ละครั้ง โครงการนี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับมอร์ฟีนทั้งแบบแผ่นแปะ แบบกินและฉีด ที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานจากอาการปวด นอกจากนี้ยังมีความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยในเชิงจิตใจ ซึ่งได้ดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ คือ กิจกรรมนิมนต์พระสงฆ์เพื่อรับบาตรจากผู้ต้องขังป่วย เดือนละครั้งทุกต้นเดือน โดยสิ่งของที่ผู้ป่วยนำมาใส่บาตรจะได้รับจากแผนกสังคมสงเคราะห์และมูลนิธิต่างๆ และเมื่อพระสงฆ์ท่านรับบาตรแล้วก็จะหยิบสิ่งของเหล่านั้นคืนให้กับผู้ป่วย
อีกกิจกรรมหนึ่งที่มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยอย่างมาก คือการเยี่ยมญาติ แต่เดิมจะอนุญาตให้ญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยที่ข้างเตียงได้ครั้งละ 5-10 นาที ตอนนี้สำหรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยระยะท้าย ญาติสามารถเยี่ยมได้ครั้งละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แม้ว่าความต้องการของผู้ต้องขังป่วยอยากให้ญาติอยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งภายในเรือนจำไม่สามารถทำได้ จึงเพิ่มระยะเวลาในการเยี่ยมให้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งผู้ต้องขังป่วยระยะท้ายที่รับโทษ 1 ใน 3 ของจำนวนโทษทั้งหมดและไม่มีโอกาสหายจากโรค จะได้รับการพิจารณาพักโทษกรณีพิเศษ คือ ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวในช่วงสุดท้ายของชีวิต
กรณีผู้ต้องขังป่วยเสียชีวิต พยาบาลจะต้องแจ้งญาติ และแผนกนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแม้จะทราบดีว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่ แต่ในฐานะผู้ต้องขัง จำเป็นต้องมีการชันสูตรศพเพื่อระบุสาเหตุการตายตามระเบียบ โดยพยาบาลหรือผู้ดูแล ไม่สามารถเคลื่อนย้าย หรือแม้แต่แตะต้องศพได้เลย ทุกคนต้องรอนิติเวชมาพิสูจน์และเคลื่อนย้ายศพออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พยาบาลทำและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ การขอขมาและวางดอกไม้เคารพศพ บอกกล่าวผู้จากไปว่าได้ดูแลอย่างเต็มที่ ล่วงเกินสิ่งใดไปก็ขออโหสิกรรม และขอให้จากไปอยู่ในภพภูมิที่ดี
การทำงาน palliative care ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ระยะแรกนี้ ย่อมต้องเผชิญอุปสรรคไม่น้อย ข้อจำกัดสำคัญ คือเรื่องข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการทบทวน เช่น “การพักโทษในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะอยากกลับบ้านเพื่อเสียชีวิตที่บ้าน เราก็อยากให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะสุดท้าย ได้กลับบ้าน ตรงนี้จะยากเพราะต้องศึกษาเรื่องกฎระเบียบ/กฎหมาย ว่าติดขัดตรงไหน”
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องระบบส่งต่อ ยังมีข้อติดขัดด้านการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนที่ผู้ป่วยถูกส่งกลับไป ไม่ว่าจะเป็นเรือนจำที่คุมขังเดิม สถานพยาบาลใกล้บ้านผู้ป่วย (กรณีได้รับการพักโทษ) เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย เช่น เตียงลมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบอุปสรรคเรื่อง โรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์ด้านการดูแลแบบประคับประคองที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยให้การรักษาและพัฒนาระบบการดูแล ขณะเดียวกันเพื่อนพยาบาลในฐานะผู้ร่วมงาน ก็ควรมีความรู้ด้านการดูแลแนวทางดังกล่าวด้วย จะได้ช่วยเหลือผู้ต้องขังป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจากไปอย่างสงบ ได้อย่างเหมาะสม เท่าเทียมกับผู้ป่วยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังเจอคำถามเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขังเสมอๆ ว่า “ทำไมจะต้องดูแลเขา เขาทำผิดมา” คุณทิพย์อาภาสะท้อนว่า “แต่สำหรับเรา เขาป่วยมา เราต้องดูแล เราไม่ได้มองตรงเรื่องความผิดเขา” และเป็นดังเธอกล่าวเช่นนั้นจริงๆ เธอไม่ได้สนใจเลยว่า ชีวิตที่อยู่ตรงหน้าเธอคือผู้ต้องขัง แต่ชีวิตนั้นเป็นผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ เธอเล่าถึงกรณีผู้ต้องขังป่วยต่างชาติรายหนึ่ง ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใด แต่กลับขอสัมผัสพระพุทธรูปก่อนสิ้นลม เมื่อถามเธอว่าผู้ต้องขังรายนี้ต้องโทษคดีอะไร เธอพยายามคิดอยู่นานแต่ตอบไม่ได้ เธอไม่รู้จริงๆว่าเขาต้องโทษคดีใด
ผู้กระทำผิด ผู้ต้องคดี ผู้ต้องขัง ก็เช่นเดียวกับคนทุกคน ที่ต้องเผชิญความทุกข์จากความเจ็บป่วยและความตาย การดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงระยะท้ายจึงควรครอบคลุมไปถึงคนทุกกลุ่มทุกชีวิต โดยไม่ละทิ้งใครเลยซักคน
***********************************************
ข้อมูลอ้างอิง:
คุณทิพย์อาภา ยืนยั่ง พยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สัมภาษณ์เมื่อ 9 ตุลาคม 2561
เว็บไซต์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ https://www.hosdoc.com/index.php เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2561
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://unsplash.com/photos/G_gOhJeCpMg?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditCopyText