โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคองคืออะไร
โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคอง มีที่มาจากที่ประเทศอินเดีย รัฐเกรละ ในปี ค.ศ. 2001 จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยระยะท้ายจำนวนมากในชุมชนเข้าไม่ถึงการดูแลรักษาจากระบบบริการสุขภาพ ด้วยบุคลากรสุขภาพมีจำกัด และต้องการเสริมพลังอำนาจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน จึงพัฒนาโปรแกรมเพื่อนบ้านประคองขึ้น โดยเปิดรับสมัครอาสาสมัคร และจัดอบรมให้อาสาสมัครเพื่อนบ้านมีความรู้และทักษะการดูแลแบบประคับประคอง มาทำงานช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน นอกจากนั้นอาสาสมัครเพื่อนบ้านยังเป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างบุคลากรสุขภาพกับผู้ป่วยชุมชนด้วย
โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคอง เป็นการพัฒนาเครือข่ายการดูแลที่ไม่เป็นทางการมาสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน เป็นการเติมกำลังคนในระบบสุขภาพปฐมภูมิ
เครือข่ายการดูแล ได้แก่
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุข
- เจ้าหน้าที่ชุมชน
- ผู้นำชุมชน
- อาสาสมัครด้านสุขภาพและสังคม
- ผู้ป่วย และครอบครัว
- ผู้ดูแลหรือผู้เคยดูแลที่มีประสบการณ์ และมีใจให้ความช่วยเหลือ
- สปอนเซอร์ในชุมชน
เครือข่ายเหล่านี้ จะมีส่วนร่วมสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคองในชุมชน เช่น การให้ความรู้ สร้างความตระหนัก แบ่งปันการดูแล ถ่ายทอดทักษะการดูแลให้แก่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวในมิติกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การเชื่อมโยงทรัพยากรและเครือข่ายการดูแล ตามความสนใจและความถนัดของเพื่อนบ้าน
โปรแกรมเพื่อนบ้านประคับประคองในไทย
สำหรับประเทศไทย พบปัญหาการขาดผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะท้ายในครอบครัวและในชุมชน ในขณะที่บุคลากรสุขภาพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด และมีภาระงานหลายด้าน จึงอาจทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้ดีเพียงพอ และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชนนั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคน