parallax background
 

พยาบาลไร้หมวกแต่ไม่ไร้หัวใจ

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“การถอดหมวกของฉันก็เหมือนการปลดเปลื่องความยึดติดในวิชาชีพทั้งมวลลง และมาดูแลรักษาด้วยการเอาความเป็นมนุษย์ไปสัมผัสกัน” จากหนังสือพยาบาลไร้หมวก เกือบยี่สิบปีแล้วที่ เพ็ญลักขณา ขำเลิศ ผันตัวเองจากการเป็นพยาบาลประจำแผนกต่างๆ ในโรงพยาบาลไปเป็นพยาบาลดูแลป่วยในชุมชนหรือพยาบาลเยี่ยมบ้าน ในยุคที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีนโยบายพยาบาลเยี่ยมบ้าน และสนใจการดูแลผู้ป่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ ในช่วงที่องค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

เธอเรียกตัวเองว่า “พยาบาลไร้หมวก” ทั้งๆ ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ความเป็นพยาบาลสวมหมวกขาวอย่างเต็มภาคภูมิ เหตุผลหนึ่งคือการแต่งชุดพยาบาลและสวมหมวกขาวเต็มยศออกเยี่ยมบ้านนั้นไม่สะดวก และที่สำคัญเธอเห็นว่าความเมตตากรุณาที่มีอยู่เต็มหัวใจนั้น ไม่ว่าจะสวมหมวกขาวหรือไม่ ความเป็นพยาบาลก็ยังคงอยู่กับเธอตลอดไป

งานบุกเบิกต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ แต่อดีตนักกีฬาบาสเก็ตบอลอย่างเธอเห็นเป็นเรื่องท้าทาย เธอทุ่มเททำงานที่รักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และผลิดอกออกผลในอีกหลายปีต่อมา เธอได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย ทว่ารางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการได้ทำงานช่วยเหลือผู้มีความทุกข์ ทั้งการช่วยเหลือโดยตรงถึงผู้ป่วยและญาติผ่านการเยี่ยมบ้าน และการช่วยเหลือทางอ้อม ผ่านการแบ่งบันประสบการณ์การดูแลด้วยหัวใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสาทั่วประเทศ เพื่อบ่มเพาะและส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณาให้แผ่ไพศาลต่อๆ ไป

การทำงานพยาบาลเยี่ยมบ้านดำเนินมาเกือบยี่สิบปี จนอีกสามปีจะเกษียณอายุราชการ เธอจึงลาออกจากราชการมาดูแลบุพการีที่เจ็บป่วย และเมื่อบุพการีหายดี เธอก็กลับทำงานที่รักอีกครั้งในฐานะพยาบาลจิตอาสา ดังที่เธอบอกว่า “เราลาออกจากพยาบาลในระบบราชการ แต่เราไม่ได้ลาออกจากความเป็นพยาบาลที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว” ทั้งการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เป็นวิทยากรเรื่องทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุแก่องค์กรต่างๆ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาล

ฉันสนทนากับเธอในช่วงเวลาที่เธอลาออกจากราชการครบหนึ่งปีเต็ม ในวันที่เธอและกลุ่มเพื่อนพยาบาลทั้งที่เกษียณอายุแล้วและยังรับราชการอยู่ในนามของ “แก๊งค์นางฟ้าพยาบาล” มาทำกิจกรรมประจำเดือนให้ผู้สูงอายุที่บ้านคนชราวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เจตนาของการพูดคุยในวันนี้และในบทความชิ้นนี้คือการแบ่งปันประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชน ที่ได้หัวใจของทั้งจิตอาสา ผู้ป่วยและญาติไปพร้อมๆ กัน

บุกเบิกงานพยาบาลเยี่ยมบ้าน

การทำงานในโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอที่มีแพทย์เพียงคนเดียวทำให้เพ็ญลักขณาเห็นความยากลำบากของผู้ป่วยและญาติในชุมชนที่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าเดินทาง เธอจึงสมัครใจเป็นฝ่ายออกไปหาผู้ป่วยในชุมชนเสียเอง โดยขออนุญาตผู้บริหารทำงานเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลจำนวน 72 หมู่บ้าน 8 ตำบลแทบทุกวัน

“เคยไปอบรมเรื่องการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยสามเดือน แล้วนำมาใช้กับผู้ป่วยผู้พิการ เคสที่เคยไปเยี่ยมมีเจาะคอ ใส่สาย ติดเตียง ดูแลหกเดือนจนคนไข้ถอดทุกอย่างออกหมด ถือไม้เท้าเดิน ช่วยเหลือตัวเองได้ ก็รู้สึกว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ถ้าเราทำจริง คนไข้ต้องได้รับอานิสงส์ แล้วตอนแม่เราติดเตียง เอาวิชานั้นมาช่วย ตอนนี้แม่อายุแปดสิบเอ็ด เดินไปไหนมาไหนปกติ ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำกับข้าวได้ เป็นแบบอย่างของผู้สูงอายุที่ออกกำลังกาย สุขภาพจิตดี”

ปลดเปลื้องความทุกข์ทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย

บางช่วงของชีวิต เพ็ญลักขณาทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วที่เธอเรียกว่า “พยาบาลแพ็คศพ” การเห็นความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยและความตาย ทำให้เธอสนใจศาสตร์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ โดยใช้เวลาวันหยุดไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลในกรุงเทพหลายครั้ง และนำกลับมาใช้กับผู้ป่วยและเพื่อนพยาบาลที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

“ลองเอาไปใช้กับผู้ป่วย ก็ดีนะ เราส่งคนไข้ให้จากไปอย่างสงบ มีโอกาสช่วยเขาในช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต มันไม่ได้ช่วยเฉพาะผู้ป่วย ช่วยครอบครัวด้วย รู้สึกว่าประโยชน์เยอะ หลังจากนั้นเพื่อนที่รักมากก็เป็นมะเร็ง เขารักษาทุกอย่างที่หมอสั่ง แต่มะเร็งไม่หาย ก็ยังเสียชีวิตอยู่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราจะเตรียมคนไข้อย่างไรไม่ให้เขาทุกข์ทรมาน การเป็นมะเร็งมันทุกข์จากโรคก็จริง แต่เรามองว่าบางคนทุกข์มากกว่าตัวโรค คือทุกข์ใจ”

ท้ายที่สุดเธอได้นำความรู้นั้นมาใช้กับตัวเอง เมื่อเธอป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขั้นรุนแรงในวัย 44 ปี เธอรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์โดยไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ใดๆ แต่ใช้วิธีรักษาใจด้วยความเชื่อและศรัทธาในเรื่องบุญ และนำใจไปจดจ่อกับการงานที่รักคือการเยี่ยมบ้าน แทนการจดจ่อกับความเจ็บป่วยของตัวเอง

“พอรู้ว่าเป็นมะเร็งใจนิ่งมาก ยังงงว่าทำไมเราไม่กลัว หนึ่งคือยอมรับก่อนว่าเราป่วย พอยอมรับแล้วกลับมาทบทวนว่าถ้าเราตายลูกยังเล็กอยู่ลูกจะอยู่กับใคร ก็มานั่งเขียน ว่าลูกคนที่หนึ่งสองสามให้ใครดูแล สามีจะทำอย่างไร ตายแล้วจะได้เงินเท่าไร พ่อแม่ยังอยู่จะทำอย่างไร แบ่งเงินให้พ่อแม่เท่าไร ขอให้แจกหนังสือ ‘พยาบาลไร้หมวก’ ในงานศพ เพราะคิดว่าประสบการณ์การทำงานของเราน่าจะช่วยคนอื่นได้ ถ้าคนมีความทุกข์อยากฆ่าตัวตายได้อ่านหนังสือเล่มนี้ขอให้เปลี่ยนความคิด เพราะยังมีคนทุกข์มากกว่าตัวเอง” (อ่านประสบการณ์ความเจ็บป่วยของเธอในหนังสือ “พยาบาลไร้หมวก”)

ต่อมาเมื่อผู้เป็นพ่อป่วย เธอก็นำประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยที่สะสมมา 35 ปีมาดูแล รวมทั้งการพูดคุยเรื่องความตาย
“ไม่เคยหอมพ่อเลยก็หอมพ่อ กอดจับมือและนวดเท้าให้พ่อ ทุกวันไปทำบุญปล่อยปลา ไปบวชพระก็เอาบุญมาให้พ่อ คุยกับพ่อเรื่องความตายว่าถ้าพ่อตายจะอยู่วัดไหน จะพระราชทานเพลิงศพมั้ย คุยให้พ่อรู้สึกว่าการตายเป็นธรรมชาติ พอเราเตรียมตัวตายให้พ่อได้แล้ว พ่อก็เริ่มดีขึ้นและหายเป็นปกติ”

ส่งต่อประสบการณ์ “ดูแลด้วยหัวใจ”

ความเจ็บป่วยร้ายแรงเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญ จากการดูแลผู้ป่วยในชุมชนโดยตรง เธอเริ่มแบ่งปันประสบการณ์การลงชุมชนแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและจิตอาสาในชุมชน

“ต้องขอบคุณที่ป่วย ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ไม่ได้อยู่คนเดียว ต้องรีบถ่ายทอดงาน ต้องสร้างคนที่เป็นพยาบาลไร้หมวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าก่อนตายขอสร้างคนที่ทำงานเหมือนเราให้มากที่สุด ให้กระจายไปในหลายจังหวัด เพราะคนเหล่านี้จะไปเป็นผู้นำคนในอีกหลายๆ พื้นที่ในชุมชน หลังจากหายป่วยก็มาสร้างจิตอาสาในพื้นที่ รับงานบรรยายเรื่องทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชนเดือนละสองโรงพยาบาลสองจังหวัด ทำมาตั้งแต่ปี 50 ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่”

การทำงานกับชุมชนและจิตอาสามาหลายสิบปีทำให้เธอสามารถสร้างเครือข่าย “คนทำดี” ในเขต 6 อำเภอของจังหวะพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพให้คนพิการ และสร้างจิตอาสาซึ่งจิตอาสากลุ่มนี้ได้ร่วมกันทำงานกับเธอทั้งในและนอกชุมชนอย่างเข้มแข็ง

“ตอนน้ำท่วมใหญ่ เราบอกในไลน์กลุ่มว่าตอนนี้กำลังไปช่วยที่อำเภอเสนา ต้องแบกไข่ น้ำและข้าวสารด้วย มีจิตอาสามา 20 กว่าคน อายุ 60-70 ปีก็มา พอจิตอาสาฝังเข้าไปในหัวใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเองหรือคนข้างบ้านเดือดร้อน อำเภออื่นพื้นที่อื่นเดือดร้อนเขาก็รวมตัวกันไปช่วยได้”

ปัจจุบันทั้งเพ็ญลักขณาและสามีเป็นข้าราชการเกษียณ เมื่อว่างเว้นจากการดูแลบุพการี ทั้งคู่ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เป็นวิทยากรให้หน่วยงานต่างๆ และทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์กับผู้ป่วยและญาติ ติดตามเรื่องราวชีวิตของเธอได้ผ่านเฟสบุ๊ค Ting Khumlert

เยี่ยมบ้าน-สร้างจิตอาสาด้วยหัวใจ

ใช้หัวใจมากกว่าวิชาการ “งานเยี่ยมบ้านเป็นงานที่เจอคนไข้แต่ละบ้านไม่เหมือนกัน บริบทต่างกัน งานพวกนี้ใช้วิชาการมากไม่ได้ ต้องใช้หัวใจ และเราจะเข้าใจเขาได้ก็ต้องไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเขา น้องที่ไปด้วยเคยถามว่าทำไมพี่ใจดีจัง ทำไมพี่ต้องซื้อแพมเพิร์สซื้อที่นอนลมให้คนไข้ พอคนไข้ได้รับที่นอนลม แผลกดทับก็ดีขึ้นและแผลหาย เราเอาแพมเพิร์มไปให้เพื่อให้ผู้ป่วยร่างกายสะอาด ลูกหลานเข้าใกล้มากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

“คุณคือคนสำคัญ” การออกเยี่ยมบ้านจะมีจิตอาสาหรือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ประจำพื้นที่ไปด้วย จะบอกและขอบคุณเขาทุกครั้งว่าไม่มีเขา เราทำงานไม่ได้ และบอกคนไข้และญาติเสมอว่าต้องขอบคุณที่อสม.พามา ไม่อย่างนั้นเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเขาลำบากขนาดนี้

“ทำให้เห็นดีกว่าพูด” ตอนลงพื้นที่ จะชวน อสม. ฟังผู้ป่วยและญาติ และหัดจับประเด็นว่าเขาต้องการอะไร เขาคาดหวังอะไรกับโรงพยาบาล เพื่อที่ อสม.จะได้แจ้งความต้องการของผู้ป่วยได้ และนำมาสู่ความช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งอสม. เห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาทักษะที่มากกว่าการเก็บข้อมูลลูกน้ำยุงลาย “คุณต้องลงไปทำกับเขาเหมือนแม่ทัพนำรบ รบกับเชื้อโรค สุดท้ายจะแพ้ชนะไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราได้ไปอยู่กับเขา”

เสริมพลัง “คุณทำได้” (empower) หลังจากจิตอาสาและอสม.ออกเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนแล้ว จะชวนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยใช้การเล่าเรื่อง ให้เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเจอปัญหาอะไร “พอได้เล่า ก็เหมือนกลับไปทบทวนเรื่องที่ทำ บางเรื่องเขาสามารถกลับไปแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เราแค่ตอกย้ำว่า “สิ่งที่คุณคิดและทำน่ะถูกแล้ว ดีมากเลย เรายังคิดไม่ได้เลย สุดยอดเลย” เขาเลยมั่นใจว่ามาถูกทางแล้วที่มาเป็นจิตอาสาดูแลคนข้างบ้าน 15 หลังคาเรือน

มีศรัทธาและไม่ท้อ งานเยี่ยมบ้านเป็นงานใหม่ที่ต้องใช้แรงกายแรงใช้และใช้เวลา ถ้าเราตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง มันต้องมั่นใจ ไม่ท้อ และมีศรัทธา อย่างที่ตัวเองเป็นมะเร็งแล้วคิดว่าจะไม่ตาย เพราะศรัทธาว่าเราจะมีชีวิตอยู่ เพื่อดูแลคนอื่น และมั่นใจว่าถ้าเรามีชีวิตอยู่ เราจะไม่ดูดายกับความทุกข์ยากของมนุษย์ ถ้าเราเจอความทุกข์ยากเราก็จะช่วย

ใช้บุญนำทางสร้างจิตอาสาในหัวใจ เรามักบอกคนที่มาทำงานจิตอาสาว่าทุกวันนี้คนเราจะมองแค่เปลือก แต่จริงๆ แก่นแท้มันอยู่ข้างในว่าคุณทำอะไรมาบ้าง ผ่านอะไรมาบ้าง แล้วถ้าเราตาย สิ่งที่ติดตัวเไปไม่ใช่ใบประกาศหรือรางวัล แต่เป็นกุศลที่ติดตัวไป ทุกครั้งที่เราทำบุญจิตเป็นกุศล ไม่มีใครแย่งไปได้ คนมีเงินหลายคนจึงลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่สนใจเรื่องบุญ

หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี “เมื่อสิบปีก่อน คนมีเงินปลอมตัวมาเป็นคนธรรมดา ขอตามเยี่ยมบ้าน 3-4 วัน หลังจากนั้นก็ส่งรถมาให้สำหรับเยี่ยมบ้าน เรารับรถเข้าเป็นของโรงพยาบาล ระบุว่าเป็นรถเยี่ยมบ้าน รถคันนั้นใช้เยี่ยมบ้านได้ทุกวัน เดี๋ยวนี้มีเศรษฐีโทรมาอยากให้สตางค์ เราไม่เอา เราอยากได้คนที่ทำแบบเราไปทำที่อื่น ถ้าอยากจะทำให้ไปทำในจุดที่สามารถทำได้ เช่น ในชุมชนของตัวเอง หรือเข้าร่วมโครงการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี เพื่อให้ทุนการศึกษารายปีแก่นักเรียนพยาบาลที่ยากจน ประพฤติดี และมีความมุ่งมั่นอยากเป็นพยาบาลที่ดี

ภาพ: เฟสบุ๊ค Ting Khumlert

18 เมษายน, 2561

ป่วยและพร้อมจะตาย แต่คนรอบข้างกลับทุกข์ใจ

คนส่วนใหญ่ยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้ ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ เขาคิดว่าไม่มีวิธีใดรักษาให้หายได้ มีแต่จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มพูนขึ้น
19 เมษายน, 2561

“ตัดกรรม รำแม่มด” พิธีกรรมรักษาใจ

การเกิดแก่เจ็บตายจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มนุษย์ทุกยุคสมัยยังพยายามคิดค้นและสรรหาร้อยแปดวิธีมาเพื่อยับยั้งหรือบรรเทา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยที่ทำให้มนุษย์ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ
22 เมษายน, 2561

นำตักบาตร กลางไอซียู

ห้องไอซียู มักมีแต่ความตึงเครียด หดหู่น่ากลัว โดยหลักแล้วห้องนี้มีไว้เพื่อกอบกู้ชีวิตผู้คน แต่ในความเป็นจริงชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องมาสิ้นสุดกันที่นี่ จึงเป็นธรรมดาที่ห้องไอซียูเป็นความทรงจำที่ผู้ผ่านประสบการณ์มักต้องการลบและลืม