parallax background
 

Better day วันที่ดีกว่า

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“ชีวิตเหมือนจมน้ำ อยู่ในโลกสีดำ จำได้ว่าร้องไห้ เศร้ากับชีวิต กับความเป็นไป ชีวิตเหมือนไร้ค่า มองไม่เห็นอะไรเลย คำพูดของคนรอบข้างเราพร้อมตีความในทางลบ เหตุการณ์ในอดีตตามหลอกหลอน จนรู้สึกถึงว่าความเศร้า ความเจ็บปวดมันกัดกินชีวิต ต้องการความช่วยเหลือมาก แต่ก็ไม่กล้า หวั่นกลัวกับท่าทีการเพิกเฉย ตัดรอน บอกกับตนเองว่าต้องพยายามผ่านมันให้ได้”

“เสียงในใจดังตลอดเวลา เหนื่อย นอนผิดปกติ ไม่อยากลุกขึ้น ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าไม่น่าตื่นเลย ถ้าหลับไปได้คงดี หมดแรง ท้อแท้ ..และนั่นก็เป็นสัญญาณว่าเราคงต้องขอความช่วยเหลือแล้ว พี่น้อง เพื่อนสนิทมักถามเราว่าเราเป็นอะไร ตอบไม่ได้ มันมีสัญญาณผิดปกติที่บอกว่า หากไม่ทำอะไร เราอาจล้ำเส้นที่ไม่ปลอดภัยกับชีวิต กับตนเอง” ฯลฯ

เวลาที่ใครสักคนป่วยด้วยโรคซึมเศร้า พวกเขามาพร้อมกับความเจ็บปวดที่ห่อหุ้มตัวเขา ความเจ็บปวดในรูปของความเศร้า ความรู้สึกไร้ค่า อาการทางกายที่อาจสื่อแสดงในรูปของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกิน การนอนที่มากเกิน น้อยเกิน ความรู้สึกนึกคิดที่ปรวนแปร กล่าวโทษ และแน่นอนอาการของความเจ็บปวดก็แผ่หลามไปยังบุคคลรอบตัว ก่อเกิดปัญหาความทุกข์ในสัมพันธภาพ และส่งผลย้อนกลับให้อาการซึมเศร้ารุนแรง เนื่อง จากความไม่เข้าใจในตัวโรค ในตัวผู้ป่วย

บทเรียนจากผู้ผ่านทาง

“วันที่ดีกว่า” เป็นสมุดบันทึกที่แปลมาจาก “Better day” เขียนโดย เคริก ลูอิส (Craig Luwis) ซึ่งเป็นอดีตผู้ป่วยจิตเวช มีประวัติการใ้ช้ยาเสพติด เพื่อรับมือกับอาการซึมเศร้า และความทุกข์ทรมานในจิตใจกับบาดแผลในอดีต เคริกเล่าว่า เรื่องราวที่ผ่านมาเหมือนการสะสมความบอบช้ำในจิตใจ จนกลายเป็นเหมือนภัยคุกคามชีวิต คล้ายหลุมดำ หรือทรายดูดที่มีพลังมหาศาล กระชาก ดูดรั้ง หน่วงเหนี่ยวตัวตัวเขาให้ฝังจม ถดถอยอยู่กับอาการป่วย หลายคนที่ถูกเล่นงานด้วยโรคซึมเศร้าให้ภาพของตนเองถึงการมีชีวิตแต่ละวัน ราวกับการต้องออกแรงว่ายน้ำภายใต้คลื่นทะเลความเศร้าที่ดูใหญ่โตคอยถ่วงรั้ง ลากตัวเราให้จมสู่ทะเลลึก

สมุดเล่มนี้ให้อะไร

สมุดบันทึกเล่มนี้ถ่ายทอดสาระสำคัญ ๒ ประการคือ ๑) การถ่ายทอดประสบกาณ์ชีวิตของตัวผู้เขียนที่เคยผ่านประสบการณ์ทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า พร้อมกับการได้ผ่านการทำงานภายในอย่างเข้มข้น และถ่ายทอดแก่นสารสำคัญที่ผู้ป่วย (และอาจรวมถึงทุกคน) พึงทำความเข้าใจกับประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นกับชีวิต ในแต่ละบทตอนมุ่งนำเสนอเนื้อหาสำคัญ เช่น การตระหนักรู้ในตนเอง ความรับผิดชอบ ขอบเขต ความคาดหวัง ฯลฯ ผู้อ่านจะพบว่า การอ่านแต่ละบทตอนช่วยให้ได้มาทบทวนตนเองรวมถึงได้สร้างความเข้าใจใหม่ต่อมุมมอง ความเชื่อบางอย่างในตัวเราที่บิดเบือนไป จะเนื่องด้วยสาเหตุใดก็ตาม หลายคนไม่เฉพาะผู้ป่วยที่มักผลักไสความรับผิดชอบสุข ทุกข์ของตนเองไปที่คนอื่นให้รับผิดชอบแทน เช่น “ฉันผิดหวังเพราะเธอ..”เธอทำแบบนี้ เธอไม่รักฉัน” ฯลฯ

๒) การสร้างบทสนทนาในลักษณะคำถาม เพื่อเชิญชวนผู้อ่านได้มาใส่ใจที่โลกภายในของตนเอง เช่น
“เธอทำสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง 2 อย่าง คือ ... ”
“สิ่งเล็กๆ ในชีวิตที่ช่วยค้ำจุนในการคืนสู่สุขภาวะของเธอ คือ ...” ฯลฯ

คำถาม คือ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยนำพาเราสืบค้น ทบทวน สำรวจ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังในการ กระทำ ความรู้สึกนึกคิดเพื่อเปิดทาง และค้นหาทางเลือก ความเป็นไปได้ใหม่ๆ คำถามจึงเป็นเสมือนยานพาหนะที่นำพาผู้อ่านได้เคลื่อนย้ายตนเองจากภาวะมืดมนไปสู่เส้นทางที่มีแสงสว่างมากกว่า มีทางเลือกและความเป็นไปได้ที่น่าพึงใจกว่า

หลักการสำคัญที่นำพาตัวเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง สู่การเลือกใหม่ สู่การตัดสินใจ คือ การระลึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมาจากตัวเรา คนอื่นอาจช่วยเหลือสนับสนุนผ่านคำพูด กำลังใจ ชื่นชมยินดี ให้ความเข้าใจ หรือผ่านการกระทำ การช่วยเหลือ กระนั้นตัวเราเท่านั้นที่เป็นกลไกสำคัญเพราะในความเป็นตัวเรา มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่เป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริง รับผิดชอบต่อความรู้สึกนึกคิด การกระทำของตนเอง กล่าวอย่างไพเราะ คือ ตัวเราเป็นผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริง

และหากเราเพิกเฉยความเป็นผู้ทรงสิทธิ์ด้วยการไม่รับรู้ เมินหนี หรือโดยการถ่ายโอนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น ผลลัพท์คือ ท่าทีการมีชีวิตที่ละเลย ทอดทิ้งตนเอง และเมื่อปราศจากความรับผิดชอบ ความตระหนักรู้ในตนเองไม่เกิดขึ้น การพาตนเองไปสู่วันที่ดีกว่าย่อมยากจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ป่วย จุดเริ่มต้น คือ การยอมรับความจริงที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก เกิดอะไรขึ้นในตัวเรา ความรู้สึก ความคิดนึก ความปรารถนา การกระทำ และด้วยการเริ่มมาตระหนักรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สุข ทุกข์จากอะไร อย่างไร ก็จะเป็นจุดเริ่มให้เราได้ทบทวน ทำความเข้าใจและประเมิน ตัดสินใจใหม่ และจากจุดเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงในตัวเราก็ได้เป็นจุดเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างผลกระทบต่อสัมพันธภาพที่แวดล้อมตัวเราแล้ว

นิทานเรื่องหนึ่งของพระเซน ท่านติช นัท ฮันต์ คือ พ่อลูกคู่หนึ่งมีอาชีพเป็นนักแสดงกายกรรมหาเลี้ยงชีวิต ครั้งหนึ่งในงานแสดงที่เสี่ยงอันตราย พ่อได้บอกกับลูกชายว่าการแสดงเสี่ยงอันตรายครั้งนี้ ขณะที่พ่อแสดงก็ขอให้ลูกช่วยดูแลและระวังภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพ่อให้ด้วย และยามที่ลูกทำงานเสี่ยงอันตราย พ่อก็จะช่วยดูแลลูก เราต่างระมัดระวังอันตรายซึ่งกันและกันเช่นนี้ เราทั้งคู่ก็จะประสบความสำเร็จและปลอดภัยด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ดี ลูกชายเห็นต่างและเสนอกับพ่อใหม่ว่า หากเราเฝ้าระวังซึ่งกันและกันเช่นนี้เกรงว่าหากเกิดอันตราย เราจะป้องกันให้อีกฝ่ายไม่ทันการณ์ จึงอยากขอกับพ่อว่า เมื่อเราแสดงกายกรรมผาดโผนอันตรายนี้ เราจงมีสติสัมปชัญญะ ดูแลรักษาตนเอง เมื่อเราต่างดูแลรักษาตนเองก็เท่ากับเราได้ดูแลรักษาด้วยเช่นกัน ทำเช่นนี้การแสดงของเราก็จะประสบผลสำเร็จ พ่อก็เห็นชอบด้วย

ความหมายของนิทานข้างต้น สอดคล้องกับมุมมองนักจิตวิทยา จิม รอร์ Jim Rohr ที่นำเสนอมุมมองสำคัญคือ “ฉันดูแลตัวฉันเพื่อเธอ เธอดูแลตัวเธอเพื่อฉัน” เราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตตนเอง รับผิดชอบประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

ประเด็นสำคัญของการทำงานภายใน

การดิ้นรนต่อสู้กับภัยคุกคามอันเนื่องด้วยโรคซึมเศร้า สิ่งสำคัญที่พึงแยกแยะคือ ความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากคือ ตัวโรคหรือเชื้อโรค (disease) กับการเจ็บป่วย (sickness)..ในแง่ของตัวโรคย่อมกระทบทางกาย แนวทางปฎบัติ ดูแลรักษาเป็นสิ่งที่องค์ความรู้สามารถดูแล รักษาตัวโรคภัยนี้ได้ ขณะที่ในแง่การเจ็บป่วยนั้น คือ การรักษาจะอยู่ที่มุมมองการรับรู้ ความเข้าใจที่มีต่อโรค ผลกระทบจากโรค ดังนั้นความรุนแรงจากความทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยแต่ละคนจได้รับ จึงมาจากท่าที มุมมองผลกระทบจากความเจ็บป่วยนั้น การต่อสู้เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วยข้างต้น ผู้เขียนชี้ว่าไม่ใช่กระบวนการที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใด ระบบสมองของเราที่บรรจุไว้ด้วยความทรงจำ ความเชื่อ ถูกโปรแกรมมาตั้งแต่จำความได้ กระบวนการที่จะเป็นอิสระนี้และเอาชนะความเจ็บป่วยนี้ได้ ต้องอาศัยกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปกับการดิ้นรนต่อสู้เพื่อพาตนเองคืนสู่สุขภาวะที่ดีกว่า

ผู้เขียน เคริก ลูอิสนำพาผู้อ่านมาสำรวจตนเองผ่านการให้มุมมองความคิด ความเข้าใจที่มีทิศทางเชิงบวก : การสนับสนุน การสร้างเสริมกำลังใจ พร้อมกับคำถามเปิดเพื่อให้ผู้อ่าน (จะเป็นหรือไม่เป็นผู้ป่วยก็ตาม) ได้สำรวจประสบการณ์ของตนเองผ่านการเขียนบรรยาย ตอบคำถามด้วยตนเอง และด้วยกระบวนการที่ต้องเรียบเรียงความคิด เพื่อเขียนบอกเล่าภาวะภายใน ก็ช่วยให้ผู้อ่านได้ทบทวนทิศทางชีวิต ทบทวนความต้องการที่อยู่เบื้องหลังเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาว่า ชีวิตที่ดำเนินไปนั้นต้องการอะไร มีอะไรบิดเบือน ผิดเพี้ยนอย่างไร จากความต้องการแรกเริ่ม และเริ่มตั้งแต่เมื่อไร

ผู้อ่านจะได้สำรวจตนเองเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือ เรามีความสุขสบายดีหรือไม่อย่างไร เรามีความสามารถควบคุมคำพูด การกระทำเพียงใด การเน้นย้ำในตนเองถึงความมีคุณค่า ความเป็นบุคคลสำคัญของตนเอง และความคู่ควรแก่การมีชีวิตของตนเอง จากนั้นผู้เขียนได้พาผู้อ่านเข้าถึงการพัฒนาการมีความสามารถในการยอมรับ เริ่มจากความจริงที่เกิดขึ้นคือ เราต่างล้วนเผชิญและถูกกระทำจากความอยุติธรรม ป่วยการที่จะปฎิเสธหรือต่อต้าน หลายเรื่องราวอยู่เหนือการควบคุม แม้จะเจ็บปวด แต่การยอมรับก็ช่วยเราเดินทางต่อได้ เช่นเดียวกับทุกคน ผู้ป่วยต้องการกำลังใจ การให้พลังใจ ความหวังเพื่อมีพลังไปสู่ภาวะการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ โอกาสการคืนสู่วันที่ดีกว่า เพราะในที่สุดเราก็จะพบว่า “แล้วมันก็จะผ่านไป”

การเลือกเป็นอำนาจของเรา เลือกที่จะให้ความหมาย เลือกที่จะวางบทบาทเป็นเหยื่อ เป็นผู้รอด เป็นผู้ชนะ เลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธิ

ชุมชนกรุณา สายใยของการเยียวยารักษา

สังคมสูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ก่อเกิดปรากฎการณ์ที่ผู้สูงอายุหลายคนที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง และเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากญาติมิตรอยู่เคียงข้าง ถือเป็นการตายที่โหดร้ายและน่าเศร้า เราทุกคนต่างมีความปรารถนาที่เป็นเสมือนอาหารมาหล่อเลี้ยงจิตใจ เด็กทารกหัวเราะเบิกบานยามที่ได้อยู่ท่ามกลางอ้อมกอด อบอุ่น สนุกสนาน เรารู้สึกถึงพลังชีวิตเมื่อได้สมหวังในความรัก อบอุ่นยามที่ได้รับหรือให้การดูแลใส่ใจ การที่จิตใจได้รับการเติมเต็มความปรารถในฐานะอาหารใจเช่นนี้ ช่วยก่อเกิดพลังในชีวิต สุข สงบในความรู้สึกนึกคิดภายใน ในร่างกาย และส่งผลถึงความเบิกบานที่เผื่อแผ่ไปยังสัมพันธ์ภาพกับคนรอบตัว และกระจายไปถึงชุมชน

ในทุกชุมชน เราสามารถพบปะลักษณะความสัมพันธ์ใน ๒ ลักษณะ คือ ๑) สายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เข้มข้น ๒) สายสัมพันธ์ทั่วไป และจากลักษณะความสัมพันธ์ที่ต่างกัน ก็ทำให้เกิดการร้อยรัด เชื่อมโยงไปตามลักษณะความสัมพันธ์ เราจะพบว่าเมื่อคนสำคัญในชีวิตเกิดภาวะเดือดร้อย ยากลำบาก เราร่วมรับรู้ ร่วมใส่ใจ และพร้อมเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง นี่คือความสัมพันธ์ในลักษณะแรก และขณะเดียวหากเรื่องราวความเดือดร้อยเกิดขึ้นกับคนที่เราไม่รู้จัก หรือรู้จักแบบผิวเผิน ความใส่ใจ การร่วมรับรู้ก็เจือจาง ห่างหายจนถึงไม่ได้ใส่ใจ ข่าวดีก็คือ จากความสัมพันธ์ทั่วไปสามารถพัฒนาไปสู่สายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมีคุณภาพ ด้วยการบำรุงและหล่อเลี้ยงอาหารใจในความสัมพันธ์นั้น

สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ชุมชนกรุณา คือ ตาข่ายสายสัมพันธ์ที่สามารถเป็นศักยภาพในการโอบอุ้มและช่วยดูแล ฟื้นฟูให้ผู้ป่วย หรือผู้ต้องการความช่วยเหลือได้มีโอกาสสัมผัส สื่อสารและดูแล เติมเต็มอาหารใจ ผู้แปลสมุดบันทึกเล่มนี้จากภาษาอังกฤษมาเป้นภาษาไทย คือ นีรนุช คุณากร ล้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เมื่ออายุ ๑๕ ปี สามารถฟื้นฟูและหายจากอาการเจ็บป่วย นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง คือ ความรัก ความเข้าใจและการยอมรับที่ครอบครัวมีต่อเธอ และอาหารใจเหล่านี้เองที่ปกป้องชีวิตของเราทุกคนไม่เฉพาะผู้ป่วยที่บางวันทุกข์ทรมานกับความรู้สึกโดดเดี่ยว แห้งแล้ง ไร้พลัง สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า ภาวะทุกข์ทรมานที่รู้สึกโดดเดี่ยว เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำร้าย ทำลายชีวิตเนื่องเพราะไม่สามารถอดทนต่อความเจ็บปวดที่รุมเร้าได้

เคริก ลูอิสให้ภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซึมเศร้าว่า มันคือ การต่อสู้ดิ้นรน พวกเขาดิ้นรนต่อสู่กับอาการที่อยากยอมแพ้ให้ยืนหยัดที่จะมีชีวิต และเป็นสุขได้อีกครั้ง แต่ละวันจึงเป็นการตัดสินใจเลือก เลือกที่จะยืนหยัด เลือกที่จะมีชีวิต หนทางการต่อสู้ดิ้นรนนี่เอง คือ การคืนสู่สุขภาวะ แรงผลักดันสำคัญเบื้องหลังที่คอยค้ำจุนหนุนให้ลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมแพ้คือ วันที่ดีกว่ารอคอยอยู่ให้เราไปถึง และเราคู่ควรที่จะมีความสุข คู่ควรที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข

แนวคิด ชุมชนกรุณา ปัจจุบันมีความเข้าใจแพร่หลายในหมู่ผู้ที่ทำงานกับผู้ป่วยระะสุดท้าย หรือผู้ป่วยติดเตียง ผู้สุงอายุ แต่สำหรับสังคมไทยที่กำลังเผชิญภาวะที่ผู้คนมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ความเป็นชุมชนกรุณา รวมถึงแนวทางการทำงานกับโลกภายในตามแนวคิดของสมุดบันทึก ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น สมาคมสายใยครอบครัวเป็นตัวอย่างองค์กรที่พยายามสร้างสรรค์ชุมชนกรุณาผ่านกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนศักยภาพของผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคจิตเวช การมีกิจกรรมฝึกอบรมเรียนรู้ตนเอง กิจกรรมผ่อนคลาย ฝึกทักษะชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยมุ่งหมายให้สามารถฟื้นฟูศักยภาพและมีความสุขกับชีวิตได้อีกครั้ง

ขอให้ทุกท่านได้เดินทาง และเมื่อผ่านความยากลำบากก็ให้ถือว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของการเติบโต และสามารถคืนสู่ความสุข สงบภายในได้

[seed_social]
22 เมษายน, 2561

วิถีแห่งจิตวิญญาณ

“ถามว่าทำอย่างไร ถ้าพี่ตอบเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอนเลย ก็จะไม่เห็น How to ขอเล่าเรื่องการดูแลคนไข้ให้ฟังสักคนดีกว่า แล้วตอนท้ายเราอาจได้วิธีการประเมิน และเข้าถึงความต้องการของคนไข้ได้บ้างนะคะ”
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
19 เมษายน, 2561

เยียวยาด้วยใจรัก

“มีพบย่อมมีพลัดพราก หรือจากลา” เป็นคำที่เราคุ้นหู หรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในยามปกติเราอาจจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำพูดนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียกับเรา เราจะรู้สึกทันทีว่า “จริง”