parallax background
 

สำรวจงานเบาใจที่รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก
อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของ
วงการ Palliative care

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

งานเสวนาวิชาการ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงพยาบาลพระพุทธชินราช พิษณุโลก ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองแล้ว งานเบาใจในปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญของการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในเมืองไทยอย่างยิ่ง

“เพราะรักจึงบอก” คือชื่อธีมหลักของงานเสวนา แม้จะมีป้ายชื่อว่า ‘งานเสวนา’ เหมือนหัวข้องานเสวนาวิชาการทั่วไป แต่ทราบหรือไม่ว่านี่คืองานเสวนาที่มีผู้เข้าร่วมกว่าสองร้อยคนต่อวัน ผู้เข้าร่วมครึ่งหนึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้งพยาบาลและหมอ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นภาคประชาชนประกอบไปด้วยผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและผู้ให้ความสนใจ

การที่ภาคประชาชนเข้าร่วมงานในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นอื่นใดไม่ได้เลยนอกจากอีกหนึ่งความสำเร็จของงานเสวนา เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การรักษาแบบประคับประคอง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทีมแพทย์และครอบครัวของผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างยิ่ง

แพทย์หญิงภาวินี เอี่ยมจันทน์ ผอ.รพ. สุโขทัย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการได้ให้ยืนยันกับผู้เขียนว่า การมีภาคประชาชนเข้าร่วมโครงการถือเป็นหนึ่งเป้าหมายหลักของงานเสวนางานนี้จริงๆ
“...จุดประสงค์หลักอันหนึ่งเลยก็คือการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักรู้ว่า แม้ปัจจุบันนี้เราจะยังคงสุขภาพดี แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ทุกคนก็ต้องป่วยลงและเสียชีวิตด้วยโรคใดโรคหนึ่ง จะเป็นอุบัติเหตุหรืออะไรก็ตาม

“ดังนั้นเราก็เลยอยากกระตุ้นให้คนในสังคมเริ่มต้นวางแผน เริ่มต้นมาทำความเข้าใจกับเรื่องของความตาย เพื่อจะได้ไม่มาเสียใจในภายหลัง … ให้วางแผน (ในการเตรียมความพร้อมสำหรับความตาย) ไว้ก่อน ก่อนที่วาระสุดท้ายมาถึงแล้วมันจะทำอะไรไม่ทัน”

ทำไมจึงใช้ชื่องานเสวนาว่า ‘เพรารักจึงบอก’ ?

บ่อยครั้งไปที่เรามอบสิ่งดีๆ ให้กันด้วยความรัก แต่ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดไม่ถึงว่าจริงๆ แล้ว การตั้งวงสนทนาในครอบครัวเรื่องความตายเองก็ต้องอาศัยความรักเป็นแรงขับเคลื่อนเช่นกัน แม้ว่าการพูดคุยเรื่องความตายจะเป็นเหมือนเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย อาจเพราะคิดว่าจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุและคนในครอบครัวเสียขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต แต่ทราบหรือไม่ว่า การไม่พูดคุยวางแผนเรื่องความตายเลยจะทำให้เกิดความยุ่งยากหรือกระทั่งเกิดความทุกข์ในช่วงวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้

แพทย์หญิงน้ำทิพย์ อินทับ ประธานศูนย์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“เคสแบบนี้มีตลอดเลย ฝ่ายคนป่วยกับญาติไม่เคยได้คุยกัน เวลาเราจะทำ Advance care plan (การวางแผนดูแลล่วงหน้า) ดังนั้นการตัดสินใจหลายๆ อย่างจึงตกเป็นภาระของลูกและญาติที่ต้องตัดสินใจ (ว่าจะดำเนินการรักษาต่อไปอย่างไร) ซึ่งพอญาติกับผู้ป่วยไม่เคยได้คุยเรื่องนี้กันมาก่อน ทำให้ญาติไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วพ่อแม่ต้องการอะไร”

นี่เองจึงเป็นที่มาของชื่องานเสวนา

‘เพราะรักจึงบอก’

หรือขยายความได้ว่า เพราะรักและห่วงใยจึงต้องวางแผน บอกและแลกเปลี่ยนถึงความต้องการของทั้งตัวญาติและตัวผู้ป่วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่า การไม่พูดคุยเตรียมตัวเรื่องความตายกันก่อน จะนำมาสู่ปัญหาต่างๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ภายในงานมีอะไรบ้าง ?

งานเบาใจในธีม ‘เพราะรักจึงบอก’ มีระยะเวลาการจัดงานตั้งแต่วันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2562 ในวันแรกมีกิจกรรมดังนี้

หนึ่ง – วงเสวนาวงแรกเริ่มต้นที่พระอาจารย์จิตร์ จิตตสังวโร ในการเสวนาครั้งนี้พระอาจารย์จิตร์เปิดโอกาสให้ ผู้เข้าร่วมงานได้ถามคำถามที่เป็นความสงสัยเกี่ยวกับการวางใจและการเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต

โดยใช้คำถามของผู้เข้าร่วมวงเสวนาเป็นแก่นในการเทศน์ ตัวอย่างเช่น ความสงสัยเรื่องการทำบุญ พระอาจารย์จิตร์อธิบายว่าแท้ที่จริงแล้ว คำว่า ‘บุญ’ มีความหมายว่าอย่างไร เป็นต้น (ในวงเสวนายังมีคำถามอื่นๆ อีก) ก่อนปิดท้ายด้วยการชวนผู้เข้าร่วมทุกคนทำเจริญภาวนาเล็กๆ เพื่อเป็นกำลังใจแก่จิตวิญญาณ

สอง – ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาโดยเฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ยืนยันกับผู้เขียนว่า นี่น่าจะเป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ เพราะมันเป็นงานที่หยิบยกประเด็นเรื่องการใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่กล้าใส่มันเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่ไม่กล้าถอดท่อออกเพราะเคยมีข้อพิพาททางกฏหมายเกิดขึ้น

วิทยากรบนเวทีสนทนาในครั้งนี้ประกอบด้วย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส คุณอดุลย์ ญาณกิตติ์กูร และ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ได้ให้คำตอบกับปัญหาเรื่องข้อพิพาท ‘การถอดท่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ เอาไว้ว่า ถ้าผู้ป่วยได้ทำ Living will (หรือหนังสือแสดงเจตนา) ระบุความต้องการของผู้ป่วยในการรักษาช่วงปลายของชีวิตว่า “ไม่ต้องการ” ให้มีการยื้อชีวิตในช่วงวาระสุดท้าย แพทย์ก็มีหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการถอดท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม แม้ Living will จะระบุเอาไว้แล้วว่าไม่ประสงค์ในการใส่ท่อช่วยชีวิต แต่ถ้าเกิดว่าผู้ป่วยยังไม่ถึงขั้นระยะสุดท้ายและแพทย์มีวินิฉัยเล็งเห็นว่าสามารถช่วยชีวิตได้ การใส่ท่อช่วยหายใจก็สามารถทำได้เช่นกัน

สาม – วงเสวนาที่ 3 นี้น่าจะเหมาะกับการนำไปปรับใช้ทั้งฝ่ายญาติผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วม เพราะว่านี่คือวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวการตายดีของญาติผู้ป่วย ซึ่งเคสส่วนใหญ่มีญาติที่มีความรู้เรื่องการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) และได้พูดคุยวางแผนสำหรับช่วงระยะเวลาสุดท้ายของการจากไปมาก่อนแล้ว

สี่ – เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของบุคลกรทางการแพทย์ ในการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) ซึ่งเน้นย้ำให้ความสำคัญถึงการวางแผนช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต และความปรารถนาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ในวันที่สองของการจัดงานหรือวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 มีกิจกรรมดังนี้

หนึ่ง – วงเสวนาแรกของวันใช้ชื่อว่า “ภาษารัก ภาษาใจ ในวันที่เราต่างเปราะบาง” เป็นวงเสวนาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้เข้าร่วมงานหลายคนยืนยันว่านี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะเหตุว่านี่คือการยกเคสปัญหาตัวอย่างของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเราที่ดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไปอาจคิดไม่ถึง

อุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่น่าสนใจข้อหนึ่งมีว่า เราจะทำอย่างไรเมื่อการดูแลรักษามี “ข้อจำกัดเรื่องเพศ”เข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ป่วยคือแม่รู้สึกอายที่จะต้องให้ลูกชายอาบน้ำให้

นอกจากอุปสรรคเรื่องเพศแล้วยังมีปัญหาที่น่าสนใจต่างๆ อีก ตัวอย่างเช่น เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติจะทำอย่างไร เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการใช้ ‘ยาผีบอก’ หรือ จะทำอย่างไรเมื่อเราต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ความสัมพันธ์ของผู้ดูแลกับผู้ป่วยเคยแตกสลายมาก่อน

ในอุปสรรคเรื่องเพศและความสัมพันธ์ที่เคยแตกสลาย เจ้าของเคสทั้งสองคนยืนยันว่าต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวกว่าที่ ตัวผู้ป่วย (กรณีเรื่องเพศ) และตัวเรา (กรณีเรื่องความสัมพันธ์ที่เคยแตกสลาย) จะทำใจยอมรับและคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ลงได้

ส่วนกรณีของ ‘ยาผีบอก’ กับคนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่อในเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์นั้น สุดท้ายแล้วทางออกของเรื่องนี้ก็คือ การยอมให้ผู้ป่วยใช้ ‘ยาผีบอก’ เพื่อความสบายใจ แต่ยาผีบอกตัวนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

สอง – ในวงเสวนาที่สองนี้ใช้ชื่อหัวข้อว่า ‘บอกอย่างไรไม่ให้ใจเสีย’ ใจความหลักๆ ของวงเสวนานี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการป่วยระยะสุดท้ายอย่างมาก เพราะโดยมากแล้วการบอกข่าวร้ายแก่ผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง แต่ถ้าไม่บอกข่าวร้ายก็จะมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีก เช่น การตัดสินใจว่าจะดำเนินชีวิตไปในแนวทางไหนของผู้ป่วย (เพราะไม่รู้ว่าตัวเองป่วยหนัก) เป็นต้น

ดังนั้นการบอกข่าวร้ายแก่ผู้ป่วย แต่บอกอย่างถูกวิธีจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

บอกอย่างไรไม่ให้ใจเสีย

วิธีการ ‘บอกอย่างไรไม่ให้ใจเสีย’ นั้นมีหลายหนทาง ถ้าเป็นแพทย์ที่ต้องไปแจ้งข่าวร้ายกับผู้ป่วยนั้น ควรมีสิ่งที่ต้องเตรียมอย่างคร่าวๆ ดังนี้

1.ต้องแจ้งข่าวร้ายในพื้นที่ส่วนตัว
2.ต้องมีญาติผู้ป่วยอยู่รับฟังด้วย
3.ค่อยๆ เกริ่นนำ เพื่อประเมินความสามารถในการรับข่าวของญาติและผู้ป่วยก่อน และ
4.ให้ความหวัง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องเผชิญอาการเจ็บปวด แพทย์อาจจะเสนอว่ามีหนทางการบรรเทาหรือระงับอาการเจ็บปวดด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น

ในวงเสวนาวงนี้วิทยากรบนเวทีทิ้งท้าย ข้อคิดที่น่าสนใจเอาไว้ข้อหนึ่งว่า
‘แม้ว่าโรคของผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว แต่เรายังคงรักษาหัวใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้เป็นปกติได้อยู่’

สาม – ในช่วงนี้วงเวทีเสวนาได้จบลงไปเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่เพียงการทำเวิร์คช้อปตามห้องต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ห้อง

ห้องที่หนึ่งใช้ชื่อหัวข้อว่า ‘เพราะรักจึงบอก’ ผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนเข้าร่วม และต้องควงคู่มา จะเป็น พ่อ-ลูก แม่-ลูก ยาย-หลาน ป้า-หลาน สามี-ภรรยา พี่-น้อง แฟน-แฟน เพื่อน-เพื่อน หัวหน้า-ลูกน้อง ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ทั้งสิ้น

ห้องที่สอง ‘สมุดเบาใจ’ – ห้องนี้คือการสร้างความตระหนักรู้ในวาระสุดท้ายและความสำคัญของการทำ Living will หรือสมุดเบาใจ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้ Living will ที่เพิ่งทำเสร็จสแกนเข้าเวชระเบียนของโรงพยาบาล พระพุทธชินราชพิษนุโลกได้ทันที

ห้องที่สาม – ‘วงเบาใจ’ ในห้องนี้เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมวงเสวนาเล็กๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดยเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยน ระหว่างภาคประชาชนกับแพทย์ในประเด็นต่างๆ ตามหัวข้อที่กำหนดดังนี้

วงที่ 1 ทำอย่างไรเมื่อคนไขดื้อ
วงที่ 2 ทำอย่างไรเมื่อญาติอยากยื้อ
วงที่ 3 ทำอย่างไรเมื่อหมอและพยาบาลไม่เข้าใจ
วงที่ 4 ทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย

ส่งท้าย : ก้าวต่อไปของงานเบาใจคืออะไร ?

แม้ว่าในบทความเราจะเห็นว่า มีกิจกรรมการนำ Living will หรือสมุดเบาใจสแกนเข้าเวชระเบียนคนไข้ของรพ.พิษณุโลกแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว หน่วยงาน palliative care ที่พิษณุโลกยังมีแผนการสำหรับก้าวต่อไปอีกมาก

แพทย์หญิงน้ำทิพย์ อินทับ ประธานศูนย์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงแล้วบุคคลกรทางการแพทย์ในระบบการรักษาแบบประคับประคองนั้นยังต้องการผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นอีก

“เรายังต้องเพิ่มคุณภาพบริการของทีมเรา เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เรายังสามารถจัดการเรื่องทางกายได้มากกว่านี้ ... ตอนนี้เราทุกคนคือหมอพาร์ทไทม์ที่มาทำงานฟูลไทม์อีกทางหนึ่ง

“ทุกคนมีอีกงาน แต่ละคนทำงานกันคนละสามร้อยเปอร์เซ็น (ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป) เรารู้ว่าเราไม่มีทางทำอะไรได้เต็มที่แน่ๆ ดังนั้นเราต้องมีคนเยอะขึ้น แต่คนที่สนใจเรื่องนี้ยังมีไม่มาก ดังนั้นเราต้องทำให้เขาเห็นว่า นี่คืออีกหนึ่งวิชาที่มีประโยชน์เป็นอีกหนึ่งวิชาที่ช่วยคนไข้ได้”

นอกจากความต้องการทางด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นแล้ว การทำฮอสพิชก็เป็นอีกหนึ่งก้าวย่างถัดไปเช่นกัน แพทย์หญิงน้ำทิพย์ อินทับ กล่าวต่อว่า

“ก้าวที่ถัดจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการทำฮอสพิช ฮอสพิชแคร์มันเป็นกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาล ต่างประเทศทำมาแล้วเกือบร้อยปี มันเป็นที่ๆ คนไข้จะได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้าย หรือเป็นสถานที่สำหรับคนไข้และญาติได้เตรียมตัวฝึกการกลับเข้าสู่ชุมชนและการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน”

อ้างอิง : http://www.thailivingwill.in.th/content/พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ-พศ-๒๕๕๐
บุคคลสำคัญ : แพทย์หญิงน้ำทิพย์ อินทับ ประธานศูนย์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง, แพทย์หญิงภาวินี เอี่ยมจันทน์ ผอ.รพ. สุโขทัย

10 มกราคม, 2561

กอด…เพิ่มพลัง สู้โรค

แปดปีก่อน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ของการกอดในงานเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายโรงพยาบาล
17 เมษายน, 2561

เพียงแค่คิด ก็สุขใจแล้ว

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง จัดเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ สิ่งที่ต้องการมากคือ คนที่ให้กำลังใจ เพื่อหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ให้จิตสงบ การเข้าสู่วัด เข้าสู่ธรรมะจึงเป็นทางที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ที่เป็นชาวพุทธ)
18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา – จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย