parallax background
 

ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (และคนรอบตัว)
: โลกของเด็ก โลก (โรค) ของผู้ใหญ่ที่ทับซ้อน

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ผมจำความได้ว่า ครั้งหนึ่งที่ตนเองได้มีโอกาสไปต่างจังหวัดกับพ่อแม่ วัดหลวงพ่อโสธร เมืองแปดริ้ว ภาพที่ข้าพเจ้าจำได้คือ เด็กพิการเดินขอทาน ความรุ้สึกในใจคือ ตกใจ กลัว แปลกใจ ความคิดผุดขึ้นมามากมายและเมื่อผู้เขียนโตขึ้น ประสบการณ์ของการถูกจ้องมอง ถูกจับจ้องราวกับเป็นตัวประหลาดเป็นสิ่งที่สร้างอึดอัด ขมขื่น โกรธ ผิดหวัง เสียใจ ประสบการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนมักเลือกการมีชีวิตส่วนตัว มากกว่าการพบปะผู้คนกับโลกภายนอก พร้อมกับเรื่องราวการทำงานเพื่ออิสระจากประสบการณ์ภาพจำเช่นนี้ เรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องนี้ ผมหวังว่าการถ่ายทอดจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเดินทางสร้างสรรค์ชุมชนกรุณาร่วมกัน

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ว่า ครั้งหนึ่งที่เธอพาลูกไปที่สวนสาธารณะ และได้พบเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรคความผิดปกติบนใบหน้า

ความผิดปกติของยีนทำให้เกิดความพิการบนโครงสร้างใบหน้า ลูกของเธอแสดงอาการท่าทีตกใจ จ้องมองเด็กหญิงคนนั้นราวกับสิ่งผิดแปลก ความที่เธอกังวลใจว่าอีกฝ่ายจะเกิดความรู้สึกไม่ดีจากท่าทีของลูก เธอจึงพาลูกเดินออกจากสวนสาธารณะ ภายหลังเธอพบว่าการกระทำ ท่าทีของเธอนี่แหละที่กระทบความรู้สึกของเด็กหญิงคนนั้น และจากเหตุการณ์นี้เธอเลือกเขียนหนังสือว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ป่วย ด้วยโรคดังกล่าวและแวดวงคนรอบข้างในมุมมองที่สร้างความหวัง กำลังใจ และทำให้ทั้งหนังสือ ทั้งสื่อ ภาพยนตร์เป็นที่ชื่นชม และสร้างความสดใสให้กับการได้อ่านหรือรับชม อย่างไรก็ดีโดยส่วนตนคิดว่ามีแง่มุม บางอย่างที่อาจต้องการการถอดรหัส การเพิ่มพูนคำอธิบายทางจิตวิทยาเพื่อให้ได้ประโยชน์สมความตั้งใจ ผู้เขียน

ออกัสต์เป็นเด็กที่ป่วยด้วยโรคที่ว่านั้น โครงสร้างใบหน้าและตำแหน่งบนใบหน้ามีความผิดปกติ วัยเด็กของเขาจึงเต็มไปด้วยประสบการณ์ของความเจ็บป่วย เข้าออกโรงพยาบาลทั้งเพื่อรักษาตัวและทำการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างใบหน้า พร้อมกับประสบการณ์ที่มักถูกคนจ้องมอง แสดงท่าทีตื่นตกใจ กลัว รวมถึงรังเกียจ เบือนหน้าหนี กระนั้นชีวิตของเขาก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด เพราะออกัสต์เติบโตมาในครอบครัวท่ามกลางความรัก การดูแลปกป้อง ใส่ใจจากครอบครัว พ่อแม่ พี่สาว รวมถึงเพื่อนสนิทของพี่สาว สิ่งที่ออกัสต์เฝ้าหวังในใจตลอด คือ ความปรารถนาง่ายๆ คือ เมื่อเขาเดินไปที่ไหนก็ตาม เขาหวังเพียงว่าผู้คนจะไม่เบือนหน้าหนี

เรื่องราวของออกัสต์คงไม่มีใครรับรู้ หากว่าครอบครัวและตัวเขาเลือกที่จะเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ปรากฎตัวต่อสังคม แต่เพราะความหัศจรรย์ของชีวิต ครอบครัวและรวมถึงออกัสต์ตัดสินใจที่จะออกจากพื้นที่ความปลอดภัยเพื่อไปเรียนรู้และเติบโตในโลกกว้างโดยการไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย นั่นคือ โรงเรียนมัธยมต้น โลกภายนอกที่ออกัสต์จะต้องใช้เวลาวันละหลายชั่วโมง โลกภายนอกที่ดูพร้อมจะเบือนหน้าหนี ใจร้าย รังเกียจและอึดอัดกับใบหน้าของออกัสต์ ออกัสต์และครอบครัวจะทำอย่างไรดี และนี่คือ เรื่องราวชีวิตของออกัสต์ซึ่งปรากฏทั้งในรูปหนังสือและภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จและสร้างความรู้สึกถึงความหวังในชีวิต

นอกเหนือจากเรื่องราวของออกัสต์ เรื่องราวยังบอกเล่ามุมมองชีวิตของคนรอบตัวออกัสต์ซึ่งต่างก็มีเรื่องราวของตนเอง พวกเขาต่างมีเรื่องกังวล ครุ่นคิด และทุกข์ใจหนักหน่วงในแบบของตนเอง ผู้อ่านจะได้ประสบ การณ์เหมือนเป็นผู้ฟังที่ตัวละครในเรื่องแต่ละคนได้มาบอกเล่าถึงเรื่องราวที่พวกเขาเผชิญ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เหมือนได้ฟัง ได้เห็นเรื่องราวที่ใครคนหนึ่งพูด คิด รู้สึกและกระทำ โดยมีออกัสต์เป็นศูนย์กลางเรื่องราวที่เชื่อมโยง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นคือ พวกเราต่างเป็นผู้สร้างและผู้ได้รับผลกระทบจากสัมพันธภาพที่เรามีต่อกัน พร้อมกันนี้ตัวละครแต่ละตัวก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารถึงท่าทีการข้ามผ่านความทุกข์ใจ ความยากลำบาก จิตวิทยาความสัมพันธ์ การเรียนรู้ตนเอง และการเติบโตภายในของตัวละครแต่ละตัวที่ต่างมีเส้นทางในแบบของตนเอง

เวีย
พี่สาวของออกัสต์ผู้ซึ่งมองชีวิตตนเองเป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่หมุนล้อมรอบดวงอาทิตย์ซึ่งคือ ออกัสต์ สิ่งที่ดาวเคราะห์ดวงนี้เรียนรู้ตนเองที่จะอยู่รอด คือ การพึ่งพาช่วยเหลือตนเอง แทนการรบกวนหรือเพิ่มภาระให้พ่อแม่ ประสบการณ์ที่เวียรับรู้คือ พ่อแม่เหน็ดเหนื่อยและเครียด กังวลกับการเจ็บป่วยและความทุกข์ของน้องชายพอแล้ว ความต้องการและความจำเป็นของเธอไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับออกัสต์ และจากประสบการณ์นี้ก็ได้ส่งมอบทุนชีวิตให้กับเวียกลายเป็นผู้ใหญ่เกินตัว จริงจังกับชีวิต ผู้อ่านจะรับรู้ได้ถึงภาวะชีวิตวัยรุ่นหญิงที่ว้าวุ่นทุกข์ใจกับเรื่องเพื่อน การมีพวกพ้อง คนชอบพอ การเป็นที่ใส่ใจ รับรู้ รวมถึงความต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ใส่ใจ โชคดีที่เวียมีคุณยายที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการนี้ คุณยายทำให้เวียรู้สึกถึงการเป็นดวงอาทิตย์ที่มีความรัก ความใส่ใจ ไม่ใช่การได้ความรักในแบบดาวเคราะห์ และนั่นเป็นทุนชีวิตที่ทำให้เวียได้รับการเติมเต็มความต้องการนี้และสามารถส่งมอบความรักให้กับน้องชาย และให้กับคนอื่นๆได้ต่อไป

ความน่าทึ่งของเวียคือ ซึ่งเป็นเพียงวัยรุ่น แต่มุมมอง ท่าทีการรับมือกับปัญหาชีวิตกลับมีความน่าสนใจ ฉากเหตุการณ์ที่ออกัสต์ผิดหวัง เสียใจกับคำพูดของแจ็คเพื่อนสนิทที่ทำร้ายความรู้สึกของออกัสต์ ความเจ็บปวดเสียใจที่มองว่าเพื่อนสนิททำร้ายตน ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน เวียช่วยเหลือน้องชายด้วยการเตือนสติว่า อย่าให้คนอื่นมาปิดกั้นโอกาสในชีวิตของเรา เวียมองว่า คำพูดใจร้ายนั้นต้องการผลักไสออกัสต์ให้ออกจากโรงเรียน กระนั้นตัวเราเองต่างหากที่เลือกได้ว่าจะยอมตาม หรือไม่ยอมให้คำพูดใจร้ายนั้นมามีอิทธิพลกับตัวเรา ออกัสต์รู้ได้ด้วยตนเองว่าตนเองก็พอใจกับการได้ไปโรงเรียน การเลือกวิธีรับมือกับคนใจร้ายด้วยการหนีห่าง ก็คือ การปิดกั้นและทำร้ายตนเอง

ออกัสต์ทุกข์ใจกับการถูกปฏิบัติจากเพื่อนๆ ในโรงเรียนผ่านท่าทีรังเกียจ หนีห่าง คำพูดเหน็บแนม เวียสนับสนุนให้ออกัสต์ต่อสู้ด้วยการอดทน ยืนหยัดและดำเนินชีวิตอย่างปกติด้วยการไปโรงเรียน ไม่เลือกที่จะรับการปกป้อง การปฏิบัติที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป สะท้อนถึงความมุ่งมั่น เข้มแข็งในตนเองที่จะยืนหยัดสู้กับการกระทำเลวร้าย ถือเป็นฉากสำคัญที่สะท้อนการก้าวผ่านความยากลำบาก บททดสอบจิตใจออกัสต์โดยมีเวียทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาชีวิต (mentor)

เวียยังเป็นตัวละครที่ทำให้ผู้อ่านได้รับฟังเสียงของคนทั่วไปที่ได้รับรู้ มองเห็นออกัสต์ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร จากที่เวียห่างจากน้องชายไปช่วงหนึ่ง และเมื่อได้พบเจอน้องชาย เวียรับรู้ถึงมุมมองคนนอกจากสายตาของตนเองที่รู้สึกตกใจ ไม่คุ้นเคย อึดอัด แขยงกับใบหน้าผิดรูปของออกัสต์ที่ผ่านแวบเข้ามาในใจของเวีย นั่นทำให้เวียได้มองเห็นน้องชายจากสายตาคนนอกว่ารู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ในฐานะเวียที่เป็นพี่สาว ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับออกัสต์ ฉากคำพูดนี้ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือได้ดีกว่าการสื่อสารผ่านฉากภาพยนตร์ คำพูดบรรยายของเวียที่รับรู้ความรู้สึกนี้ของเวียทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า ท่าทีอึดอัด จ้องมองของผู้คนรอบตัวที่มองเห็นออกัสต์นั้น ไม่ใช่ความผิดพลาดของใคร เป็นเพียงประสบการณ์ภายในของแต่ละคนที่เกิดขึ้นจากความกลัวในจิตใจ จากความไม่คุ้นชินเท่านั้น

พ่อแม่ของออกัสต์ เวีย
ความรักที่พวกเขามีต่อออกัสต์ไม่ใช่เพียงการปกป้อง แต่คือ การช่วยเหลือสนับสนุนให้ลูกเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง ด้วยการสนับสนุนลูกชายให้ออกไปเผชิญโลกด้วยตนเองผ่านชีวิตในโรงเรียน น่าชื่นชมในความไว้วางใจ ความศรัทธาในตัวลูก ในระบบโรงเรียน และในสังคมว่ามีพื้นที่และความเมตตากรุณาเพียงพอให้กับออกัสต์ ฉากประทับใจที่แม่เน้นย้ำกับออกัสต์ที่เจ็บปวดกับท่าทีรังเกียจของผู้คนรอบตัวว่า บุคคลที่ออกัสต์ควรฟังและใส่ใจ คือ คำพูดของแม่ต่างหาก ไม่ใช่พวกเขา บ่อยครั้งเรามักหลงลืมว่าใครคือ บุคคลที่เราควรใส่ใจและแคร์ หลายคนไปให้คุณค่า ใส่ใจกับคำพูด ท่าทีของคนอื่นซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียกับชีวิตของเรา ถือเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์ที่สื่อสารแก่นสำคัญของเรื่องราว

จูเลียนและพ่อแม่
จูเลียนเป็นตัวละครที่เป็นเสมือนตัวแทนของคนในสังคมที่ไม่ได้มีความเมตตา หรือเห็นอกเห็นใจกับผู้คนที่อ่อนด้อยกว่า ซ้ำดูมีความสุข ความพอใจกับการได้เหยียบย้ำ ซ้ำเติมคนที่เป็นที่เหยื่อ ความเป็นคนมีฐานะกลายเป็นสิ่งที่จูเลียนใช้กดข่มคนอื่นด้วยการวางตัวให้เป็นจุดสนใจของเพื่อนๆ ในห้อง กระนั่นผู้เขียนก็ทำให้เราได้รู้ว่าจูเลียนไม่ใช่เด็กร้ายกาจเสียทีเดียว พร้อมกับได้รับรู้ที่มาของพฤติกรรมจูเลียนว่ามาจากสาเหตุอะไร เราจะได้เห็นการวางตัวและท่าทีของพ่อแม่จูเลียนที่ปฎิบัติต่อคนรอบตัว : การเลือกไม่ตอบจดหมายเชิญร่วมงานวันเกิดของออกัสต์ การกีดกันรังเกียจผู้คนที่แตกต่างจากตนการแสดงท่าทีไม่ใส่ใจคนอื่น การวางตนเหนือกว่า ไม่รับฟังแม้แต่ลูกชายของตน

คำพูดของพ่อออกัสต์ที่มองว่า การส่งลูกชายไปโรงเรียน ก็คือ “การส่งลูกแกะไปให้เขาเชือด” สะท้อนมุมมองโลกทัศน์ที่มองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยผู้คนแบบจูเลียน และแบบพ่อแม่ของจูเลียน กระนั้นเรื่องราวก็ทำให้รับรู้ด้วยว่า โลกนี้ก็เต็มไปด้วยผู้คนไม่ได้เป็นแบบจูเลียน และพ่อแม่ของเขาด้วยเช่นกัน

แจ๊กและซัมเมอร์ เพื่อนสนิทของออกัสต์
เด็ก ๒ คนที่มีโอกาสได้รู้จัก ได้ใกล้ชิดกับออกัสต์และพบว่าเพื่อนคนนี้น่าคบหา ร่าเริงแจ่มใส อยู่ด้วยแล้วสบายใจอย่างไร ความสามารถพิเศษของออกัสต์คือ การมีอารมณ์ขัน รวมถึงความสนุกสนาน ไหวพริบ กระทั่งสามารถหยิบยกแง่มุมของตนเองมาล้อเลียนสนุกสนาน สร้างเสียงหัวเราะได้อย่างน่าชื่นชม ยังไม่รวมท่าทีความมีน้ำใจต่อเพื่อน พร้อมกับความเข้มแข็งในจิตใจที่จะยืนหยัดท่ามกลางท่าทีที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าใกล้ แสดงออกราวกับตนเองเป็นโรคร้าย รวมถึงการต้องพบปะข้อความข่มขู่ รังเกียจ ล้อเลียน โลกของเด็กในวรรณกรรมเล่มนี้จึงไม่ใช่โลกที่สดใส สวยงาม แต่มีการข่มเหงรังแก แบ่งพรรคแบ่งพวก “เราทุกคนต้องอดทนกับคืนวันอันเลวร้าย” คำพูดของเวียที่บอกน้องชาย แม้น้องชายจะพยายามชี้แจงว่าความทุกข์ยากที่ตนเผชิญแสนสาหัสมากกว่าเพียงใด กระนั้นความหมายไม่ได้เพื่อระบุว่าใครประสบเรื่องเลวร้ายกว่ากัน เพราะเราแต่ละคนต่างมีเรื่องยากลำบาก เป็นภารกิจที่ต่างต้องผ่าน ฝ่าฝันเรื่องยากลำบากนั้นๆ ของตนเอง แก่นสำคัญคือ เรื่องราวยากลำบากที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตนั้น การมีเพื่อนที่ดีช่วยให้เราผ่านเรื่องราว นั้นได้ง่ายขึ้นมาก

แล้วความเข้มแข็ง กล้าหาญของออกัสต์ก็เป็นบทพิสูจน์ที่สร้างการยอมรับให้กับเพื่อนๆ เหตุการณ์ที่ออกัสต์ปกป้องเพื่อนจากการข่มเหงของนักเรียนที่อยู่ชั้นโตกว่า ทำให้เพื่อนๆ มองเห็นความเป็นนักสู้ ไม่ทอดทิ้งเพื่อน ถือเป็นคุณค่าสำคัญที่ออกัสต์พิสูจน์ตนเองกับกลุ่มเพื่อนในสังคมของวัยรุ่นชาย ไม่ใช่การมีฐานะโอ้อวดและข่มเหงคนอื่นแบบจูเลียน

มิสเตอร์ทุชแมน ครูใหญ่ประจำโรงเรียน
เราจะเห็นบทบาทครูใหญ่ที่ยึดมั่นในหลักการของการรับฟัง ความเมตตา การให้โอกาส ช่วยเหลือ สนับสนุน พร้อมกับการวางตนที่ทำหน้าที่อำนวยการ ผู้อ่านจะรับรู้ได้ถึงความห่วงใย และใส่ใจออกัสต์ แต่บทบาทครูใหญ่ คือ การอำนวยการ การทำหน้าที่บริหาร การทำผิดบทบาทด้วยการปกป้องออกัสต์เกินเหตุ อาจเป็นการกระทำที่เลวร้ายได้เพราะกระทบต่อความวางใจว่าผู้มีอำนาจจะไม่ทำบทบาทอย่างเลือกปฏิบัติ หลักการสำคัญที่ครูใหญ่พยายามสื่อสารคือ การให้มีความเมตตามากขึ้น ความเมตตาถือเป็นคุณค่าสำคัญ กระนั้นความเมตตาที่ปราศจากหลักเกณท์คุณค่าในเรื่องความรับผิดชอบ เรื่องการมีความสามารถ การมี ความเคารพนับถือ ก็อาจทำให้ความเมตตานั้นมีปัญหาได้ สิ่งที่ทำให้ออกัสต์เป็นที่ยอมรับ นับถือในหมู่ เพื่อน เป็นที่รักของกลุ่มครูได้คือ ออกัสต์ไม่ได้ร้องขอความมีอภิสิทธิ์จากความพิการของตน ออกัสต์ใช้ความ สามารถ ความตั้งใจ และสติปัญญาของช่วยเหลือตนเองในการเรียนรู้ มิตรภาพที่มาจากการยอมรับที่แท้จึง เป็นมิตรภาพแท้จริง ไม่ใช่มิตรภาพเพราะมาจากการรับ หรือร้องขอความเมตตาเพียงอย่างเดียว

เรื่องราวโดยรวมของวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้เรามองเห็นความเป็นชุมชนกรุณาว่า มาจากระบบความสัมพันธ์ ที่ผู้คนเรียนรู้ถึงความกล้าหาญในการทำสิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่ของออกัสต์กล้าที่จะนำพาลูกของตนเองได้มีชีวิต อย่างเปิดเผย ออกัสต์กล้าหาญและเข้มแข็งที่จะมีชีวิตในโลกที่ดูน่ากลัว คุณครูในโรงเรียนกล้าและรักเด็ก ทุกคนมากพอที่จะเคารพหลักการ ถือประโยชน์สังคมมากกว่าอคติของตนเอง พร้อมกับความเปิดกว้างใน จิตใจที่พร้อมเปิดรับความแตกต่าง ความอึดอัด ยากเผชิญสิ่งไม่คุ้นเคย ความเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ ในเรื่องราวของผู้อื่น ชุมชนกรุณาไม่ได้มาจากเพียงแค่การมีเมตตา มีทัศนคติเชิงบวกเท่านั้น แต่ต้องการ การเรียนรู้ “เรียนรู้ และร่วมสร้างสรรค์ชุมชนกรุณา”

แหล่งอ้างอิง
https://www.facebook.com/IbehindYou/posts/
หนังสือ : WONDER ชีวิตมหัศจรรย์ ของออกัสต์
“Empathy skills”, “Care & efficiency” Non violence communication workshops
“Yearning and Expectation” Satir model workshop
ที่มาของภาพ: IMDB

5 เมษายน, 2561

วิธีปฏิบัติเพื่อประคองจิตในช่วงวิกฤติของชีวิตจะทำอย่างไร

ผู้ใหญ่สามารถฝึกโดยอาศัยสมาธิได้ เช่น กำหนดจิตอยู่ที่พระพุทธรูป ตามลมหายใจ เปิดเพลง เทปทำวัตร สวดมนต์ มีบรรยากาศที่สงบ
4 เมษายน, 2561

หลักการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบทำอย่างไรได้บ้าง

ดีเจโจ้ (อัครพล ธนะวิทวิลาส) แม้ว่าร่างจะเหมือนกับตายแล้ว แต่คนที่ยังอยู่คือแฟนร้องไห้ บอกว่าอย่าเพิ่งไปนะ เขาจึงต้องทน จนกระทั่งแฟนบอกว่าไม่ต้องห่วงแล้ว เขาจึงจากไปด้วยดี เพราะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ต้องห่วง
20 เมษายน, 2561

ปันรักให้สัตว์โลก

เชื่อว่าทุกคนคงต้องการความรักความใส่ใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะมาจากคนที่อยู่แวดล้อมเรา หรือจากสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ สัตว์เองก็มีความต้องการความรักไม่ต่างจากเราเช่นกัน ไม่ว่าจะจากคนที่เลี้ยง หรือสัตว์ด้วยกันเอง